19 ส.ค. 2020 เวลา 14:12 • สุขภาพ
ไม่ใช่ครั้งแรก
ไทยเจอโควิดซ้ำผู้ป่วยเดิม
สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน และหุ้นไทยร่วงทันที เมื่อปรากฎกรณี การตรวจ "พบเชื้อ"ไวรัสโคโรนาซึ่งก่อโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจที่รพ.รามาธิบดี และเป็นผู้ที่เคยตรวจยืนยันติดเชื้อหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศขณะเข้ารับการกักกันในสถานที่ที่รัฐจัดให้(State Quarantine)
ก่อนที่ในช่วงค่ำ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับรพ.รามาธิบดี แถลงข่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เพศหญิง อายุ 34 ปี เคยทำงานที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับถึงไทยวันที่ 2 มิถุนายน เข้ารับการกักตัว การตรวจหาโควิดครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. พบสารพันธุกรรมปริมาณน้อย สรุปผลของการตรวจครั้งแรก ผลกำกวม และครั้งที่ 2 วันที่ 13 มิ.ย. ผลไม่พบเชื้อ
เมื่อกักตัวครบ 14 วัน ได้รับอนุญาตให้กลับภูมิลำเนา จ.ชัยภูมิ ทำการพักแยกตัวจนครบ 30 วันตามมาตรฐาน และวันที่ 17 ส.ค. เข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อหาโควิด-19 เตรียมไปทำงานต่างประเทศที่ รพ.รามาธิบดี ผลออกมาวันที่ 18 ส.ค. พบสารพันธุกรรมในปริมาณน้อย จึงมีการเจาะเลือดตรวจพบมีภูมิคุ้มกัน จึงเป็นผู้ติดเชื้อรายเดิม ที่มีการตรวจพบซากเชื้อ ไม่มีความสามารถในการแพร่โรค
เท่ากับ เป็นการตรวจพบเชื้อซ้ำในผู้ป่วยรายเดิม แต่เป็นเพียงซากไวรัส ไม่มีชีวิต แพร่เชื้อต่อไม่ได้
ทว่า กลับมีการรายงานผู้ตรวจพบเชื้ออีกรายเพิ่มเข้ามา แม้จะเดินทางกลับจากต่างประเทศ เข้ารับการกักตัวครบ14 วันแล้ว แต่ไม่เคยตรวจยืนยันเป็นผู้ติดเชื้อมาก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม รายนี้จึงน่าจับตาอย่างยิ่ง!!!!
อย่างไรก็ตาม กรณีการตรวจพบซากไวรัสในผู้ป่วยรายเดิมของประเทศไทย ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก
ก่อนหน้านี้ ช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 มีกรณีผู้ป่วยหญิงชาวจังหวัดชัยภูมิที่เคยป่วยโควิด-19 โดยผู้ป่วยรายนี้เมื่อเริ่มป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ โดยมาด้วยอาการไม่มาก นอนในโรงพยาบาลครบ 14 วัน แพทย์จึงแนะนำให้กลับบ้านและแยกตัวจากคนในครอบครัว ซึ่งผู้ป่วยก็ขับรถกลับบ้านที่จังหวัดชัยภูมิ และอยู่บ้านแยกตัวเองดีเยี่ยม
แต่ประมาณวันที่ 3-4 เมษายน2563 เริ่มมีน้ำมูกนิดหน่อย คั่นเนื้อคั่นตัว รู้สึกเหมือนมีไข้ จึงไปโรงพยาบาลหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ โรงพยาบาลเห็นว่าเคยมีประวัติติดโควิด-19จึงทำการตรวจหาเชื้อซ้ำก็พบเชื้อ
ขณะที่ผู้ป่วยไม่มีไข้ แต่เพื่อความปลอดภัยแพทย์ก็ทำการแยกตัวให้อยู่โรงพยาบาลและใส่ชุดป้องกันตามมาตรฐาน ซึ่งการป่วยในครั้งนี้ของผู้ป่วยอาจจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียเพราะเม็ดเลือดขาวสูง แต่ไม่มีไข้ น้ำมูกนิดหน่อย และอัตราการหายใจ 20 ครั้งต่อนาที และผลแล็บอย่างอื่นก็ปกติ
ครั้งนั้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้น่าจะไม่ได้ติดโควิด-19ซ้ำ โดยเชื้อที่พบ น่าจะเป็นซากของเชื้อไวรัส เพราะต่างประเทศสามารถตรวจเจอซากเชื้อได้ 30 วัน และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐ ออกแนวทางหากผู้ป่วยอาการไม่มาก ให้อยู่โรงพยาบาล 7 วัน นับจากวันเริ่มมีอาการ เมื่อดีขึ้นแล้วให้กลับบ้านได้โดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ แต่ของไทยจะให้อยู่ในสถานที่รัฐจัดให้นานถึง 14 วัน และแนะนำให้แยกตัวเมื่อกลับถึงบ้านและรักษาระยะห่างให้ครบ 30 วัน
"ซากที่พบเป็นตัวเชื้อไม่มีชีวิตแล้วจึงไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้ว อย่างไรก็ตาม กรมการแพทย์ จะทำการแยกซากเชื้อคนที่ให้กลับบ้านได้มาทำการศึกษาต่อว่าสามารถเพาะซากเชื้อขึ้นหรือไม่ หากไม่ขึ้นแสดงว่าตายแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูล เพราะข้อมูลที่ได้จะเป็นของต่างประเทศ"นพ.สมศักดิ์กล่าว
หรือกรณีช่วงปลายเดือนมิ.ย.2563 กรณีแรงงานเมียนมาร์ จำนวน 23 ราย พบเชื้อโรคโควิด-19 หลังเดินทางกลับจากประเทศไทย โดยเมื่อมีการสอบสวนรายละเอียดพบว่า เคยเป็นต่างด้าวในศูนย์ผู้ต้องกัก อ.สะเดา จ.สงขลา ที่ติดเชื้อรักษาหายและส่งกลับข้ามแดน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายไว้ว่า การตรวจพบเชื้อซ้ำ สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งการตรวจเชื้อโดยการหาสารพันธุกรรม อาจยังพบพันธุกรรมของไวรัสได้ แต่จะเพาะเชื้อไม่ขึ้น เนื่องจากเป็นไวรัสที่ถูกร่างกายทำลายแล้ว ซึ่งในประเทศไทยและต่างประเทศก็มีการรายงานเช่นเดียวกัน โดยหลังจากมีรายงานผู้ติดเชื้อกลุ่มดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ มีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบว่า เมื่อหายป่วยโควิดแล้วเชื้อไวรัสยังมีอยู่ในร่างกายได้นานถึง 30 วัน
โฆษณา