21 ส.ค. 2020 เวลา 11:11 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ซีรี่ย์ : ชั้นหนังแผ่น {ม้วนฟิล์มที่ 6.1}
SELF/LESS : ตัวตนของเราอยู่ที่ใด? (EP.1)
เคยจินตนาการกันเล่นๆ บ้างไหมครับว่า เราอยากลองเป็นคนอื่นดูสักครั้ง ซึ่งมันคงเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นแน่ๆ และยิ่งหากได้เป็นไอดอลที่เรานั่นโปรดปรานด้วยแล้วก็คงดีไม่น้อย
ชื่อเสียง หน้าตา เงินทอง และสังคมรอบตัวที่ห้อมล้อมคงเปรียบเสมือนดั่งสวรรค์ ไปไหนก็มีคนรู้จักและให้ความเคารพ
หากวันหนึ่งได้บังเกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น เมื่อเราตื่นมาในร่างของไอดอลคนนั่น เราทั้งแลบลิ้น หรือทำหน้าตาที่ดูตลกที่สุดเท่าที่คนๆ หนึ่งจะกล้าทำ และภาพเงาไอดอลในกระจกล้วนแต่ทำไปตามความคิดเราจนหมดสิ้น
แต่คำถามคือ ‘อะไรที่ทำให้เราแน่ใจได้ว่า เงาสะท้อนในกระจกนี่ยังคือตัวเราจริงๆ ไม่ใช่ไอดอลคนนั้น ทั้งๆ ที่รูปร่าง หน้าตา น้ำเสียง ฐานะทางสังคม เพื่อนฝูง รวมถึงทรัพย์สินในตอนนี้ คือไอดอลคนนั้น 100%’
เฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง SELF/LESS (2015)
เครดิตภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=aQKAWNUuLEs
เรื่องราวเริ่มต้นจาก มหาเศรษฐีเฒ่าคนหนึ่งนาม แดเมี่ยน (แสดงโดย เบน คิงสลี่ย์) เขาคือหนึ่งในนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลแห่งมหานครนิวยอร์ก
เขามีทุกสิ่งที่เป็นรูปธรรมทั้งหมดเท่าที่โลกใบนี้จะมีให้ได้ รถซุปเปอร์คาร์ คฤหาสน์ฝังทอง หรือกล่าวง่ายๆ คือ ไม่มีทรัพย์สินใดบนโลกที่เขาจะใช้เศษเงินฟาดซื้อมาไม่ได้
แต่แล้วชีวิตของแดเมี่ยนก็มาพานพบกับสัจธรรมที่เที่ยงแท้ เมื่อเขาต้องเผชิญกับโรคมะเร็งที่มันได้ลุกลามไปทั่วร่างกายเขาไม่ต่างจากเชื้อราเสียแล้ว
จากเงินที่มีเยอะจนเอามาใช้เป็นทิชชูแทนได้ กลับไร้มูลค่าไปในบันดล เมื่อมันไม่สามารถทำให้เขารอดพ้นจากเงื้อนมือของมัจจุราชที่ในมือที่กำเคียวไว้แน่นราวกับพร้อมจะเกี่ยวคร่าวิญญาณออกจากร่างนี้ได้ทุกเมื่อ
แต่แล้วเขาก็มาได้รู้จักกับนวัตกรรมที่มีชื่อว่า ‘การลอกคราบ’ ของบริษัทฟีนิกซ์ ไบโอเจนิก (Phoenix Biogenic) เข้า
ออไบรท์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทดังกล่าว พูดอย่างภาคภูมิใจว่า “การลอกคราบ เป็นบริการที่จะต่อชีวิตให้เฉพาะบุคคลที่ยิ่งใหญ่ มีวิสัยทัศน์ ที่หากได้จากโลกนี้ไปจะสร้างความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ให้แก่มนุษยชาติ อาทิเช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือสตีฟ จ็อบส์”
และบริษัทดังกล่าว ก็พร้อมให้บริการยืดชีวิตนี้แก่แดเมี่ยน โดยทำการโอนย้ายจิตไปเข้าร่างของชายที่หนุ่มกว่า ร่างกายแข็งแรงกว่าอย่าง มาร์ค (แสดงโดย ไรอัน เรย์โนลด์)
แดเมี่ยนดูค่อนข้างพอใจกับร่างกายใหม่นี้มาก มันทำให้เขาหายทรมานจากปีศาจร้ายอย่างมะเร็ง และทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำต่อไปได้อีกด้วย
แต่แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้แดเมี่ยนรู้ว่านี่ยังคงเป็นตัวเขาอยู่ ทั้งๆ ที่รูปร่างหน้าตา วัยวุฒิ รวมไปถึงสถานะทางสังคมได้เปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง
อะไรคือสิ่งที่บ่งบอกว่านี่คือตัวตนเรา?
“จงจำไว้ ท่านไม่ได้ตาย มีแค่ร่างกายเท่านั้นที่ตาย สิ่งที่ยังอยู่ไม่ใช่ร่างกาย แต่เป็นจิตวิญญาณที่อยู่ในตัวท่าน เป็นพลังที่มองไม่เห็นซึ่งชี้นำร่างกาย เช่นเดียวกับพลังที่มองไม่เห็นซึ่งชี้นำโลก” มาร์คุส ทุลลิอุส ซิเซโร (106 – 43 ก่อนคริสต์ศักราช) นักการเมือง นักปรัชญา และรัฐบุรุษชาวโรมัน
‘จิตวิญญาณ ก็คือตัวตนของเรา’
เครดิตภาพ : IMDb
จิตวิญญาณคือความเชื่อที่มีมาอย่างยาวนานแล้วครับ โดยส่วนใหญ่จะบอกเล่าผ่านความเชื่อทางศาสนาที่มีความเชื่อในเรื่องของโลกหลังความตายเป็นสำคัญ เช่น การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏตามความเชื่อของศาสนาฮินดู, ศาสนาเชน และศาสนาพุทธ เป็นต้น
เรามาเริ่มด้วยคำถามที่สำคัญว่า ‘จิตวิญญาณนั้นมีจริงหรือไม่?’ กันก่อนดีกว่าครับ
เมื่อประมาณปี ค.ศ.1901 นายแพทย์ดันแคน แมคดูกัล (ค.ศ.1866 – 1920) สงสัยในเรื่องการมีอยู่จริงหรือไม่ของจิตวิญญาณเช่นเดียวกับพวกเรา จนกระทั่งเขาได้ทำการทดลองหนึ่งโดยทำการเปรียบเทียบน้ำหนักของมนุษย์ระหว่างก่อนตายและหลังตาย
นายแพทย์ดันแคน แมคดูกัล (Duncan MacDougall) ภาพขวา : เครดิตภาพ https://www.vanillamagazine.it/21-grammi-l-esperimento-che-misuro-il-peso-dell-anima-1/
การทดลองนี้ให้ผลลัพธ์ที่น่าตกใจจนหมอแมคดูกัลควักยาดมขึ้นมาสูดกันเป็นลมแทบไม่ทัน เมื่อเขาค้นพบว่าน้ำหนักมนุษย์หลังตายนั้นได้หายไปอย่างเป็นปริศนาถึง ‘21.3 กรัม’ อย่างมีนัยยะสำคัญ
หมอแมคดูกัลสรุปผลการทดลองนี้ว่าน้ำหนักที่หายไปนั้น คือน้ำหนักจิตวิญญาณของมนุษย์ที่หลุดลอยออกไปจากร่างเป็นแน่แท้
ผลการทดลองดังกล่าวกลายเป็นที่โจษจันเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น จึงถึงขั้นถูกนำไปตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ The New York Times และนิตยสารการแพทย์อเมริกัน ในปี ค.ศ.1907 กันเลยทีเดียว
หากจิตวิญญาณนั่นมีจริง แล้วมันสิงสถิตอยู่ที่ใดในร่างกายของเราเล่า?
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5,000 ปีที่แล้ว ได้มีหลักฐานว่ามนุษย์เราได้เริ่มคาดเดาที่สิงสถิตของจิตวิญญาณมนุษย์ว่ามันอยู่ที่ใดในร่างกายเรา โดยเริ่มจากชาวอียิปต์โบราณที่ชี้เป้าว่าจิตวิญญาณของเรานั้นสิงสถิตอยู่ที่หัวใจที่เต้นตุบๆ นี่เอง โดยบอกเล่าผ่านพิธีการทำมัมมี่ที่จะควักเอา ตับ ปอด กระเพาะอาหาร และลำไส้ ออกมาเก็บไว้ในขวดโหลที่อยู่ชื่อว่า ‘โถคาโนปิก (Canopic Jars)’ แต่มีเพียงแค่หัวใจเท่านั้นที่ยังคงเก็บเอาไว้ในร่างของผู้ตายเช่นเดิม ประหนึ่งภาชนะที่รองรับการหวนกลับมาของจิตวิญญาณเจ้าของร่างกายนั้นเอง
เครดิตภาพ : https://breathemyworld.com/2017/06/23/%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84/
ในขณะที่ชาวบาบิโลเนียนกลับมีความเชื่อว่าจิตวิญญาณนั่นสิงสถิตอยู่ที่ตับต่างหากล่ะ โดยให้เหตุผลว่าตับนี่แหละคือจุดที่ให้กำเนิดด้านอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ (ซึ่งทั้งชาวอียิปต์โบราณและชาวบาบิโลเนียน ต่างเรียกจิตวิญญาณว่า ‘คา’)
แต่ทว่าความเชื่อเรื่องหัวใจเป็นที่สิงสถิตของจิตวิญญาณนั่นทรงอิทธิพลกว่า และมันก็ถูกส่งต่อกันมายาวนานโดยแม้แต่นักปรัชญาอาจารย์และศิษย์ยุคกรีกโบราณอย่างเพลโตและอริสโตเติลเองก็ยังคงเชื่อเช่นนั้นด้วยเช่นกัน
จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2 เกเลน (ค.ศ.129 - 210) แพทย์ชาวกรีกก็ลุกขึ้นพรวดพราดทุบโต๊ะเสียงดังเปรี้ยงดุจเสียงฟ้าผ่า พร้อมประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “อย่าเพิ่งเถียงกันพี่น้อง เพราะจริงๆ แล้วจิตวิญญาณของมนุษย์ไม่ได้สิงสถิตอยู่แค่ที่หัวใจและตับเพียงสองที่เสียหน่อย”
เกเลน (Galen) : เครดิตภาพ https://www.mentalfloss.com/article/66738/how-galens-mistake-misled-medicine-centuries
โดยหมอเกเลนผู้ริเริ่มการจับชีพจรคนไข้ที่ปัจจุบันแพทย์ยังคงปฏิบัติกันอยู่ เชื่อว่าจิตวิญญาณ (ซึ่งเกเลนเรียกว่า ‘นิวมา’) ของมนุษย์ที่สิงสถิตอยู่ในร่างกายนั้นมีทั้งหมด 3 ดวง ได้แก่
วิญญาณดวงแรกมีชื่อว่า ‘พื้นฐาน’ สิงสถิตอยู่ที่ตับ วิญญาณดวงที่สองมีชื่อว่า ‘ชีวิต’ สิงสถิตอยู่ที่หัวใจควบกับปอด และวิญญาณดวงสุดท้ายที่มีความละเอียดอ่อนที่สุดมีชื่อว่า ‘สัตว์’ โดยสิงสถิตอยู่ในสมอง (หากให้เจาะจงจุดเลยก็คือ ส่วนที่เรียกว่าน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ) โดยจิตวิญญาณทั้งสามดวงจะเชื่อมโยงกันผ่านทางระบบไหลเวียนโลหิต (แม้เกเลนจะยังไม่รู้กระบวนการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตเลยก็ตาม)
ซึ่งแนวคิดเรื่องระบบวิญญาณสามดวงนี้ก็กลายเป็นที่ยอมรับเรื่อยมากว่าอีกพันปี จนกระทั่งแนวคิดนี้ได้มาพุ่งเจอตอที่มีชื่อว่า เรอเน เดการ์ตส์ (ค.ศ.1596 - 1650) ในช่วงศตวรรษที่ 17
เรอเน เดการ์ตส์ (Rene Descartes) : เครดิตภาพ https://www.learnliberty.org/blog/happy-birthday-to-rene-descartes-father-of-methodological-skepticism/
นักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส (แต่หลายคนจดจำเขาในฐานะนักปรัชญาเสียมากกว่า) เชื่อว่าจิตวิญญาณและร่างกายนั้นแยกต่างหากจากกันแบบชัดเจน ดังคำพูดคลาสสิคตลอดกาลของเขา
“Cogito, ergo sum (ภาษาละตินที่แปลว่า ‘ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่’) ข้าพเจ้ามีตัวตนอยู่เพราะข้าพเจ้ากำลังคิด และข้าพเจ้านึกภาพออกว่าข้าพเจ้าคิดได้แม้ไม่มีร่างกาย แต่อย่างไรก็ดี ถ้าข้าพเจ้ามีร่างกายแต่คิดไม่ได้ ข้าพเจ้าก็คงไม่รู้ว่ามีร่างกายอยู่”
เดการ์ตส์เชื่อว่าจิตวิญญาณคือสิ่งที่ทำให้เราเกิดความคิดที่ว่านี่คือตัวเราขึ้นมาได้ และในส่วนของร่างกายก็เปรียบเสมือนเครื่องจักร (สสาร) ที่จิตวิญญาณจะคอยชักใยให้เคลื่อนไหวอยู่เพียงเท่านั้น
ในภาพยนตร์ SELF/LESS เองก็เหมือนกับยึดแนวคิดในเรื่อง ‘จิตวิญญาณและความคิด’ ของเดการ์ตส์อยู่ไม่น้อยครับ : เครดิตภาพ https://www.youtube.com/watch?v=aQKAWNUuLEs
โดยเดการ์ตส์ชี้เป้าว่าจิตวิญญาณของเรานั่นสิงสถิตอยู่ที่ต่อมตรงใจกลางสมองที่มีชื่อว่า ‘ต่อมไพนีล (pineal gland)’ ที่อยู่ตรงกึ่งกลางค่อนไปทางท้ายทอยอย่างแน่นอน
ตำแหน่งของต่อมไพนีล (pineal gland) : เครดิตภาพ http://endocrine-4-2.blogspot.com/p/pineal-gland-melatonin-melatonin-msh.html
แต่ทว่าเรื่องจิตวิญญาณและการค้นหาที่สิงสถิตของมัน คงน่าตื่นเต้นและเป็นที่ถกเถียงกันถึงพริกถึงขิงกันได้มากกว่านี้ หากผลการทดลองที่ว่าด้วยเรื่อง ‘น้ำหนักจิตวิญญาณ 21.3 กรัม ของหมอแมคดูกัล’ ไม่ถูกหักล้างลงอย่างราบคาบไปเสียก่อน
หลังการประกาศความสำเร็จในการพิสูจน์การมีอยู่จริงของจิตวิญญาณไปได้สักพักใหญ่ๆ ก็ปรากฏว่ามีหมอหลายคน (โดยเฉพาะหมอออกัสตุส พี.คลาก) ได้ออกมาโต้แย้งอย่างเผ็ดร้อนว่า “น้ำหนักที่หายไปนั่น เป็นเพราะเมื่อคนเราเสียชีวิตไปแล้ว ร่างกายจะเกิดความร้อนขึ้นฉับพลัน เนื่องจากเลือดไม่ได้ถูกทำให้เย็นลงด้วยอากาศที่หมุนเวียนอยู่ภายในปอด ซึ่งทำให้ศพต้องสูญเสียเหงื่อและความชื้นในร่างกายออกไป” ลงอีหรอบนี้ก็หมายความว่าน้ำหนักที่หายไป 21.3 กรัมก็คือน้ำหนักของเหงื่อที่ศพได้สูญเสียไปครับพี่น้อง
และจุดที่ทำให้หมอแมคดูกัลทำการโต้เถียงกลับในประเด็นนี้ได้ยาก ก็เพราะบันทึกของเขาฉบับหนึ่ง ที่ได้ทำการทดลองชั่งเทียบน้ำหนักของสุนัขที่มีชีวิตและตายแล้วด้วยเช่นกัน แต่น้ำหนักทั้งก่อนตายและหลังตายนั้นกลับไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็เพราะสุนัขไม่มีต่อมเหงื่อเหมือนมนุษย์นั้นเองครับ
แต่ที่หมอแมคดูกัลดูจะเพิกเฉยในประเด็นดังกล่าวอาจด้วยเหตุผลที่ว่าในศาสนาคริสต์ (รวมถึงศาสนาอิสลาม) เชื่อว่ามีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่มีจิตวิญญาณได้ ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของเดการ์ตส์ที่บอกว่าสัตว์เดรัจฉาน (และพืช) เป็นเพียงจักรกลที่มีการทำงานแบบซับซ้อนเท่านั้น พวกมันจึงเป็นเพียงสสารที่ไม่มีจิตวิญญาณใดๆ
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หมอแมคดูกัลผู้เคร่งครัดในศาสนา จะไม่ตั้งข้อสงสัยกับการที่น้ำหนักมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง แต่สุนัขไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วนั้นเองครับ
แต่เมื่อเรื่องของจิตวิญญาณถูกรีเซ็ตย้อนกลับไปเป็นเพียงเรื่องนามธรรมที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีจริงหรือไม่อีกครั้ง มันก็ทำให้แนวคิดที่ว่า ‘จิตวิญญาณ ก็คือตัวตนของเรา’ มีน้ำหนักเบาไม่ต่างจากปุยนุ่นตามไปด้วยอย่างช่วยไม่ได้
แล้วอะไรกันแน่คือสิ่งที่บ่งบอกว่านี่คือตัวตนเรา?
ไว้เรามาหาคำตอบนี้กันต่อใน EP.2 ผ่านคำถามอภิปรัชญาที่มนุษย์ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เรามีต่ออดีตของตน กับนักปรัชญาชาวอังกฤษคนหนึ่งในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่ได้ให้คำตอบเอาไว้อย่างน่าสนใจและแลดูมีน้ำหนักอย่างไม่น่าเชื่อกันครับ
เครดิตภาพ : IMDb
บรรณานุกรม (ที่นำมาใช้อ้างอิงทั้ง EP.1 และ EP.2)
คาจา นอร์เด็นเก็น. (2563). สร้างซูเปอร์สมอง. แปลจาก Hjernetrening : slik holder du hjernen i form. แปลโดย ภูษณิศา เขมะเสวี. นนทบุรี : สำนักพิมพ์วารา.
ไนเจล วอร์เบอร์ตัน. (2561). ปรัชญา : ประวัติศาสตร์สายธารแห่งปัญญา. แปลจาก A Little History of Philosophy. แปลโดย ปราบดา หยุ่น และ รติพร ชัยปิยะพร. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป.
วิลเลียม บายนัม. (2562). วิทยาศาสตร์ : ประวัติศาสตร์การไขความจริงแห่งสรรพสิ่ง. แปลจาก A Little History of Science. แปลโดย ลลิตา ผลผลา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป.
แมรี่ โรช. (2555). เรื่องลับที่ไม่รู้ของ “ศพ”. แปลจาก STIFF : The Curious Lives of Human Cadavers. แปลโดย สุกิจ และ วิรงรอง ตรีไตรลักษณะ. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ Core Function.
จิลเลียน บัตเลอร์, และเฟรดา แม็กมานัส. (2558). จิตวิทยา : ความรู้ฉบับพกพา. แปลจาก Psychology : A Very Short Introduction. แปลโดย ณัฐสุดา เต้พันธ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเพ่นเวิลด์ส.
นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา. (2556). 500 ล้านปีของความรัก เล่ม 1. กรุงเทพฯ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
ผมอยู่ข้างหลังคุณ. (2562). โลกหมุนรอบกลัว. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ Geek Book.
วิจักขณา. (2562). แก่นปรัชญาตะวันตก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมิต.
ลีโอ ตอลสตอย. (2555). ปฏิทินปัญญา. แปลจาก A Calendar of Wisdom. แปลโดย มนตรี ภู่มี. นนทบุรี : แพรวสำนักพิมพ์.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา