23 ส.ค. 2020 เวลา 13:09 • การศึกษา
"Kids these days"
"เด็กสมัยนี้..." กับมุมมองและความเข้าใจ
วันนี้พอดีไปเจอรายการ Kids these days ซึ่งเกมโชว์เกาหลี ทางช่อง JTBC ที่ ชวนวัยรุ่นและผู้ใหญ่มาจับเข่าคุย ข้อข้องใจและกระชับช่องว่างระหว่างเด็กสมัยนี้และผู้ใหญ่สมัยนี้เข้าด้วยกัน
โดยในรายการนี้จะมีดารา และนักแสดงตลก ตัวท็อปทั้งหมด 3 คน มาเป็นพิธีกรดำเนินรายการ ซึ่งประกอบด้วย “ยูแจซอก” “ชินจองฮวาน” และ “คิมชินยอง” ที่มาเป็นตัวแทนผู้ใหญ่สมัยนี้ในการตั้งคำถามถึงพฤติกรรมที่เข้าใจยากของเด็ก ๆ สมัยนี้
ในส่วนของฝั่งวัยรุ่นก็มี 3 ไอดอลขวัญใจคนรุ่นใหม่อย่าง “ซึลกิ” นักร้องสาว จากวง Red Velvet ‘คิมฮาอน’ และ ‘ฮันฮยอนมิน’ นายแบบดาวรุ่งลูกครึ่งเกาหลี – ไนจีเรีย มาเป็นตัวแทนเด็กสมัยนี้ ในการอธิบายวิถีชีวิตตลอดจนความคิด ความรู้สึกของเด็กวัยรุ่นที่ส่งคลิปเข้ามาร่วมรายการ
ภาพโปสเตอร์รายการ Kids these days ทางช่อง JTBC ออกรายการในปี ค.ศ.2018
หลังจากชมคลิปสไตล์ชีวิตของเด็กวัยรุ่น ที่ส่งมาในรายการแล้ว พิธีกร 2 คน จากฝั่งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ จะจับคู่กันเลือกไปสัมผัสการใช้ชีวิตของวัยรุ่นคนต่างๆ ตั้งแต่สไตล์การใช้ชีวิต ทั้งการเรียน การทำงาน งานอดิเรก และพูดคุยแลกเปลี่ยนและรับฟังมุมมองของวัยรุ่นในการใช้ชีวิต และการมองโลก ร่วมถึงความคาดหวังต่ออนาคต
ตัวอย่างในรายการ Kids these days ที่พิธีกรวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้ออกไปดูการใช้ชีวิตของวัยรุ่นที่ส่งคลิปวีดีโอแนะนำตัวมาในรายการ และได้พูดคุยถึงมุมมองและทัศนคติต่างๆ ที่ทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจมุมมองของเด็กสมัยนี้ได้ดีขึ้น
ซึ่งจากการได้รับฟังเด็กวัยรุ่นที่ได้เล่าเรื่องราวของชีวิตของตน และได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ของตัวแทนผู้ใหญ่ที่เป็นทีมพิธีกร จะเห็นได้ว่าบรรยากาศของการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน
ในระหว่างรายการยังได้การใช้คำถามที่น่าสนใจจากเด็กวัยรุ่นที่ถามถึงช่วงเวลาที่ผู้ใหญ่ผ่านช่วงชีวิตของเขา และ ความคิดของวัยรุ่นที่ผู้ใหญ่ได้ฟังแล้วก็ได้ฉุดคิดว่าทัศนคติเดิมๆที่เขามองเด็กเดียวนี้ด้วยความอคตินั้นอาจจะไม่จริงอย่างที่คิดก็ได้
ในช่วงหนึ่งของรายการมีการให้วัยรุ่นพูดคุยความคิดความคาดหวังถึงแนวทางที่พวกเขาคิดไว้ในอนาคต และมีการแลกเปลี่ยนกับพิธีกรที่ไปเยี่ยมที่บ้านของพวกเขา
เมื่อพูดชื่อรายการ Kids these days ของเกาหลี ทำให้นึกถึงบทความวิจัยของจอห์น พรอตซ์โก (John Protzko) และโจนาธาน สกูเลอร์(Jonathan W. Schooler)
นักจิตวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา บาร์บารา ที่เผยแพร่ผลงานวิจัยของตนเองในชื่อเดียวกันว่า Kids these days : Why the youth oftoday seem lacking ลงในวารสารวิชาการ Science Advances ปี ค.ศ.2019
ซึ่งในรายงานวิจัยฉบับนี้ ได้ใช้ข้อมูลการสอบถามจากชาวอเมริกันจำนวน 3,458 คน ที่มีอายุระหว่าง 33-51 ปี เกี่ยวกับทัศนคติที่พวกเขามีต่อวัยรุ่นอเมริกันในสมัยนี้
จอห์น พรอตซ์โก (John Protzko)
โจนาธาน สกูเลอร์(Jonathan W. Schooler)
โดยผลการวิจัยพบว่า กลุ่มผู้ใหญ่ที่เก็บวิจัยมีทัศนคติต่อเด็กสมัยนี้ว่า เด็กสมัยนี้เคารพผู้อาวุโสน้อยลง และยังมองว่าเด็กสมัยนี้โง่ลงและไม่ค่อยอ่านหนังสือ
ซึ่งสาเหตุที่ผู้ใหญ่มักมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้เรื่องนั้นเป็นเพราะความยึดติดกับทรงจำและประสบการณ์ในอดีตที่หล่อหลอมทำให้พวกเขาคิดว่าชีวิตของเขาในอนาคตมันไม่น่าจะดีกว่าชีวิตของเขาในอดีต
ด้วยเหตุนี้กลุ่มผู้มีอายุมากส่วนใหญ่จึงมองอดีตว่าดีกว่าปัจจุบัน ขณะที่คนอายุน้อยมักมองโลกด้วยความคิดที่ว่าชีวิตของเขาในอนาคตควรจะต้องดีกว่าชีวิตของเขาในปัจจุบัน
มุมมองและประสบการณ์ต่อโลกที่ต่างกันของผู้ใหญ่และเด็กนี้เอง ที่ทำให้ผู้ใหญ่ไม่สามารถมองผ่านสายตาของเด็กในสมัยนี้ด้วยความเป็นกลางได้ ขณะที่เด็กก็มองว่าผู้ใหญ่นั้นมักจะตัดสินพวกเขาจากมุมมองและประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนที่อาจล้าสมัยในความคิดของพวกเขา ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างทางความคิดที่ไม่ตรงกัน
อันที่จริงแล้ว ผู้ใหญ่สมัยนี้เองนั้นก็มองเด็กสมัยนี้ไม่ต่างจากที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนมองเด็กสมัยก่อนสักเท่าไหร่ แต่ความคาดหวังในอนาคตในวัยเด็กอาจเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเขาเติบโตขึ้น พร้อมกับประสบการณ์ทั้งที่เป็นความสำเร็จและความผิดหวังที่ได้พบเจอในชีวิต
รวมถึงความรับผิดชอบที่ต้องแบกรับมากขึ้น ทำให้พวกเขามองถึงความมั่นคงในชีวิตที่เป็นอยู่มากกว่าการท้าทายต่อความเสี่ยงที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
อย่างไรก็ตามโลกของเด็กสมัยนี้ อาจไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้ใหญ่อย่างเราคิดไว้เสมอ ประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่อย่างเรามีในอดีตอาจจะใช้ไม่ได้กับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิตของเด็กรุ่นใหม่
ทั้งนี้เพราะพวกเขากำลังเติบโตอยู่ในสิ่งแวดล้อมของโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสังคมฐานความรู้ (Knowledge-based Society) บนโลกไซเบอร์ (Cyberspace) ที่ข้อมูลความรู้และข่าวสาร สามารถเข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วกว่าในสมัยก่อน
นอกจากนี้ยังร่วมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่ทำให้ชีวิตสะดวกรวดเร็วขึ้น ตลอดจนการเกิดเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีส่วนให้ความรู้และประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ได้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่เติบโตมากับสังคมฐานความรู้ (Knowledge-based Society) บนโลกไซเบอร์ (Cyberspace) พวกเขาสามารถเข้าถึงความรู้และข่าวสารต่างๆได้อย่างรวดเร็ว
ความแตกต่างของยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ ดูเหมือนจะทำให้ช่องว่างของผู้ใหญ่และเด็กสมัยนี้ อาจมีระยะห่างออกไป แต่หากต่างฝ่ายต่างวางอคติของตนลงและเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน
การหันหน้าเข้าหากัน มาพูดคุยระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ โดยให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ในฐานะที่ต่างฝ่ายต่างเป็นมนุษย์ที่ต่างมีความรู้สึกนึกคิด ไม่ต่างจากไปตัวเรา เชื่อว่าเราจะก้าวผ่านความขัดแย้งและเกิดความเข้าใจกัน อย่างแน่นอน
อ้างอิง
Protzko, J. and Schooler, J.W., 2019. Kids these days: Why the youth of today seem lacking. Science advances, 5(10), p.eaav5916.
โฆษณา