24 ส.ค. 2020 เวลา 03:30 • สุขภาพ
โลกหลังโควิดของสิงคโปร์ แผนปรับตัวฉีกทุกตำรา ลงมือเร็วได้เปรียบ
เปิดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ถูกมองว่าฉีกทุกทฤษฎีที่มีอยู่ เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์เชื่อว่า โลกหลังโควิด-19 จะไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป
รัฐบาลสิงคโปร์กำลังเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มกำลัง หลังได้รับอำนาจเต็มจากการชนะเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ อธิบายว่า ต้องการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นรัฐบาลยังมีวาระเหลืออีกราว 1 ปี เนื่องจากประเมินแล้วว่า ปัญหาเศรษฐกิจจากโควิด-19 อาจต้องใช้นโยบายระยะยาว และรัฐบาลต้องมีอำนาจตัดสินใจโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงข้อผูกมัดไปยังรัฐบาลชุดใหม่
นั่นทำให้แม้นายลี เซียน ลุง และพรรคกิจประชาชน (PAP) จะยังได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลเช่นเดิม แต่การดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายทางเศรษฐกิจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ประเมินว่า โควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงโลกใบเดิมที่เป็นอยู่ไปอย่างสิ้นเชิง
- รัฐบาลยอมจ่ายเงินเดือนแทนเอกชน
หลักการของรัฐบาลสิงคโปร์ชุดใหม่คือต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด เห็นได้จากการทยอยประกาศมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญภายใน 1 เดือน หลังรัฐบาลชุดใหม่เข้ามารับตำแหน่ง
และดูเหมือนมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจะเป็นมาตรการเร่งด่วนที่สุด โดยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา นายเฮง สวี เกียต รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ประกาศมาตรการช่วยแรงงานสิงคโปร์ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ครอบคลุมเป็นเวลา 7 เดือน ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2564 เป้าหมายคือการช่วยเหลือแรงงาน 2 ล้านคนให้ยังอยู่ในตำแหน่งงานใน 150,000 บริษัท
รัฐบาลสิงคโปร์ออกมาตรการจ่ายเงินเดือนแทนเอกชน เพราะเชื่อว่าหากประชาชนตกงานจะเกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมา
รัฐบาลสิงคโปร์จัดประเภทการช่วยเหลือในลักษณะเหมือนกับการช่วยจ่ายเงินเดือนแทนภาคเอกชน โดยแบ่งตามสายอาชีพที่ได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน โดยมีระดับการช่วยเหลือตั้งแต่ 10-50% จากเงินช่วยเหลือรายเดือนที่รัฐบาลสิงคโปร์ตั้งไว้ที่ 4,600 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 105,000 บาทต่อคน
เช่น แรงงานในบริษัทด้านการบินและการท่องเที่ยว จะได้รับเงินช่วยเหลือรายเดือน 50% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 52,500 บาท เป็นเวลา 7 เดือน
1
แรงงานในภาคการพัฒนาสิ่งแวดล้อม จ่าย 50% ของเงินช่วยเหลือรายเดือน หรือคิดเป็นเงิน 52,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ส่วนอีก 5 เดือนที่เหลือลดการจ่ายเหลือแค่ 30% หรือราว 31,500 บาท
ส่วนแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิง ศิลปะ การขนส่งและอาหาร รัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือรายเดือนให้ 30% หรือราว 31,500 บาทเป็นเวลา 7 เดือน
นอกเหนือจากนี้ แรงงานในสิงคโปร์ภาคส่วนอื่นๆ ที่อาจไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ยังเข้าเกณฑ์ช่วยเหลือจะได้รับเงินเดือนละ 10% หรือ 10,500 บาทเป็นเวลา 7 เดือน โดยมีแรงงานในบางอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะฟื้นตัวเร็ว หรือมีโอกาสเติบโตในช่วงวิกฤติ เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมยาหรือเทคโนโลยี จะได้รับเงินช่วยเหลือ 10% ในระยะเวลาแค่ 4 เดือนเท่านั้น
การยอมจ่ายเงินเดือนแทนบริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์ มีเป้าหมายมากกว่าแค่ช่วยเหลือชาวสิงคโปร์ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่รัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นแล้วว่า หากปล่อยให้ภาคเอกชนเลิกจ้างงานจะเป็นปัญหาใหญ่กว่า โดยระหว่างนี้รัฐบาลสิงคโปร์เปิดทางให้บรรดาบริษัทต่างๆ ฝึกทักษะใหม่ๆ ให้กับลูกจ้าง หรือหาลู่ทางเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจเพื่อให้เข้ากับโลกหลังโควิด-19
- 4 เปลี่ยน 3 หลักการ สู้ความจริงที่เจ็บปวด
นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ซึ่งเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ติดลบ 6.7% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจประเมินทั้งปีนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ประเมินว่าอาจอยู่ในภาวะถดถอย ติดลบราว 5-7%
รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ยังใช้การแถลงข่าวดังกล่าว เสนอแนวทางของรัฐบาลสิงคโปร์ที่จะสร้างรูปแบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกจากโควิด-19 ซึ่งเขามองว่า มีความแตกต่างจากวิกฤติรอบอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เช่นวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในช่วงปี 2541 หรือวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2552 ที่ในตอนนั้นเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน
นับจากนี้ผู้ประกอบการในสิงคโปร์จะต้องปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงจากโควิด-19
นายชาง ชุน ซิง ระบุว่า วิกฤติในครั้งนี้หากมัวแต่รอโควิด-19 หายไปก็จะยิ่งแย่ลง ดังนั้นรัฐบาลสิงคโปร์ต้องเร่งสร้างรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ทันที โดยอาศัยแนวคิด 4 เปลี่ยน 3 หลักการ ดังต่อไปนี้
4 เปลี่ยน
1. การเมืองโลกเปลี่ยน สิงคโปร์ไม่ได้เปรียบเหมือนเดิม
ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐฯ กับจีน ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของชาวสิงคโปร์ โดยเขายกตัวอย่างว่า ต่อไปนี้นักธุรกิจชาวสิงคโปร์จะประสบปัญหาติดต่อสื่อสารกับนักธุรกิจจีนด้วยโปรแกรม 'WeChat' ที่จะไม่สามารถติดต่อกันได้หากอยู่ในสหรัฐฯ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ จะแบนแอปฯ นี้ ซึ่งนี่ก็เป็นผลกระทบทางธุรกิจที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองระดับโลก
รัฐบาลสิงคโปร์มองว่า นับจากนี้สิงคโปร์ต้องหลีกเลี่ยงการไปอยู่ที่ใจกลางความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ และต้องหาทางไม่ให้ติดกับดักความขัดแย้งเหล่านี้
2. โลกธุรกิจเปลี่ยน บริษัทกระจายความเสี่ยงมากขึ้น
ผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ และการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต่อไปนี้ภาคเอกชนต่างๆ จะกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ผ่านการจัดตั้งสำนักงานสาขาหรือโรงงานกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ชี้ว่า การกระจายความเสี่ยงอาจเป็นโอกาสของสิงคโปร์ เนื่องจากหากบริษัทเอกชนต้องการกระจายความเสี่ยงจากเดิมที่มีฐานอยู่ในประเทศจีนเป็นหลัก ก็อาจวางแผนตั้งฐานนอกประเทศจีน เช่นในอาเซียนเพิ่มเติม และจุดนี้เองที่การลงทุนใหม่ๆ อาจมาที่สิงคโปร์ได้
3. รูปแบบงานเปลี่ยน ใครๆ ก็ทำงานของคนสิงคโปร์ได้
การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะส่งผลกระทบต่อหลายสายอาชีพโดยตรง เช่น ที่ผ่านมาพนักงานส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และการทำงานที่บ้านในช่วงดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่า บางสายอาชีพ ได้แก่ จำพวกผู้บริหาร ผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญ และช่างเทคนิค ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานก็สามารถสั่งงานจากที่บ้านได้ ดังนั้นในอนาคต สายอาชีพพวกนี้อาจถูกชาวต่างชาติที่อยู่ต่างประเทศแย่งงานชาวสิงคโปร์ได้ง่ายขึ้น
1
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจส่งผลกับสายอาชีพเหล่านี้เช่นกัน
4. สังคมเปลี่ยน ผู้คนจะขัดแย้งกันมากขึ้น
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติเป็นทุนเดิม ประกอบกับการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจทำให้มีชาวต่างชาติเข้าไปทำงานในสิงคโปร์จำนวนมาก ซึ่งการระบาดของโรคโควิด-19 อาจเปลี่ยนแปลงโลกในด้านสังคม ทำให้ผู้คนที่แตกต่างทางเชื้อชาติเกิดความขัดแย้งกันง่ายขึ้นกว่าในอดีต
รัฐบาลสิงคโปร์มองว่า แทนที่รัฐบาลจะใช้มาตรการในเชิงปกป้องผลประโยชน์ของพลเมืองอย่างเดียว ชาวสิงคโปร์ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ชาวสิงคโปร์ไม่อาจแยกตัวเองออกมาจากสังคมโลกได้ ดังนั้นการทำธุรกิจของชาวสิงคโปร์นับจากนี้ต้องนึกถึงสังคมมากขึ้น เน้นการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ไม่แบ่งแยกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะเป็นผลดีในแง่ที่ธุรกิจจะไม่เสียโอกาสในการเติบโตในตลาดโลกด้วย
2
โลกหลังโควิด-19 จะทำให้สิงคโปร์ไม่ได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าอีกต่อไป
3 หลักการ
1. ธุรกิจต้องปลอดภัยและยั่งยืน
ผู้ประกอบการต้องศึกษาผลกระทบอย่างรวดเร็วและนำประสบการณ์มาเป็นบทเรียน ซึ่งการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้จะต้องคำนึงถึงความเสี่ยง โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงอาจต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดขึ้น และธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม
2. รัฐบาลต้องพร้อมช่วยธุรกิจปรับตัว
รัฐบาลสิงคโปร์จะมีมาตรการเพื่อให้เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจที่กำลังมีโอกาส เช่นธุรกิจเกี่ยวกับเวชภัณฑ์ หรืองานด้านวิศวกรรม ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ ให้สามารถเติบโตได้ในระยะยาว ทั้งในด้านการลงทุนและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่นธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจบันเทิง รัฐบาลสิงคโปร์จะเข้าไปช่วยเหลือด้วยการนำพาไปสู่ตลาดใหม่ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับโลกหลังโควิด-19
3. รัฐบาลต้องเชื่อมธุรกิจในประเทศกับตลาดโลก
รัฐบาลสิงคโปร์ต้องสร้างภาวะเศรษฐกิจใหม่ที่มีความเชื่อมโยงกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยต้องยอมรับความจริงว่า อุตสาหกรรมการบินและการเป็นศูนย์กลางการขนส่งไม่ทำให้สิงคโปร์ได้เปรียบชาติอื่นอีกต่อไป แต่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีและธุรกิจที่อาศัยความรู้ความสามารถต่างหากที่จะสร้างตลาดใหม่ให้กับสิงคโปร์ได้
- เชื่อมกับตลาดโลกต้องเร่งเปิดพรมแดน
ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลลบต่อธุรกิจ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศต่างๆ ไม่สามารถเปิดพรมแดนให้ชาวต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจหรือทำงานในประเทศได้ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และเริ่มเปิดพรมแดนกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียมาตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม โดยแบ่งผู้ที่จะเดินทางเข้ามาจากมาเลเซียออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่จะเดินทางเข้ามาในระยะสั้น จำกัดผู้เดินทาง 2,000 คนต่อวัน และผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในระยะยาว จำกัดผู้เดินทาง 400 คนต่อวัน
รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มเปิดพรมแดนอย่างระมัดระวัง เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจ
นอกจากการเปิดพรมแดนกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียแล้ว สิงคโปร์ยังพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อเปิดพรมแดนกับประเทศและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงการระบาดต่ำ ได้แก่ ออสเตรเลีย (ยกเว้นรัฐวิกตอเรีย) บรูไน มาเก๊า จีน นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งผู้ที่อาศัยในประเทศและพื้นที่เหล่านี้ต้องผ่านการตรวจโรค และเมื่อถึงประเทศสิงคโปร์ต้องมีการกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน
1
ขณะที่ในวันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป รัฐบาลสิงคโปร์จะผ่อนคลายมาตรการให้กับผู้ที่เดินทางมาจากบรูไนและนิวซีแลนด์ ไม่ต้องกักตัวที่บ้าน 14 วัน แต่ต้องเข้ารับการตรวจโควิด-19 ทันทีเมื่อเดินทางถึงสนามบินที่สิงคโปร์
ผู้เขียน Marshal
ที่มา The Straits Times, CNA, Kyodo News
1
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา