28 ส.ค. 2020 เวลา 08:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
‘ARJ21’ ความสำเร็จการพัฒนาเครื่องบินจีน
ผลิตเอง ใช้เอง สู่การชิงก้อนเค้กในอุตสาหกรรม
หากพูดถึงบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาเครื่องบินพาณิชย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก ก็คงจะนึกชื่อออกอยู่ด้วยกัน 2 บริษัทยักษ์ใหญ่คือ Boeing จากสหรัฐฯ และ Airbus จากฝรั่งเศส ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอุตสาหกรรมเครื่องบินโดยสารของโลกนี้รวมกันมากกว่า 91% โดยแบ่งเป็น Boeing 45.69% และ Airbus 45.35% ส่วนที่เหลือไม่ถึง 10 ก็เป็นของผู้ผลิตรายเล็กๆ ที่ผลิตเครื่องบินในจำนวนที่นั่งไม่เกิน 100 ที่นั่ง ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วโลกในสัดส่วนที่ลดหลั่นกันไป
แม้ปัจจุบันจะมีเพียงแค่ 2 ค่ายยักษ์ใหญ่ของโลกที่สามารถสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่เกิน 200 ที่นั่งได้ แต่ก็นับว่าเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างยิ่งท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่ทำให้อุตสาหกรรมสายการบินแทบจะเป็นอัมพาต เที่ยวบินระหว่างประเทศเกือบ 100% ทั่วโลกต้องหยุดชะงัก ส่งผลต่อยอดสั่งจองเครื่องบินขนาดใหญ่ของทั้งสองค่ายอย่างจัง แต่มันกลับทำให้เครื่องบินที่มีขนาดรองลงมาและมีพิสัยการเดินทางระยะกลางกลายเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการสายการบิน และเกิดความพยายามพัฒนาเครื่องบินที่ตอบสนองต่อการเดินทางภายในภูมิภาคมากขึ้น
ประเทศจีนถือว่าเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน เนื่องจากการพัฒนาที่เป็นไปอย่างรวดเร็วจนเกือบทั้งโลกต้องเป็นฝ่ายวิ่งตามจีนให้ทัน ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อราว 60 ปีที่แล้ว จีนยังถือว่าเป็นประเทศยากจน มีรายได้ติดอันดับกลางๆ ค่อนไปทางท้ายตารางของโลกอยู่เลย แต่มาวันนี้จีนพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาจนเรียกได้ว่าเป็นผู้นำของโลกเทคโนโลยีหลายๆ ด้าน จนมหาอำนาจโลกอันดับหนึ่งอย่างสหรัฐฯ จ้องจับผิดทุกความเคลื่อนไหวแบบไม่วางตา
อีกหนึ่งสิ่งที่ยืนยันการพัฒนาของประเทศจีนไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงก็คือ การสร้างเครื่องบินพาณิชย์เป็นของตัวเอง และมันได้ถูกผลักดันเข้าสู่ตลาดการซื้อขายอากาศยานเป็นที่เรียบร้อย โดยเครื่องบินรุ่นเรือธงแปะป้าย Mead in China ก็คือรุ่น ARJ21 จากบริษัทอากาศยานพาณิชย์แห่งประเทศจีนหรือโคแมก (COMAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแดนมังกร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้
ARJ21 โมเดลแรกถูกสร้างขึ้นและเริ่มโบยบินขึ้นสู่ท้องฟ้าครั้งแรกเมื่อปี 2558 ซึ่งมันกลายเป็นเครื่องบินพิสัยการเดินทางระยะกลางที่ตอบโจทย์การเดินทางอย่างมากสำหรับตลาดในประเทศจีนที่มีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่สุดขั้วในหลายๆ ด้าน ทั้งที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ทะเลทรายแห้งแล้งกันดาร ทุ่งน้ำแข็งหนาในฤดูหนาว ไปจนถึงที่ราบสูงซึ่งเต็มไปด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนบนดินแดนหลังคาโลกอย่างทิเบต
ARJ21 คือเครื่องบินโดยสารไอพ่นแบบเทอร์โบแฟนที่ใช้งานในระดับภูมิภาครุ่นแรกของจีน ถูกออกแบบมาให้มี 78-90 ที่นั่ง และมีพิสัยการบินมาตรฐานที่ 3,700 กิโลเมตร โดยสายการบินแรกที่นำเครื่องบินรุ่นนี้เข้าสู่ฝูงบินก็คือสายการบินเฉิงตู แอร์ไลนส์ (Chengdu Airlines) เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2559 และปัจจุบันสายการบินแห่งนี้มีเครื่อง ARJ21 ในฝูงบินถึง 21 ลำ ที่ให้บริการเดินทางเชื่อมต่อกับเมืองน้อยใหญ่ทั่วทั้งแผ่นดินจีน
ที่สำคัญก็คือเครื่องบินรุ่นนี้ได้ถูกนำมาให้บริการบินข้ามพรมแดนประเทศจีนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปี 2562 แล้วด้วย โดยเป็นเส้นทางระหว่างนครฮาร์บิน – เมืองวลาดิวอสต็อกในเขตตะวันออกไกลของรัสเซีย ก่อนที่จะมีแผนขยายเส้นทางบินด้วยเครื่องรุ่นนี้ออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอื่น ทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมทั้งภูมิภาคอาเซียนด้วย
ARJ21 ที่ประจำฝูงบินของเฉิงตู แอร์ไลน์ คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่สร้างความเชื่อมั่นในนวัตกรรมเครื่องบินพาณิชย์สัญชาติจีน แต่การเติบโตของมันยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะ 3 สายการบินยักษ์ใหญ่ที่สุดของประเทศจีนคือ แอร์ ไชน่า (Air China) ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส (China Eastern Airlines) และไชน่า เซาเทิร์น (China Southern Airlines) ก็ได้สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้เข้าประจำฝูงบินเป็นที่เรียบร้อยเช่นกัน และมีกำหนดส่งมอบภายในปีนี้ทั้งหมดด้วย
โดยเฉพาะไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์สได้เปิดตัวสายการบินวัน ทู ทรี แอร์ไลน์ส (OTT Airlines) ซึ่งเป็นสายการบินในเครือ ที่จะให้บริการด้วยเครื่องบินพาณิชย์ ARJ21 และ C919 ที่จีนพัฒนาขึ้นเป็นหลักอีกด้วย
1
ปัจจุบัน ARJ21 เข้าประจำในฝูงบินของสายการบินต่างๆ แล้ว 33 ลำ โบยบินเชื่อมต่อเมืองต่างๆ ในภูมภาคของจีนและประเทศใกล้เคียงแล้ว 56 เมือง ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสการเดินทางของประชาชนให้สะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ห่างไกลของประเทศ
ไม่เพียงแค่ ARJ21 เพราะก่อนหน้านี้โคแมกก็ได้พัฒนาเครื่องบินพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่กว่า ARJ21 มาแล้วซึ่งก็คือรุ่น C919 เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ราว 155-175 ที่นั่ง ใกล้เคียงกับเครื่องของ Airbus A-320 และ Boeing 737 โดยมีพิสัยการบินมาตรฐานอยู่ที่ 4,075 กิโลเมตร
ซึ่ง C919 ถูกสั่งซื้อเพื่อไปเขาสู่ฝูงบินของสายการบินต่างๆ เกือบ 1,000 ลำ ทั่วโลกใน 27 สายการบิน นับว่าเป็นเครื่องบินสัญชาติจีนรุ่นแรกที่ได้รับการต้อนรับจากบรรดาสายการบินต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และยังไม่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุเลยนับตั้งแต่ที่มันเข้าประจำการฝูงบินเมือปี 2560
ที่น่าภูมิใจก็คือผู้ที่เป็นวิศวกรหัวเรือใหญ่การพัฒนาโปรเจคเครื่องบินรุ่นนี้ก็เป็นคนไทยอีกด้วยคือ นายธนิก นิธิพันธวงศ์ วิศวกรผู้ควบคุมโครงการพัฒนาเครื่องบิน COMAC C919 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก University of California – Los Angeles (UCLA) ด้านวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) ประเทศสหรัฐอเมริกา
2
นายธนิก นิธิพันธวงศ์ วิศวกรผู้ควบคุมโครงการพัฒนาเครื่องบิน COMAC C919
มีประสบการณ์และผลงานการออกแบบชิ้นส่วนเครื่องบินมาแล้วกว่าสิบปี โดยผลงานเด่นๆ คือ แอร์บัส A380, อีร์คุต MC-21 ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2559 และงานล่าสุดก็คือเครื่องโคแม็ก C919 ที่เพิ่งบินทดสอบรอบปฐมฤกษ์สำเร็จเสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา
นับเป็นก้าวเดินที่ยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินของประเทศจีน ที่แม้ว่าจะเริ่มหลังจาก 2 ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดของโลกซึ่งครองตลาดมานานกว่าค่อนศตวรรษ แต่ก็ไม่สายที่จะกระโดดเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มเครื่องบินโดยสารที่มีขนาดพอเหมาะสำหรับการเดินทางในภูมิภาค
ในวันที่ประเทศซึ่งครั้งหนึ่งผู้คนนับล้านเคยต้องอพยพหนีความแร้นแค้นและความตาย หอบเสื่อผืนหมอนใบไปตายเอาดาบหน้าในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก และเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศสยามที่ตลอดเวลาคนไทยเคยดูแคลน ดูถูกสามารพัด แต่วันนี้กลับเจริญก้าวรุดหน้าหนีทิ้งห่างไปอย่างไม่เห็นฝุ่น ก็ยังคงมีสายตาดูแคลนผสมด้วยความริษยาส่งไปหาอยู่ ซึ่งมันกลับกันที่สายตาดวงนั้นมันคือสายตาที่ชะเง้อมองไปข้างหน้าไกลๆ ไม่ใช่การเอี้ยวคอหันหลังมองแบบในอดีตนั่นเอง
โฆษณา