2 ก.ย. 2020 เวลา 01:49 • การเมือง
จะปกป้องสถาบันอะไรก็ตาม ก็อย่าลืมปกป้องสถาบันครอบครัว
ความตั้งใจเดิมของผมก็คือ ไว้ทำงานสองสามเคสที่ยาวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี แล้วจะมาเขียนเล่าให้ฟังทีเดียว
จริง ๆ คือขี้เกียจนั่นแหละครับ หายไปตั้งสี่เดือน แค่อ้างโน่นนี่ไปเรื่อย
แต่พอดีว่าบรรยากาศการเมืองที่ร้อนแรงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ผมอดที่จะคิดอะไรได้บางอย่าง แล้วก็อยากเอามาเขียนบันทึกไว้ใน BD
ที่ว่ามันร้อนแรงแบบที่ไม่เคยเจอ เพราะตอนนี้มันไม่ใช่แค่การต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์ที่ต่างกันของคนในสังคม หรือระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชนแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว
แต่มันเริ่มสร้างการกระทบกระทั่งกันระหว่างคนในครอบครัวแบบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน
ตั้งแต่ยุค เสื้อเหลือง เสื้อแดง เราก็คงพอได้ยินมาบ้างว่าคนในบ้านเดียวกันคิดต่างกัน
เพียงแต่สมัยนั้น ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ก็คงจบที่ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างอยู่ ก็นานาสังวาสนั่นแหละ เพราะคู่กรณีในรุ่นนั้นส่วนใหญ่ก็อยู่ในวัยผู้ใหญ่กันหมด
แต่ว่าพอถึง พ.ศ. นี้ เราเห็นแล้วหล่ะว่าเรื่องการเมือง มันแทรกซึมลงไปถึงระดับเยาวชน ไปถึงคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งพ้นวัยเด็กมาไม่กี่วัน
ที่แม้จะยังเลือกตั้งไม่ได้ ก็ต้องยอมรับว่าหลาย ๆ คนมีความคิดความอ่านก็ล้ำหน้าผู้ใหญ่บางคนด้วยซ้ำ
แต่ .... ก็อย่าลืมนะว่าไม่ใช่ทุกคนจะคิดได้เอง พวกที่เฮตามเขาไปโดยไม่ได้ "ตกผลึก" หรือ "ตาสว่าง" กันเองอย่างคนมีวุฒิภาวะก็น่าจะพอมี
ซึ่งจุดนี้ บางครั้งมันทำให้เกิดสภาวะที่คนในบ้านเดียวกันเริ่มคุยกันไม่รู้เรื่อง
ปกติวัยรุ่น ไม่ว่าในยุคไหน ๆ ก็คุยกับพ่อกับแม่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องอยู่แล้ว พอมาเจอโจทย์การเมืองที่ต่างฝ่ายก็ตั้งอยู่บน "Platform" หรืออยู่บน "ย่านความถี่" ที่แตกต่างกัน มันก็ยิ่งไปกันใหญ่
เราเลยเห็นเหตุการณ์แปลก ๆ ดังต่อไปนี้
กรณีที่ 1
"พ่อลูกเตรียมตัดขาด หลังลูกเคลื่อนไหวม็อบปลดแอก ถามพ่อสถาบันกับลูกเลือกอะไร?"
Credit: Mgronline.com
ที่มา: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000086369
ต้องขอออกตัวหน่อยว่า ผมเองก็ไม่รู้เรื่องจริงหรือเปล่า เพราะอ่านข้อความแล้วมันดูน้ำเน่าเกินพอดี อาจจะเป็น IO ภาคประชาชน สร้างกระแส สร้างแนวร่วม ฯลฯ
แต่อ่านแว้บแรก ผมก็เชื่อว่าจริงนะ
และด้วยความเคารพนะครับ ผมถือว่าคุณพ่อในข่าวนี้ก็ถือว่าล้มเหลวนะ ที่คุยกับลูกแล้วออกมาแบบนั้น จนลูกต้องมา "ขอกอด" ในทวิตแลนด์
กรณีที่ 2
"กตัญญูแปลว่าอะไรคะ"
ภาพจาก Twitter
Tweet ต้นฉบับปลิวไปแล้ว ดังนั้นผมก็ไม่แน่ใจว่าตัวเขาคิดแบบนี้จริง ๆ หรือเปล่า แม้ว่า Tweet อื่น ๆ ของเขามันก็ออกไปในทางเดียวกันก็ตาม
ประเด็นคือ แม้ว่าเขา (เข้าใจว่ายังวัยรุ่น) จะคิดแบบนี้จริง มันก็ไปห้ามอะไรไม่ได้หรอก ก็เป็นชุดความคิดในกรอบของน้องเขาเอง
ผมไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่ต้องไปเปลี่ยนความคิดของเขานะ อย่างน้อยก็ ณ วันนี้
ที่ผมห่วงมากกว่าคือ พวกครึ่งเด็กครึ่งผู้ใหญ่ที่ชอบ Abuse ประเด็นเหล่านี้ เพื่อหวังสร้างกระแสทางการเมือง และสร้างความแตกแยกไปทั่ว คนพวกนั้นแหละที่อันตราย
แบบที่ 3
ช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เราจะพบคำถามลักษณะนี้ในกระทู้ Pantip หรือ Post ต่าง ๆ บน Social Media (ลอง Search ดูได้เลยครับ)
"มีแม่เป็นสลิ่มทำไงดีครับ"
"ครอบครัวเป็นสลิ่มมีวิธีช่วยพูอย่างไรให้กับมาเป็นคนปกติได้ไหมครับ?"
"แม่เป็นสลิ่มทำยังไงดีคะ?"
"แม่เป็นสลิ่มควรทำยังไงดีครับ"
ฯลฯ
ผมไม่แน่ใจหรอกว่าบุคคลในกระทู้ หรือ Post ต่าง ๆ เหล่านั้นคิดยังไงจริง ๆ อาจจะแค่คึกคะนอง อาจจะเป็น IO จากบางภาคส่วน หรืออาจจะคิดแบบนั้นจริง ๆ
แต่ที่แน่ ๆ คือการที่เขาเรียกใครสักคนว่า "สลิ่ม" นั่นคงไม่ใช่คำชม หรือคำพูดในเชิงบวกอย่างแน่นอน
นึกไม่ออกเลยว่าที่บ้านของเขาจริง ๆ บรรยากาศมันจะเป็นอย่างไร
ในส่วนตัวผมชอบที่สุดคือ "สุดยอดความคิดเห็น" ในกระทู้นี้
จากตัวอย่าง 3 ลักษณะข้างบน ทำให้ผมกังวลนะ
เพราะปัญหาสังคมหลาย ๆ อย่าง มาจากรากฐานสำคัญที่มันล้มเหลว ซึ่งก็คือสถาบันครอบครัว ซึ่งถ้ามองจากประสบการณ์ตรงของผมอย่างเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบนี่ก็เช่นกัน
หลาย ๆ เคสที่ผมเจอมา ครอบครัวของผู้กระทำผิดเป็นปัจจัย และมีผลต่อตัวผู้กระทำผิดเป็นอย่างมาก
ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ทำให้ผู้กระทำผิดขาดความยับยั้งชั่งใจ การแข่งขันแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันในครอบครัว หรือการให้ท้ายคนกระทำผิด ปกป้อง ลามไปถึง สมรู้ร่วมคิดไปกับเขา จบที่ติดคุกกันทั้งบ้าน
ทั้งหมดก็ล้วนบกพร่องกันที่บ้าน ที่ครอบครัว กันทั้งนั้น
ดังนั้น ผมจึงเห็นสถาบันที่สำคัญที่สุดของสังคมมนุษย์ ก็คือสถาบันครอบครัว
คุณอาจจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ก็จริง แต่ถ้าคุยกับลูกไม่รู้เรื่อง มองลูกเป็นศัตรู จนไม่ได้คุย ไม่ได้พบกับลูกอีก อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร ?
คุณอาจจะปกป้องประชาธิปไตยได้ก็จริง แต่ถ้าคุณมองหน้าพ่อแม่ไม่ติด หรือบานปลายจนไม่ได้เจอกันอีกกระทั่งตายจากกัน ละทิ้งความกตัญญูกตเวที แล้วไปต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ อุดมคติจนคุณไม่ได้กลับบ้านอีก คุณจะภูมิใจกับตัวตนแบบนั้นหรือ?
ผมมีโอกาสได้สอบถามรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่เคยผ่าน 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา มาบ้าง เขาก็บอกว่าไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน ที่ความแตกแยกมันแทรกไปถึงห้องเรียนไปถึงบ้าน ไปถึงสถาบันและความสัมพันธ์ที่บอบบางที่สุด แต่ก็สำคัญที่สุด
ผมไม่คิดว่าพวกเราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะจริง ๆ แล้วมันมีวิธีที่สถาบันครอบครัวยังแข็งแกร่งเป็นรากฐานของสังคมไปได้พร้อม ๆ กับที่สังคมไทยได้เรียนรู้ และพัฒนาไปด้วยกัน
อะไรเบาได้เบา อะไรเลี่ยงได้เลี่ยง
ถ้าอยากคุยกันเรื่องหนัก ๆ ก็ใช้สติเป็นสำคัญ อย่าพยายามเปลี่ยนความคิดของอีกฝ่าย มีขอบเขต
ผู้ใหญ่ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ ไม่นานคุณก็ตายแล้วคุณจะทิ้งคนแบบไหนไว้บนโลก และจะทิ้งโลกแบบไหนไว้ให้คนที่คุณรัก
เด็กก็ควรตระหนักว่าในโลกนี้ มีอีกหลายอย่างที่คุณยังไม่รู้ หลายอย่างที่ไม่แน่นอน อย่าไปเชื่ออะไรแค่เพราะมันถูกจริตคุณ หรือตรงตามตำราบอก
และถ้าทำแล้วไม่มีความสุข ครอบครัวแตกแยก ก็เลิกทำซะ ...
มันไม่คุ้มหรอกครับ ...
ขอบคุณมากครับ
โฆษณา