31 ส.ค. 2020 เวลา 01:59 • ท่องเที่ยว
วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร เพชรบุรี … งดงามข้ามกาลเวลา
“วัดใหญ่สุวรรณาราม” .. ตั้งอยู่ในตัวเมืองเพชรบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งในเพชรบุรี ซึ่งยังคงปรากฎร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต
เมื่อผ่านเข้าไปด้านในของวัด … ได้ห็นความโดดเด่นของวัดใหญ่สุวรรณาราม ตามที่การเล่าลือจริงๆ … นับตั้งแต่รูปแบบของสถาปัตยกรรม งานจิตรกรรม และประติมากรรม ที่ว่ากันว่า ได้รวบรวมช่างฝีมือไว้หลายสาขา โดยเฉพาะฝีมือช่างเมืองเพชรในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดังที่เห็นได้ในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ
“วัดใหญ่สุวรรณาราม” เดิมมีชื่อว่า “วัดน้อยปักษ์ใต้” โดยสันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังจะเห็นได้จากหลักฐานตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงไว้ว่า “ภาพและลายในพระอุโบสถนี้คงเขียนมาก่อน 300 ปีขึ้นไป…”
ที่มาของชื่อ “ใหญ่” สันนิษฐานว่า … มาจากมีพื้นที่ที่กว้างขวางของวัดที่ครอบคลุมถึง 20 ไร่เศษ ส่วนคำว่า “สุวรรณ” น่าจะได้จากพระนามของสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ซึ่งเดิมท่านชื่อ “ทอง” หรือจะเป็นามฉายาของท่านว่า สุวณฺณ ด็วยก็เป็นได้ เพราะท่านได้มาปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญให้แก่วัดแห่งนี้อันเป็นสถานศึกษาเดิมของท่าน วัดนี้จึงชื่อว่า “วัดใหญ่สุวรรณาราม” แต่นั้นเป็นต้นมา
“วัดใหญ่สุวรรณาราม” ได้รับกสนสถาปนาเป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และผ่านการปฏิสังขรณ์อยู่หลายครั้ง นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม)
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ โดยมีการสร้างเสนาสนะอย่างอื่นอีกมาก เช่น สร้างพระระเบียงคดรอบพระอุโบสถ สร้างหอสวดมนต์ ปรับปรุงกุฏิสงฆ์ ศาลาคู่ หอระฆัง และสร้างกำแพงรอบวัดพร้อมซุ้มประตู สระน้ำ และหลายสถานที่ก็ยังมีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน
“หอไตรกลางน้ำ” … หอไตรหลังเก่าตั้งอยู่กลางสระน้ำด้านข้างพระอุโบสถ รูปทรงแบบเรือนไทยโบราณผนังไม้ฝาปะกน ชั้นเดียว 2 ห้อง เดิมรองรับด้วยเสาไม้ 3 เสา แต่ได้ผุพังลงในกาลตอมา จึงเปลี่ยนมาใช้เสาปูน ซึ่งเสาสามต้นเป็นสัญลักษณ์จากแนวคิดที่ว่า พระไตรปิฎก ประกอบด้วย 3 ปิฎกคือ พระธรรมปิฏก พระไตรปิฏก และพระสุตันตปิฎก ซึ่งหมายถึง พระอภิธรรม พระวินัย และพระสูตร รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก
ด้านหน้าพระอุโบสถ … สวยงามตามแบบของวัดโบราณ ด้วยความวิจิตรบรรจงของฝีมือช่างชั้นครู ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง และการประดับตกแต่ง
“พระอุโบสถ” ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยสมัยอยุธยา มี พระระเบียงคดล้อมรอบพระอุโบสถ
พระอุโบสถ … ก่ออิฐ ถือปูน มีฐานปัทม์อ่อนโค้งแบบฐานสำเภา
บริเวณหน้าบันเป็นงานรูปปั้นสมัยอยุธยาตอนปลายที่งามพลิ้วราวมีชีวิต ประดับกระจกสีประกอบลวดลายปูนปั้นที่สวยงามมาก รวมถึงประดับด้วยเลขห้า (๕) หมายถึงรัชกาลที่ 5 ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ และหากเดินดูระเบียงคดรอบๆ ก็จะเห็นหน้าบันด้านหนึ่งที่แปลกออกไป ประดับด้วยเลขห้าแบบกลับด้าน
พระอุโบสถ … ภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์เป็นภาพเทพชุมนุม 5 ชั้น ศิลปะอยุธยาจากฝีมือช่างเมืองเพชรอายุกว่า 400 ปี ที่มีความงดงามและทรงคุณค่าทางศิลปะ
ที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ พระพรหม ยักษ์ ครุฑ ฤาษี และเทวดา ไม่ซ้ำแบบกัน คั่นกลางองค์เทพด้วยลายดอกไม้ จุดเด่นที่น่าสังเกตุคือ ภาพยักษ์และอมนุษย์ทั้งหลายเป็นหน้าเนื้อ ไม่ใช่การวาดเหมือนสวมหัวโขนโดยทั่วไป
ด้านหน้าและด้านหลังผนังหุ้มกลองของพระอุโบสถมีบานประตูด้านละ 2 ช่อง โดยด้านหน้าเจาะช่องหน้าต่างไว้อยู่ระหว่างกึ่งกลางของบานประตูทั้งสองข้าง แต่มีขนาดใหญ่กว่าบานประตู พระอุโบสถหลังนี้จึงแปลกกว่าที่อื่นๆ เพราะมีหน้าต่างเพียงหน้าต่างเดียว ส่วนด้านหลังของบานประตูและหน้าต่าง มีภาพเขียนทวารบาลที่สวยงามมาก
เสาและเพดานมีการตกแต่งด้วยลายทองบนพื้นแดงอย่างวิจิตร
พระประธาน ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย พุทธลักษณะสมส่วนสวยงาม ที่ฐานพระตกแต่งลวดลายปูนปั้นและปิดทองประดับกระจกสีสวยงามมาก มีพระพุทธรูปที่งดงาม อีกหลายองค์ประดิษฐานบนฐานชั้นล่าง ได้แก่ พระคันธารราษฎร์ พระพุทธรูปเก่าแก่ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่รัชกาลที่ 5 ทรงอัญเชิญมา ประดิษฐานในโบสถ์แห่งนี้
รูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธาน ด้านขวาเป็นรูปหล่อพระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม
ด้านหลังพระประธาน เป็นพระพุทธรูปที่มีนิ้วพระบาท ๖ นิ้ว เรียกกันว่า “พระหกนิ้ว” นับเป็นเรื่องแปลกที่เล่าสืบกันมาว่าพระพุทธรูปองค์นี้ช่างตั้งใจที่จะ สร้างให้มี ๖ นิ้ว (มองเห็นเฉพาะพระบาทขวา ส่วนพระบาทซ้ายเป็นท่าขัดสมาธิอยู่ใต้พระชานุ) อันเนื่องมาจากพระพุทธรูปในวัดเขายี่สาร มีนิ้วพระบาทรวมกันได้ ๙ นิ้ว เมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ช่างจึงได้สร้างให้มีนิ้วพระบาทเกินมา ๑ นิ้ว ตำนานเรื่องนี้ไม่มีข้อพิสูจน์ แต่ถ้าเกิดจากความบังเอิญนับว่าเป็นความบังเอิญที่ประจวบเหมาะกันมากเพราะวัดเขายี่สารอยู่ในพื้นที่ จังหวัดสมุทรสงครามซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดเพชรบุรี ทั้ง ๒ วัดห่างกันประมาณ ๒๘.๕ กิโลเมตร โดยมีอำเภอบ้านแหลมคั่นอยู่
“ศาลาการเปรียญ” … ตัวอาคารทำจากไม้สักทั้งหลัง หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย ประดับช่อฟ้าใบระกาติดกระจก ทางขึ้นลงทั้งด้านหน้า ด้านหลัง โครงสร้างเป็นบันไดก่ออิฐ
“ศาลาการเปรียญ” … ตามตำนานหลักฐานเดิมกล่าวว่า ศาลาการเปรียญนั้นเดิมเป็นพระตำหนักเจ้าฟ้าอภัยภาค หรือเจ้าฟ้าขวัญ ต่อมาพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ รื้อมาถวายพระสังฆราชแตงโม เพื่อนำมาทำเป็นศาลาการเปรียญ เมื่อคราวบูรณะวัดใหญ่สุวรรณาราม
ศาลาการเปรียญหลังนี้มีสถาปัตยกรรมทรงไทย สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง … ทางด้านทิศตะวันตกมีมุขประเจิด หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบู (กาบกล้วย) ประดับช่อฟ้าใบระกา ติดกระจกสี
ภายนอก .. เดิมฝาผนังเขียนเป็นลายทองทั้งหลัง และยังมีคันทวยหน้าตั๊กแตนสวยงามมาก พร้อมกระจังพรึงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปัจจุบันจะเห็นผนังด้านนอกกลายเป็นสีแดง เนื่องจากมีการบูรณะผิดพลาด
“บานประตูของศาลาการเปรียญ” … บานประตูกลางซึ่งอยู่ด้านหน้าของศาลาการเปรียญทางทิศตะวันออก ทำด้วยไม้สัก จำหลักลวดลายกระหนกก้านขด 2 ชั้น ปิดทองประดับกระจก กรอบเช็ดหน้าเป็นบานประตูทำไว้สวยงามมาก และถือว่าเป็น “บานประตูประวัติศาสตร์” ด้วยเหตุที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจ คือ ตอนบนของบานประตูด้านมีรอยแตก ชำรุดถาวร เรียกรอยพม่าฟัน เล่ากันว่าเคยถูกพม่าฟัน
นักวิชาการให้ความเห็นที่แตกต่างว่า … น่าจะเป็นการทำลายประตูตั้งแต่ครั้งรื้อตำหนัก เพื่อถวายสมเด็จเจ้าแตงโม (พระสุวรรณมุณี) พระสังฆราช เกี่ยวเนื่องกับเรื่องวิญญานเจ้าฟ้าพระขวัญ เจ้าของตำหนักเดิม ที่ถูกพระเจ้าเสือสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ เมื่อครั้งสมเด็จพระเพทราชาประชวรใกล้สวรรคต
ศาลาการเปรียญด้านบน มีบันได 3 ขั้น รูปลักษณะเป็น อัศวมัจฉา สวยมาก
ภายในศาลาการเปรียญ … มีเสาแปดเหลี่ยมเขียนลายรดน้ำเหมือนกันเป็นคู่ๆ ทุกคู่ลายไม่ซ้ำกัน
ส่วนที่ฝาผนังและบนบานหน้าต่างก็มีภาพเขียนลายน้ำกาว ที่ยังสามารถมองเห็นได้จนถึงปัจจุบัน
ธรรมาสน์ภายในศาลา … มี 2 หลัง
ธรรมาสน์หลังเก่า .. มีมาพร้อมกับศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นไม้จำหลักทรงบุษบก มีพระแก้วมรกตองค์ใหญ่มากตั้งอยู่เป็นประธาน เนื่องจากมีผู้มีอันจะกินนำมาถวาย หลวงพ่อจึงได้นำมาประดิษฐานไว้ที่นี่
บุษบกพานแว่นฟ้า (ธรรมาสน์วัดใหญ่ฯ) สำนักพระราชวังได้มีหนังสือมาขออัญเชิญไปยัง กทม. และดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ลงรักปิดทองใหม่ เพื่อเข้าประกอบพิธีในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) โดยอัญเชิญบุษบกแว่นฟ้าประดิษฐาน ณ พระที่นั่งทรงธรรม (ท้องสนามหลวง) สำหรับการพระราชพิธีประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิของพระองค์ท่าน (รัชกาลที่ 9) เมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 ต.ค.2560 และวันที่ 24 ธ.ค.2560 สำนักพระราชวังจึงอัญเชิญบุษบกแว่นฟ้าหลังนี้กลับมาประดิษฐานยังศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณารามฯ จ.เพชรบุรี ดังเดิม
รอยพระพุทธบาท
การได้เดินชมภายในวัดสุวรรณาราม ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่และสำคัญมากของจังหวัดเพชรบุรี และเป็นแหล่งรวมฝีมืองานช่างที่ปราณีตอ่อนช้อยและงดงาม ของชาวเพชรบุรีไว้มากมาย จึงเป็นความรื่นรมย์ภายในใจมากมา จากความงดงามของงานปราณ๊ตศิลป์ ฝีมือของช่างฝีมือระดับครูที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ ที่ได้รับการอนุรักษ์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรม
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา