2 ก.ย. 2020 เวลา 13:52 • ธุรกิจ
เกาะประเด็น “ซอฟต์โลน” กลุ่มสายการบิน หลังนายกรับปากเคาะไม่เกินตุลาคมนี้
เชื่อว่าเพื่อนๆสมาชิกที่อยู่ในเพจ หุ้นพอร์ทระเบิด ของพวกเราก็น่าจะทราบกันดีแล้วว่า Covid-19 ส่งผลกระทบในด้านลบอย่างหนักให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไปทุกภาคส่วน
ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจกลุ่ม “สายการบิน” ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีอาการย่ำแย่ที่สุด เพราะหลังจากที่เปิดสงครามราคากันมาเป็นเวลายาวนาจนต่างคนก็ต่างเหนื่อยล้า พอมาเจอสิ่งที่ไม่คาดคิดเข้าไปก็ทำเอาสายการบินบางเจ้าถึงกับ“น็อค” กันไปเลยทีเดียว
เอาง่ายๆที่เห็นก็มีทั้ง THAI และ NOK ที่ทนพิษบาดแผลไม่ไหวจนต้องเข้ายื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการไปเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงสายการบินเจ้าอื่นๆที่เหลือรอดก็ยังคงต้องปรับลดต้นทุน ลดพนักงานกันให้วุ่น
แต่แล้วเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่ากลุ่มสายการบินจะเริ่มมี “แสงสว่าง” เล็กๆเกิดขึ้นในตอนที่ต้องเจอกับพายุฝน หลังจากที่ตัวแทนผู้บริหารระดับสูงของสายการบินทั้งหมด 7 สายได้ไปเข้าพบนายกรัฐมนตรี “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และได้รับการตอบรับกลับมาในเชิงบวก
ในด้านคณะผู้บริหารของทั้ง 7 สายการบินที่ได้ไปเข้าพบนายกรัฐมนตรีในรอบนี้ก็จะมีผู้นำทีมคือ “คุณธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” จากแอร์เอเชีย(AAV) และที่เหลือก็จะมีผู้บริหารจากสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์, สายการบินไทยเวียตเจ็ท, สายการบินนกแอร์ และสุดท้ายก็คือ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์(BA)
และในส่วนของรายละเอียดคำร้องที่เหล่าผู้บริหารสายการบินเข้าไปก็จะมีอยู่ทั้งหมด 3 ข้อด้วยกันก็คือ
มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)
ขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน
งดเว้นหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่างๆของสายการบิน
เนื่องจากว่าสายการบินทั้ง 7 นั้นมีจำนวนพนักงานทั้งหมดรวมกันมากถึง 15,000 - 20,000 คน อีกทั้งธุรกิจการบินก็จัดว่าเป็นธุรกิจที่เปรียบเสมือนหัวใจหลักของการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมที่ประเทศไทยเราพึ่งพารายได้อยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก
หัวใจหลักของการเข้าไปยื่นหนังสือในรอบนี้ก็คือข้อ 1 หรือ Soft loan จำนวน 24,000 ล้านบาทโดยจะแบ่งเป็นการผ่อนชำระทั้งหมด 5 ปีในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
เพราะว่าถ้าหากไปดูสถานะทางการเงินของสายการบินอย่าง AAV ก็จะเห็นว่ามีเงินสดติดตัวเพื่อทำธุรกิจไปได้ถึงแค่เดือนตุลาคมที่กำลังจะมาถึงหากว่ายังไม่สามารถกลับมาบินได้แบบนี้ โดยล่าสุดทาง AAV ก็ได้ออกมากล่าวว่าในตอนนี้บริษัทได้กลับมาบินโดยใช้เครื่องบินไป 25 ลำแล้วจากทั้งหมด 60 ลำ ซึ่งก็พบว่าขาดทุนน้อยลงครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าจะกลับมามีกำไรนั้นทาง AAV ต้องกลับมาบินมากกว่า 45 ลำ
ซึ่งภายหลังจากการเข้าพบในครั้งนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว ผลก็ปรากฎออกมาว่านายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงคมนาคมได้“รับปาก” ว่าจะเคาะมาตรการ Soft loan ให้ภายในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ส่วนข้อที่สามคือการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมนั้นก็ยังสามารถจะพิจารณาให้ยืดได้ไปถึงเดือนมีนาคม 2565 และสุดท้ายคือคำร้องข้อที่สามเรื่องภาษีน้ำมันที่น่าจะคงไว้ตามเดิมคือ 30 กันยายน 2563
พอผลออกมาแบบนี้ ภาพรวมของธุรกิจกลุ่มการบินก็ดูเหมือนว่าจะไม่มืดมนเหมือนเดิมอีกต่อไป โดยหุ้นที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการรับปากของนายกรัฐมนตรีในรอบนี้ก็คงจะเป็น AAV และ BA ไปอย่างไม่ต้องสงสัย แต่คนที่น่าจะได้รับผลกระทบก็คือ AOT ที่เป็นผู้เก็บค่าธรรมเนียม
สำหรับสถานะการณ์ในไตรมาส 2 ของหุ้นอย่าง AAV ก็จะยังคงพบการขาดทุนอยู่ที่ 1,141 ล้านบาทแต่ในตอนนี้ก็จะถือว่าลดลงไปแล้วครึ่งนึงตามที่ได้เล่าไปข้างบน และ BA ที่พบการขาดทุนไปกว่า 2,974 ล้านบาทจากผลกระทบของCovid-19
เรียกได้ว่าเป็นคำรับปากที่พอจะต่อลมหายใจให้กับธุรกิจสายการบินได้ในช่วงวิกฤติที่ยากลำบากเช่นนี้ เพราะถ้าหากจะบอกว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นเป็น “ฟันเฟือง” หลักของระบบเศรษฐกิจไทยก็ไม่ผิดนัก ถ้าจะปล่อยให้ล้มหายตายจากไปกันหมดก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีกับพนักงานกว่าสองหมื่นชีวิตอย่างแน่นอน
แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมาดูกันว่าการรับปากครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงและเป็นจริงไหม ? และสำหรับในวันนี้พวกเรา หุ้นพอร์ทระเบิด ก็คงจะมีเรื่องราวมาฝากเพื่อนๆไว้เพียงเท่านี้
สวัสดีครับ...
ติดตามบทความดีๆของพวกเราได้ทาง WEBSITE
หรือ BLOCKDIT
และช่องทางใหม่ YouTube ‼️
- - - -
ผู้สนับสนุน
สนใจเปิดพอร์ท หุ้น TFEX SBL BLOCKTRADE กับโบรคเกอร์ KTBST
ค่าธรรมเนียมเรทพิเศษ
พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย
- ทีมงานมืออาชีพคอยให้บริการ
- โปรแกรม EFIN//ASPEN
- โปรแกรม SUPPORT อื่นๆเช่น MT4//MODEL TRADE//KTBST SMART และอื่นอีกมากมาย
กรอกรายละเอียดได้เลย 👇
โฆษณา