2 ก.ย. 2020 เวลา 22:24 • ท่องเที่ยว
งานปูนปั้นประดับ .. อยุธยาที่ยังมีชีวิต ที่วัดไผ่ล้อม เมืองเพชรบุรี
1
งานฝีมือปั้นปูนสกุลช่างเมืองเพชรบุรี ที่นิยมกันในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในปัจจุบันหาชมได้ยากยิ่ง หากแต่งานงานปูนปั้นประดับที่ “วัดไผ่ล้อม” เป็น 1 ใน 5 แห่งของเมืองพริบพรียังที่ยังคงปรากฏให้เราได้เห็นได้ชื่นชม แม้ว่าทั้งวัดและงานศิลป์ชั้นสูงเหล่านี้จะอยู่ในสภาพชำรุดทรุกโทรมอย่างมาก
“วัดไผ่ล้อม” ตั้งอยู่กลางใจเมืองเพชรบุรี ในตำบลท่าราบ ใกล้กับวัดใหญ่สุวรรณาราม ติดกำแพงเรือนจำกลางเพชรบุรีทางฝั่งทิศใต้ เป็นวัดร้างที่มีการประดับลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรในศิลปะนิยมสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงสมัยพระเจ้าปราสาททอง และได้มีการบูรณะ รวมทั้งต่อห้องคูหาท้ายอาคาร หลังพระประธานเพิ่มขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ -พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
อาจารย์ประยูรกล่าวถึงปูนปั้นที่วัดไผ่ล้อม อย่างชื่นชมว่า “ ....ที่วัดไผ่ล้อม นอกจากจะมีปูนปั้นอันงามเลิศอยู่ที่หน้าบันอุโบสถแล้ว ยังมีปูนปั้นรูปนูนสูง (High relief) เป็นภาพของภูเขา ปราสาทและเรื่องราวพุทธประวัติกับชาดก ที่ผนังแบ่งห้องด้านหลังพระประธานอันเป็นที่น่าสนใจมาก......”
ตรงกลางผนังทิศตะวันตก (ด้านหลัง)วิหาร เจาะเป็นช่องหน้าต่าง ประดับกรอบด้วยปราสาทเรือนยอดแทรกซุ้มบันแถลง 3 ชั้น หน้าบันปั้นปูนประดับลายกระหนกพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ตรงกลาง นกยูงและพวยหางนกยูงขึ้นไปสุดปลายที่ดอกพุ่มข้าวบิณฑ์เล็ก ขนาบข้างลายกระหนกเครือเถาเลื้อยโค้งไปตามจังหวะโค้งของลายพุ่มช่อหางสิงโต ลดหลั่นขนาดของก้านลงไปตามหน้าจั่ว สิ้นสุดด้วยก้านขดปลายดอกพุ่ม หน้ากระดานของคานทำเป็นลายขดม้วนสลับลายพุ่ม ใต้คานหน้ากระดานทำเป็นอุบะลายกระจังคว่ำ
หน้าบันภายในห้องคูหาด้านใน ปั้นปูนเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ มีลายกระหนกก้านเครือเถา เถาไม้เลื้อย ปลายสะบัดพลิ้วเป็นกระหนกเปลว (ช่อนาค) และดอกพุ่มข้าวบิณฑ์ (ช่อสิงโต) จัดวางอยู่ทั้งสองฝั่งแบบสมมาตร (Symmetry – Balance Plan) แต่ไม่ได้วางลายเหมือนกัน คานหน้ากระดานทำเป็นลายกรอบกระจก สลับลายดอกประจำยามก้ามปู ชายคานทำเป็นอุบะลายกระจังคว่ำ
ใต้หน้าบันห้องด้านใน ผนังสกัดปั้นปูนแบบนูนสูงและลอยตัว ตรงกลางทำเป็นเรื่องราว “พระพุทธบาทเขาสุมณกูฏ (สิริปาทะ)” ที่เกาะลังกา มีรอยพระพุทธบาทเป็นประธานของภาพอยู่ด้านบนสุด ซึ่งใน”คัมภีร์มหาวงศ์” เล่าถึงเรื่องราวของพระพุทธบาทบนเขาสุมณกูฏ ไว้ว่า
“...ภายหลังที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ได้ 8 พรรษา ในวันเพ็ญเดือน 6 พระพุทธเจ้าและพระภิกษุอีก 500 รูป เสด็จไปยังแม่น้ำกัลยาณี พญามณีอักขิกนาคราช ผู้ปกครอง จึงได้ถวายพระแท่นมณฑปแก้ว และทิพยชัชโภชนาหาร พญานาคพร้อมบริวารทั้งปวงได้ฟังพระธรรมเทศนา จนอิ่มเอิบเป็นสุโขประโยชน์ พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปบนยอดเขาสุมณกูฏบรรพต ประทับรอยพระบาทเจติยะไว้...”
รูปปูนปั้นที่วัดไผ่ล้อมทำเป็นภูเขาสูง ท่ามกลางป่าไม้ มีบันไดทางขึ้นสลับทั้งสองฝั่ง มีภาพของบุคคลลอยตัว ทั้งพระภิกษุและฆราวาสเดินขึ้นไปตามเส้นทาง ทำเป็นรูปถ้ำและศาลาพักระหว่างทางเป็นระยะ ปรากฏคำอธิบายในเอกสารโบราณ ว่า
“...ความสูงจากเชิงเขาขึ้นไปจนถึงพระบาทลังกานั้น 428 เส้นกับ 6 วา ทางขึ้นเป็นทางกันดาร ภูเขาเป็นชะง่อนผาแหลมคม มีถ้ำเป็นที่หลบลมแรง ตรงหน้าผาสูงชั้นจะมีสายโซ่ห่วงเหล็ก (บันไดสายโซ่) สำหรับปีนเหนี่ยวขึ้นไป...” ซึ่งในภาพบันไดปูนปั้นด้านบนสุดก็ยังคงเหลือรูปสายโซ่ให้เห็นอยู่อย่างชัดเจน
ปูนปั้นด้านขวาของผนัง ยังคงเหลือเป็นโกลนอยู่ ทำเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ ส่วนทางด้านซ้าย เป็นภาพโลหะปราสาท 7 ชั้น ที่เมืองอนุราธปุระในเกาะลังกา
ซ้ายสุดของผนังเป็นเรื่องราวพุทธประวัติตอน “เสวยวิมุตติสุข” (การพบสุขที่เกิดจากความหลุดพ้นจากกิเลส) ที่ยังเหลือภาพของพระพุทธเจ้าในสัปดาห์ที่สี่ “รัตนฆรเจดีย์” เทวดาเนรมิตเรือนแก้วขึ้นทางทิศเหนือของต้นโพธิ์ เสด็จนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิธรรมปิฎกสิ้นเจ็ดวัน และสัปดาห์ที่ห้า ตอนเสด็จข้ามแม่น้ำเนรัญชราไปยังต้นไทร “อชปาลนิโครธ”
ที่หน้าบันของประตูเล็กด้านข้างฝั่งทิศใต้ ยังมีลวดลายปูนปั้นตามขนบแบบแผนอยุธยาตอนปลาย (ดอกพุ่มข้าวบิณฑ์ - ช่อหางสิงโต) ขนาบข้างด้วยลายก้านไม้เลื้อย ปลายกระหนกเปลวช่อนาค) ลวดลายบัวกลุ่มหัวเสาแบบ “บัวแวง” กลีบซ้อนยาวเรียวประดับกาบล่างด้วยกระจังและลายช่อ - ลายเฟื้องอุบะ แบบกรวยแหลม
ด้านหน้าของอาคารเป็นห้องพระประธานใหญ่ มีพระพุทธรูปขนาดย่อมกว่าที่หน้าองค์พระประธาน ด้านข้างมีพระพุทธรูปหินทรายตั้งรวมอยู่บนฐานชุกชีเดียวกันกับพระประธานใหญ่ทั้งสองฝั่ง
บริเวณท้ายห้องติดกำแพงมีพระพุทธรูปหินทรายที่เคยพอกปูนลงรักปิดทองบนฐานชุกชีสูง อีกจำนวนหนึ่ง ที่ฐานมีลวดลายผ้าทิพย์และลายกลีบบัวประดับฐานพระพุทธรูปแตกต่างกันไป
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา