3 ก.ย. 2020 เวลา 03:35 • ความคิดเห็น
🚄 "โปรดเอื้อเฟื้อที่นั่งให้เด็ก คนชรา และคนท้อง"
Priority Seat เป็นวัฒนธรรมที่คนไทยได้รับมาจากต่างชาติอีกที เพราะเพิ่งจะมีหลังจากที่มีรถสาธารณะ และรถไฟฟ้า ส่วนเรือด่วนเจ้าพระยาแม้ว่าจะมีที่นั่งพิเศษนี้ แต่ก็พบน้อยเพราะเป็นกลุ่มคนที่ขึ้นเรือลำบาก
เมื่อวานแปลกใจกับคนในขบวนที่ไม่สนใจผู้สูงอายุที่ก้าวเข้ามาในรถ ช่วงเวลาหลังเลิกงานที่คนแน่น หญิงผมขาว แม้ว่าดูคล่องแคล่ว แต่ก็มีโอกาสสะดุดล้มเมื่อรถเคลื่อนตัวได้ตลอด ผู้หญิงที่นั่งดูโทรศัพท์ ใส่หูฟัง ควรสังเกตเห็นเธอ โดยเฉพาะ Priority Seat ริมประตู รวมถึงคนที่อยู่ล้อมตัวคุณยายด้วย
สุดท้ายก็มีสาวคนหนึ่งทนไม่ไหว บอกว่า "ขอที่นั่งให้คุณยายด้วย"
🦽 มีนะครับ คนที่คิดว่า คนสูงวัย เด็ก ก็แข็งแรงดีอยู่แล้ว ส่วนนั้นเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ที่เราจะบังคับให้ใครคิดอย่างไรไม่ได้ รวมถึงเหตุผลของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน พี่ๆ บางคนต้องนั่งรถจากต้นสาย ไปทำงานสุดสถานีทุกวัน จะให้ลุกยืนตลอดมันไม่ไหวจริงๆ ..บทความนี้ไม่ได้มาฟันธงว่าเราควรปฏิบัติกับ Priority Seat อย่างไร แต่เป็นมุมมองหลายๆ มุมที่ขอฝากไว้ครับ
🎯 ผู้หญิง ผู้ชาย ใครกันควรลุกให้นั่ง
ผมว่าข้อนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์มากกว่าครับ เช่น บางคนถือของมาหนัก หากเขาเป็นผู้ชายก็สมควรได้นั่งเพราะของเยอะๆ เวลาคนเดินเข้าออก ก็จะไปเตะโดน หากต้องร่วมขบวนกันเป็นเวลานาน ก็ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย
ผู้หญิง หรือ ผู้ชาย ที่ต้องนั่งจากต้นสาย ไปสุดท้าย บางทีเขาต้องต่อหลายขบวน จังหวะเก้าอี้ว่างตอนไหน ได้นั่งพักบ้าง ผมว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์
🎯 เด็ก
ในกรณีเด็กมัธยม เด็กมหาวิทยาลัย ก็จัดอยู่ในกลุ่มบุคคลทั่วไปได้ แต่หากน้องมีกระเป๋าเยอะ มีของเยอะ ก็ว่ากันไปตามกรณี ส่วนเด็กเล็กๆ เลยที่ส่วนสูงน้อยกว่า 90 เซนติเมตรตามกฎรถโดยสาร เราสมควรลุกให้นั่งครับ และผู้ปกครองที่มากับน้องควรจะดูแลน้องให้อยู่บนที่นั่งเพื่อความปลอดภัยของน้องเองเป็นสำคัญ
🎯 ผู้นั่งรถเข็น
บุคคลที่มากับรถเข็นเขามีจุดเข็มขัดนิรภัยสำหรับรัดรถเข็น อยู่ใกล้กับรอยต่อขบวนและประตู เพราะฉะนั้นเขาไม่ต้องการ Priority Seat แต่ก็ไม่ควรยืนขวางทางครับ ถ้ายืนอยู่บริเวณที่จัดไว้ต้องพร้อมเขยิบให้รถเข็น
🎯 ผู้สูงอายุ
แม้ว่าบางท่านคิดว่าตัวเองยังแข็งแรง และไม่อยากรบกวนขอที่นั่ง แต่ผู้ร่วมทางควรสังเกตว่าขบวนนี้มีผู้สูงอายุเดินเข้ามาด้วยหรือไม่ ไม่ว่าพวกเขาจะเดินทางไปที่ไหนก็ควรอำนวยความสะดวกให้ ป้องกันการล้ม การกระแทก เพียงป้ายเดียวก็ควรลุกให้นั่ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
หลายสถานที่ไม่ได้เขียนว่า ให้เอื้อเฟื้อที่นั่งให้กับ เด็ก สตรี คนชรา และผู้พิการ แต่ใช้คำว่า ให้ผู้ที่เคลื่อนไหวลำบาก หรือผู้จำเป็นต้องใช้ก่อน ซึ่งตอนแรกผมมองว่าเป็นถ้อยคำที่แปลกมาก แต่ทุกวันที่ใช้บริการ ก็มีบุคคลที่ถือของเยอะ หรือมีสัมภาระที่จำเป็นต่อการเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่รถเข็น ถือว่าป้ายเตือนแปลกๆ นี้ครอบคลุมถึงคนที่ต้องการจำเป็นใช้จริงๆ
อย่าให้ถึงขั้นที่ทุกบริการเอาสีแดงมาทาเก้าอี้เลยครับ มันดูแปลกๆ
2 กันยายน 63
โฆษณา