7 ก.ย. 2020 เวลา 04:25 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เดอะซีเรียส EP.19 - เปิดประเทศมิติใหม่สไตล์ 'มินิมอล ’
การท่องเที่ยววิถีใหม่ (New normal) จะเป็นอย่างไร เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเหลือเพียง '0' คน จะทำอย่างไรให้สร้างรายจากนักท่องเที่ยว 'วิถีใหม่' 1 หมื่นคน เทียบเท่ากับรายได้จากนักท่องเที่ยว 'วิถีเก่า' 2 แสนคน ร่วมค้นหาแสงสว่างปลายอุโมงค์ โดยไม่ต้องรอ 'ปาฏิหารย์' จากวัคซีนอย่างเดียว ได้ที่บทความนี้
#ถ้าเห็นด้วยช่วยแชร์ให้ถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและรัฐบาล
#ภาพถ่ายหาดป่าตอง จ.ภูเก็ตต้นเดือนมีนาคมโดยเดอะซีเรียส
The Serious EP.19 - New Tourism Strategy 'Minimal Thailand'
นับเป็นเวลา 5 เดือนเต็มที่ไทยได้ประกาศ 'สงครามเต็มรูปแบบ' เพื่อต่อต้านอริราชศัตรูที่มีชื่อว่า 'COVID-19' ผ่านการใช้นโยบาย 'ล็อคดาวน์ประเทศ (Lockdown)' ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สงครามยังไม่มี 'ทีท่า' ที่จะสงบลงในเร็ววัน จากกองกำลังของข้าศึกที่ยังคงฮึกเหิม บุกจู่โจมประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และถึงขั้น 'รุกฆาต' ในหลายประเทศ ทำร้ายกองกำลังของโลกไปถึง 27.2 ล้านคน สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตราว 9 แสนคน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ก.ย. 2563)
เมื่อย่อภาพลงก็จะพบว่า ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราก็ 'สะบักสะบอม' (พิมพ์คำนี้แล้วแอดมินรู้สึกปวดสะบักขึ้นมาทันที) เช่น ญี่ปุ่นถูกโจมตีไปราว 7.1 หมื่นคน อินโดนีเซียราว 1.9 แสนคน ฟิลิปปินส์ 2.4 แสนคน หรือแม้กระทั่งอินเดียที่โดนไปราว 4.2 ล้านคน เป็นต้น
ประเด็นของเราในวันนี้ก็คือ หากสงครามยังคง 'ยืดเยื้อ' ต่อไปอีกอย่างน้อย 6-18 เดือน เช่นเดียวกับการแพร่กระจายของ 'โรคระบาดอย่างรุนแรง (Pandemic)' ที่เคยเกิดขึ้นอย่างไข้หวัดสเปน (Spanish Flu) และไทยเลือกที่จะรักษาชีวิตคนในประเทศ โดยการล็อคดาวน์ประเทศตัวเองต่อไปอีกครึ่งปี หรือนานกว่านั้น เราจะทนการกลั้นหายใจทางเศรษฐกิจแบบนี้ไหวหรือไม่
ลึก ๆ แล้วเราเห็นด้วยว่า 'การรักษาชีวิตประชาชนในตอนนี้' เป็นทางเลือกที่ถูกต้องสำหรับประเทศในระยะยาว เพราะแม้ภาคการท่องเที่ยวจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจคิดเป็น 12-15% ของรายได้ประเทศ แต่ก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนมาก ที่อาจมีความเสี่ยงในการติดโรค หากเรายอมเปิดประเทศในตอนนี้
แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ เราไม่สามารถใช้กลยุทธ์ 'กลั้นหายใจ' เพื่อหลบควันพิษได้ตลอดไป ดังนั้น เราจึงต้องหา 'กลยุทธ์' อื่น ๆ เพื่อประคับประคองชีวิตทางเศรษฐกิจ เสมือนกับการทะยอยเติมถังออกซิเจนให้กับตนเอง ซึ่งวันนี้เราจะมุ่งไปที่ 'การท่องเที่ยวโมเดลใหม่' ที่เรามีคอนเซปต์คือ 'มินิมอลไทยแลนด์ (Minimal Thailand)'
คำว่า 'มินิมอล' นั้น คือ การทำอะไรน้อย ๆ ที่ลงตัว เช่นเดียวกับหลักการท่องเที่ยวมินิมอลไทยแลนด์ของเรา มีเป้าหมายที่จะทำยังไงให้เราสามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยววิถีใหม่ 1 หมื่นคน ได้เท่า ๆ กับนักท่องเที่ยวปกติสัก 2 แสนคน (หรือ 20 เท่า)
แล้วต้องทำอย่างไร ?
เราจะเริ่มต้นกันด้วยสถิติกันสักหน่อย ในปี 2562 เรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศราว 1.93 ล้านล้านบาท นั่นหมายถึงนักท่องเที่ยว 1 คนสร้างรายได้เข้าประเทศเฉลี่ย 4.8 หมื่นบาท และเนื่องจากนักท่องเที่ยวจะพำนักในเมืองไทยราว 9 วัน นั่นหมายความว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะใช้จ่ายในประเทศไทยโดยเฉลี่ยวันละ 5,300 บาทนั่นเอง
ทีนี้ หากเรายอมเปิดประเทศให้เฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวมั่งคั่งสูง (High net worth & Affluent groups) ซึ่งเราถือว่าเป็นนักท่องเที่ยววิถีใหม่ เข้ามาพำนักในไทยระยะยาวมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น 1 ปี จะทำให้เราได้ประโยชน์อะไรบ้าง
เริ่มต้นนั้น เรามีสมมติฐานว่านักท่องเที่ยววิถีใหม่จะใช้จ่ายในประเทศต่อวันเพียง 50% (2,650 บาท) ของนักท่องเที่ยววิถีเก่า นั่นหมายความว่า นักท่องเที่ยววิถีใหม่ 1 คน จะสร้างรายได้เข้าประเทศได้ราว 9.6 แสนบาท หรือคิดเป็น 20 เท่าของรายได้จากนักท่องเที่ยววิถีเก่าเลยทีเดียว
(ถ้าเขียนให้ดู ‘ปังปุริเย่’ ก็จากหมื่นคนสร้างรายได้เข้าประเทศ 480 ล้านบาท จะเปลี่ยนเป็นสร้างรายได้ 9,600 ล้านบาท เลยทีเดียว)
Compare short- and long-stay tourists
นั่นหมายความว่า หากเราสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยววิถีใหม่นี้ได้ 1 หมื่นคน จะเทียบเท่ากับนักท่องเที่ยววิถีเก่าถึง 2 แสนคน (หรือลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเหลือ 30% ก็จะเทียบเท่านักท่องเที่ยววิถีเก่าถึง 1.2 แสนคน) ยังไม่รวมถึงการใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเช่น การซื้อสินทรัพย์ถาวรอื่น ๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่ระยะยาว
โดยการออกแบบเงื่อนไขของเราต้องการความง่ายและชัดเจน เช่น
1. กำหนดวีซ่าประเภทใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้โดยเฉพาะ (Long stay tourist visa) อนุญาตให้พำนักอาศัยในประเทศระยะยาว (1 ปีขึ้นไป)
2. กำหนดเงื่อนไขของการขอวีซ่าให้สะท้อนการเป็นกลุ่ม High net worth/Affluent เช่น มีทรัพย์สินมากกว่า 5 แสนเหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป โดยมีค่าธรรมเนียมการขอวีซ่า 3 หมื่นบาท
3. บัตรวีซ่าประเภทใหม่นี้จะเป็นเหมือนบัตรประชาชนชาวต่างชาติสำหรับ การติดต่อราชการ การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ (สำหรับโรค COVID-19) และการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั่วประเทศจะได้ในราคา 'คนไทย'
4. ยินยอมเข้าการกักตัวตามที่รัฐกำหนด และหลังจากการกักตัวแล้วเสร็จ สามารถเดินทางไปที่ใดก็ได้ในประเทศไทย และสามารถเดินทางออกต่างประเทศได้ แต่หากมีความประสงค์กลับเข้าประเทศก็สามารถใช้วีซ่าเล่มเดิมได้ โดยให้ผ่านการกักกันตัวอีกครั้ง
แตกต่างจากภูเก็ตโมเดลอย่างไร ?
จากการติตดามการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แทบทุกนโยบายมีจุดอ่อนร่วมกันคือ 'ความซับซ้อนของนโยบาย' ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องมีลงทะเบียนซ้ำไปซ้ำมา จนมาถึงภูเก็ตโมเดล ที่ต้องมีข้อกำหนดว่า ต้องมีการกักตัว และห้ามเดินทางไปพื้นที่อื่น และต้องเป็นชาวต่างชาติกลุ่มสิทธิประโยชน์บางประเภท เช่น อีลิทการ์ด ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา 'การปฏิบัติตาม (Enforcement)' ในทางปฏิบัติ
ซึ่งนโยบายที่เราเสนอนั้นเน้น 'ความง่าย' ที่ไม่ต้องมีความซับซ้อน ภายใต้ความเสี่ยงที่จำกัดเพราะใช้การกักตัวเช่นเดียวกับการพาชาวไทยกลับประเทศ และเน้นไปกลุ่มผู้ที่ต้องการพำนักอาศัยและมาใช้ชีวิตระยะยาวขึ้น และทำโดยไม่อิงกับกลุ่มสิทธิประโยชน์ เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ทางตรงจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ด้วย
อยากมีคนมาจริง ๆ มั้ย ปัจจัยความสำเร็จคือ ?
CNN mentions Thailand success in response to COVID-19
1. ชื่อเสียงด้านการต้อนรับของไทย (Hospitality) ประกอบกับชื่อเสียงด้านความสำเร็จในการควบคุม COVID-19 ในครั้งนี้ (จาก CNN) จะทำให้ไทยอยู่ใน 'สถานะ' ที่สามารถทำเรื่องนี้ได้ ภายใต้การตลาดที่เหมาะสม
2. ในช่วงเวลานี้ของปีมักจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลบหนีฤดูหนาวในประเทศของตนเข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทยเป็นประจำอยู่แล้ว กอปรกับสถานการณ์ COVID ในประเทศเหล่านั้นยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้อยากเดินทางมา 'ลี้ภัย COVID' ในเมืองไทยได้เพิ่มเติม
3. ชื่อเสียงด้านคุณภาพการรักษาโรคของไทยที่อยู่ในระดับชั้นนำของโลก (World class medical care) ซึ่งหากเกิดติดโรคขึ้นมาจริง ๆ นักท่องเที่ยวเหล่านั้นจะได้รับการรักษาในมาตรฐานสูงสุด
4. วิถีการเปลี่ยนที่พำนักระยะยาวเป็นเรื่องที่ปกติในคนกลุ่มใหญ่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย (Young Affluent) สามารถทำงานออนไลน์จากเมืองไทยได้เลย
5. คือข้อที่เราให้ความสำคัญที่สุด (ดาวสามดวง***) คือการปรับภาพลักษณ์ประเทศ จากประเทศท่องเที่ยว 'ราคาถูก' สู่ประเทศท่องเที่ยว 'คุณภาพสูง' แม้ว่าวิกฤต COVID จะจบลงในอนาคตแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ วิถีการท่องเที่ยวแบบนี้ยังสอดคล้องกับแนวทาง 'ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism)' ด้วยเนื่องจาก
1. นักท่องเที่ยววิถีใหม่ไม่ต้องมีมาก ซึ่งจะลดการเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติโดยปริยาย
2. นักท่องเที่ยวระยะยาวมีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเลือกประเภทที่พัก พื้นที่ที่จะเข้าพัก ไปจนถึงวิถีการใช้ชีวิต ทำให้เกิดการกระจายรายได้โดยธรรมชาติ (Contribution to local economy) และ
3. ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขไทยจนเกินไป เนื่องจากคนเหล่านี้มีความพร้อมที่จะรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนได้ และไม่ได้เปิดรับจำนวนมากเกินไป
แน่นอนว่าแนวทางนี้ก็อาจมีจุดอ่อนไม่ว่าจะเป็น (1) ภาพพจน์ของประเทศไทยที่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดติดว่าเป็นประเทศ 'ราคาถูก' (2) กฎเกณฑ์ด้านควบคุมคนเข้าเมืองที่อาจทำให้นักท่องเที่ยวระยะยาวไม่ได้รับความสะดวก รวมไปถึง (3) ระยะเวลาที่ภาครัฐจะเริ่มดำเนินการได้ เพราะหากช้าเกินไป COVID อาจไม่ใช่จุดแข็งของเราอีกต่อไปก็ได้
แต่ก็แน่นอนว่า 'ทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาสเสมอ'
#เดอะซีเรียสหาทางออกวิกฤตเศรษฐกิจไทย
โฆษณา