5 ก.ย. 2020 เวลา 09:45
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : #2
มายาคติ (Myth) ของการลงทุน
"ถ้าเราสามารถมองเห็นความคิดของคนได้ก็คงจะดีนะ"
เสียงพูดจากด้านหลังทำให้พีร์ละสายตาจากภาพสีน้ำมันขนาดไม่ใหญ่นักตรงหน้าหันไปเพื่อดูเจ้าของเสียง
"โรเบอร์โต้ ไม่คิดว่าจะเจอนายที่นี่" พีร์พูดด้วยเสียงกึ่งประหลาดใจที่พบเพื่อนร่วมงานอย่างโรเบอร์โต้ใน The Museum of Modern Art พิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะสมัยใหม่กลางมหานครนิวยอร์ค
หลังจบการศึกษาปริญญาโทด้านการเงิน แทนที่พีร์จะกลับประเทศไทย เขาเลือกจะทำงานหาประสบการณ์ในสถาบันการเงินระดับโลกแห่งหนึ่งในนิวยอร์ค ซึ่งเขาเพิ่งทำงานได้ไม่กี่เดือน ทุกวันหยุดถ้าเขาไม่ติดธุระอะไรเขามักออกไปเดินตามสถานที่ที่เขาสนใจ
The Museum of Modern Art หรือ MOMA พิพิธภัณฑ์ระดับโลกที่สะสมศิลปะแนว Modern Art ไว้มากมาย จึงเป็นสถานที่ที่เขาตั้งใจจะแวะมาชม โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีงานแสดงผลงานของ René Magritte แต่เขาจึงไม่คิดว่าจะพบกับโรเบอร์โต้ที่ MOMA นี้ แม้เขาจะรู้ว่าชาวอิตาลีเติบโตมากับศิลปะก็ตาม โรเบอร์โต้เป็นนักวิเคราะห์การลงทุนในองค์กรที่เขาทำงาน และได้ร่วมงานกันตั้งแต่เดือนแรกจึงค่อนข้างคุ้นเคยพอสมควร
"เห็นนายยืนนิ่งมองภาพนี้นานทีเดียว กำลังหาความหมายของภาพอยู่หรือเปล่า" โรเบอร์โต้ถามกลับแทนคำตอบ
"ผมกำลังมองว่าในวงกลมสีดำมีอะไรอยู่" พีร์ตอบด้วยสีหน้ายิ้มๆ เพราะเขากำลังคิดว่าจุดวงกลมสีดำกลางดวงตาที่สะท้อนภาพท้องฟ้า จะมีภาพอะไรอยู่ในนั้นกันแน่
The False Mirror - René Magritte (MOMA, New York)
"คนที่หยุดมองภาพนี้ก็มีความคิดแบบเดียวกับนายนี่แหละ ศิลปะแบบเหนือจริง หรือ Surrealism ถ่ายทอดความฝันหรือจิตใต้สำนึกผ่านความขัดแย้งระหว่างความเป็นจริงและความฝัน หลายภาพมาจากแนวคิดจิตวิเคราะห์ของซิกมันต์ ฟรอยด์ที่ว่า มนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้อิทธิพลของจิตไร้สำนึก ซึ่งเราฝังความอยากอันมิได้ขัดเกลาเอาไว้ในส่วนลึกของจิตใจ" โรเบอร์โต้พูดยาวเหมือนเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญประจำห้องแสดงศิลปะ
1
"ศิลปะ Surrealism เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แนวทางจึงแตกต่างจากศิลปะแบบคลาสสิกที่ผมคุ้นเคย นิวยอร์คเป็นหนึ่งในศูนย์รวมของ Surrealism ของโลก ผมเลยชอบมาเดินที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้" โรเบอร์โต้ตอบคำถามเพื่อดับข้อสงสัยของผม
"The False Mirror" โรเบอร์โต้พูดต่อ "ภาพนี้มีคนตีความไว้แตกต่างกัน บางคนบอกว่าภาพนี้สะท้อนจิตใต้สำนึกของเราได้ดี ท้องฟ้ามีความหมายที่เปลี่ยนไปเสมอ และแม้จะเป็นท้องฟ้าเดียวกันหากมองด้วยความรู้สึกที่ต่างกันก็จะเห็นท้องฟ้าไม่เหมือนกัน"
"แต่...ผมเพิ่งเคยได้ยินคุณเป็นคนแรกนะครับ ที่พูดว่ากำลังมองหาภาพที่อยู่ในวงกลมสีดำนะครับ ผมอยากรู้จริงๆ ว่า René จะตอบคำถามคุณยังไง"
"คงเพราะผมต้องทำงานกับคนที่หลากหลาย หลายครั้งที่คนหรือลูกค้าที่ผมพบปะพูดคุยด้วยทำให้ผมรู้สึกเหมือนสิ่งที่เขาพูดไม่ตรงกับสิ่งที่เขาคิด เหมือนเขาปิดบังบางอย่างกับผม คุณก็คงทราบว่าข้อมูลที่ถูกต้องมีความสำคัญในการจัดการแผนการเงินของลูกค้า ทำให้ผมมักชอบมองเข้าไปในดวงตาของคนที่พูดเสมอ เพราะดวงตามักสะท้อนสิ่งที่เขาคิดอยู่ ไม่ใช่คำพูด" ผมตอบโรเบอร์โต้
Credit : MOMA
"แบบนี้ Surrealism คงจะเหมาะกับคุณแล้วล่ะ การมายืนมองภาพต่างๆ อาจจะช่วยให้คุณไขคำตอบเรื่องต่างๆ ได้ สงสัยต่อไปที่นี่คงเป็นสถานที่ประจำที่คุณแวะมาแล้วล่ะ" โรเบอร์โต้หยอกกลับแบบชอบใจ
คงจะจริงอย่างที่โรเบอร์โต้พูด ผมสนใจงานของ René Magritte ที่มีแนวทางในการสื่อว่าทุกอย่างที่เราเห็นซ่อนอีกสิ่งหนึ่งที่เรามักจะต้องการที่จะเห็น ซึ่งก็คือสิ่งที่ถูกซ่อนไว้โดยสิ่งที่เราเห็นตลอดเวลา สำหรับผมวงกลมสีดำในภาพ The False Mirror จึงเปรียบเหมือนสิ่งที่ซ่อนอีกสิ่งหนึ่งที่ผมมองไม่เห็นนั่นเอง
1
"จริงๆ วันนี้ผมตั้งใจจะมาดูภาพอีกหนึ่งภาพด้วยนะ เป็นโอกาสที่ดีมากที่ MOMA จัดการแสดงภาพของ René ทำให้มีภาพหลายภาพที่ได้รับอนุญาตให้ยืมมาแสดง ผมอยากดู The Human Condition ที่ยืมนำมาจาก National Gallery of Art ในวอชิงตัน ดีซี" ผมชวนโรเบอร์โต้เดินไปยังภาพที่ผมกำลังพูดถึงนี้
The Human Condition - René Magritte (National Gallery of Art, Washington D.C.)
"The Human Condition เป็นชื่อภาพที่ René เขียนขึ้นมาหลายภาพโดยใช้ชื่อเดียวกัน แต่ภาพนี้เป็นภาพที่ผมชอบที่สุด ดูเผินๆ เหมือนภาพทิวทัศน์ที่มองผ่านช่องหน้าต่าง หากไม่สังเกตว่ามีภาพวาดที่วางซ้อนกับฉากหลังเสียสนิท" โรเบอร์โต้มองผมด้วยความฉงน คงไม่คิดว่าผมจะมีความรู้เกี่ยวกับภาพของ René ค่อนข้างดี ผมเลยถือโอกาสถามโรเบอร์โต้บ้างว่า "นายคิดว่าด้านหลังภาพที่วางซ้อนอยู่กับหน้าต่างจะเป็นยังไง"
โรเบอร์โต้มองนิ่งไปที่ภาพ "ภาพนี้ดูเหมือนไม่ต่างจากภาพผลงานของศิลปินที่จำลองธรรมชาติด้านหลังมาอยู่บนผืนผ้าใบเลยนะ แต่เพราะเป็นภาพ Surrealism คงจะเหมือนการปิดบังบางสิ่งในภาพจริง ด้วยภาพวาดที่ซ้อนทับกับภาพจริง ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีพุ่มสวยงาม อาจจะไม่มีอยู่จริงก็เป็นไปได้" โรเบอร์โต้คงจะตอบโดยอาศัยประสบการณ์จากศิลปะแนวทางเดิมที่เขาคุ้นชิน
"ภาพนี้ René เคยตอบคำถามซึ่งคล้ายกับที่นายพูดเลย เขาบอกว่าเป็นการวาดภาพบนผืนผ้าใบที่จำลองภาพภายนอกที่มองเห็น แต่ความหมายของภาพนี้เปรียบให้เห็นถึงวิธีการมองภาพหรือเรื่องราวต่างๆ ตามธรรมชาติของคน และเราจะเก็บภาพนั้นไว้ในใจ เมื่อเวลาผ่านไปภาพในใจของเรา ก็อาจไม่ใช่ภาพจริงอีกต่อไป" ผมตอบโรเบอร์โต้
"ประโยคนี้ฟังดูคุ้นหูนะครับ เวลาเราตั้งสมมุติฐาน หรือประมาณการต่างๆ เราก็มักใช้ข้อมูลสถิติในอดีตมาพยากรณ์อนาคต" โรเบอร์โต้พูดแบบขำๆ
"ใช่เลยครับ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง" พีร์พูดแบบหัวเราะเบาๆ "อาชีพของผมเลย" "นั่นสินะ มันถึงไม่เคยตรงกับประมาณการเลย" โรเบอร์โต้พูดตอบ แล้วทั้งสองคนก็หัวเราะขึ้นพร้อมกัน
สิ่งที่ต้องตระหนักเสมอคือ ....การที่จะเชื่อว่าผลตอบแทนย้อนหลังเป็นสิ่งที่สามารถทำนายผลตอบแทนอนาคตได้ ถือเป็นความเชื่อแบบมายาคติ (myth) ของนักลงทุนโดยส่วนใหญ่ ที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : ศิลปะกับการเงิน เริ่มจากการทดลองเขียนเรื่องสั้นตามคำแนะนำที่ได้รับจากคุณกู๊ด และ คุณเรื่องสั้นๆ ครับ หากมองเป็นซีรีย์ คงต้องขอรวมเรื่องสั้นจากพี่บี เจ้าของเพจให้เพลงพาไป ตอน "ขุมนรกของดันเต" https://www.blockdit.com/articles/5f4a423dcc3f6b0c90d967e9 มาผสมรวมในซีรีย์ ด้วยที่มีตัวละครเกี่ยวข้องกันครับ
โฆษณา