5 ก.ย. 2020 เวลา 09:27 • สุขภาพ
เผยความจริง วัคซีนรัสเซียยังวิจัยไม่เสร็จ
เพิ่งผ่านเฟส 2 แต่จดทะเบียนแล้ว รายงานจากวารสารการแพทย์ชั้นนำของโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า วัคซีน
โควิด-19 ของรัสเซีย ที่ใช้ชื่อว่า Sputnik-V ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลกว่า รัสเซียอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนฉีดในคนได้เป็นชนิดแรกของโลกนั้น
1
มีคำถามหลากหลาย ถาโถมเข้ามาจากทุกสารทิศ จากนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และหมอที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนทั่วโลกว่า รัสเซียได้ทำการทดลองวิจัยจนเสร็จสิ้นเฟสสามแล้วหรือยัง
ขณะนี้ปรากฏคำตอบชัดเจนแล้ว จากการตีพิมพ์ผลงานวิจัยโดยรัสเซียเอง ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดังคือ Lancet
ปรากฏว่า เป็นรายงานความสำเร็จเบื้องต้นของการทดลองวิจัยเฟสสองเท่านั้นเอง
ปธน.ปูตินกับบุตรสาว
รายละเอียดเรื่องนี้น่าสนใจมาก สมควรแก่การติดตามข้อมูลข้อเท็จจริงว่า วัคซีนของรัสเซียที่มีข่าวว่าขึ้นทะเบียนดังกล่าวแล้ว และได้ลองฉีดให้กับบุตรสาวของประธานาธิบดีปูตินด้วยนั้น รัสเซียพัฒนาวัคซีนเสร็จไปแล้วถึงขั้นใดกันแน่ และจดทะเบียนเพื่อเตรียมนำมาฉีดในคนเป็นลำดับที่หนึ่งของโลกจริงหรือไม่
1
เพราะข่าวนี้ มีการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่นเดียวกับที่ในอดีต สหภาพโซเวียตสามารถเร่งปล่อยดาวเทียมดวงแรกของโลกสำเร็จ ซึ่งชื่อ สปุกนิก เช่นเดียวกันมาแล้ว
และก็ไม่ต่างจากสหรัฐอเมริกา ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่า จะมีวัคซีน
โควิด19 ฉีดให้คนอเมริกันในวันที่ 1 พย.63 เพียงเพราะจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พย.63 นี้
ลองติดตามรายละเอียดกันดูนะครับ จะพยายามเรียบเรียงให้กระชับมากที่สุด แต่ก็จำเป็นต้องมีรายละเอียดตามสมควร ให้เพียงพอที่จะทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้อง และไม่สับสนไปกับข่าววัคซีนที่ต่างฝ่ายต่างเร่งออกข่าวให้ประเทศตนเองดูดี เพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยใช้ช่องว่าง การไม่รู้เท่าทันทางสุขภาพ(Health Literacy)
การวิจัยวัคซีนที่ได้มาตรฐานทางวิชาการ
รอยเตอร์ได้รายงานเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 ว่า
K.Dmitriev ผู้อำนวยการ RDIF (Russia Direct Investment Fund) บอกว่ารัสเซียได้ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องวัคซีนเผยแพร่ทั่วโลกแล้ว เราได้ตอบคำถามของตะวันตกที่วิพากษ์วิจารณ์เรามาตลอดสามอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้วเราเปิดเผยงานวิจัยทั้งหมด ต่อไปนี้เราจะขอโอกาสตั้งคำถามกลับเรื่องวัคซีนของประเทศตะวันตกบ้าง
รัสเซียได้เตรียมประชาชนสำหรับรับการฉีดวัคซีน 3000 คน โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนทดลอง ในการวิจัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น(Large Trial)
ซึ่งเริ่มไปแล้วตั้งแต่สัปดาห์ก่อน ส่วนผลเบื้องต้นของการฉีดน่าจะทราบในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนี้
M.Murashko รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรัสเซียแถลงว่า รัสเซียจะเริ่มฉีดวัคซีนจำนวนมากให้กับประชาชนได้ในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2563 โดยเน้นเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง
A.Gintsburg ผู้อำนวยการสถาบันกามาเลย่า (Gamaleya Institute) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาวัคซีนนี้ กล่าวว่าเราจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรส่วนใหญ่ของรัสเซียได้ในเวลาอีก 9-12 เดือนข้างหน้า
Dr.N Bar-zeev จากจอห์นฮอปกินส์(John Hopkins Bloomberg School of Public Health) กล่าวว่า งานวิจัยนี้ทำให้เห็นความหวังของวัคซีนชนิดนี้ แต่จำนวนผู้รับวัคซีนหรือกลุ่มตัวอย่างนั้นยังมีจำนวนน้อยเกินไป ที่สำคัญยังไม่มีรายงานประสิทธิผลหรือความสามารถในการป้องกันโรคทางคลินิก มีแต่รายงานความปลอดภัย และการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในเฟสหนึ่งและสองเท่านั้น
Professor B.Wren จาก London’s School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าวสั้นสั้นว่าจนถึงขณะนี้ก็ถือว่า วัคซีนดังกล่าวเพียง กำลังไปได้ดีในระดับหนึ่ง (so far so good)
ส่วนรายละเอียดของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet พอสรุปได้ดังนี้ครับ
วัคซีนของรัสเซียตัวนี้ชื่อ Sputnik V ใช้เทคโนโลยีไวรัสเป็นตัวพาหะ นำเข้าสู่เซลล์มนุษย์
ไวรัสที่ใช้นั้น เป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดชื่ออะดีโนไวรัส(Adenovirus) โดยไวรัสดังกล่าวจะพายีนส์หรือสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา เฉพาะส่วนที่สร้างหนาม (Spike protein) เข้าเซลล์มนุษย์ เพื่อให้เซลล์มนุษย์สร้างโปรตีนส่วนหนามของไวรัสปล่อยออกมา แล้วร่างกายจึงสร้างภูมิต้านทานออกมาอีกทีนึง
โดยจะใช้ไวรัสดังกล่าว สองสายพันธุ์คือ 26 และ 5 เรียกชื่อว่า rAd26 และ rAd5 และเตรียมวัคซีนไว้เป็นสองรูปแบบคือเป็น แบบผงแห้ง(Lyophilised) และแบบแช่แข็ง
(Frozen)
การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยรูปแบบที่นักวิจัยและผู้ถูกฉีดทราบ(Open) โดยไม่มีการสุ่มตัวอย่างทางสถิติ(Non-randomize) และไม่มีกลุ่มใช้ยาหลอก(Placebo) เพื่อเปรียบเทียบ
ทดลองในโรงพยาบาลสองแห่ง กับผู้มีอายุ 18 ถึง 60 ปี โดยเฟสหนึ่งทำการฉีดเข้ากล้ามด้วยวัคซีนเพียงเข็มเดียว เพื่อดูความปลอดภัย
เฟสสอง ห่างประมาณห้าวัน จะทำการฉีดวัคซีนสองเข็มห่างกัน 21 วัน ด้วยไวรัสคนละชนิดกันแล้วทำการตรวจหาภูมิต้านทานในวันที่ 0 14 21 28 และ 42 ตามลำดับ โดยดูภูมิต้านทานชนิดเซลล์ด้วย
ผลการศึกษาทดลองพบว่า ในเฟสหนึ่งมีความปลอดภัยอยู่ในเกณฑ์ดี ผลข้างเคียงมีไม่รุนแรงนัก
58% เจ็บบริเวณที่ฉีด
50% มีไข้ต่ำต่ำ
42% มีอาการปวดหัว
28% อ่อนเพลีย
18% ปวดกล้ามเนื้อปวดข้อ
ผลในเฟสสอง พบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นระบบภูมิต้านทานในอาสาสมัครได้สูง ตลอดจนสามารถกระตุ้นให้ระบบทีเซลล์(T-cell)ทำงานเสริมได้ดีด้วย
จึงพอสรุปได้ว่า วัคซีนของรัสเซียที่ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ เป็นการทดลองวิจัยแบบไม่ได้สุ่มตัวอย่าง ไม่มีกลุ่มยาหลอกเปรียบเทียบ จำนวนผู้ทดสอบน้อยคือ 76 ราย และเป็นเพียงการวิจัยทดลองในเฟสหนึ่งและสอง
การทดลองวิจัยในมนุษย์มี 3 เฟส
การวิจัยทดลองที่จะให้ความมั่นใจว่าวัคซีนสามารถฉีดในประชากรจำนวนมากได้จริง จะต้องผ่านการทดลองอย่างน้อยสามเฟสได้แก่
เฟสที่หนึ่ง เน้นการทดสอบความปลอดภัย(Safety) กับผู้ที่ได้รับวัคซีน ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างระดับหลักเป็นสิบถึงร้อยคน
เฟสที่สอง เน้นการทดสอบการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสนั้นนั้น
(Immunogenicity) ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างในหลักร้อยถึงพันคน
เฟสที่สาม เป็นเฟสที่สำคัญที่สุด คือ การทดสอบในสถานการณ์จริง ในประเทศที่มีการระบาดของโรคนั้นนั้นเป็นจำนวนมาก ใช้กลุ่มตัวอย่างนับหลายพันถึงหมื่นคน และต้องติดตามไปอย่างน้อย 6-18 เดือน เพื่อให้ได้มาซึ่งความแน่ใจว่า วัคซีนมีประสิทธิผล
(Effectiveness) สามารถป้องกันโรคได้จริง
เพราะในอดีต เคยมีวัคซีนซึ่งปลอดภัย จากการทดลองเฟสที่หนึ่ง กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในเฟสสอง แต่ไม่สามารถป้องกันได้ในสถานการณ์จริงของเฟสสาม วัคซีนนั้นก็ต้องยกเลิกไป
ปัจจุบัน มีวัคซีนชั้นนำของโลกที่ผ่านการทดลองในเฟสหนึ่งคือดูความปลอดภัย และผ่านการทดลองในเฟสสองคือดูความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และประสบความสำเร็จเรียบร้อยดี จนสามารถเริ่มทดลองในเฟสสาม
ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดและยากที่สุด ต้องใช้เวลานาน เพื่อดูความสามารถในการป้องกันโรคในอาสาสมัครจำนวนนับ 10,000 ราย ในสถานการณ์จริง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือดูประสิทธิผลของวัคซีนหลังจากที่วัคซีนนั้นมีความปลอดภัยแล้ว และสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเฟสสองได้แล้ว
มีวัคซีนที่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวขณะนี้มีทั้งสิ้น หกชนิด ได้แก่
1) Moderna ของสหรัฐฯ
2) Pfizer ของสหรัฐฯ
3)AstraZeneca ของอังกฤษ
4) Sinovac ของจีน
5) Sinopharm ของจีน
6) Sinopharm ของจีน
1
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ครั้งนี้ของรัสเซีย จึงทำให้ได้ความชัดเจนว่า
 
1)การวิจัยนี้ เป็นเพียงการวิจัยเฟสหนึ่งและเฟสสอง
2)กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนั้นมีจำนวนน้อยคือ 76 คน
3)เป็นการวิจัยที่ไม่ได้สุ่มตัวอย่างทางสถิติ
4)ไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบจากยาหลอก
5)ต้องวิจัยเฟสสามต่อไปอีก
กล่าวอีกนัยหนึ่ง การวิจัยของรัสเซียที่ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งนี้ เท่ากับรัสเซียยอมรับว่า วัคซีนของตนนั้นตามหลังวัคซีนอีก 6 ชนิด ของ 5 บริษัท จาก 3 ประเทศอยู่ ซึ่งวัคซีนกลุ่มดังกล่าว นำหน้ารัสเซียไปแล้วหลายเดือน
อย่างไรก็ตามผู้เขียน ขอเป็นกำลังใจให้กับรัสเซีย และอีกหลายๆประเทศ ที่แม้วัคซีนจะอยู่ในขั้นตอนตามหลังอยู่ ก็ขอให้เร่งมือค้นคว้าวิจัยพัฒนาวัคซีนให้เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์สากลอย่างเต็มที่
เพราะเรื่องสุขภาพและชีวิตมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ เราไม่สามารถยืดหยุ่นหรือหย่อนมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย และประสิทธิผลของวัคซีนลงได้ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดต่อมนุษยชาติโดยรวมต่อไปครับ
Reference
โฆษณา