7 ก.ย. 2020 เวลา 09:54 • ความคิดเห็น
กระแสลุงพลดังจนฉุดไม่อยู่ !
เล่นใหญ่กันขึ้นเรื่อยๆกับการพยายามตีข่าว และพยุง 'ลุงพล' และล่าสุดก็ 'ป้าแต๋น' ให้ติดอยู่บนหน้า 1 ของโลกออนไลน์ จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลามากว่า 1 เดือนแล้วที่สื่อภายในประเทศไทยพากันดันให้ลุงพลกลายเป็นคนดังของสังคม
มีคนไปรุมล้อมต่อคิวขอถ่ายรูปกับลุงพล ชักชวนลุงพลไปถ่ายโฆษณา ไปเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าชนิดต่างๆมากมาย ได้กระทบใหล่ดาราดังอยู่หลายคน กระทั่งมีแคมเปญ 1 คัน = ลุงพลได้ 1,000 บาท
ในแง่หนึ่งก็เข้าใจได้ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำกำลังขึ้น กระแสกำลังมา ใครไม่เล่น ใครไม่อวยลุงพล ก็จะทำให้ตกขบวนออกไปได้ สื่อเองก็ได้รับผลประโยชน์ในการที่มีคนมาให้ความสนใจมากขึ้น ได้ยอด Engagement จากแฟนคลับลุงพลเข้ามาไปยาวๆ
สัมภาษณ์คนในหมู่บ้านของลุงพลวนไปเวียนมาทุกวัน สัมภาษณ์จนจะหมดหมู่บ้าน ทำ Infographic ดิ้นดุ๊กดิ๊กๆไปเรื่อย ตามประสา ผมว่าสังคมไทยเรานั้นค่อนข้างอ่อนไหวกับอะไรพวกนี้มากๆ เวลาเจอ Viral อะไรแล้วก็ติดลมบนกันจนล้นเกินตลอด
อย่างสมัยไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีเคสหนึ่งเรื่อง เปรี้ยวที่เป็นคดีใหญ่นั้นสังคมไทยและสื่อไทยก็ถึงขั้นพยายามจะปั้นเปรี้ยวให้เป็นไอดอล มีการเสนอข่าวเปรี้ยวในอิริยาบถต่างๆอยู่พักหนึ่ง ผลก็คือกระแสดังกล่าวนั้นมันไปถึงขั้นที่จะมีคนทำสินค้าสกรีนรูปเปรี้ยวออกมาขายกันเลยทีเดียว
มันสะท้อนทัศนคติ และความชื่นชอบของสังคมไทยได้เหมือนกันนะ ในจุดนี้ เราสามารถทำอะไรให้กลายเป็นเรื่องเล่น เรื่องตลกขบขันกันได้เรื่อยๆจริงๆ เรื่องซีเรียสๆอย่างคดีน้องชมพู่ คดีหั่นศพยังมีคนเอามาปรับแต่ง ดัดแปลงกระแสให้กลายเป็นกระแสไอดอลได้เลย
ทำให้ผมนึกถึงคำพูดอาจารย์ท่านหนึ่ง สมัยที่ผมลงทะเบียนเรียนวิชาสังคมวิทยาการเมือง เมื่อนานมาแล้ว อาจารย์ท่านยกคำพูดของอาจารย์ตนเองมาเล่าให้ฟังในคลาสเรียนว่า สมัยที่อาจารย์ฝรั่งของท่านนั้นเข้ามาทำวิจัยหมู่บ้าน และชุมชนในประเทศไทยนั้น
สิ่งที่อาจารย์ท่านพบก็คือ สังคมไทยเป็นสังคมของการละเล่น คนไทยเป็นคนขี้เล่น สามารถเปลี่ยนบรรยากาศที่ตึงเครียด หรือกดดันให้กลายเป็นบรรยากาศที่สดใสมากขึ้นได้อยู่ตลอด
ชอบความสนุกสนาน ขนาดอยู่ในยุคและชุมชนที่การพัฒนาจากภาครัฐในส่วนกลางเข้ามาไม่ถึง คนไทยก็ยังสามารถหาความสุข และเลือกมองหาข้อดีของวิถีชีวิตของตนเองได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่มีข้อกังวลใดๆ
อาจารย์ของท่านวิเคราะห์ว่าวัฒนธรรม และทัศนคติลักษณะนี้ของชาวบ้านนั้นสะท้อนให้เห็นว่าชาวบ้าน และชุมชนภายในสังคมไทยหลายๆส่วนนั้นมองว่าจะเครียดไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา ในบางสถานการณ์
ดังนั้นการละเล่น การทำเรื่องเครียดให้กลายมาเป็นเรื่องสนุกเสีย ก็คือวิธีการแก้ปัญหา และหลีกเลี่ยงปัญหาวิธีหนึ่งที่ค่อนข้างใช้ได้ผล ตรงนี้แม้จะไม่ได้ชี้วัดถึงทัศนคติ และความเป็นไปของสื่อสมัยนี้ออกมาโดยตรง
แต่ก็มีส่วนที่สะท้อนให้เห็นบุคลิก ลักษณะ และทัศนคติเบื้องลึกของสังคมไทยได้ส่วนหนึ่งในกรณีที่ว่าคนไทยเรารักสนุก ชอบอะไรที่มันเฮฮา ครื้นเครง การนำลุงพลมาอยู่ในสปอตไลท์นั้นก็เพื่อสร้างความบันเทิงให้แก่ตนเอง
สร้างความ surreal ให้กับสังคมได้มีเรื่องราวได้พูดคุย ล้อเล่น หรือหยอกล้อกันต่อไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ ยิ่งโดยเฉพาะกับช่วงที่เศรษฐกิจมีภาวะฝืดเคือง การท่องเที่ยวซบเซาเช่นนี้ คนบางส่วนที่หันมาเป็นแฟนคลับลุงพลอย่างเป็นปรากฏการณ์ก็อาจจะเพราะพวกเขาต้องการความสุข ความสนุกในบางมิติเพื่อช่วยประโลมจิตใจก็เป็นได้
สำหรับใครท่านใดที่สนใจประเด็นเรื่องคนไทยเป็นคนขี้เล่นนั้น แนะนำให้ไปลองหาตำราวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาพื้นฐาน หรือสังคมวิทยาการเมือง 101 มาอ่านกันได้ น่าจะยังพอมีบางบทกล่าวถึงประเด็นนี้อยู่ (อ่านของธรรมศาสตร์หรือของเชียงใหม่ก็ได้ครับ)
** สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้เผื่อใจเอาไว้ก็คิอ ตอนที่คดีมันถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ตอนนี้คดีมันยังไปไม่ถึงไหนก็ยังเล่นกับกระแสกันได้อยู่ แต่ถ้าหลังจากวันนั้นแล้ว ก็อยากให้เล่นกับข่าวอย่างมีสติกันด้วยครับ
โฆษณา