8 ก.ย. 2020 เวลา 02:45 • ความคิดเห็น
พอได้รึยังกับกระแส #ลุงพล มันควรเป็นแบบนี้จริงๆ หรอ? เรื่องราวมันเป็นยังไง #เดี๋ยวสรุปให้ฟัง
นี่เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คิดว่าหลายคนคงตั้งคำถามว่า… เราจะจบกับเรื่องนี้ได้รึยัง? สังคมเราจะเป็นแบบนี้ต่อไปจริงๆ หรอ? จากโศกนาฏกรรมกลายมาเป็นกระแสไอดอลชั่วข้ามคืนได้ยังไง และใครบ้างที่มีส่วนในความผิดเพี้ยนของเรื่องราวนี้ ลองวิเคราะห์แล้วแชร์ความเห็นกันได้เลยนะครับ…
คิดว่าหลายคนคงเป็นเหมือนแอดมินที่ไม่ได้ติดตามข่าวแบบ “ลงรายละเอียด” ว่ามันเกิดอะไรใน #คดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ แต่ลืมตาขึ้นมาอีกทีก็เห็นว่า #ลุงพล กลายเป็นคนดังเรียบร้อยแล้ว… แอดมินขอสรุปเรื่องราวคร่าวๆ พอให้เห็นภาพคดีเท่าที่จำเป็นนะครับ (ใครจำเนื้อหาคดีได้แม่นแล้วข้ามไปข้อ 5 ได้เลย)
1) เรื่องมันเกิดจาก น้องชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบ หายออกจากบ้านที่หมู่บ้านกกกอด จ.มุกดาหาร ในวันที่ 11 พ.ค. 63 จากนั้นอีก 3 วันต่อมาจึงพบว่าเสียชีวิตอยู่ในป่าห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร
2) “ลุงพล” ผู้ซึ่งมีภรรยาชื่อ “ป้าแต๋น” ซึ่งป้าแต๋นเป็น “พี่สาวของแม่น้องชมพู่” อีกทีนึง ตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ โดยในสังคมมีทั้งผู้ที่เชื่อว่าลุงพลเป็นคนทำ และผู้ที่เชื่อว่าลุงพลเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นเวลากว่า 2 เดือนที่ลุงพลตกอยู่ในสถานะของผู้ต้องสงสัยอันดับต้นๆ ของสังคม…
3) เดือนกรกฎาคม 2563 ผลชันสูตรศพของน้องชมพู่ออกมา… พบว่าน้องชมพู่ไม่น่าจะเสียชีวิตจากการฆาตรกรรม เนื่องจากไม่มีร่องรอยการทำร้ายร่างกาย ไม่มีร่องรอยการข่มขืน แต่พบว่ากระเพาะอาหารไม่มีอาหารหลงเหลืออยู่ จึงสรุปได้ว่าน้องชมพู่อาจจะเดินพลัดลงเข้าไปในป่าเอง หรือไม่ก็มีคนอุ้มเข้าไปแล้วทิ้งไว้ในป่า และไม่สามารถออกมาได้ ทำให้เสียชีวิตจากการ “ขาดอาหารและน้ำ”
4) ด้วยผลชันสูตรสรุปออกมาแบบนี้ ทำให้สังคมส่วนใหญ่เชื่อว่าลุงพลไม่ได้เป็นผู้ลงมือทำ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานอื่นใดๆ เลยที่สามารถชี้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นอันว่าคดีนี้ถูกพักไว้เท่านี้ก่อน จนกว่าจะมีการพบหลักฐานใหม่…
5) ครับ เรื่องมันก็ควรจะจบแค่นี้ ทุกคนควรแยกย้ายกลับไปทำงานของตัวเอง...
แต่เปล่าเลย… หลังจากนั้นก็มีผู้คนมากมายแห่กันมาให้ความช่วยเหลือลุงพล ทั้งมาให้กำลังใจ มามอบเงิน มาซ่อมบ้านให้ ชวนเข้าวงการบันเทิง พาไปร้องเพลง เล่นเอ็มวี พาไปออกอีเว้นท์ กลายเป็นคนดังมีแฟนคลับมากมาย…
จนกระทั่งเมื่อประมาณ 2 อาทิตย์ที่แล้ว (14 ส.ค) ก็เปิด Channel ใน YouTube ชื่อว่า “ลุงพลป้าแต๋น แฟมิลี” ที่มีผู้ติดตามกว่า 200,000 คน และมีคลิปที่โด่งดังที่สุด ชื่อว่า “ลุงพลกินข้าวเช้า ป้าแต๋นถ่าย” ความยาว 2 นาทีกว่า เนื้อหาคือ…ลุงพลกำลังกินข้าวไข่ดาวกับแจ่วบองอยู่ที่สวนหลังบ้าน มียอดวิวกว่า 1.2 ล้านวิว…
6) ถ้าคิดว่านี่พีคแล้ว… ยังครับ ยังไม่สุด จากตอนแรกที่ลุงพลได้รับความช่วยเหลือจากความเห็นอกเห็นใจของสังคม ตอนนี้ลุงพลกลายมาเป็น #สื่อการตลาด ชนิดหนึ่งที่บางแบรนด์และธุรกิจเริ่มเอามาใช้…
อันที่พีคที่สุด ณ ตอนนี้ (อนาคตอาจจะมีพีคกว่านี้) ก็คงเป็นแคมเปญของโชว์รูมรถยนต์ค่ายหนึ่งที่จัดโปรโมชัน ซื้อรถ 1 คัน แบ่งเงินให้ลุงพล คันละ 1,000 บาท (ใครทำงานสาย marketing คงคิดว่านี่คือ affiliate marketing เวอร์ชั่นกลายพันธุ์ขั้นสุด) รวมถึงเอาลุงพลกับป้าแต๋นมาเป็นแขกรับเชิญเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในงาน และจัดงานให้แฟนคลับมาถ่ายรูป meet & greet กันที่โชว์รูมซะเลย…
4
ข้อมูลที่น่าตกใจที่แอดมินได้รับมาจากทวิตเตอร์ (แบบยังไม่ยืนยัน) คือแบรนด์หลายแบรนด์ตอนนี้กำลังพิจารณาเอา #ลุงพล มาเป็น influencer หรือ endorser ในแคมเปญการตลาดที่กำลังจะมาถึง… ได้แต่ถอนหายใจยาวๆ
7) คำถามที่สำคัญต่อมาก็คือ ใครบ้างที่มีส่วนร่วมกับเรื่องนี้? ขอแบ่งผู้ต้องสงสัยออกเป็น 4 รายแล้วกันครับ…
#ผู้ต้องสงสัยรายที่1 : “สื่อ (media)”
เราจะเห็นว่า ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา สื่อ (บางราย) ให้ความสำคัญกับคดีน้องชมพู่มาก ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด คดีแบบนี้ย่อมได้รับความสนใจเป็นธรรมดา… แต่สิ่งที่มองแล้วมันอาจจะ “ไม่เข้าท่า” ก็คงเป็นการที่สื่อให้ความสำคัญกับตัว “ลุงพล” แบบเกินพอดี…
ถามว่า… สังคมได้อะไรจากการนำเสนอเนื้อหาประเภทเจาะลึกชีวิตส่วนตัว ลุงพลชอบกินข้าวกับอะไร ลุงพลสูงเท่าไหร่ น้ำหนักเท่าไหร่ ชอบใส่เสื้อสีอะไร ลุงพลจ่ายค่างวดรถกระบะเดือนละกี่บาท หรือเวลาไปตลาดซื้ออะไรบ้าง…?
แต่ก็แน่นอนครับ… ที่สื่อยังคงทำ content ไร้สาระพวกนี้อยู่ได้ก็เพราะว่า “มีคนเสพ” ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปที่ #ผู้ต้องสงสัยรายที่2 : “สังคมไทย (Society)” เราเป็นสังคมประเภทไหนกันที่ให้คุณค่ากับเรื่องราวประเภทนี้ แน่นอนว่า content พวกนี้มันมี “กลุ่มเป้าหมาย” ของมัน ก็ต้องย้อนกลับไปอีกว่าอะไรเป็นสาเหตุให้คนกลุ่มนี้ถึงชอบเสพความบันเทิงในรูปแบบนี้ นึกแล้วมันก็น่าเศร้าไม่ใช่น้อย
ทั้ง 2 ผู้ต้องสงสัยข้างบนก็อาจจะพอเถียงกันไปกันมา (แบบข้างๆ คูๆ) ได้ว่ามันก็เป็นจังหวะของเหตุการณ์มันที่ไหลต่อมาเรื่อยๆ แต่คนที่ผิดเต็มประตูเลยก็คงหนีไม่พ้น #ผู้ต้องสงสัยรายที่ 3 : “ธุรกิจ (Business)”
ในฐานะของแบรนด์หรือธุรกิจ คุณไม่มีข้ออ้างใดๆ เลยในการ take advantage จากเรื่องนี้ คุณรู้อยู่เต็มอกว่าคุณกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนความผิดเพี้ยนของสังคมในการเอาเค้ามาเป็นสื่อการตลาด แต่คุณก็ทำมันอยู่ดี… การใช้เค้าเป็นสื่อมันไม่ได้ represent อะไรในแบรนด์ของคุณเลยนอกจากการได้ awareness จากความดังของเค้า…
ถ้าถามว่า อ้าว! แล้วได้ awareness อย่างเดียวมันก็พอไม่ใช่เหรอสำหรับการทำการตลาด? ก็ต้องถามกลับไปว่า แล้วเวลาที่ศิลปิน ดารา หรือแม้กระทั่งสื่อที่คุณสนับสนุนเป็นสปอนเซอร์เค้าทำสิ่งที่ผิด คุณ…ในฐานะของธุรกิจ… ได้ออกมาปฏิเสธตัดความสัมพันธ์ เลิกสปอนเซอร์คนกลุ่มนั้นรึเปล่า? ถ้าคำตอบของคุณคือใช่ อย่างนั้นแค่ awareness มันก็ไม่พอถูกหรือเปล่า… เพราะมันต้องมีคำว่า “จริยธรรม” อยู่ในการทำธุรกิจด้วยใช่หรือไม่ คุณจะเลือกทำแต่ในสิ่งที่คุณได้ประโยชน์แบบนั้นมันก็ดูมักง่ายไปหน่อย…
และสุดท้าย #ผู้ต้องสงสัยรายที่4 : “ลุงพลกับป้าแต๋น” แน่นอนว่านี่มันไม่ใช่ความผิดอะไรของคุณ ทุกอย่างที่คุณมีวันนี้มาจากการที่คนอื่นเต็มใจมอบให้คุณเอง แต่ก็อย่าลืมว่า… คุณก็มีสิทธิ์เลือก คุณเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร อะไรคือความพอดี และเมื่อไหร่ถึงเวลาที่ควรปฏิเสธและพูดว่า “พอได้แล้ว” อย่างน้อยก็เป็นตัวอย่างให้กับคนในสังคม และเตือนสติว่าสิ่งที่ถูกต้องมันควรจะเป็นอะไร…
#สรุปแล้ว เมืองไทยเรามีคนดังกี่คนแล้วที่เกิดจากกระบวนการสร้างคนธรรมดาให้กลายเป็นฮีโร่แบบผิดๆ นี่เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและต้องถูกแก้ปัญหาได้แล้ว เราจะอยู่กันต่อไปด้วย “เรื่องราวน่าเศร้าของสังคม” “การนำเสนอข่าวของสื่อ” และ “การแสวงหาผลประโยชน์ของธุรกิจ” เป็นวงจรแบบนี้ต่อไปจริงๆ หรือ? มันควรพอได้แล้วรึยัง…
แต่เรื่องนี้จะจบลงยังไง ลุงพลจะกลายเป็นคนดังไปถึงแค่ไหน กีคงไม่มีใครรู้ เช่นเดียวกับการตายของน้องชมพู่นั่นแหละครับ
โฆษณา