9 ก.ย. 2020 เวลา 00:44 • ท่องเที่ยว
ลำปาง ในเส้นทางบุญ .. วัดพระธาตุลำปางหลวง
วัดพระธาตุลำปางหลวง พระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีฉลู
ลำปาง มีความน่าสนใจในแง่ของการท่องเที่ยว ด้วยเคยเป็นดินแดนอารยะธรรมล้านนาที่รุ่งเรืองมาแต่ครั้งโบราณ ทำให้เมืองลำปางมีสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณสถานอย่างวัดวาอารามที่สวยงามและทรงคุณค่า ชวนให้เดินทางไปสัมผัส
“ลำปาง” เป็นชื่อที่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนในตำนานพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “ลัมภกัปปนคร” ตั้งอยู่บริเวณลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศใต้ตามแม่น้ำวังประมาณ 16 กิโลเมตร อันเป็นที่ตั้งของวัดพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน ตัวเมืองลัมภกัปปะนครมีพื้นที่ประมาณ 200 ไร่
ลักษณะของเมืองเขลางค์นคร หากมองจากภาพถ่ายทางอากาศและการเดินสำรวจทางพื้นดิน พบว่ามีคันคูล้อม 3 ชั้น ปัจจุบันเหลือเพี่ยงบางส่วนเท่านั้น
มีการพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา เศียรพระพุทธรูปดินเผาสมัยหริภุญชัย และสถูปแบบสมัยหริภุญชัย สันนิษฐานว่าเมืองลัมภกัปปะนี้น่าจะเป็นเมือง “กังปนาสงฆ์” หรือเมืองศาสนา มากกว่าจะเป็นเมืองทางอาณาจักรที่มีอำนาจทางการปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นระเบียบแบบแผน
ตามตำนาน วัดพระธาตุลำปางหลวง (ฉบับสาขาสมาคม เพื่อการรักษาสมบัติวัฒนธรรมประจำจังหวัดลำปาง) ได้กล่าวถึงเรื่องราวของเมืองลำปางไว้ว่า “พระพุทธเจ้าได้เสด็จด้วยบ้านใหญ่เมืองน้อยทั้งหลายน พระพุทธเจ้าไปรอดบ้านอันหนึ่งชื่อ ลัมพการีวัน พรัพุทธเจ้านั่งอยู่เหนือดอยม่อนน้อย สูงสะหน่อย ยังมีลั๊วะ ชื่ออ้ายคอน มันหันพระพุทธเจ้า เอาน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้ป้างมาหื้อทานแก่พระพุทธเจ้า กับหมากพ้าว 4 ลูก
พระพุทธเจ้ายื่นบอกน้ำเผิ้งหื้อแก่มหาอานนท์ถอกตกปากบาตร พระพุทธเจ้าฉันแล้ว ซัดบอกไม้ไปตกหนเหนือ แลล้วพระพุทธเจ้าทำนายว่า สถานที่นี้จักป็นเมืองอันหนึ่งชื่อ “ลัมภางค์” ดังนั้นนามเมืองลำปาง จึงหมายถึงชื่อของเมืองอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุลำปางหลวงในปัจจุบัน
วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้าน คู่เมืองเขลางค์นครมาตั้งแต่สมัยเจ้าหมื่นคำเป๊ก เจ้าขุนเมืองใต้ ที่เข้ามาสมามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งเมืองเชียงใหม่
การสร้างพรธาตุลำปางหลวงเป็นรูปแบบของศิลปะล้านนาฝีมือช่างชั้นครู ที่ทรงคุณค่า และมีความงดงามทุกรายละเอียด เป็นศูนย์รวมความศรัทธาของชาวลำปางจากอดีต มาจนถึงปัจจุบัน
ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่บอกเรื่องราวความเป็นมาของเมืองโบราณ นามเขลางค์นครแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
ประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2275 สมัยที่พม่าเรืองอำนาจ ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาปกครองอาณาจักรล้านนา โดยยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน และได้แต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครนามว่า “ท้าวมหายศ” ซึ่งเป็นเจ้าครองนครลำพูนที่อยู่ภายใต้อาณัตของพม่าและยกทัพมายึดนครลำปางได้สำเร็จ และได้ตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง
ครั้งนั้นหนานทิพย์ช้าง วีระบุรุษของชาวลำปางได้รวบรวมพลทำการต่อสู้กับท้าวมหายศ โดยการลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย และตีทัพลำพูนแตกพ่ายไปในที่สุด
ปัจจุบันยังปรากฏร่องรอยของลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมรอบองค์พระเจดีย์ … ต่อมา หนานทิพย์ช้าง ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “พระยาสุลวะลือไชยสงคราม” เจ้าผู้ครองนครลำปาง ต้นตระกูล เจ้าของเจ็ดตน ผู้พลิกฟื้นล้านนาในสมัยต่อมา
วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดย่อม มีแผนผังการจัดวางอาคารได้อย่างลงตัว สวยงาม นับเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนาฝีมือช่างชั้นครู
บันไดขึ้นด้านหน้า คือ บันไดนาค ... ที่เชิงบันไดมีรูปปูนปั้นสิงห์ขนาดใหญ่ 2 ตัว สร้างในสมัยพระเจ้าหอคำดวง ผู้ครองนครลำปางเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2331
ส่วนราวบันไดทำเป็นรูปมกรคายพญานาค เลื้อยมาจากบนเขาถึง 2 ตัว … ตัวหนึ่งมาหยุดโผล่เศียรที่ตรงกลางบันได ส่วนอีกตัวหนึ่งลงไปโผล่เศียรที่ที่เชิงบันไดด้านล่าง
ซุ้มประตูโขง ปลายสุดบันไดทางขึ้นนำขึ้นเป็นซุ้มประตูโขง… ฝีมือช่างหลวงโบราณ ลักษณะเป็นซุ้มยอดแหลมพุ่งขึ้นไปเป็นชั้นๆ คล้ายปราสาท ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้ นาค และหงส์อย่างสวยงาม … ประตูโขงแห่งนี้ ใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของเมืองลำปาง
วิหารหลวง ถัดจากซุ้มประตูโขงเข้ามา คือ วิหารหลวง
วิหารขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2019 โดยเจ้าหมื่นคำเป๊ก เดิมก่อสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง
ปัจจุบันเป็นอาคารก่อด้วยอิฐ ลักษณะเป็นวิหารจั่วรูปสีเหลี่ยมผืนผ้า ทรงวิหารโล่งตามแบบล้านนายุคแรก หลังคาซ้อนเป็นชั้นลดหลั่นลงมาเกือบถึงพื้น
ภายในวิหารมีกู่ปราสาทอันเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง พระประธานของวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ ศิลปะเชียงแสนผสมสุโขทัย และเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในลำปาง และด้านหลังมีพระเจ้าทันใจให้ได้ไหว้ขอพร ที่เชื่อกันว่าขอแล้วจะสัมฤทธิ์ผลดังใจหมาย
บริเวณปลายซุ้ม .. มีงานศิลปะปูนปั้นปิดทองเป็นรูปสัตว์ 5 ชนิดผสมกัน เรียกว่า ปัญจรูป และยังมีลวดลายปูนปั้นศิลปะจีนปสมอยู่ด้วย
พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีฉลู เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ ทรงกลมแบบล้านนา ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น สูงประมาณ 45 เมตร
องค์พระธาตุหุ้มด้วยแผ่นทองแดงปิดทอง ทางเหนือรียกว่า ทองจังโก้ แต่ละแผ่นฉลุลวดลายไม่ซ้ำกัน ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ ภายในเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อพระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุจอมทอง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุยังปรากฏรูกระสุนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศอยู่ด้วย
วิหารพระพุทธ หรือวิหารลายคำ ตั้งอยู่ข้างองค์พระธาตุลำปางหลวง สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 21 เดิมเป็นวิหารเปิดโล่ง หน้าบันเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี แต่ภายหลังมีการบูรณะซ่อมแซมเป็นวิหารแบบปิดทึบทั้งสี่ด้าน ยกพื้นไม่สูง
เหนือกรอบประตูทางเข้าคือซุ้มประตูโขง ลักษณะเป็นปูนปั้นลงรักปิดทอง มีการใช้ลายกนก และใบระกา ประกอบกันอย่างวิจิตรงดงาม
ภายในวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระประธาน พระเจ้าองค์หลวงเมืองเขลางค์ (หลวงพ่อพระพุทธ) เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์สาม ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นที่มีลักษณะสวยงามที่สุดองค์หนึ่งของล้านนา
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เต็มอาคาร ปิดทองเหลืองอร่ามไปทั้งองค์ ส่วนจิตรกรรมด้านหลังพระประธานเป็นรูปเหล่าทวยเทพถือช่อดอกไม้ ตามเสามีรูปสัตว์ต่างๆที่พบตามธรรมชาติ และสัตว์ในป่าหิมพานต์ นอกจากนี้ยังปรากฏเงาพระธาตุภายในวิหารอีกด้วย
วิหารน้ำแต้ม อยู่ทางด้านขวาของวิหารหลวง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2044 เป็นวิหารเปิดโล่งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีฝ้าเพดาน หลังคาซ้อนเป็นชั้นลดหลั่นกันลงมาอย่างสวยงาม ซึ่งเป็นลักษณะของวิหารที่พบมากทางภาคเหนือ
ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย กำแพงด้านหลังพระประธานเขียนภาพลายทองบนพื้นรักแดง เป็นภาพต้นศรีมหาโพธิ์ 3 ต้น แต่ละต้นแผ่กิ่งก้านสาขาอ่อนช้อยงดงาม
ด้านซ้ายและขวาเป็นรูปดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ อันเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาล
แต่จุดเด่นที่ไม่ควรพลาดชมอยู่ที่ภาพเขียนสีบนแผงไม้คอสอง ที่มาของชื่อวิหารน้ำแต้ม เป็นศิลปะแบบล้านนาที่กล่าวกันว่าเก่าแก่ที่สุด แต่ปัจจุบันภาพลบเลือนไปมาก
วิหารต้นแก้ว ตั้งอยู่ด้านหน้าของวิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารขนาดเล็ก ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ทำจากไม้ เป็นพระพุทธรูปประจำตระกูลเจ้านายฝ่ายเหนือ ทั้งตระกูล ณ ลำพูน ณ เชียงใหม่ และ ณ ลำปาง ตลอดจนเชื้อเจ้าเจ็ดตน
หอพระพุทธบาท เป็นสถาปัตยกรรมก่ออิฐทรงสี่เหลี่ยม สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1992 โดยหมื่นหาญแต่ท้อง หรือหมื่นด้งนคร ผู้ครองนครลำปาง
ภายในสามารถมองเห็นเงาพระธาตุลำปางหลวงได้ แต่ต้องปิดประตูและหน้าต่างให้มืด เหลือเพียงลำแสงที่ลอดผ่านเข้ามาทางรูเล็กๆด้านตะวันออก โดยลำแสงที่ผ่านเข้ามานี้เป็นแสงสะท้อนจากองค์พระธาตุด้านนอก แล้วเกิดการหักเหของแสงเป็นสีตามธรรมชาติก่อนที่จะตกลงบนผืนผ้าสีขาว ปรากฏการณ์นี้สามารถชมได้เฉพาะในวันที่แสงแดดจ้าช่วงสายถึงเที่ยงมีข้อห้ามมิให้ผู้หญิงขึ้นไป
วิหารละโว้ หรือวิหารจามเทวี อยู่ด้านหลังองค์พระธาตุ สร้างโดยเจ้ากรุงละโว้ พระบิดาของพระนางจามเทวี เป็นอาคารเปิดโล่ง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก ศิลปะแบบลพบุรี
พระแก้วดอนเต้า นอกจากพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้วแล้ว ยังมีพระแก้วดอนเต้าอีกองค์หนึ่งที่ทำจากหินสีเขียวมรกต ประดิษฐานอยู่ภายในหอพระแก้ว พระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมืองของจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะแบบเชียงแสน ทุกๆปีจะมีงานนมัสการพระแก้วดอนเต้าในวันเพ็ญเดือน 12 ตามคติความเชื่อของการไหว้พระธาตุปีเกิด เนื่องจากพระธาตุลำปางหลวง เป็นพะธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา