10 ก.ย. 2020 เวลา 13:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เพราะเหตุใด นโยบายอาเบะโนมิกส์ (Abenomics) ไม่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
อาเบะโนมิกส์ (Abenomics) เป็นคำผสมระหว่างคำว่า Abe ซึ่งเป็นชื่อของนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ กับ Economics
นายชินโซะ อาเบะ หวนคืนสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2012 พร้อมกับชูนโยบายอาเบะโนมิกส์ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ ธนู 3 ดอก (Three Arrows of Abenomics) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะซบเซามานาน และค่าเงินเยนที่แข็งเกินไป โดยตั้งเป้าหมายให้ รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นปีละ 3% และ อัตราเงินเฟ้อปีละ 2%
นายชินโซะ อาเบะ หวนคืนสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2
นโยบายอาเบะโนมิกส์ หรือ ธนู 3 ดอก ประกอบด้วย
ธนูดอกที่หนึ่ง การใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนำงบประมาณรายจ่ายมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยในปีแรกมีการใช้จ่ายลงทุนด้านสาธารณูปโภคถึง 10 ล้านล้านเยน
อย่างไรก็ตาม จากการที่ญี่ปุ่น มีสัดส่วนของหนี้สาธารณะ ต่อ จีดีพี สูงกว่า 230% (เป็นอันดับ 1 ของโลก) เนื่องจากโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ถึง 28.1% เป็นอันดับ 1 ของโลก ทำให้รัฐบาลต้องมีงบประมาณประกันสังคมและสวัสดิการดูแลคนชราเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อไม่ให้ขาดดุลงบประมาณมากเกินไป รัฐบาลจึงต้องหารายได้โดยเก็บภาษีการบริโภคเพิ่มขึ้นควบคู่ไปด้วย
2
ธนูดอกที่สอง การอัดฉีดปริมาณเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ หรือ มาตรการ QE โดยให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยคงไว้ที่ 0 % เพื่อให้ค่าเงินเยนอ่อนลง กระตุ้นการส่งออกมากขึ้น
ธนูดอกที่สาม คือ การปฎิรูปเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจภาคเอกชน ผ่อนคลายกฎระเบียบระบบราชการที่มีความยึดติดรูปแบบเดิมๆ ส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น (Womenomics) เพื่อทดแทนกำลังแรงงานที่น้อยลง
นโยบาย Womenomics
ผลของการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลดีในปีแรก GDP ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 2.76% หุ้นนิเคอิที่ปรับตัวสูงขึ้น 30% อย่างไรก็ตามผลของนโยบายส่งผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น ในระยะยาว นโยบายอาเบะโนมิกส์ กลับไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจาก
1
1) ความไม่เชื่อมั่นการมีเสียรภาพทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยาว จึงทำให้ธนาคารเอกชนไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ กลัวเกิดปัญหาหนี้เสีย (NPL) ตามมา
2) การที่ค่าเงินเยนอ่อนลง ไม่ได้ก่อประโยชน์แก่ผู้ส่งออกมากนัก เนื่องจากฐานการผลิต โรงงานของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ อยู่ในประเทศจีนและกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่ผลของการค่าเงินอ่อนลง กลับทำให้ผู้นำเข้า อย่างน้ำมันและสินค้ากลุ่มพลังงานกลับมีต้นทุนสูงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น
1
3) ในอดีตญี่ปุ่น คือ คู่แข่งสำคัญด้านเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกา แต่ในปัจจุบันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น มีความล้าหลังและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาซอฟท์แวร์ ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีให้กับ จีน และเกาหลีใต้
4) ประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย ถึงแม้ว่าอัตราว่างงานของญี่ปุ่นจะลดลงเหลือเพียง 2.2 % แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดลึกลงไป พบว่า สาเหตุที่ทำให้คนว่างงานลดลงนั้น เกิดจากบริษัทลดต้นทุนการจ้างงาน โดยใช้การจ้างงานชั่วคราวแทนการจ้างงานแบบประจำซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า หรือบางแห่งยังใช้วิธีการจ้างงานผู้เกษียณอายุที่ยังต้องการทำงานด้วยอัตราค่าจ้างที่ต่ำกว่าปกติ ดังนั้นรายได้ที่แท้จริงคนส่วนใหญ่จึงมีค่าลดลง ประกอบกับ การที่รัฐบาลเก็บภาษีการบริโภคเพิ่มขึ้นจาก 8 % เป็น 10 % ทำให้ประชาชนต้องการเก็บเงินไว้ เพื่อใช้จ่ายในอนาคตที่มีความไม่แน่นอน
5) ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ญี่ปุ่นต้องปิดประเทศ เลื่อนการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิค 2020 ส่งผลให้ขาดรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ผลของวิกฤตไวรัสโควิด ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสสองหดตัวถึง 27.8 %
ผลของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ญี่ปุ่นต้องเลื่อนการเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิค 2020
ความล้มเหลวของนโยบายอาบะโนมิกส์ จะพบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการเงินและการคลังแบบขยายตัว ได้ผลพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างประชากรที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวยังคงอยู่ ประกอบกับ การคิดค้นด้านนวัตกรรมเทคโนโลยียังตามหลัง สหรัฐอเมริกาและจีน ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ได้เติบโตอย่างยั่งยืน และจากการที่ นายชินโซะ อาเบะ ตัดสินใจลาออก เนื่องจากปัญหาลำไส้ใหญ่อักเสบ จึงต้องติดตามต่อไป ว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ โยชิฮิเดะ ซูงะ จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ต่อไปอย่างไร
Yoshihide Suga นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของญี่ปุ่น
โฆษณา