13 ก.ย. 2020 เวลา 13:03 • สิ่งแวดล้อม
"พาสาน" กับการพัฒนา "นครสวรรค์" ยุคใหม่ที่ไม่ใช่แค่เมืองผ่านอีกต่อไป
ในยุคนี้ที่การพัฒนาเมืองมันไม่ใช่แค่พัฒนาให้มีไฟฟ้าเข้าถึง น้ำประปาใสสะอาด หรือมีถนนลาดยางครบทุกเส้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือสิ่งที่เมืองทุกเมืองควรจะมีโดยเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่เมื่อวันที่เมืองมีการพัฒนามากขึ้นจนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้กลายเป็นความธรรมดาสามัญของเมืองที่ควรมีแต่ต้น สิ่งที่ตามมาคือการสร้างสุนทรียภาพและความสวยงามให้กับเมือง ด้วยแลนด์มาร์คที่เป็นเอกลักษณ์ใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการดึงดูดผู้คนทั้งจากภายในเมืองและจากที่อื่นๆ ให้เข้ามาสัมผัสความเป็นเมืองนั้นๆ บนพื้นฐานของสิ่งที่ตัวเองมีและต่อยอดไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้
โครงการ "พาสาน" แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งบริเวณของต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา ที่หลายคนรู้จากหนังสือเรียนสมัยดึกดำบรรพ์ว่า จุดที่เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือที่เรียกกันติดปากว่า "ปากน้ำโพ" คือเกิดจากการรวมเส้นทางของแม่น้ำสำคัญจากทางภาคเหนือมาไหลบรรจบกัน กลายเป็นมหานธีที่เป็นดั่งเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงแผ่นดินและสังคมประเทศนี้มาตั้งแต่ครั้งอดีต ก่อกำเนิดวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับสายน้ำจนกลายเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไทย
แต่ในอดีตที่ผ่านมาใครเลยจะสนใจมาเที่ยวเมืองปากน้ำโพ เนื่องจากว่ามันไม่มีจุดให้ได้แวะเที่ยว หรือได้มองเห็นว่าตรงนี้แหละคือจุดกำเนิดของแม่น้ำใหญ่แห่งสยาม แล้วจบลงที่คำอุทานสั้นๆ ว่า "อ๋อ...เหรอ" แค่นั้น เพราะมันเป็นเพียงพื้นที่รกร้างว่างเปล่าบนพื้นที่ส่วนบุคคล ที่ไม่ได้มีความสำคัญอันใดมากไปกว่านี้
โครงการสร้างแลนด์มาร์คของเมืองปากน้ำโพจึงเป็นเมือนจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไป ที่ทำให้เมืองใหญ่ที่ถูกลืมอย่างนครสวรรค์ กลับมาเป็นที่สนใจและที่น่าแวะน่าท่องเที่ยวอีกครั้ง เพราะมันกลายเป็นจุดที่คนเลือกมาถ่ายรูป เช็คอิน แล้วโพสต์ลงบนโซเชียล จนเป็นที่สนใจว่าสถาปัตยกรรมที่แปลกตาและสวยงามนี้อยู่ที่ใด และนั่นมันเลยนำมาซึ่งการบอกต่อให้ผู้คนมาเยี่ยมเยือนนั่นเอง
หลายครั้งการลงทุนสร้างอะไรในระดับท้องถิ่นมักจบลงด้วยความล้มเหลว หรือมีการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างสิ้นเปลืองและเปล่าประโยชน์ สถานที่สาธารณะรัฐเป็นผู้ลงทุนมักถูกปล่อยทิ้งร้างไร้การดูแลรักษา ซึ่งมันช่างน่าเสียดายยิ่งนัก แต่โครงการพานสานกลับตรงกันข้าม เพราะมันคือหนึ่งในความสำเร็จของโครงการพัฒนาเมือง ที่สร้างเอกลักษณ์จากจุดเด่นที่ตัวของมันเอง ซึ่งก็คือการเป็นจุดที่ตั้งของต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา และการนำความพริ้วไหวของสายน้ำ มาเป็นแกนหลักของการพัฒนาจุดชุมวิว โดยนำมาเป็นพื้นฐานในการออกแบบโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างที่มีความสวยงาม ทันสมัย และแปลกตา ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นมากนักสำหรับสถานที่สาธารณะประโยชน์ในประเทศเรา มันเลยทำให้กลายเป็นจุดสนใจของผู้คนได้ไม่ยาก ซึ่งต้องยกความสร้างสรรค์โดยสถาปนิกผู้ออกแบบอย่าง ดร.ชเล คุณาวงศ์ คณะกรรมการฝ่ายวิชาชีพสถาปัตยกรรม ฝ่ายวิชาการ อดีตอุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ผู้เป็นชาวนครสวรรค์แต่กำเนิด และเมื่อผู้ที่คิดและออกแบบ คือคนนครสวรรค์ ที่เข้าใจความเป็นครสวรรค์ และมันเลยสะท้อนออกมาอย่างเข้าใจความเป็นนครสวรรค์ ในแบบโมเดิร์น เพื่อชาวนครสวรรค์บ้านเกิดนั่นเอง
ดังนั้นเมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จมันเลยกลายเป็นจุดที่ดึงดูดผู้คนให้มาเยือนได้ไม่ยาก เพราะเมื่อถ่ายรูปออกมาแล้วไม่ว่ามุมไหนก็ดูสวยและโดดเด่นสะดุดตา ไม่ต่างอะไรกับงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในต่างประเทศจริงๆ
วันนี้พาสานไม่ใช่เป็นแค่จุดชมวิวแม่น้ำ หรือเป็นเพียงอาคารแลนด์มาร์คที่เอามาไว้แค่ถ่ายรูป เช็คอินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันกลายมาเป็นหนึ่งในสถานที่จัดงานของท้องถิ่นที่สร้างความเป็นคอมมูนิตี้ร่วมกันระหว่าง คน และ เมือง
กิจกรรมต่างๆ ได้มาใช้พื้นที่ของโครงการเพื่อจัดกิจกรรมที่ให้ผู้คนในเมืองได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เช่น คอนเสิร์ต “นครสวรรค์ ชิค อิน ปากน้ำโพ” วันที่ 12 - 13 กันยายน 2563 ที่ผ่านมานี้เอง โดยมีศิลปินนักร้องชื่อดังจากกรุงเทพฯ ไปสร้างความสุขผ่านเสียงเพลง ท่ามกลางความสวยงามของสถานที่และไอเย็นๆ จากแม่น้ำ
ซึ่งมันคือผลลัพธ์ที่ได้จากการสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อเติมสีสันและเสน่ห์ให้กับเมืองอย่างถูกจุด เอาเข้าจริงแล้วเวลาที่ประเทศนี้จะมีโครงการอะไรสวยๆ งามๆ หรือเจริญหูเจริญตาแก่ชุมชนขึ้นมา มักจะมีผู้ถนัดค่อนแคะ บอกว่าเปลืองบ้าง ไร้สาระบ้าง เอาเงินมาช่วยชาวบ้านดีกว่าบ้าง โดยไม่ไม่ใครคิดถึงการพัฒนาในระยะยาวเลย
แต่สำหรับโครงการนี้และโครงการอื่นๆ ของจังหวัดนครสวรรค์ อย่างการเปลี่ยนคลองบำบัดน้ำเสีย บริเวณร่องน้ำด้านในเกาะญวน ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามประดับเมืองก็ถือว่าเป็นการพลิกประโยชน์หลายต่อให้กับโครงสร้างพื้นที่จำเป็นของเมือง โดยใส่ฟังชั่นเพิ่มเติมเรื่องความสวยงามและการเป็นพื้นที่สาธารณะแบบเปิด เพื่อการพักผ่อนและท่องเที่ยวขึ้นมา ทำให้มันกลายเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมืองแบบที่หน้าที่หลักตั้งต้นก็ไม่ตกหล่น แถมผู้คนยังได้พื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนเพิ่มอีกด้วย ซึ่งจะบอกว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบฯ โดยที่ผู้คนในชุมชนไม่ได้อะไรเลยก็คงจะไม่ใช่ ยกเว้นแต่คนๆ นั้นจะไม่ไปใช้บริการเองทั้งๆ ที่สามารถใช้ได้ฟรี
สุดท้ายการพัฒนาเมืองในยุคใหม่ มันไม่ได้จบเพียงแค่น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี เพียงเท่านั้น แต่มันต้องมองเรื่องของการพัฒนาความสวยงามและสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดกิจกรรมแห่งความสุนทรียภาพภายในเมือง ซึ่งมันคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเช่นกัน แม้ว่าในช่วงแรกทุกคนอาจจะตั้งข้อสังเกตถึงความคุ้มค่าในการสร้างมันขึ้นมาบ้าง แต่เชื่อเถอะว่า ถ้ามีการพัฒนาที่ดีและออกแบบที่สวยงามและสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ผู้คนในชุมชนเองนี่แหละที่จะรู้สึกภาคภูมิใจและหวงแหนต่อสิ่งเหล่านี้ และพูดได้เต็มปากว่า
"อ๋อ นี่เป็นของจังหวัดฉัน เมืองฉันเองแหละ ไปไหมเดี๋ยวฉันพาเธอไปเที่ยว เพราะมันสวยมาก"
โฆษณา