14 ก.ย. 2020 เวลา 21:43 • ท่องเที่ยว
นั่งรถไฟไปนครปฐม (1) .. พระปฐมเจดีย์ มหาสถูปสถานแห่งสยาม
"ไหว้พระปฐมเจดีย์ รื่นรมย์ชมพระราชวังสนามจันทร์ เรียนรู้แหล่งอารยธรรมทวาราวดี เพลินใจย่านเก่านครชัยศรี" .... คือคอนเซ็ปในการไปเที่ยวของเราในครั้งนี้
นครปฐม … เป็นเมืองที่มีประวัติเก่าแก่ยาวนาน เป็นเมืองโบราณที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของไทย นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเชื่อมต่อกับสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น เป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งถิ่นฐานแห่งแรกของพระพุทธศาสนาในสมัยทวาราวดี ที่หลายคนสันนิษฐานว่าเป็นดินแดนแห่งสุวรรณภูมิ
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีตอันมีหลักฐานสำคัญต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นองค์พระปฐมเจดีย์ พระพุทธรูปศิลา การขุดค้นทางโบราณคดีที่มีมาอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่น่าสนใจของนครปฐมมากมาย เป็นที่ตั้งของพระราชวังที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์มาหลายยุคหลายสมัยอย่างเมืองนครชัยศรี
การเดินทางใช่แค่การเคลื่อนไหวจากจุดเริ่มต้น ไปสู่จุดหมายเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนรู้ ซึมซับบรรยากาศที่ผ่านสายตาไปด้วย …
การเดินทางครั้งนี้ เราจึงเปลี่ยนบรรยากาศโดยใช้บริการของรถไฟไทย นัดหมายมาเจอกันที่ สถานีรถไฟธนบุรี (บางกอกน้อย)
ภาพชีวิตของผู้คนที่ผ่านเข้ามาในสายตา … บนชานชาลาของสถานีรถไฟธนบุรี ผู้คนที่มาใช้บริการยังคงมีพอสมควร แต่ไม่มากจนล้นเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต อาจจะเพราะเดี๋ยวนี้มีทางเลือกของการเดินทางที่สะดวกบายมากขึ้น แต่สำหรับฉัน การโดยสารรถไฟยังคงเปี่ยมเสน่ห์เสมอ
บรรยากาศในรายทาง … เมื่อขบวนรถเร็ว ชบวนที่ 255 เพื่อเดินทางสู่สถานีรถไฟนครปฐม โดยใช้เวลาเดินทางราว 1 ชั่วโมง
สถานที่แรกในการเที่ยวชม คือ “พระปฐมเจดีย์” … แวะที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์” ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ แต่ช่วงนี้พิพิธภัณฑ์ปิดเพื่อซ่อมแซม เลยได้แต่เดินดูสวนด้านนอกที่มี การจัดแสดงกลางแจ้ง เป็นโบราณคดีที่ขุดค้นพบในบริเวณต่างๆในเขตนครปฐม
เรื่องราวทางประวัติศาสตร์เชิงโบราณคดีจากวัตถุจัดแสดง และความเป็นมาของการก่อตั้ง ”พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์” เกิดมาจากความพยายามในการรวบรวมโบราณวัตถุที่กระจัดกระจายอยู่ภายในแขวงมณฑลนครชัยศรี
… กล่าวคือ ในราวปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์ทรงโปรดให้มีการย้ายเมืองนครชัยศรีจากตำบลบ้านท่านา มายังบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์
โดยขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการรวบรวมโบราณวัตถุที่กระจัดกระจายอยู่ภายในแขวงมณฑลนครชัยศรี … ด้วยเหตุที่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ได้มีการรื้อทำลายโบราณสถานและโบราณวัตถุโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ตัดผ่านจังหวัดนครปฐม ทำให้เกิดการรื้อทำลายโบราณสถานเพื่อปรับหน้าดิน รวมถึงการนำเอาเศษอิฐจากโบราณสถานไปถมสร้างรางรถไฟด้วย ฯลฯ
ในปี พ.ศ.2438 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงทรงมีพระดำริให้ทำการรวบรวมโบราณวัตถุ ในแขวงมณฑลนครชัยศรี โดยขณะนั้นเจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี จึงมอบให้หลวงพุทธเกษตรานุรักษ์ (จร จรณี) กับหลวงไชยราษฎร์รักษา (โพธิ์ เคหะนันท์) เป็นผู้ดำเนินการรวบรวมโบราณวัตถุ
โบราณวัตถุที่รวบรวมได้ในระยะแรก ได้ถูกนำมาเก็บรักษาไว้บริเวณระเบียงคดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ต่อมาได้มีการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุดังกล่าวเข้าไปไว้ในวิหารด้านตรงข้ามพระอุโบสถ
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2454 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงรามชานุภาพ โปรดประทานชื่อวิหารหลังนี้ว่า “พระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน” จากนั้นได้มีการขุดสำรวจกันอย่างกว้างขวางในสมัยรัชกาลที่ 6 และต่อมาได้โอนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้อยู่ในการดูแลของกรมศิลปากรและได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์” มาจนถึงปัจจุบัน
พระปฐมเจดีย์
เราเริ่มต้นการเดินชม “พระปฐมเจดีย์” ด้วยการสักการะ “พระพุทธรูปศิลาขาว” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลาสีขาวศิลปะทวารวดี ปางประทานพร สร้างในยุคทวารวดี ราวปี พ.ศ.1000-1200 อันเป็นยุคเดียวกับความเจริญรุ่งเรืองของบุโรพุทโธที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งที่อินโดนีเซียมีการค้นพบพระพุทธรูปศิลาขาวอีก 1 องค์ …
มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า เมื่อรวมทั่วโลกแล้วพระพุทธรูปศิลาสีขาว ถูกค้นพบเพียง 6 องค์เท่านั้น ที่สร้างในช่วงเวลาและมีศิลปะคล้ายคลึง
ในเมืองไทยนั้น พระพุทธรูปศิลามีทั้งหมด 5 องค์ โดยทั้งหมดนั้นเชื่อว่าถูกสร้างขึ้นในยุคไล่เลี่ยกัน คือ
1.หลวงพ่อศิลาขาว พระประธานโบสถ์วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ในระเบียงรายรอบองค์พระปฐมเจดีย์
2.หลวงพ่อพระขาว (ตามความเข้าใจคนนครปฐม) หรือพระพุทธนรเชษฐ์ฯ ตั้งอยู่ที่บันไดลดวิหารรายรอบองค์พระปฐมดีย์ฝั่งหลังพระ
3.พระพุทธรูปศิลาขาว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ
4.พระพุทธรูปศิลาขาว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา
5.พระพุทธรูปศิลาเขียว พระประธานโบสถ์วัดหน้าพระเมรุ พระนครศรีอยุธยา
เดิมมีการค้นพบบันทึกว่าขุดพบที่โบราณสถานวัดทุ่งพระเมรุ จังหวัดนครปฐม ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพระงั่ว กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาลำดับที่ 3 (ครองราช พ.ศ. 1913-1931) โดยได้ขุดพบองค์พระที่สมบูรณ์ 4 องค์ และชิ้นส่วนพระจำนวนหนึ่ง จึงได้มีการชักลากไปยังพระนครศรีอยุธยา ณ วัดพระยากง ตำบลสำเภาล่ม จนเกือบสำเร็จครบ 3 องค์ (การนำไปใช้วิธีแยกส่วนแล้วนำไปต่ออีกครั้งเมื่อถึงที่หมาย) ... ทิ้งไว้เพียง 1 องค์ และชิ้นส่วนบางส่วนเท่านั้น
ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครปฐม 2 องค์ คือ
“หลวงพ่อพระขาว” ซึ่งตั้งอยู่ที่บันไดลดวิหารรายรอบองค์พระปฐมดีย์ฝั่งหลังพระ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่เหลือและมิได้ชักลากไปในสมัยขุนหลวงพะงั่ว ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้นำชิ้นส่วนเหล่านี้มาต่อกัน แล้วนำมาประดิษฐาน ณ บันไดลดวิหารรายรอบองค์พระปฐมเจดีย์ฝั่งหลังพระ
ต่อมามีการพบเศียรพระศิลาขาวจากวัดพระยากงที่ถูกตัดมาขายให้ร้านขายของเก่าที่เวิ้งนครเกษม เมื่อนำไปต่อกับชิ้นส่วนที่พระนครศรีอยุธยาแล้วไม่เข้ากันดี จึงได้นำชิ้นส่วนของพระทั้งหมดจำนวน 3 องค์ ที่ไม่สมบูรณ์ดี (ที่อยุธยา 2 องค์ และหลวงพ่อพระขาวฝั่งใต้) มาถอดส่วนแล้วประกอบกันใหม่ จึงเห็นว่าเข้ากันได้พอดี และบูรณะสำเร็จเป็นพระจำนวน 3 องค์ … โดยองค์ที่บูรณะแล้ว แยกกันเก็บตามสถานที่ต่างกัน
องค์หนึ่งนั้นประดิษฐานไว้ที่เดิม คือที่องค์พระปฐมเจดีย์นั้นเอง ต่อมาพระสนิทสมณคุณ (พระอาจารย์แก้ว) เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น ให้ชื่อพระองค์นี้ว่า “พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร”
เสาประทีป เป็นเสาสำหรับตามไฟให้สว่าง ตั้งอยู่บนลานหน้าวิหารด้านทิศใต้
ประตูทางเข้าสู่ลานด้านใน อันเป็นที่ตั้งขององค์พระปฐมเจดีย์ เป็นส่วนหนึ่งของวิหารคต มีอับเฉารูปสลักหินแบบจีนตั้งขนาบอยู่ทั้งสองข้าง เหมือนทวารบาล
“พระปฐมเจดีย์” .. เป็นเจดีย์ลักษณะทรงระฆังคว่ำ โครงสร้างเป็นไม้ซุงขนาดใหญ่รัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีส้ม มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นอีกหนึ่งเจดีย์ที่ไม่มีเงาไม่ว่าแสงแดดจะตกกระทบในทิศใดก็ตาม
ประกอบด้วยวิหารสี่ทิศ มีคดพระระเบียงชักแนวถึงกันโดยรอบเป็นวงกลม โดยมีพระวิหารประจำทิศทั้งสี่ มีกำแพงแก้ว 2 ชั้นรอบพื้นที่
ภายในเจดีย์จะเป็นที่ประดิษฐ์ฐานของพระบรมสารีริกธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปฐมเจดีย์นั้นได้ถูกสร้างและปฏิสังขรณ์มาอย่างน้อย 3 ครั้งแล้ว แต่ไม่มีใครทราบว่า “พระปฐมเจดีย์” ถูกสร้างในยุคสมัยใด (แม้จะมีเรื่องเล่าปรัมปราเกี่ยวกับเรื่องของ พระยากง พระยาพาน) …
... แต่มีข้อสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระอโศกมหาราช ซึ่งทรงส่งสมณทูต เผยแพร่ศาสนา นักโบราณคดีต่างเห็นพ้องกันว่า พระโสณเถระและพระอุตตรเถระ เป็นสมณทูต และมาตั้งหลักฐานประกาศหลักธรรมคำสอนที่นครปฐมเป็นครั้งแรก ในพุทธศตวรรษที่ 3 และได้สร้างพระเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ แบบเจดีย์สาญจิในประเทศอินเดียไว้
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวช ได้เสด็จธุดงด์มานมัสการ ทรงเห็นพระเจดีย์ยอดปรางค์สูง 42 วา … เมื่อทรงลาผนวชได้ขึ้นครองราชสมบัติ และในปีพุทธศักราช 2396 ทรงโปรดให้ก่อพระเจดีย์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิมไว้ สูง 120 เมตร กับ 45 เซติเมตร พร้อมสร้างวิหารคต 2 ชั้น ทั้ง 4 และระเบียงโดยรอบทิศ แต่งานไม่ทันเสร็จพระองค์ก็เสด็จสวรรคต
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็กจพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดปฏิสังขรณ์จัดสร้างหอระฆัง และประดับกระเบื้องจนสำเร็จ
เมื่อถึงรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯให้ปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง เขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่างๆ ไว้ที่ ผนัง
รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือสร้างใหม่ เพื่อประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชบูชนียบพิตร และในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 โปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่
นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงทำการบูรณปฏิสังขรณ์ต่อเติมในครั้งนั้น จนเวลารวมมาเป็นร้อยปีเศษ ก็ไม่ได้ทำการบูรณะอีกเลย ในส่วนที่ชำรุดบางส่วนนั้น ได้มีแต่เพียงซ่อมแซมเล็กน้อย
จนกระทั่งเมื่อปีพุทธศักราช 2509 ทางวัดพบว่าตัวองค์พระปฐมเจดีย์มีรอยแตกร้าวหลายแห่ง พระเบื้องที่ประดับหลุดร่วงลงมา จึงได้แจ้งเรื่องยังไปรัฐบาลสมัยนั้น เพื่อทำการบูรณะใหม่ ซึ่งใช้เวลาในการบูรณะร่วมถึง 8 ปี
วิหารทิศสี่วิหาร มีพระระเบียงเชื่อมต่อกันเป็นลักษณะวงกลม ที่ผนังระเบียงคตด้านในมีคาถาพระธรรมบท เป็นภาษาขอมทำด้วยปูนปั้น หน้าต่างมีช่องรูปวงรี ตัวหน้าต่างด้านในปิดทอง บนพื้นชาดเป็นรูปต้นไม้ในพุทธประวัติ
ถัดจากระเบียงคตเข้าไปเป็นลานชั้นในแล้วเป็นฐานองค์พระเจดีย์ และมีบันไดขึ้นไปลานประทักษิณได้
พระพุทธรูปปางร้อยแปดรอบพระระเบียงคต
ลานเจดีย์ ซึ่งมีหอระฆังอยู่โดยรอบจำนวน ๒๔ หอ
***Note : โปรดติดตามรายละเอียดในส่วนของพระวิหารทั้ง 4 พระอุโบสถ พิพิธภัณฑ์ของวัด และอื่นๆของพระปฐมเจดีย์ในวันพรุ่งนี้ค่ะ
Credit : เอกสารจากชมรมพิพิธสยาม
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา