15 ก.ย. 2020 เวลา 13:18 • ประวัติศาสตร์
ปริศนาภาพเขียน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มีสัญลักษณ์ของสมาคมลับ “อิลูมินาติ" !!
ระยะเวลากว่า100 ปีที่ผ่านมา พระที่นั่งอนันตสมาคมมีเรื่องราวประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใช้ประชุมรัฐสภาแห่งแรกของสยาม และเหตุการณ์ครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ คือ เป็นสถานที่ประกอบงานพระราชพิธีเฉลิมฉลองวาระครองราชย์ครบรอบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
อาณาบริเวณเดิมของพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น เคยเป็นเพียงท้องพระโรงเดิมของพระราชวังดุสิต และเริ่มการก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2451 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่สร้างไม่ทันเสร็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตก่อน การดำเนินการจึงมาแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมใช้เวลาสร้างทั้งหมด 8 ปี
จุดเด่นของพระที่นั่งอนันตสมาคม คือ เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรอเนสซองส์ (Italian Renaissance) และแบบนีโอคลาสสิก (Neo Classic) ภายนอกประดับด้วยหินอ่อนซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา (Carara) ประเทศอิตาลี
มีหลังคาโดมใหญ่อยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆโดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากทองแดง ขนาดขององค์พระที่นั่งส่วนกว้างประมาณ 49.50 เมตร ยาว 112.50 เมตร และสูง 49.50 เมตร
ภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมบนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เป็นงานจิตรกรรมเทคนิคการเขียนสีบนปูนเปียก ซึ่งภาพจะติดทนกว่าภาพที่เขียนบนปูนแห้ง
เป็นภาพแสดงถึงพระราชกรณียกิจและเหตุการณ์สำคัญในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน 5 ภาพ โดยจิตรกรชาวอิตาลี นายกาลีเลโอ กีนี (Galileo Chini)
ประเด็นที่ผมจะเขียนในวันนี้ จะมุ่งเนื้อหาไปยังปริศนาเบื้องลึกของภาพเขียนที่แฝงไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคม จากจิตกร นามว่า กาลิเลโอ กีนี (Galileo Chini)
จิตรกรชาวอิตาเลียนผู้นี้เดินทางถึงสยามเมื่อต้นรัชกาลที่ 6 ด้วยสัญญางานออกแบบและวาดภาพประดับตกแต่งท้องพระโรงภายในพระที่นั่งอนันตสมาคมของสยาม
เพื่อการถ่ายทอดของงานศิลปะ กีนีใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 2 ปีครึ่งตามข้อกำหนดของสัญญา เนื่องจากสยามประเทศเป็นบ้านเมืองที่เขาไม่เคยรู้จักไม่คุ้นเคย การทำงานกับคนต่างชาติต่างวัฒนธรรม สเกลงานที่ใหญ่มากรวมถึงเวลาที่มีจำกัด เป็นโจทย์ยาก ซึ่งทำให้กาลิเลโอต้องทำการบ้านอย่างหนัก
ภาพดราฟของกีนี เพื่อศึกษาศิลปะดั้งเดิมของไทย
เขาต้องศึกษาขนบธรรมเนียบประเพณีสยามอันสลับซับซ้อน เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดออกมาในภาพอย่างถูกต้องงดงาม ด้วยความกดดันมหาศาลทำให้กาลิเลโอเขียนจดหมายไปถึงคิโน กีนี ลูกพี่ลูกน้องของเขา โดยกล่าวว่า “สยามนั้นเป็นเหมือนคำสาป”
กาลิเลโอ กีนี (Galileo Chini)
เมื่อเราตั้งใจดูภาพเขียนขนาดมหึมาบนโดมของจิตกรชั้นครูแห่งโลกตะวันตก อันงดงามอลังการไร้ที่ติเล่าเรื่องราวและมุมมองผ่านพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี แต่ทว่าในความงดงามได้แฝงสัญลักษณ์และปริศนาบางอย่างไว้
#ภาพที่ 1
ภาพในพระที่นั่งอนันตสมาคม รัชกาลที่ 1
5 ภาพเขียนปูนแห้งขนาดมหึมานำเสนอเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระมหากษัตริย์ 6 พระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
โดยเริ่มจากโดมฝั่งตะวันออกที่มีดวงอาทิตย์ขนาดใหญ่ และภาพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจล ณ กรุงธนบุรี ก่อนที่จะปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ตามพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ว่า
“สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ให้ตรวจเตรียมพลโยธาหาญพร้อมแล้ว ให้เอาช้างเข้าเทียบเกย แล้วขึ้นบนเกยจะขี่ช้างในเวลานั้นบังเกิดศุภนิมิตร์เปนมหัศจรรย์ปรากฏแก่ตาโลกย์ เพื่อพระราชกฤษฎีกาเดชานุภาพพระบารมี จะถึงมหาเสวตร์ราชาฉัตร์ บันดานให้พระรัศมีโชติ์ช่วงแผ่ออกจากพระกายโดยรอบ เห็นประจักษ์ทั่วทั้งกองทัพ บันดารี้พลนายไพร่ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ชวนกันยกมือขึ้นถวายบังคมพร้อมกัน แล้วเจรจากันว่า เจ้านายเราคงมีบุญเปนแท้ กลับเข้าไปครั้งนี้จะได้ผ่านพิภพเปนมั่นคง
… ขณะนั้นชาวพระนครรู้ข่าวว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพกลับมาก็ชวนกันมีความยินดีถ้วนทุกคน ยกมือขึ้นถวายบังคมแล้วกล่าวว่า ครั้งนี้การยุคเข็ญจะสงบแล้ว แผ่นดินจะราบคาบ บ้านเมืองจะอยู่เย็นเปนศุขสืบไป”
1
ขยายภาพบรรดาขุนนาง รัชกาลที่ 1
ภาพวาดนักบุญตามแบบศิลปกรรมไบแซนไทน์ (Byzantine)
Adoration of the Trinity ผลงานของ Albrecht Dürer ปี 1511
ภาพของบรรดาขุนนางข้าราชการในภูษาสีทองรายล้อมเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ 1 มีความคล้ายคลึงภาพวาดนักบุญตามแบบศิลปกรรมไบแซนไทน์ (Byzantine)
การวางองค์ประกอบภาพเหล่าขุนนางน่าจะได้รับอิทธิพลจากภาพวาดทางศาสนาที่มักแสดงภาพนักบุญและเทวดารอบล้อมแห่แหนเข้าเฝ้าองค์พระศาสดา
#ภาพที่ 2
ภาพของโดมบริเวณส่วนกลาง ประกอบด้วยสองแผ่นดิน คือ รัชกาลที่ 2 และ 3
ขยายภาพ รัชกาลที่ 2
ขยายภาพ รัชกาลที่ 3
โดมทางด้านทิศตะวันออกเป็นโดมใหญ่รูปวงรี กลางภาพเป็นพื้นที่ท้องฟ้า ฟากหนึ่งเป็นภูมิทัศน์ฝั่งธนบุรี
ปรากฏภาพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จฯ โดยกระบวนราบผ่านพระปรางค์วัดอรุณฯ ที่กำลังก่อสร้าง ด้านตรงข้ามเป็นภูมิทัศน์ฝั่งพระนคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จฯ ผ่านป้อมเผด็จดัสกร หนึ่งในป้อมบนกำแพงวังหลวงที่ทรงสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์
ภาพชายเปลือยปริศนาที่แฝงไว้ในภาพเขียน
ภาพชายเปลือยปริศนา
และจะเห็นอิทธิพลงานศิลปะทางตะวันตกอย่างชัดเจน เป็นไปได้ว่า กีนีอยู่ในแวดวงศิลปะและเติบโตที่อิตาลี เมืองแห่งศิลปกรรมตะวันตก ความรับรู้ของเขาที่สื่อออกมาผ่านงาน
การนำเสนอภาพในท้องพระโรง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสยามของกีนี จะปรากฏอิทธิพลของศิลปะตะวันตกสอดแทรกอยู่มากมาย เช่น ภาพวาดชายเปลือยแบกพวงมาลัยที่ปรากฏอยู่หลายแห่งในองค์พระที่นั่งอนันสมาคม จะมีความคล้ายคลึงกับภาพ Ignudi หรือชายเปลือยปริศนาของ Michelangelo ที่ประดับ Sistine Chapel อันโด่งดังในนครวาติกัน
#ภาพที่ 3
ภาพของโดมฝั่งตะวันตก รัชกาลที่ 4
สุดทางอีกด้านหนึ่งของโดมวงรี ด้านทิศตะวันตกปรากฏภาพพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เบื้องหน้าพระพุทธรูปมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประทับเป็นประธาน รอบล้อมด้วยพระภิกษุกับทั้งนักบวชหลากชาติหลากศาสนา
ภาพในวงแดง
แม้ว่าด้านทิศตะวันตกซึ่งปกติถือว่าเป็นทิศที่ไม่เป็นมงคลนัก อาจสัมพันธ์กับการตั้งภาพสิ่งที่เป็นมงคลอย่างพระพุทธรูปเพื่อแก้เคล็ดบางอย่าง
อีกทั้งยังสัมพันธ์กับความที่สยามก้าวไปสู่ความเป็นตะวันตกในสมัยนี้
และเมื่อเปรียบเทียบกับภาพโดมตะวันออกของรัชกาลที่ 1 จะเห็นได้ว่าโดมตะวันออกแสดงภาพท้องฟ้าที่ปลอดโปร่งกับดวงอาทิตย์ การที่ศิลปินให้พื้นหลังของโดมตะวันตกเป็นสีมืดอาจจะสัมพันธ์กับทิศทางที่ตั้งของภาพด้วย
สัญลักษณ์อิลลูมิเนติ
และในภาพเขียนของรัชกาลที่ 4 คือ ไฮไลท์ซึ่งภาพที่ดูคล้ายกับสัญลักษณ์ของสมาคมลับอันโด่งดัง "สมาคมลับอิลลูมินาติ"
ขวาสุดในกลุ่มของผู้เข้าเฝ้าปรากฏภาพหญิงสาวกำลังสัมผัสลูกโลกขนาดยักษ์ อาจตีความได้ว่าเป็นการแสดงความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาการของรัชกาลที่ 4 ซึ่งนอกจากทรงเป็นผู้รู้รอบทางธรรมแล้วยังทรงรอบรู้เรื่องทางโลกอีกด้วย ลูกโลกยักษ์นี้ยังอาจเป็นการบันทึกเรื่องราวทางการทูต
1
ในคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามสมัยรัชกาลที่ 4
พระองค์ทรงมอบลูกโลกขนาดยักษ์เป็นหนึ่งในของขวัญสำหรับถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ลูกโลกดังกล่าวเคยจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร คู่กับรถไฟจำลองที่ส่งเข้ามาถวายในวาระเดียวกัน) ด้วยทรงทราบว่าพระองค์โปรดการศึกษาวิทยาการแบบฝรั่งเพราะลูกโลกดังกล่าวก็เป็นการประกาศศักดาความเป็นเจ้าโลก บ่งบอกเขตแดนอาณานิคมแผ่ไพศาลของอังกฤษ
#ภาพที่ 4
รัชกาลที่ 5
ด้านทิศใต้ของพระที่นั่งซึ่งอยู่เหนือมุขที่ออกไปยังสีหบัญชร มองออกไปจะเห็นลานพระบรมรูปทรงม้า สัมพันธ์กับภาพสมเด็จพระปิยมหาราชทรงเลิกระบบทาสในสยาม (ในความจริงแล้วพระองค์ยังทรงยกเลิกระบบไพร่ กล่าวโดยย่อคือประชาชนคนทั่วไปต้องสังกัดมูลนายและทำงานรับใช้หลวง การยกเลิกระบบไพร่จึงเป็นการเริ่มต้นของตลาดแรงงานเสรี)
ด้านซ้ายของภาพคือท่าเรือที่พลุกพล่านไปด้วยเรือสินค้าและผู้คน แสดงความรุ่งเรืองด้านการค้าขายและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ส่วนด้านขวาของภาพเป็นภาพการก่อสร้างพระที่นั่งองค์นี้
ความสามารถของศิลปินในการตีความคอนเซปต์ที่เป็นนามธรรมอย่างการเลิกทาสออกมาเป็นภาพเหตุการณ์ที่เป็นรูปธรรมแสดงออกมาในภาพนี้ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นภาพจำและแบบแผนที่ถูกผลิตซ้ำบ่อยครั้งเมื่อพูดถึงเรื่องเหตุการณ์เลิกทาส อย่างที่ปรากฏบนหลังธนบัตร 100 บาทรุ่นรัชกาลที่ 5
ภาพทาสผิวสีฝั่งตะวันตก
ในภาพรัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาส ทาสที่กีนีวาดอาจจะมิได้ตรงกับทาสในจินตนาการของคนไทยเท่าใดนัก ดูเหมือนว่ากีนีจะถ่ายทอดภาพทาสออกมาใกล้เคียงกับภาพทาสผิวสีตามความคิดของชาวตะวันตกมากกว่าทาสสยาม
#ภาพที่ 5
รัชกาลที่ 6
ด้านทิศทิศเหนือของพระที่นั่งซึ่งอยู่เหนือมุขขึ้นไป เป็นภาพเขียนเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 โดยสื่อว่าเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์หลังแล้วเสร็จจากการก่อสร้างพระที่นั่งกว่าหลายปีที่ผ่านมา
ผังของมหาวิหารเซนต์พอล (ซ้าย) เทียบกับผังพระที่นั่งอนันตสมาคม หมายเลขแสดงถึงตำแหน่งของภาพเขียนของแต่ละรัชกาล
อย่างไรก็ตามโดมของพระที่นั่งได้รับแรงบันดาลใจจากโดมของมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์แห่งกรุงวาติกันและมหาวิหารเซนต์พอลแห่งกรุงลอนดอน แผนผังของอาคารจึงมีรูปแบบคล้ายคลึงผังศาสนสถานรูปกางเขนจากอิทธิพลของฝั่งตะวันตก
2
ภาพปริศนาของสมาคมลับอิลลูมิเนติ และภาพเขียนที่มีอิทธิพลของศาสนาโยงเข้ามาเกี่ยวข้อง
ศิลปินอาจซ่อนความหมายบางอย่างไว้ภายใน
หรืออาจจะไม่มีปริศนาใดซ่อนอยู่เลย มันอาจเป็นเพียงทฤษฎีสมคบคิดที่สร้างขึ้นเองเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณ......
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- บทความ พระที่นั่งอนันตสมาคม โดย เผ่าทอง ทองเจือ ในหนังสือที่ระลึก 100 ปีพระที่นั่งอนันตสมาคม และพิธีเปิดศิลป์แผ่นดินครั้งที่ 7 และพิธีเปิดเรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ (2559) โดยสถาบันสิริกิติ์ สวนจิตรลดา
- หนังสือ กาลิเลโอ คีนี จิตรกรสองแผ่นดิน (2551) โดย หนึ่งฤดี โลหผล (บรรณาธิการ)
- หนังสือ พระที่นั่งอนันตสมาคม สัญลักษณ์ความสัมพันธ์ ไทย-อิตาลี โดย Francesca B. Filippi
- บทความจิตรกรรมบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม: ‘ภาพเหมือนตัวเอง’ ของสยาม โดย ศรัณย์ ทองปาน ใน พิพิธพรรณวรรณความทรงจำและสยาม
- ไทยศึกษาในบริบทสากล (2556) โดย นัทธนัย ประสานนาม (บรรณาธิการ)
- หนังสือ พระที่นั่งอนันตสมาคม สัญลักษณ์ความสัมพันธ์ ไทย-อิตาลี โดย Francesca B. Filippi
- หนังสือ 140 ปี ความสัมพันธ์ไทย-อิตาลี ภราดามหามิตร (2551) โดย หนึ่งฤดี โลหผล
- หนังสือ เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสตศิลป์ (2542)โดย จอร์จ เฟอร์กูสัน
- หนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (2543)โดย หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
โฆษณา