15 ก.ย. 2020 เวลา 22:31 • ท่องเที่ยว
นั่งรถไฟไปนครปฐม (1/2) .. พระวิหารประจำทิศ พระปฐมเจดีย์
รอบๆพระระเบียงขององค์พระปฐมเจดีย์ เป็นที่ตั้งของพระวิหารหลายหลัง ที่มีความสวยงามมาก จะพาเดินชมกันนะคะ
วิหารด้านทิศตะวันออก (พระวิหารหลวง) … ห้องแรกประดิษฐานพระพุทธรูปที่งดงาม (ห้ามถ่ายภาพ)
ห้องด้านหลังมีภาพจิตกรรมฝาผนัง ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 มีพระประสงค์ให้เล่าและบันทึกเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงขององค์พระเจดีย์ในแต่ละยุค และมีพระพุทธรูปที่น่าจะสร้างขึ้นในสมัยหลังๆ
วิหารทิศเหนือหรือ “วิหารพระร่วง” เป็นที่ประดิษฐาน “พระร่วงโรจน์ฤทธิ์” … เมื่อ พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์
Credit : FB พระจันทร์ทรวกลด
โดยเฉพาะองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย มีพุทธลักษณะงดงามต้องพระราชหฤทัย แต่องค์พระชำรุดเสียหายมาก ยังคงเหลืออยู่แต่พระเศียรกับพระหัตถ์ข้างหนึ่งและพระบาท พอสันนิษฐานได้ว่าเป็นปางห้ามญาติ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วใช้ช่างปั้นขึ้นให้เต็มองค์
ครั้นเมื่อพระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการหล่อปฏิสังขรณ์ และดำเนินการจัดหาช่างทำการปั้นหุ่นสถาปนาขึ้นให้บริบูรณ์เต็มองค์พระพุทธรูป
2
เมื่อการปั้นพระพุทธรูปนั้นบริบูรณ์เสร็จ เป็นอันจะเททองหล่อได้แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีสถาปนาพระพุทธรูปพระองค์นั้นที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2456 ซึ่งเป็นกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา
หล่อเสร็จได้องค์พระสูงแต่พระบาทถึงพระเกศ 12 ศอก 4 นิ้ว แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญออกจากกรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2457 เพื่อไปประดิษฐานยังพระวิหารพระปฐมเจดีย์ เจ้าพนักงานจัดการตกแต่งต่อมาจนแล้วเสร็จในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458
ต่อมาวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2466 ระหว่างประทับแรม ณ พลับพลาเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงพระพุทธรูปองค์นี้ว่ายังไม่ได้สถาปนาพระนาม จึงประกาศกระแสพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชบูชนิยบพิตร์”
1
*** ด้านหลังพระร่วงโรจนฤทธิ์ มีห้องขนาดเล็กเป็ที่เก็บพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัฒนาพระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตนสิริโสภาพัณณวดี ซึ่งสามารถเข้าไปสักการะได้
วิหารทางทิศตะวันตก …
ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ยาว 17 เมตร ... สวยมากๆ
วิหารด้านทิศใต้ (วิหารปัญจวรรคคี) … เดิมเป็นวิหารเรียบไม่มีงานจิตรกรรม
แต่ตอมาในปี 2541 พระธรรมปริยัติเวที เจ้าอาวาส ได้ให้เขียนจิตรกรรมด้านประวัติศาสตร์ แสดงเรื่องราวของการสร้างพระปฐมเจดีย์ เริ่มตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณทูติมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในภูมิภาคแถบนี้ พระปฐมเจดีย์องค์ที่ 1 มีลักษณะคล้ายสถูปสาญจีย์ ในประเทศอินเดีย
นอกจากนี้ ที่ห้องด้านหลังองค์พระยังยังมีภาพประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาที่สืบค้นมาจากคัมภัร์หลายเล่ม
เจดีย์จำลองที่ชั้นลด ที่ชั้นลอยด้านทิศใต้ … มีสิ่งสำคัญอยู่สามสิ่งคือ ลานด้านทิศตะวันออก จะเป็นองค์พระปฐมเจดีย์องค์เดิมจำลอง ถัดมาตรงกลางเป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท สมัยทวารวดี เรียกกันว่า พระพุทธรูปศิลาขาว ขนาดและรูปลักษณะคล้ายกับพระประธานในพระอุโบสถ ได้รับการถวายพระนามว่า พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศวมัยมุนี ศรีทวารวดี ปูชนียบพิตร ถัดมาทางด้านทิศตะวันตกจะเป็นพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชจำลอง
1
บันไดทางลงไปสู่พระอุโบสถ ทางด้ายซ้ายมือ คือ รางน้ำมนต์ ลักษณะคล้ายกับของเขมร
บนลานของชั้นนี้ มีวิหารลักษณะคล้ายศาลเจ้า ด้านในมีรูปปั้นของเจ้าแม่กวนอิม
พระอุโบสถ อยู่บนลานขึ้นลด หน้าพระอุโบสถหนันไปทางทิศหนือ ในพระอุโบสถมีพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา สลักด้วยศิลาขาวสมัยทวารวดี ซึ่งนำมาจากวัดพระเมรุ
พระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทบนฐานกลีบบัวเรียกว่า ภัทรอาสน์ พระหัตถ์วางหงายอยู่พระเพลา พระหัตถ์ขวาหงายอยู่บนลำตัว พระพุทธรูปองค์นี้เรียกชื่อทั่วไปว่า พระพุทธรูปศิลาขาว
มุมพระอุโบสถทั้งสี่มุม เป็นใบเสมาหินอ่อนติดกับตัวพระอุโบสถ สลักเป็นรูปท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ทิศ เป็นผลงานของสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ศิลปสกุลช่างหลวงในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้สร้างผลงานศิลปกรรมไว้ที่องค์พระปฐมเจดีย์หลายชิ้น
พลับพลาเปลื้องเครื่อง วางตัวอยู่ในแนวเหนือ - ใต้ หน้าพลับพลาหันเข้าหาองค์เจดีย์ หน้าบันไดด้านทิศเหนือ และใต้ มีตรามหาพิชัยมงกุฎประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนองค์พลับพลาทรงไทย ประดับด้วยศิลปะผสมระหว่างไทย จีน และตะวันตก
ทวารบาล … เป็นรูปปั้นคนนุ่งโจงกระเลนสีน้ำเงินเฝ้าชองประตูด้านละ 2 คน ซุ้มช่องบันไดทำเป็นปรี หนือขึ้นไปเป็นตราพระมหามงกุฎ
พิพิธภัณฑ์สถานวัดพระปฐมเจดีย์ … ตั้งอยู่บนลานชั้นลดด้านทิศเหนือตรงข้ามกับพระอุโบสถเดิมเป็นศาลาโรงธรรม สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบัน
ภาพวัตถุโบราณที่จัดแสดงตรงระเบียงทางเข้าสู่ด้านในอาคาร
เป็นสถานที่เก็บของมีค่าต่างๆ เช่น พระทองคำ พระพุทธรูปสมัยต่างๆ พระเครื่อง พัดยศ อาวุธโบราณ
ที่สำคัญคือ โลงศพของ “ย่าเหล"
Credit : เอกสารจากชมรมพิพิธสยาม
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา