17 ก.ย. 2020 เวลา 02:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กรณีศึกษา คูเวต ประเทศที่ รวยน้ำมัน แต่เงินกำลังจะหมด
คูเวต ประเทศหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ที่ร่ำรวยจากการครอบครองทรัพยากรน้ำมันมาเป็นเวลานาน
แต่รู้ไหมว่า ในวันนี้ คูเวตกำลังเจอปัญหาใหญ่
คือ เงินในกองทุนสำรองของประเทศกำลังจะหมดลง
เกิดอะไรขึ้นกับคูเวต? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
คูเวต เป็นประเทศในทวีปเอเชีย ที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ซึ่งเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำมัน
ในปี 2019 คูเวตมีมูลค่า GDP เท่ากับ 4.3 ล้านล้านบาท และมีประชากรจำนวน 4.4 ล้านคน
ทำให้ GDP ต่อหัวของประชากรชาวคูเวต เท่ากับ 977,000 บาท
ซึ่งมากกว่า GDP ต่อหัวของคนไทยถึง 4 เท่า
คูเวตมีพื้นที่ 17,818 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่าประเทศไทยประมาณ 30 เท่า
แม้จะเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับที่ 152 ของโลก
แต่คูเวตคือประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันดิบมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก
และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC)
โดย คูเวต มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองจำนวนสูงถึง 101,500 ล้านบาร์เรล ซึ่งปริมาณดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของปริมาณน้ำมันดิบสำรองของทั้งโลก
1
ถ้าให้ราคาน้ำมันดิบ อยู่ที่ประมาณ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปริมาณน้ำมันดิบสำรองของคูเวตจะมีมูลค่าสูงถึง 128 ล้านล้านบาท
1
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็หมายความว่า
ทรัพยากรน้ำมัน มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของ คูเวต อย่างมาก
Cr. KPC
ปี 2019 รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบของ คูเวต มีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท
ซึ่งมูลค่าดังกล่าว คิดเป็น
90% ของรายได้จากการส่งออกทั้งหมดของคูเวต
90% ของรายได้ของรัฐบาลคูเวต
และ 35% ของ GDP ประเทศคูเวต
ในปี 2016
Anas Al-Saleh รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของคูเวตในสมัยนั้น ได้ออกมาเตือน ให้รัฐบาลลดงบประมาณรายจ่ายของประเทศลง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันจะตกต่ำในอนาคต
Cr. Arab Times
แต่คำเตือนของเขากลับถูกหลายคนหัวเราะเยาะ
เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่า ประเทศจะมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันอย่างมหาศาล แบบนี้ไปเรื่อยๆ
หลังจากนั้นมา
ในช่วงปี 2016-2018 ราคาน้ำมันดิบ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น
ยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนมั่นใจว่า คำเตือนของ Anas Al-Saleh จะไม่เกิดขึ้นจริง
แต่แล้วการเกิดขึ้นของสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯ และ จีน ในปี 2019 ก็เริ่มกดดันให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกชะลอตัวลง
และเหตุการณ์เริ่มเลวร้ายกว่านั้น
เมื่อต่อมา ทั่วโลก ก็เริ่มเกิดการระบาดของโรค COVID-19
โรคระบาดทำให้การเดินทางและการผลิตทั่วโลกลดลง
ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก จึงลดลงจากเดิม
1
นอกจากนั้นในเวลาต่อมายังเกิดสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ที่ทั้งคู่ไม่ยอมลดกำลังการผลิตทำให้ราคาน้ำมันยิ่งปรับตัวลง
 
ปี 2018 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ปี 2019 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะที่ 6 เดือนแรกปี 2020 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย อยู่ที่เพียง 41 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เท่านั้น
1
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบ
ที่คิดเป็น 90% ของรายได้รัฐบาลคูเวต ก็ลดลงจากเดิมอย่างมาก
ทำให้รัฐบาลมีเงินไม่พอที่จะนำมาจ่ายให้กับลูกจ้างของภาครัฐ
โดยปัจจุบัน ชาวคูเวตกว่า 80% หรือประมาณ 3.5 ล้านคน ทำงานเป็นลูกจ้างของรัฐบาล
1
ทำให้รัฐบาลต้องนำเงินในกองทุนสำรองของประเทศมาใช้จ่าย โดยในช่วง 3 เดือนหลังการระบาดของ COVID-19 เงินในกองทุน ได้ลดลงไปแล้วกว่า 411,000 ล้านบาท
ซึ่งถ้าหากราคาน้ำมันดิบยังไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม
จะทำให้รัฐบาลคูเวตเหลือเงินจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างของภาครัฐ ได้ถึงเดือนพฤศจิกายน ปีนี้เท่านั้น
1
พอเป็นแบบนี้ ในปีหน้า รัฐบาลคูเวตจำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุล
ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นถึงระดับ 1.4 ล้านล้านบาท
คิดเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปีงบประมาณ 2019-2020
และเป็นการขาดดุลงบประมาณเป็นปีที่ 7 ติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2014
ที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้ารัฐบาลต้องกู้ยืมเงินมาใช้
ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ยังตกต่ำ คูเวต อาจมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันไม่เพียงพอที่จะจ่ายคืนเงินที่กู้มา
ทำให้ในตอนนี้ คูเวต ต้องมีแนวคิดปฏิรูปประเทศ
ภายใต้สโลแกน Vision 2035 : New Kuwait
ที่มีประเด็นสำคัญ คือ พยายามลดการพึ่งพารายได้ จากอุตสาหกรรมน้ำมันลงจากเดิม
ซึ่งก็ต้องตามดูกันต่อไปว่า แผนการระยะยาวของคูเวตในครั้งนี้ จะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน
1
Cr. Arab Times
จากตัวอย่างเรื่องราวนี้ ของประเทศคูเวต
เป็นสิ่งที่เตือนเราว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศ บริษัทหรือบุคคล
การที่เราพึ่งพารายได้จากทางใดทางหนึ่งมากเกินไป ถือเป็นความเสี่ยงที่สูง
เหมือนกรณีนี้ คูเวต พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบ มากถึง 90% ของรายได้จากการส่งออก
ถ้าวันหนึ่ง รายได้หลักลดลงหรือหายไป
จากที่เคยร่ำรวยมานาน ก็อาจจะหมดเงินได้ง่ายๆ เหมือนกัน..
โฆษณา