16 ก.ย. 2020 เวลา 13:52 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Good Bye Lenin!
การปฏิวัติ การเปลี่ยนผ่าน การจมอยู่ในห้วงอดีต - Part 1 of 4
Good Bye Lenin เป็นภาพยนตร์เยอรมันแนว Tragicomedy ผลงานการกำกับของ Wolfgang Becker ผู้กำกับชาวเยอรมันที่ออกฉายปี 2003 ซึ่งเขาเป็นผู้เขียนบทเองด้วยร่วมกับนักเขียนบทภาพยนตร์ชาวเยอรมัน Bernd Lichtenburg โดยได้กวาดมาหลายรางวัลภาพยนตร์ทั้งในประเทศเยอรมนีและระดับนานาชาติ และยังถูกเสนอเข้าชิงรางวัล Golden Globes Award ในสาขาภาพยนตร์ต่างชาติยอดเยี่ยมเมื่อปี 2004 อีกด้วย
เนื้อเรื่องได้หยิบยกเอาช่วงเวลาประวัติศาสตร์ก่อนและหลังกำแพงเบอร์ลินแตกในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1989-1990 ซึ่งเป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงประเทศมานำเสนอเป็นเรื่องราวขำขันชวนให้เรายิ้มได้ประกอบกับการเสียดสีสังคม เพราะได้จับเอาความแตกต่างของวิถีชีวิตผู้คนที่ดำเนินชีวิตในโลกสังคมนิยมกับอีกกลุ่มในโลกเสรีทุนนิยมที่แตกต่างกันสุดขั้วแม้จะอยู่ห่างกันแค่แนวกำแพงกั้น
ความเงอะงะของชาวเยอรมันตะวันออกที่ดูจะล้าหลังกว่าชาวเยอรมันตะวันตก และจะรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้พบเจอโลกใหม่ที่แสนจะศิวิไลซ์เพียงแค่เดินผ่านกำแพงที่พึ่งถูกรื้อถอนออกไป
Christiane Kerner กับลูกชายของเธอ Alex
เรื่องย่อ (ขออภัย มีการ Spoil)
เรื่องเล่าถึงแม่ที่ชื่อ Christiane Kerner (รับบทโดย Katrin Saß) กับลูกชาย Alex Kerner (รับบทโดย Daniel Brühl ที่มีโอกาสได้ไปโลดแล่นในจักรวาล Marvel โดยรับบทเป็นตัวร้ายใน Captain America – Civil War) ชาวเยอรมันตะวันออกที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงนั่นก็คือกรุงเบอร์ลินตะวันออกของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (Deutsche Demokratische Republik, DDR)
หนังเริ่มเรื่องด้วยการย้อนไปในปี ค.ศ. 1978 ขณะที่โครงการอินเตอร์คอสมอส-โครงการอวกาศของสหภาพโซเวียต (ในสมัยนั้น) กำลังปล่อยยานโซยุส 31 ซึ่งหนึ่งในนักบินอวกาศนั้นมี Sigmund Jähn (ซิกมุนด์ เยน – นักบินอวกาศชาวเยอรมันคนแรกที่เดินทางไปอวกาศ) ร่วมเดินทางไปด้วย
ซิกมุนด์ เยน (Sigmund Jähn) นักบินอวกาศเยอรมัน(ตะวันออก)คนแรกที่ได้ออกไปนอกโลก
Alex มองดูถ่ายทอดสดการปล่อยยานอวกาศในโทรทัศน์ในขณะที่มีเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลมาที่บ้านและกำลังสอบปากคำ Christiane ผู้เป็นแม่ถึงเรื่องที่สามีของเธอหนีไปประเทศฝั่งตะวันตกซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย
สำหรับ Christiane นั้นการที่สามีจากไปส่งผลกระทบต่อจิตใจของเธออย่างรุนแรงจนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า นิ่งเฉย ไม่พูดไม่จากับใคร และต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าเธอจะกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้
หลังจากอาการดีขึ้น เธอพยายามตัดใจจากอดีตสามีด้วยการมุ่งหน้าทำงานเพื่อสังคมโดยรับหน้าที่เป็นเหมือนกระบอกเสียงมวลชนเขียนจดหมายร้องเรียนรัฐบาลถึงเรื่องความไม่เป็นธรรมต่างๆ เช่นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ดูเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไร้คุณภาพ
Christiane นั้นฝักใฝ่ลึกไปในระบอบสังคมนิยมจนดูจะเข้มงวดเกินไปด้วยซ้ำ การอุทิศตัวเองทำประโยชน์ให้สังคมอย่างเคร่งครัดทำให้เธอได้รับเหรียญยกย่องเกียรติคุณจากทางพรรคสังคมนิยมแห่งชาติในทุกๆปี
เรื่องราวดำเนินมาจนถึงปี ค.ศ. 1989 ในวันที่ 7 ตุลาคมซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองวันชาติครบ 40 ปี ของประเทศ DDR ซี่ง Alex ก็เติบโตเป็นหนุ่มในขณะที่ Ariane พี่สาวของเขาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมีลูกเล็ก มันเป็นช่วงเวลาที่สัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศเริ่มเด่นชัดไปทุกที ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงกันตามถนนทุกหัวระแหง สาเหตุจากความต้องการจะเปิดพรมแดนประเทศ
7 ตุลาคม 1989 - ครบรอบ 40 ปีวันสถาปนาประเทศเยอรมันตะวันออก
Alex นั้นก็เหมือนคนหนุ่มสาวชาวเยอรมันตะวันออกทั่วๆไปที่เริ่มเบื่อและอยากแสวงหาถึงเสรีภาพ ในคืนหนึ่งขณะไปร่วมเดินขบวนประท้วงแบบสันติกับเค้าด้วย แต่ทว่ากลับเป็นคืนที่ทางตำรวจมีการเข้าสลายม็อบ Alex วิ่งหนีตำรวจไม่ทันเลยถูกจับ
ดันประจวบเหมาะกับ Christiane ที่กำลังเดินทางไปรับรางวัลในพิธีฉลองวันชาติมาเห็นพอดีก็ตกใจสุดขีดที่เห็นลูกชายตัวเองโดนรวบตัวไป Christiane เองนั้นมีปัญหาทางจิตใจอยู่แล้วตั้งแต่คราวที่เธอถูกสามีทิ้งไป ครั้งนี้เมื่อมีเหตุมากระทบต่อจิตใจเธออีกครั้งก็เลยช็อคและสลบล้มลงไปกลางถนนทันที
Christiane ตกใจสุดขีดที่เห็นลูกชายถูกตำรวจสลายม็อบจับตัว
หลังจากที่ Alex ถูกปล่อยตัวออกมาเขาก็พบว่า Christiane แม่ของเขานั้นอยู่ในอาการโคม่าและหมอไม่สามารถบอกได้ว่าเธอจะฟื้นขึ้นมาเมื่อไหร่ หรืออาจจะไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลยด้วยซ้ำ
Alex และ Ariane จึงผลัดกันมาดูแลแม่ที่เป็นเจ้าหญิงนิทราอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และที่โรงพยาบาลนี้ Alex ก็ได้พบกับ Lara พยาบาลสาวสวยจากสหภาพโซเวียตที่เข้าเวรมาดูแลแม่ของเขาและได้คบกันในเวลาต่อมา
Christiane หลับไปในประเทศสังคมนิยมและตื่นขึ้นมาในประเทศทุนนิยม
Christiane นั้นหลับไปเป็นเวลากว่า 8 เดือนซึ่งอาจจะดูไม่นานมากนัก แต่ทว่ามันนานพอที่จะให้ประเทศนึงที่เธอเคยเป็นพลเมืองอยู่อาศัยนั้นหายไปจากแผนที่โลกได้เลย มันกลายร่างไปหรือพูดให้ถูกต้องคือมันถูกรวมร่างกลายเป็นประเทศใหม่ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งระบบการปกครอง สภาพเศรษฐกิจและสังคมและไลฟ์สไตล์ของประชากร
หนังสือพิมพ์วันที่ 10 พ.ย. 1989 พาดหัวข่าว: สำเร็จ!กำแพง (เบอร์ลิน) เปิดแล้ว
พรมแดนประเทศตะวันตกตะวันออกก็ไม่มีอีกแล้ว มันสลายไปพร้อมกับกำแพงน่าเกลียดที่เคยแบ่งเมืองหลวงออกเป็นสองประเทศที่สมัยก่อนต้องเสี่ยงชีวิตข้ามไป แต่ตอนนี้ใครใคร่อยากไปก็เดินชิลๆผ่าน Checkpoint Charlie ไปได้ง่ายๆโดยไม่ถูกส่องยิงอีกแล้ว
Alex เดินผ่านแนวที่เคยเป็นพรมแดนตะวันตก-ตะวันออกได้อย่างสบายๆ
เพื่อนบ้านเดิมๆหลายคนหายไป (ย้ายไปฝั่งตะวันตก) เจอเพื่อนบ้านใหม่ที่แต่งตัวแฟชั่นและพูดจาภาษาสำเนียงแบบแปลกๆ สินค้าโภคภัณฑ์ที่เคยซื้อกินหาไม่เจอ เจอแต่ของกินของใช้ที่ดูทันสมัยแปลกตาและบางอย่างเป็นของนำเข้า แม้กระทั่งสกุลเงินยังต้องเปลี่ยน (มาร์คเยอรมันตะวันออกกับมาร์คเยอรมันตะวันตกนั้นคนละสกุลเงิน)
Alex ตื่นเต้นกับความเจริญในประเทศทุนนิยม
อุดมการณ์และแนวคิดแบบสังคมนิยมที่ประชาชนทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติไม่มีอีกแล้ว เราทุกคนมีอิสระเสรีภาพในความคิด ใครดีกว่า เก่งกว่า ก็ได้รับโอกาสมากกว่า เจริญกว่าและร่ำรวยกว่า
มันเป็นปาฏิหารย์ที่จู่ๆ Christiane นั้นฟื้นขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิด ซึ่งมันควรจะเป็นเรื่องน่ายินดีที่ครอบครัวจะได้แม่กลับมาแล้ว แต่ทว่า Alex เจ้าลูกชายกลับมีความกังวลมาก เพราะหมอได้กำชับไว้ว่าต้องระมัดระวังห้ามไม่ให้มีอะไรมากระทบกระเทือนจิตใจของ Christiane อย่างเด็ดขาด หากเธอได้เจอเหตุการณ์ที่ทำให้ตกใจแล้วช็อคจนโคม่าไปอีกรอบ เธออาจจะไม่กลับมาอีกเลยหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตก็ได้
Alex กลัวว่าหากแม่ที่เพิ่งตื่นขึ้นมารู้ว่าประเทศและระบบที่เธอเชื่อมั่นอย่างแรงกล้านั้นไม่มีอีกแล้ว ทั้งระบบการปกครอง พรรคสังคมนิยมและแนวคิดต่อต้านระบบทุนนิยม หนักที่สุดคือประเทศ DDR ก็สลายไปพร้อมๆกับกำแพงเบอร์ลินที่กำลังถูกรื้อถอนกันอยู่ แม่อาจจะรับความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้จนช็อคสลบไปอีกครั้ง
หมอเตือน Alex กับพี่สาว Ariane ว่าหากแม่ของพวกเขาช็อคอีกอาจถึงขั้นเสียชีวิต
เจ้าลูกชายที่รักและเป็นห่วงแม่อย่าง Alex จะทำอย่างไรเพื่อให้แม่สบายใจ ไม่เครียด ไม่ตกใจกับการเปลี่ยนแปลงสุดขั้วอย่างทันทีทันใดสำหรับคนที่เชี่อมั่นในระบอบสังคมนิยมอย่างฝังลึกอย่างแม่ของเขา
โปรดติดตามต่อใน “Good Bye Lenin การปฏิวัติ การเปลี่ยนผ่าน การจมอยู่ในห้วงอดีต” Part 2 of 4 นะครับ
โฆษณา