17 ก.ย. 2020 เวลา 08:14 • ข่าว
สหรัฐฯ ท้าทายนโยบายจีนเดียว ส่งคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐฯ เยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ
กระทรวงต่างประเทศไต้หวันรายงาน ปลัดกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ คีธ แครช มีกำหนดการจะพบกับประธานาธิบดี ไช่ อินเหวิน ของไต้หวัน นับเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศระดับสูงสุดของสหรัฐฯที่ได้เยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการในรอบหลายสิบปี
แครช ดูแลเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงต่างประเทศ
เดือนที่ผ่านมา รัฐมนตรีสาธารณสุขของสหรัฐฯ อเล็กซ์ อซาร์ ก็ได้เยือนไต้หวัน นับเป็นความคืบหน้าครั้งใหญ่ของสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯและไต้หวันที่หยุดชะงักเมื่อปี 1979 เมื่อสหรัฐฯ เลือกที่จะสนับสนุนนโยบายจีนเดียวของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน
อย่างไรก็ตาม ราว 40 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็ยังนับเป็นพันธมิตรที่สำคัญของไต้หวัน และเป็นซัพพลายเออร์ยุทโธปกรณ์รายใหญ่ให้ไต้หวัน
ตามกำหนดการ แครช จะร่วมงานเลี้ยงรับประทานอาหารโดยมีไช่เป็นเจ้าภาพ วันพรุ่งนี้ และน่าจะมีการหารือเรื่องเศรษฐกิจและการค้า
แน่นอนว่าการเยือนอย่างเป้นทางการต้องสร้างความไม่พอใจให้กับจีน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศของจีนได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการทุกๆ ด้านกับไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงสร้างความเสียหายให้กับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และสันติภาพและเสถียรภาพในแถบช่องแคบไต้หวัน
-- นโยบายจีนเดียว --
นโยบายจีนเดียว คือการยอมรับทางการทูตในสถานะของประเทศจีน ว่าจีนมีรัฐบาลเดียว คือรัฐบาลของจีนแผ่นดินใหญ่ ภายใต้นโยบายนี้ ประเทศใดก็ตามที่ต้องการมีสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ก็ต้องตัดสัมพันธ์โดยตรงกับไต้หวัน
จีนมองว่าใต้หวันเป็นมณฑลที่แยกตัวออกไป ไม่ใช่ประเทศที่มีสิทธิของตนเอง และวันหนึ่งจะกลับมารวมชาติกับแผ่นดินจีน ไม่ว่าจะต้องใช้กำลังก็ตาม ซึ่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ย้ำตลอดถึงความสำคัญของการรวมแผ่นดินให้เป็นหนึ่งอันเดียวกัน “เพื่อความรุ่งเรือง”
โจนาธาน ซัลลิแวน นักวิเคราะห์ด้านจีนจากมหาวิทยาลัยนอตติ้งแฮม ระบุว่า หากไต้หวันไม่ได้รับการรับรองจากทุกประเทศ ในท้ายที่สุด ก็จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับจีนในการทำให้รัฐบาลไต้หวันนั้นไม่มีความชอบธรรมในการปกครองประเทศ
-- สถานะของไต้หวัน --
เมื่อปี 1949 กลุ่มชาตินิยมจีน ได้แพ้สงครามให้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ และต้องล่าถอยหนีไปยังเกาะไต้หวัน และได้ประกาศให้เกาะไต้หวันนั้นเป็นสาธารณรัฐจีน (Republic of China) และถือเป็นรัฐบาลจีนอย่างเป็นทางการมาหลายทศวรรษ
จนกระทั่งในปี 1971 สหประชาชาติได้ให้การรับรองรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ จึงทำให้นานาชาติก็เปลี่ยนนโยบายทางการทูตตามจีนแผ่นดินใหญ่แทน
ในยุคปัจจุบัน ไต้หวัน มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเพียง 17 ประเทศเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลแคริบเบียน และอเมริกากลาง
ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการ แต่ไทยก็มี “สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย” ตั้งอยู่ในเมืองไทเปของใต้หวัน และไต้หวันก็มี “สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย” ในกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนรัฐบาล
-- สัมพันธ์สหรัฐฯ-ไต้หวัน --
สหรัฐฯมีกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวันตั้งแต่ปี 1979 ที่อนุญาตให้สหรัฐฯสามารถขายอาวุธให้ไต้หวันได้ และจีนก็ประท้วงการซื้อขายมาโดยตลอด ระบุว่าเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของจีน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนก็ไม่เคยได้ปกครองไต้หวันเลย
รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เตือนว่า ความได้เปรียบทางทหารของไต้หวันที่มีเหนือจีนนั้น กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อจีนมีการปรับปรุงกองกำลังให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังรายงานฉบับนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีการซื้อขายยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันมากขึ้น ทั้งรถถัง ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน และตอร์ปิโด
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและไต้หวันที่ดูจะอบอุ่นขึ้นในช่วงนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯนำโดยทรัมป์ พร้อมที่จะท้าทายจีนและสนับสนุนทางเลือกอื่นนอกจากระบบอำนาจนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์
รัฐบาลทรัมป์ กำลังพยายามกดดันให้องค์กรนานาชาติยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศ เป็นเอกเทศจากจีน ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
โฆษณา