20 ก.ย. 2020 เวลา 02:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กรณีศึกษา วิกฤติหนี้ ของประเทศลาว
ที่ผ่านมา เราอาจได้ยินเรื่องราววิกฤติหนี้สินของหลายประเทศ
แต่ประเทศหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่ได้นึกถึง ก็คือ ประเทศลาว
รู้ไหมว่า ในตอนนี้ ประเทศลาวกำลังเจอกับปัญหาหนี้สินของประเทศที่พุ่งสูง
จนไม่สามารถชำระเงินให้เจ้าหนี้ได้ทันกำหนด
เรื่องนี้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อประเทศลาว
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร
คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศไทย
Cr. AA
ปี 2019 ลาว มีมูลค่า GDP เท่ากับ 603,000 ล้านบาท อยู่ลำดับที่ 112 ของโลก
ขณะที่ปัจจุบัน จำนวนประชากรของประเทศลาว มีประมาณ 7.1 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรเท่ากับ 85,000 บาทต่อปี ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย
1
แต่ถ้ามองย้อนกลับไป จะเห็นว่า
ในช่วงปี 2010-2019 ลาวมีอัตราการเติบโตของ GDP ประมาณ 7%
ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนลาว เพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของลาว
ตามมาด้วยภาระหนี้ของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นจากการกู้เงินมาใช้ในโครงการต่างๆ
และเมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19
ก็ทำให้ภาครัฐมีรายได้ลดลงกว่าเดิม
ทั้งรายได้จากการส่งออก การเก็บภาษี และจากภาคการท่องเที่ยว
ทำให้รัฐบาลต้องหารายรับเพิ่มเพื่อมาใช้จ่ายในเรื่องจำเป็น ด้วยการกู้เงินเพิ่มขึ้นอีก
Cr. AA
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ประเทศลาว เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 13 ปี
ปี 2010 ภาระหนี้สาธารณะของลาวเท่ากับ 115,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 49% ของ GDP
ปี 2020 ภาระหนี้สาธารณะของลาวเท่ากับ 393,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 65% ของ GDP
ด้วยภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของลาว ณ ปัจจุบัน ก็ลดลงจนเหลือเพียง 26,000 ล้านบาท ทำให้สถานะการเงินของประเทศลาวเริ่มน่าเป็นห่วง
นอกจากนี้ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่ลดลง
ยังทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในประเทศลาวตามไปด้วย
ถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลลาวกู้เงินมาทำอะไร
ที่ทำให้หนี้สาธารณะในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก?
ก่อนจะไปตอบคำถามนี้
เรามาเข้าใจลักษณะทางภูมิศาสตร์ของลาวกันก่อน
แม้ว่าลาวจะเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
แต่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตภูเขาและเขตที่ราบสูง
ซึ่งก่อให้เกิดเป็นแม่น้ำสายสำคัญหลายสาย
โดยภูมิประเทศลักษณะนี้ คิดเป็น 3 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศลาวทั้งหมด
พอเป็นแบบนี้ จึงทำให้ประเทศลาว
มีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ
รัฐบาลลาว จึงวางสถานะของประเทศให้เป็น “Battery of Asia”
และกู้เงินจำนวนมาก มาผลักดันการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ
Cr. yavf
นอกจากนั้นแล้ว ประเทศลาวยังให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการ One Belt One Road ของจีน
ซึ่งจะช่วยให้ลาวเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้ง่ายขึ้น
โดยเฉพาะโครงการเส้นทางรถไฟลาว-จีน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 187,000 ล้านบาท
Cr. Asia Times
ถึงตรงนี้ ก็คงจะเดากันออกแล้วว่า
คนที่ให้เงินกู้กับประเทศลาวมากที่สุดก็คือ “ประเทศจีน”
เฉพาะหนี้ที่รัฐบาลลาวกู้ยืมมาจากจีน
มีมูลค่าสูงถึง 271,000 ล้านบาท
ซึ่งเงินจำนวนนี้ คิดเป็นกว่า 45% ของ GDP ประเทศลาว
พอเกิดเหตุการณ์การระบาดของ COVID-19
จนทำให้ลาว อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
รัฐบาลลาวจึงต้องเจรจากับรัฐบาลจีนในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่
เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ที่กู้ยืมมา
1
ซึ่งหนึ่งในข้อตกลงระหว่างรัฐบาลลาวกับรัฐบาลจีน
คือรัฐบาลลาว จะต้องขายหุ้นของธุรกิจสายส่งไฟฟ้าของ Électricité du Laos (EDL) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าของลาว
ให้แก่ China Southern Power Grid ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไฟฟ้ารายใหญ่ของรัฐบาลจีน
Cr. EDL
จากเรื่องนี้ ก็ทำให้เห็นว่า
การก่อหนี้ที่มากเกินไป มันมีความเสี่ยงสูง
ถ้าวันหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ตามกำหนด
ก็อาจต้องแลกกับการสูญเสียของสำคัญที่เป็นของเราให้กับเจ้าหนี้
เหมือนในกรณีนี้ของประเทศลาว..
โฆษณา