18 ก.ย. 2020 เวลา 12:11 • ประวัติศาสตร์
• การเมือง 101
เสรีนิยมกับอนุรักษนิยม แตกต่างกันอย่างไร ?
What is Different Between Liberalism and Conservatism
เชื่อเหลือเกินว่า ทุก ๆ คน อาจจะเคยมีความสงสัยว่า แนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยม (Liberalism) กับแนวคิดแบบอนุรักษนิยม (Conservatism) มีความแตกต่างกันอย่างไร ดังนั้นในบทความนี้ เราจะมาทุก ๆ คน ไปทำความรู้จักกับแนวคิดทางการเมืองทั้ง 2 นี้กันครับ
สำหรับแนวคิดแบบเสรีนิยมนั้น ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ทวีปยุโรป อยู่ในช่วงยุคแห่งภูมิปัญญา (Age of Enlightenment)
ยุคแห่งภูมิปัญญา เป็นช่วงเวลาที่แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เฟื่องฟูถึงขีดสุด อิทธิพลของศาสนาและความเชื่อแบบดั่งเดิมค่อย ๆ ถูกลดอิทธิพล และเริ่มเกิดการต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองด้วยส่วนใหญ่ ของทวีปยุโรปในตอนนั้น
โดยนักปรัชญาคนสำคัญในแนวคิดแบบเสรีนิยมนี้ ก็คือนักปรัชญาชาวอังกฤษนามว่า จอห์น ล็อค (John Locke) ผู้ที่ถูกขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งเสรีนิยม" (Father of Liberalism) ซึ่งแนวคิดของจอห์น ล็อค ก็ยังคงถูกใช้งานอยู่จนถึงทุกวันนี้
John Locke (1632-1704)
แนวคิดแบบเสรีนิยม มีหลักการสำคัญก็คือ เรื่องของสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ เสรีนิยมเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนบนโลก สามารถใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่มีสิ่งใดมายุ่งเกี่ยวหรือบีบบังคับ
เสรีนิยมเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นคนดีมาตั้งแต่เกิด แต่การที่มีมนุษย์บางคนเป็นคนเลวหรือเป็นคนไม่ดีนั้น ก็เกิดจากการที่สังคมได้บีบคั้น และลิดลอนสิทธิเสรีภาพของคนเหล่านี้
เสรีนิยมยังเชื่ออีกว่า ความเท่าเทียมกันของมนุษย์เป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง มนุษย์ควรจะศึกษาแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผล มากกว่าไปเชื่อสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ หรือสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญของแนวคิดแบบเสรีนิยม ก็คือ เรื่องของการจำกัดอำนาจของรัฐบาลหรือผู้ปกครอง เสรีนิยมเชื่อว่า การปล่อยให้รัฐบาลหรือผู้ปกครองมีอำนาจมากจนเกินไป เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และจะก่อให้เกิดการลิดลอนสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ได้
ดังนั้นรัฐบาลตามแนวคิดของเสรีนิยม ก็คือ รัฐบาลที่ปกครองด้วยความถูกต้องชอบธรรม และมีหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์
** บางครั้ง กลุ่มคนที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมนี้ อาจจะมีแนวคิดที่สุดโต่ง ก็คือ ไม่ต้องการรัฐบาล ไม่ต้องการการปกครองใด ๆ เลย ซึ่งพวกเสรีนิยมแบบสุดโต่งนี้ จะถูกเรียกว่า "พวกอนาธิปไตย" (Anarchism)
โดยต่อไปเราจะมาพูดถึงแนวคิดแบบอนุรักษนิยม ที่ถือว่ามีแนวคิดที่อยู่คนละขั้วกับเสรีนิยมกัน
โดยแนวคิดแบบอนุรักษนิยมนี้ เป็น 1 ในแนวคิดทางการเมืองที่มีความเก่าแก่แนวคิดหนึ่งของโลก โดยสามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ
โดยแนวคิดของนักปรัชญาชื่อดังชาวกรีกอย่าง เพลโต (Plato) ถูกมองว่าเป็นแนวคิดแบบอนุรักษนิยมในรุ่นแรก ๆ
Plato
แนวคิดแบบอนุรักษนิยม มีหลักการสำคัญเกี่ยวข้องกับความมั่นคง และความเป็นระเบียบของสังคม อนุรักษนิยมมองว่า ศาสนา เชื้อชาติ และความรักชาตินั้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด
อนุรักษนิยมเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนโดยธรรมชาติแล้ว มีความโหดร้าย น่ากลัว และไม่ได้เป็นคนดีมาตั้งแต่เกิด เหมือนอย่างที่พวกเสรีนิยมเชื่อ
ดังนั้นอนุรักษ์นิยมจึงเชื่อว่า รัฐบาลหรือผู้ปกครองที่มีอำนาจนั้น จะช่วยทำให้มนุษย์ทุกคนเป็นคนดีได้ โดยผ่านทางคำสอนของศาสนา ,กฎหมาย และกฎระเบียบของสังคม
ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้อนุรักษนิยมมีความเชื่อที่ว่า รัฐบาลหรือผู้ปกครองจะต้องมีอำนาจที่มาก เพื่อให้เกิดความมั่นคง และความเป็นระเบียบภายในสังคม
ดังนั้นการปล่อยให้มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพหรือมีความเท่าเทียมกัน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะเป็นอันตรายต่อชนชั้นปกครอง และทำให้สังคมเกิดความไม่เป็นระเบียบขึ้นได้
อนุรักษนิยมจึงปฏิเสธในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูป เพราะสิ่งดังกล่าว จะทำให้รัฐบาล ผู้ปกครอง รวมไปถึงสังคมเกิดความไม่เป็นระเบียบและไม่มั่นคงได้
และนี่ก็คือเรื่องราวของความแตกต่างกัน ระหว่างแนวคิดแบบเสรีนิยม กับแนวคิดแบบอนุรักษนิยม ซึ่งหวังว่า ทุก ๆ คน จะสามารถทำความเข้าใจ และแยกออกระหว่างแนวคิดทางการเมืองทั้ง 2 แบบนี้ได้ครับ
*** Reference
- หนังสือ รัฐศาสตร์ สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
#HistofunDeluxe
โฆษณา