18 ก.ย. 2020 เวลา 11:00 • กีฬา
เหตุไฉนแชมป์เจลีกจึงไม่ผูกขาด?
#คุยเฟื่องเรื่องบอลไทย
ผ่านมาแล้วครึ่งฤดูกาลสำหรับเจลีก ลีกที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นลีกที่ดีที่สุดอันดับต้นๆของทวีป และดูเหมือนว่าการขับเคี่ยวชิงถาดแชมป์เจลีกในฤดูกาลนี้คงจะมีกันอยู่แค่ 2 ทีมเท่านั้น นั่นคือ คาวาซากิ ฟอนตาเล่กับเซเรโซ่ โอซาก้า
รายแรกนำจ่าฝูงด้วยผลงานชนะ 14 นัด เสมอ 2 นัดและแพ้แค่นัดเดียวเท่านั้น โกยแต้มไปแบบเต็มไม้เต็มมือถึง 44 แต้ม ทิ้งห่างผู้ตามอย่างเซเรโซ่ โอซาก้ามากถึงห้าแต้ม ซ้ำยังทิ้งห่างทีมอันดับสามอย่างเอฟซี โตกียวแบบไม่เห็นไฟท้ายที่ 12 แต้มแถมยังเตะน้อยกว่าหนึ่งนัดอีกต่างหาก พูดกันง่ายๆ แชมป์เจลีกฤดูกาลนี้คงหนีไม่พ้นทีมจากคานางาวะหรือไม่ก็จากโอซาก้า
และก็น่าจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่าแชมป์ฤดูกาลนี้จะไม่ซ้ำกับฤดูกาลที่ผ่านมา เพราะโอกาสที่โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส ทีมของเจ้าอุ้มจะกินดีหมีพลิกแซงคว้าแชมป์ฤดูกาลนี้ ให้อมพระมาพูดยังไงคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเชื่อแน่ๆ เพราะพวกเขาเล่นตามหลังจ่าฝูงถึง 20 แต้มแถมยังเตะมากกว่าหนึ่งนัด
จะว่าไปเราเคยสงสัยกันบ้างมั้ยว่าทำไมฟุตบอลที่ญี่ปุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งลีกสูงสุดของพวกเขาในตำแหน่งแชมป์แต่ละปีมักไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์ “ผูกขาด” ?
กวาดสายตามองย้อนกลับไปถึง10ฤดูกาลให้หลังมีเพียงสองทีมเท่านั้นที่สามารถป้องกันแชมป์ลีกได้สำเร็จ(ซานเฟรซเซ ฮิโรชิม่าในปี 2012 และ 2013 กับคาวาซากิ ฟรอนตาเล่ในปี 2017 และ 2018) ในขณะที่รายชื่อสโมสรที่ได้ครองบัลลังก์แชมป์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาล้วนมีด้วยกันมากถึง 7 ทีม พูดง่ายๆ “ไม่ซ้ำหน้า”
ผมคิดว่าสาเหตุหลักๆที่ทำให้แชมป์ลีกของพวกเขาเปลี่ยนมือไปได้หลายทีมขนาดนี้เกิดจากการที่แต่ละทีมมีเกรดบอลที่ไม่ได้หนีห่างกันมาก และความสามารถในการลุ้นแชมป์ก็มักจะขึ้นอยู่กับนโยบายและสถานการ์ณภายในทีมที่เกิดขึ้นระหว่างฤดูกาล เช่นปัญหาอาการบาดเจ็บของนักเตะ, สถานะทางการเงินในช่วงนั้น และการเปลี่ยนแปลงทีมงานโค้ชที่อาจจำเป็นต้องใช้เวลากว่าทีมจะลงตัวจนคลิ๊ก
และถ้าจะขยายความให้ลึกขึ้นไปในความหมายที่ว่าทำไมเกรดบอลของแต่ละสโมสรไม่ได้หนีห่างกันมาก มันก็อาจพูดได้ว่ามันมาจากสาเหตุหลักๆ 1-2 ข้อด้วยกัน
อย่างแรกเลย คือ สโมสรในญี่ปุ่นไม่นิยมเป็น “เจ้าบุญทุ่ม”
จากข้อมูลในเว็ป statista.com ในฤดูกาลที่ผ่านมามีเพียงโกเบทีมเดียวเท่านั้นที่มีค่าเฉลี่ยในเรื่องค่าใช้จ่ายต่อปีในค่าจ้างนักเตะที่ทิ้งห่างอีก 17 ทีมแบบไม่เห็นฝุ่น(ด้วยตัวเลขจ่ายจริงที่ 1.57 ล้านเหรียญ ในขณะที่ทีมอื่นๆจ่ายกันระหว่าง 2-4 แสนเหรียญเท่านั้น) สวนทางกับผลงานของสโมสรที่แม้จะจ่ายด้วยเม็ดเงินมโหฬารแต่ทีมก็ทำได้เพียงแค่อันดับ 8 ของตาราง ในขณะที่แชมป์อย่างมารินอสจ่ายน้อยกว่ากันถึงเกือบ 8 เท่า
อย่างที่สอง คือ วัฒนธรรมและค่านิยมใช้นักเตะญี่ปุ่นเป็นหลัก
อย่างที่ทุกคนทราบนั่นแหละว่าระบบอะคาเดมี่ตามสโมสรในญี่ปุ่นถือเป็นหัวใจของความสำเร็จในผลงานทีมชาติของพวกเขาและคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องนี้ ดังนั้นเราจะเห็นการผลักดันนักเตะจากทีมชุดเล็กขึ้นทีมชุดใหญ่ในแต่ละสโมสรในทุกฤดูกาล บางทีมดันเด็กขึ้นชุดใหญ่รวดเดียว 3-4 คนในครั้งเดียวก็มีให้เห็นกันมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแถมยังถือเป็นเรื่องปกติของที่นั่น และนั่นแหละครับคือที่มาของการไม่มีพื้นที่ให้แข้งต่างชาติ
โดยในฤดูกาลล่าสุดทีมในเจลีกส่วนใหญ่เปิดพื้นที่ไว้ให้นักเตะต่างชาติเฉลี่ยที่แค่ 4-5 รายเท่านั้น และมีเพียงแค่ 7 จากทั้งหมด 18 ทีมที่ใช้นักเตะตัวต่างชาติเกิน 5 คนในทีม แถมมีมากถึง 11 จากทั้งหมด 18 ทีมที่มีการดันนักเตะในอะคาเดมี่ของตัวเองขึ้นชุดใหญ่ในฤดูกาลนี้ เห็นได้ชัดว่าในเคสของตัวต่างชาติถ้าไม่สามารถแสดงให้โค้ชที่นั่นได้เห็นถึงความแตกต่างจริงๆ โดยมากตามธรรมเนียมปฎิบัติพวกเขาก็เลือกที่จะไม่จ่ายและใช้นักเตะของตัวเองเป็นหลัก
การที่ฟุตบอลลีกของญี่ปุ่นมีสภาวะที่ทุกทีมมีโอกาสในการลุ้นแชมป์เท่าๆกันถือเป็นเสน่ห์ที่สำคัญอย่างมากเพราะมันทำให้เจลีกทั้งน่าดูและน่าติดตามแถมยังเป็นที่มาของจำนวนฐานแฟนบอลที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี ดังนั้นการที่มีคนติดตามเจลีกมากขึ้นมันก็เป็นที่มาของโอกาสในการขายงานด้านการตลาดและเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่จะเข้ามาผ่านทางสปอนเซอร์ และนั่นแหละก็เป็นหลักยุทธศาสตร์ที่ยั่งยืนแบบพึ่งพาอาศัยกัน
เจลีกนำไทยลีกไปค่อนข้างไกลในหลายๆเรื่อง หนึ่งในนั้นคือเรื่องที่ท่านผู้อ่านพึ่งจะได้อ่านจบกันไปนั่นล่ะ และผมเองได้แต่หวังไว้ลึกๆว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบนดินแดนอาทิตย์อุทัยอาจกระโดดข้ามมาเกิดขึ้นที่ไทยบ้าง เพื่อให้แฟนบอลชาวไทยทั่วทุกภูมิภาคได้ลุ้นได้เชียร์บอลกันอย่างสนุกเร้าใจ, ทีมชาติไทยมีอะไหล่และตัวเลือกเข้าทีมที่หลากหลาย และคำว่า “แชมป์ไทยลีกไม่ผูกขาด” จะเกิดกับดินแดนสยามแบบยั่งยืนตลอดไป..
akinson149
โฆษณา