19 ก.ย. 2020 เวลา 02:00 • ธุรกิจ
ป้าทองคำ จากแม่ครัวสู่เจ้าของ MK แบรนด์สุกี้หมื่นล้าน
ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก แบรนด์สุกี้ชื่อดังอย่าง MK
แต่น้อยคนนัก ที่จะรู้จักกับ “ป้าทองคำ”
แล้วป้าทองคำ ท่านเป็นใคร เกี่ยวอะไรกับแบรนด์ MK
ผู้เขียนจะพาไปทำความรู้จัก กับบุคคลในตำนาน ท่านนี้กัน..
รู้ไหม ปีที่ผ่านมา MK มีผลประกอบการ อิงจากตลาดหลักทรัพย์กว่า 17,409 ล้านบาท
ในจำนานนี้ เป็นกำไรสุทธิ 2,603 ล้านบาท
แต่ใครจะรู้ล่ะว่า แบรนด์หมื่นล้านแบรนด์นี้ จะถือกำเนิดขึ้นจากแม่ครัวชาวชัยนาทธรรมดา ที่มีชีวิตที่เรียบๆ ง่ายๆ คนหนึ่ง
ซึ่งแม่ครัวคนที่ว่านี้ก็คือ “คุณทองคำ เมฆโต” หรือที่ใครๆ ก็เรียกกันติดปากว่า “ป้าทองคำ”
เดิมทีป้าทองคำ เดินทางจากชัยนาท เข้ามาทำงานที่กรุงเทพ เมื่อปี พ.ศ. 2505
โดยป้าทองคำ ได้รับหน้าที่ เป็นแม่ครัวให้แก่ร้านอาหารฮ่องกง ชื่อว่า “Makong King Yee” ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อย่อ MK ในเวลาต่อมา นั่นเอง..
หลังจากที่ป้าทองคำ เป็นแม่ครัวอยู่ไม่นานนัก เถ้าแก่เจ้าของเก่าก็ได้เสนอขายกิจการทั้งหมดให้แก่ป้าทองคำ ด้วยเหตุที่ต้องย้ายไปอยู่บอสตัน
เถ้าแก่เสนอราคาให้กับป้าในราคาที่เป็นกันเอง และก็ไม่ได้เก็ยเงินจากป้าทั้งหมดทันทีเลยแต่อย่างใด เพราะป้าทองคำ ไม่ได้เป็นคนที่รำ่รวยอะไรมากมาย
เพียงแต่เป็นแม่ครัวที่มีนิสัยดี น่ารัก ขยันขันแข็ง ทำให้ผู้คนรอบข้างไว้ใจมาตลอด
เมื่อป้าทองคำ ได้เป็นเจ้าของร้านเอง กิจการก็ใช้ชื่อว่า MK ตามเดิม ซึ่งเป็นชื่อย่อตามชื่อเต็มที่กล่าวมาข้างต้น
และก็ดูเหมือนว่า กิจการจะรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหน้าเก่าหน้าใหม่ ก็ล้วนแล้วแต่ติดใจฝีมือของป้าทองคำ
ร้าน MK ในเวลานั้น มีเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ประจำร้านก็คือ ปลาช่อนแป๊ะซะ เนื้อตุ๋น กับอาหารประเภทยำรูปแบบต่างๆ
ช่วงประมาณปี 2527 ลูกค้าเจ้าประจำระดับมหาเศรษฐีท่านหนึ่ง นั่นก็คือ เจ้าสัวสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ท่านประธานใหญ่แห่งเครือเซ็นทรัลในยุคนั้น
ได้มาชักชวนป้าทองคำ ให้ไปเปิดร้านที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว
ป้าทองคำมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ตอบตกลง โดยที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก
และเสริมชื่อร้านเพิ่มว่าเป็น “Green MK” โดยมีลูกสาวที่เป็นนิสิตจุฬา และสามี เข้ามาช่วยอีกแรง
ทว่า ไม่รู้ว่าโชควาสนานำพาหรืออย่างใด เจ้าสัวสัมฤทธิ์คนเดิม ยัดเยียดให้ป้าทองคำ รำ่รวยขึ้นกว่าเดิมอีก
เนื่องจากว่ามีพื้นที่ว่างในห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ที่ธนาคารแห่งหนึ่งไม่สามารถเปิดสาขาใหม่ได้ แถมเป็นพื้นที่ว่างที่ห่างพอสมควร
1
เจ้าสัวสัมฤทธิ์จึงไหว้วานให้ป้าทองคำ ขยายร้านเพิ่มอีกหนึ่งสาขา ในพื้นที่เดียวกัน สาขาใหม่ที่ว่านี้ ขอให้เป็นร้านสุกี้ ที่ห้างยังไม่มี ประกอบกับประเทศไทยเวลานั้น ยังไม่เป็นที่นิยมเฉกเช่นปัจจุบัน
หลังจากนั้น ป้าทองคำ ลูกสาว และลูกเขย ต้องระดมสมองกันอย่างหนัก ปรึกษาหารือ ถึงสูตรสุกี้ที่จะใช้เปิดร้าน ก่อนจะวางรากฐานทุกอย่าง อย่างเป็นทางการในปี 2529
แถมลูกเขย ก็มีส่วนช่วยกับร้านสุกี้แห่งใหม่นี้มาก เพราะเรียนจบวิศวะจุฬาลงกรณ์ฯ จึงสามารถใช้ความรู้ ออกแบบหม้อสุกี้ไฟฟ้าที่ปลอดภัยให้กับลูกค้าได้
รู้ไหม แม้ป้าทองคำ จะมีฝีมือดีในการทำอาหาร แต่ก็ไม่เคยปรุงนำ้จิ้มสุกี้มาก่อน จึงได้ลองผิดลองถูกอยู่พักใหญ่ ก่อนที่ลูกค้าจะติดใจกันเป็นแถวยาวเหยียด
หลังจากที่ลูกค้าเยอะขึ้น การบอกเล่าแบบปากต่อปาก ก็ยิ่งทำให้มีคนสนใจสุกี้แบบทวีคูณ
ป้าทองคำจำเป็นที่จะต้องขยายสาขาออกไป กระทั่งปี 2562 ที่ผ่านมา เอ็มเคมีสาขาทั่วทั้งประเทศมากถึง 463 สาขา
ทว่า ความน่าสนใจของแบรนด์เอ็มเค ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะในปี 2540 เกิดวิกฤติฟองสบู่ ส่งผลกระทบอย่างแรง กับเศรษฐกิจของประเทศ
ทว่าป้าทองคำ รวมกับอีกสองแรงจากลูกสาวและลูกเขย ก็พาให้กิจการผ่านมาได้อย่างราบรื่น
รู้ไหม ที่สนใจยิ่งกว่านั้น ข้อมูลในปี 2547 เอ็มเคสุกี้ขยายสาขาไปยังประเทศเจ้าของวัฒนธรรมอย่างญี่ปุ่น ได้ลิ้มลองรสชาตินำ้จิ้มสุกี้ ฝีมือป้าทองคำจากไทย
ก่อนที่กิจการจะขยายไปสู่อีกหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม และลาว
อย่างไรก็ตาม ในเครือของ MK ไม่ได้มีร้านสุกี้แค่อย่างเดียว แต่ยังมีร้านอาหารประเภทอื่นๆ แบรนด์อื่นๆ อีกหลายรูปแบบ
ซึ่งแต่ละปี สร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับประเทศกว่าหมื่นล้านบาท
ทว่าทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากนำ้พักนำ้แรงของแม่ครัวชาวชัยนาท ที่มีชีวิตที่เรียบง่ายคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า.. “ป้าทองคำ”
Reference
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันอาทิตย์ที่ 31/10/47 คอลัมน์ซอกแซกสุดสัปดาห์ เรียบเรียงโดย กฤษณา ศรีสุริยพงศ์
Picture
Billion mindset
โฆษณา