23 ก.ย. 2020 เวลา 17:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
การดูดาวเบื้องต้น
ตอนที่ 1 การเลือกสถานที่และเวลาที่เหมาะสม
ในการเริ่มต้นดูดาวนั้น ผู้สนใจอาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป เช่น ต้องการศึกษาดาราศาสตร์ สนใจการถ่ายภาพ ไปจนถึงดูดาวเพราะต้องการสร้างความทรงจำดีๆกับใครสักคน ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ผู้ที่สนใจควรจะเริ่มจากการดูดาวด้วยตาเปล่า โดยยังไม่ต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ใดๆ เพราะ นอกจากจะราคาถูกที่สุดแล้ว การดูดาวด้วยตาเปล่ายังทำให้ขอบเขตการมองเห็นกว้างขวาง ช่วยในการศึกษาภาพรวมของตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้าต่างๆได้เป็นอย่างดี
สิ่งที่ต้องรู้สำหรับการเตรียมตัวดูดาวด้วยตาเปล่ามีดังนี้
1. สถานที่
สถานที่ที่เหมาะสมกับการดูดาวจะต้องมืด
หลายท่านอาจคิดว่าตอนกลางคืนนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็มืดเหมือนกันไปหมด แต่จริงๆมันมีความแตกต่างอยู่ เพราะถ้าบริเวณนั้นอยู่ใกล้กับตัวเมืองซึ่งแสงไฟจากตัวเมืองอาจสว่างมาก แสงจากเมืองจะส่องให้ฝุ่นหรืออนุภาคเล็กๆในอากาศ สว่างขึ้นทำให้เรามองหาดาวได้ยาก เพราะท้องฟ้าที่สว่างขึ้นมาย่อมกลบแสงอ่อนๆจากดวงดาวได้
- ในประเทศไทยดูดาวที่ไหนได้บ้าง?
จังหวัดไหนในประเทศไทยก็ดูดาวได้แทบจะไม่ต่างกัน ขอแค่อยู่ห่างจากแสงเมืองก็ดูได้หมด
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างอาจจะพอมีอยู่บ้าง เพราะยิ่งไปดูในจังหวัดของภาคเหนือ ดาวเหนือก็จะยิ่งปรากฏสูงจากขอบฟ้ามากขึ้น ทำให้มีโอกาสมองเห็นดาวเหนือได้ง่ายตามไปด้วย แต่โดยภาพรวมอาจกล่าวได้ว่าแทบไม่มีความแตกต่างกันนัก
- มีสถานที่ไหนจัดกิจกรรมดูดาวบ้าง?
ตอนนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ที่จัดกิจกรรมสอนดูดาวให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปอยู่เสมอ โดยหน่วยงานนี้มีในจังหวัด เชียงใหม่ ฉะเชิงเทรา สงขลา นครราชสีมา ถ้าไปตอนกลางวันมีการสอนดูดาวในท้องฟ้าจำลอง แต่ถ้าไปตอนกลางคืนจะมีบางวันที่จัดกิจกรรมดูดาว
ผมเองเคยทำงานที่นี่ ได้ความรู้มากมายจากการทำงานที่นี่ ขอแนะนำว่าต้องไปครับ
2.เวลา
จริงๆตอนกลางคืน เราสามารถดูดาวได้ทุกคืน
- แต่ฤดูที่เหมาะสมกับการดูดาวที่สุด ย่อมเป็นฤดูหนาว ที่โอกาสจะมีพายุเข้ามารบกวนการดูดาวน้อยกว่าฤดูฝน และฤดูร้อน
- หากต้องการดูดาวด้วยตาเปล่าก็ควรเลือกคืนที่ดวงจันทร์สว่างน้อยๆไว้ เช่น ข้างขึ้น 1-3 ค่ำ หรือ ข้างแรม 13-15 ค่ำ เพื่อที่แสงจากดวงจันทร์จะได้ไม่รบกวนการดูดาวของเรา
- อย่างไรก็ตาม หากต้องการจัดกิจกรรมดูดาว การเลือกวันที่มีดวงจันทร์อาจเหมาะสมเพราะถ้าคืนที่จัดกิจกรรมมีเมฆมาก ดวงจันทร์ที่โผล่ออกมาจากเมฆอาจช่วยให้คืนนั้นมีดวงจันทร์ไว้ดูผ่านกล้องโทรทรรศน์บ้าง ดีกว่าไม่มีอะไรดูเลย และควรศึกษาก่อนว่าคืนนั้นดวงจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้ากี่โมง (ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในตอนถัดๆไปครับ)
3. หาคนไปด้วย
การดูดาวในสถานที่มืดนั้น บ่อยครั้งอาจจะเปลี่ยว
ควรมีคนไปด้วยเพราะถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาจะได้มีคนช่วยเหลือ ที่สำคัญจะได้ไม่ประสบภัยจากความเหงา เพราะเวลามองเห็นอะไรสวยมากๆ
การมีคนไว้ร่วมแบ่งปันย่อมดีกว่ารับรู้อยู่คนเดียว
กลุ่มดาวบนท้องฟ้า มีทั้งหมด 88 กลุ่ม
แต่ในทางปฏิบัติ เรายังไม่จำเป็นต้องรู้จักทั้งหมดก็ได้
ผู้เริ่มต้นควรรู้จักกลุ่มดาวสำคัญๆที่มีดาวสว่างเด่นจนมองหาได้ง่ายเสียก่อน เมื่อมองหากลุ่มดาวเด่นๆเหล่านี้พบแล้วก็อาจนำไปสู่การมองหากลุ่มดาวอื่นๆต่อไป
ถ้าพร้อมแล้วบทความในครั้งถัดๆไปจะแนะนำกลุ่มดาวที่ควรรู้จักครับ
โฆษณา