19 ก.ย. 2020 เวลา 16:47 • การเมือง
ไอติม พริษฐ์ ประกาศหนุนม็อบ !!
เมื่อตอนเย็นเห็นทางเพจที่เกี่ยวข้อง และเพจข่าวบางสำนักเริ่มทยอยนำเอาความคิดเห็นของบุคคลสาธารณะหลายๆคนมาลง ว่าขณะนี้หลายๆคนกำลังแสดงออกถึงท่าทีการสนับสนุนม็อบอย่างชัดเจนมากขึ้น
โดยในเคสของคุณไอติม พริษฐ์นี้เขาพูดไว้ว่า อยากให้สนับสนุนม็อบของคนรุ่นใหม่ เช่น ม็อบนักศึกษา ม็อบเยาวชนอะไรพวกนี้เยอะๆ เนื่องจากเห็นว่ายังไงเยาวชนก็คืออนาคตของชาติ หากเขาออกมาประท้วง ในขณะที่ยังเรียนอยู่
นั่นแปลว่า พวกเขากำลังเหลืออด และเขาต้องการใช้สิทธิที่จะกำหนดชะตาชีวิต (self-determination) ของพวกเขาบ้าง ด้วยการออกมาชุมนุม ประกาศข้อเรียกร้องที่ตนเองมีต่อทางรัฐบาล ไม่ว่าจะเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ หรือยุบสภาก็ตาม
ตรงนี้ผมเห็นด้วยกับคุณไอติม พริษฐ์มากๆครับ ที่พูดมานั้นจริงทุกประการ เด็กสมัยนี้ ก็คืออนาคตของชาติในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาพูดอะไรออกมา หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ หรือเป็นข้อเสนอแนะที่ติเพื่อก่อ ก็ควรจะรับฟังพวกเขาบ้าง
อย่างเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องรัฐประหาร เรื่องรัฐสภานี้ ถ้าพวกเขาติ หรือวิจารณ์มาแล้วเป็นประโยชน์ก็ควรรับฟังเอาไว้ อย่ามัวไปผลักว่าพวกเขาเป็นคนอื่น หรือมาสร้างวาทกรรม 'ชังชาติ' แก่พวกเขา
ให้คิดซะว่าพวกเขาก็รักชาติไม่น้อยไปกว่าคนอื่นๆ ที่เขาติ หรือวิพากษ์วิจารณ์ก็เพราะพวกเขามีใจคิดอยากจะช่วยเหลือประเทศ อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ เขาถึงออกมาพูด
ขนาดเรามีเพื่อน มีคนสนิทกัน เราเห็นเขาทำอะไรไม่ดี เรายังตักเตือน หรือให้ข้อแนะนำอะไรกันได้เลย นับประสาอะไรกับเรื่องการเมือง ถ้าเด็กๆในฐานะวัยเรียนรู้ และกลุ่มปัญญาชนเขาจะนำเอาสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมา มาปรับเป็นข้อเสนอแนะบ้างก็ต้องฟังเขา
องค์ความรู้ในโลกนี้มันเปลี่ยนแปลง เคลื่อนคล้อยอยู่ทุกวัน สิ่งที่เราเชื่อหรือเคยเรียนมาในสมัยก่อนก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นเรื่องที่ดี หรือถูกต้องเสมอไป อย่างประเด็นเรื่อง 'รัฐประหารเพื่อผ่าทางตันให้แก่ประเทศ' นี้ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของประเด็นนี้
สมัยก่อนคนไทยมักคิดว่าการรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลโดยกลุ่มทหารนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะถือว่าทหารเข้ามาช่วยปลดล็อคการเมืองไม่ให้ถึงทางตัน สมัยนี้คนเริ่มเข้าถึงความรู้ และได้เรียนหนังสือกันมากขึ้น ก็เริ่มมีความเข้าใจที่เปลี่ยนแปลงไป
ว่ารัฐประหารนั้นคือ การปล้นอำนาจจากประชาชน เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดจุด ผิดวิธี สร้างแต่ปัญหา และยังทิ้งรอยด่างพร้อยให้แก่ประวัติศาสตร์ของประเทศอีกด้วย
เรื่องการชุมนุมก็เหมือนกัน อย่าไปเชื่อวาทกรรมที่ว่า 'ม็อบถูกจ้างมา' อะไรพวกนี้มาก ไอ้เรื่องการถูกจ้างมา หรือมีสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลังอะไรพวกนี้ แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าม็อบทั้งหมดนี้ถูกอเมริกาหนุนหลังหรือจ้างมา
ลองบวกลบคูณหารผลดีผลเสียทางยุทธศาสตร์แล้วพิจารณาดูเอาตามหลักของเหตุและผล แล้วมองผ่านกรอบของสหรัฐอเมริกาดูก็ได้ ว่ามันมีความจำเป็นอันใดบ้างที่สหรัฐอเมริกามันจะต้องมาปลุกปั่นให้ม็อบทำอย่างนั้นอย่างนี้
รู้จัก Soft Power หรือเปล่า มันเป็นเรื่องของการให้ความรู้ ให้การศึกษา ถ้าอเมริกาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับม็อบ ก็คงเป็นเรื่องของแนวคิด และการศึกษาเป็นหลัก ที่รัฐบาลอเมริกาลงทุนในด้าน Soft Power ด้านแนวคิด ด้านหลักการประชาธิปไตยเอาไว้
เด็กที่เรียนหนังสือ เรียนรัฐศาสตร์เขาเรียนมาแบบนั้นเขาก็อาจจะเชื่อแบบนั้น ตามตำราของอเมริกาที่เขียนไว้ อันนี้อะเรียกได้ว่าอเมริกามีอิทธิพลต่อการจัดมวลชน แต่ไม่ได้แปลว่าม็อบถูก 'อเมริกาจ้างมา' ต้องแยกให้ออกว่าระหว่างได้รับอิทธิพลทางความคิด กับ การถูกจ้างมาด้วยเงินโดยตรงมันแตกต่างกันอย่างไร
เวลาดูม็อบ ต้องดูหลายๆปัจจัยองค์ประกอบ ทั้งปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน และปัจจัยควบคุม รวมถึงสภาพแวดล้อมของพฤติการณ์ ว่ามันมีลักษณะอย่างไร ไม่ใช่ว่าไปนั่งอ่านทฤษฎีสมคบคิดที่มันขาดหลักเหตุและผลมาแล้วก็เชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตาครับ
เลิกมองว่านักศึกษาถูกจ้างมา เพราะเขามีความคิดเห็นที่แตกต่างได้แล้ว สมัยม็อบคุณสุเทพ นักศึกษาก็ออกมากันเยอะ ไม่คิดบ้างหรือว่าเขาก็ถูกจ้างมา? หรือถูกปลุกปั่น ล้างสมองให้ออกมาก่อม็อบ ก่อความวุ่นวายบ้าง
โฆษณา