20 ก.ย. 2020 เวลา 12:00 • นิยาย เรื่องสั้น
เรื่องเล่าชมรมศิลป์ Ep.9 : โลกของเวอร์เมียร์
[ Girl with a Pearl Earring ]
[ Jany Jannista tagged you in a post: “A fleeting moment #ปังปุริเย่” ]
ข้อความแปลก ๆ ที่เด้งขึ้นมาบนหน้าจอโทรศัพท์ ทำให้ผมละสายตาจากหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ ทันทีที่กดแถบข้อความ ภาพของหญิงสาวผู้หนึ่งก็ปรากฎขึ้น
ร่างที่อยู่ในชุดเสื้อคลุมสีน้ำตาลเหลือบทองปกขาวตัวโคร่งนั้นอยู่ในมุมหันข้าง มีเพียงศีรษะที่เอียงกลับมาประหนึ่งมองหาใครสักคนที่กำลังเรียกเธออยู่ สายตาวาววับคู่นั้นมองตรงมาที่ผม ริมฝีปากอวบอิ่มแดงระเรื่อส่องประกายเผยอออกเล็กน้อยราวกับกำลังจะเอื้อนเอ่ยวาจา
ผ้าผืนใหญ่สีฟ้าและทองถูกพับทบรอบศีรษะทิ้งชายยาวลงมาจนดูเผิน ๆ คล้ายกับเส้นผม ที่คอของเธอนั้นมีวัตถุแวววาวสีออกเงินคล้ายผิวโลหะห้อยลงมาจากปลายติ่งหู
ผมประสานสายตากับใบหน้าที่คุ้นเคยในภาพนั้นอยู่ชั่วอึดใจ ก่อนจะหัวเราะออกมา
[ สามวันก่อน ]
“………..มั้ยคะ”
เสียงเจื้อยแจ้วที่แว่วมากระทบโสตประสาท ทำให้ผมเงยหน้าขึ้นมาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ สายตาที่ดูมึนงงของผม บอกให้เจ้าตัวรู้ว่าประโยคยาวเหยียดที่พูดมาเมื่อสักครู่ ไม่ได้เข้าหูคนฟังเลยสักนิดเดียว
“นี่ไม่ได้ฟังหนูเลยใช่มั้ยเนี่ย ไหนว่าว่างอยู่ แวะมาที่ชมรมได้เลยไงคะ”
เสียงบ่นกระปอดกระแปดของน้องแจน ทำให้ผมได้แต่หัวเราะแห้ง ๆ ก่อนจะหยิบกาแฟเย็นที่เธอซื้อมาฝากขึ้นมาดูดแก้เก้อ
“โทษที ๆ พอดีกำลังตอบเมลงานนิดหน่อย เสร็จละ ตะกี้ว่าไงนะ”
สาวน้อยถอนหายใจเฮือกหนึ่ง ก่อนจะอธิบายอีกรอบ จับใจความได้คร่าว ๆ ว่า เพื่อนจะจัดงานปาร์ตี้วันเกิดชุดคอสตูม เธอตั้งใจว่าจะแต่งเป็นธีมเกี่ยวกับงานศิลปะที่ใครเห็นก็ต้องรู้จัก เลยมาขอความเห็นจากผม
“มีภาพไหนที่แต่งออกมาแล้วจะดูปัง ๆ แต่ไม่ต้องลงทุนเยอะบ้างมั้ยคะ”
ผมทำท่าครุ่นคิด ก่อนลุกขึ้นเพื่อเดินไปหยิบหนังสือเล่มหนึ่งออกมาจากชั้น พลิกอยู่ครู่หนึ่งจนเจอหน้าที่ตั้งใจแล้วจึงกางออกมาให้เธอดู
Edvard Munch, 1893, The Scream
ภาพคนใบหน้าบิดเบี้ยวบนฉากหลังที่มีสีฉูดฉาดของ เอ็ดวัด มุงก์ อันมีชื่อว่า The Scream เรียกเสียงดังเพี๊ยะที่ท่อนแขนของผมก่อนที่จะหลบฉากได้ทัน
“ก็บอกว่าอยากได้ภาพปัง ๆ ไง นี่เลย ไปซื้อหน้ากากมาอันเดียว เอาอยู่” ผมพูดหยอกขณะที่มือหนึ่งลูบแขนป้อย ๆ
“โอ้ยยยย เลือกแบบที่เข้ากับความสวยของน้องด้วยสิคะ ระดับนี้ต้องโมนาลิซ่าแล้วมั้ย” หน้างอคอพับไม่ได้มีแต่ปลาทูแม่กลอง สาวน้อยตรงหน้านี้ก็เช่นกัน ผมนึกขำในใจก่อนจะไล่เปิดหน้าหนังสืออีกครั้ง
“ล้อเล่นหน่อยเดียวเอง อะ ๆ ถ้าอย่างงั้นก็เป็นโมนาลิซ่าแล้วกัน น่าจะพอเข้าอยู่นะ”
หน้าหนังสือที่กางออกแสดงภาพหญิงสาวผู้หนึ่งในเครื่องแต่งกายที่ดูแปลกตา สีหน้าและแววตาของเธอนั้นมีพลังบางอย่างแผ่ออกมาสะกดให้เกิดความเงียบขึ้นชั่วขณะ
“Girl with a Pearl Earring สาวคนนี้มีฉายาว่าเป็นโมนาลิซ่าจากทางเหนือเลยนะ”
รอยยิ้มผุดขึ้นบนใบหน้าของน้องแจน ดูเธอพอใจกับภาพนี้ไม่ใช่น้อย
“สวยจังค่ะ เคยเห็นในหนังด้วย ที่สการ์เล็ตต์ โจฮานสัน เล่นเป็นนางเอกใช่มั้ยคะ”
“ใช่ครับ หนังดัดแปลงมาจากหนังสืออีกที แต่ไม่ได้หมายความว่าสาวไข่มุกคนนี้จะมีชีวิตตามที่หนังสือแต่งเอาไว้นะครับ อันที่จริง ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าเธอคือใคร หรือมีตัวตนจริงรึเปล่า”
ผมหยิบหนังสือมาอีกเล่ม เปิดไปที่หนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังที่สุดและถูกเอ่ยถึงเมื่อสักครู่ เพื่อกางเทียบกัน
Girl with a Pearl Earring (1665), Johannes Vermeer
Portrait of Mona Lisa del Giocondo, Leonardo da Vinci Year c. 1503–1506, perhaps continuing until c. 1517
“โมนาลิซ่าทั้งสอง” แขกผู้มาเยือนของผมพึมพำขณะที่มองภาพทั้งสองอย่างตั้งใจ
“แบบของทั้งสองภาพนี้ต่างกันที่ตรงไหน พอเดาออกมั้ยครับ”
สาวน้อยเม้มปากอย่างครุ่นคิด ก่อนจะตอบด้วยน้ำเสียงลังเล
1
“ภาพนี้” เธอชี้ไปที่โมนาลิซ่าของดาวินชี “นางแบบดูตั้งใจโพสต์ให้วาดนะคะ…ส่วนอีกภาพ”
นิ้วชี้ของเธอเบนไปที่ภาพสาวใส่ต่างหูมุก “ดูเหมือนไม่ได้ตั้งใจอะค่ะ แค่บังเอิญ บอกไม่ถูกเหมือนกัน”
ผมยิ้มให้กับคำตอบของเธอก่อนจะอธิบาย
“อย่างที่น้องแจนว่ามาถูกแล้วครับ ภาพทั้งสองดูเผิน ๆ เหมือนเป็นภาพวาดบุคคล หรือที่เรียกว่า portrait ทั้งคู่ แต่จริง ๆ แล้วภาพสาวใส่ต่างหูมุกไม่ใช่ portrait นะครับ แต่เป็นงานอีกแบบที่เรียกว่า Tronie แปลตรงตัวว่าใบหน้า ซึ่งพบได้บ่อยในงานยุคเฟื่องฟูของศิลปะดัชต์
อธิบายง่าย ๆ ว่าเป็นภาพแสดงคาแร็กเตอร์ของคน อย่างเช่น ชายแก่ หญิงสาว พ่อค้า อะไรทำนองนี้ ไม่ได้เจาะจงที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง”
"The Smoker" ตัวอย่างภาพงานสไตล์ Tronie โดย Joos van Craesbeeck
“อ๋อ เข้าใจแล้วค่ะ แบบนี้ก็ไม่แปลกที่เธอคนนี้จะไม่มีตัวตนจริง ๆ ใช่มั้ยคะ”
ผมพยักหน้าหงึกหงักก่อนจะเล่าต่อ
“ผู้ที่วาดภาพนี้คือ โยฮันเนส เวอร์เมียร์ ศิลปินในช่วงยุคทองของดัชต์ การแต่งกายของสาวในภาพก็มาจากชาวเติร์กที่เข้ามาในดัชต์ขณะนั้นครับ ที่จริงแล้วชื่อเดิมของภาพนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับไข่มุกเลยด้วยซ้ำ เพราะมันเคยมีชื่อว่า Girl with a Turban สาวในผ้าโพกหัว”
“แต่หนูชอบชื่อ Girl with a pearl earring มากกว่านะคะ ดูโรแมนติกมากกว่าตั้งเยอะ”
ผมหัวเราะเบา ๆ ก่อนจะชี้ไปที่วัตถุแวววาวที่ต้นคอของหญิงสาวในภาพ
“ว่าแต่น้องแจนแน่ใจเหรอครับว่านี่คือไข่มุก”
“อ้าว ไม่ใช่หรอคะ” คิ้วของเธอขมวดขึ้นมาขณะที่โน้มตัวลงจ้องดูภาพ จนใบหน้าห่างจากกระดาษเพียงไม่กี่นิ้ว
“จะว่าไปแล้วก็ดูใหญ่เกินไปหน่อยนะคะ แถมมาแบบลอย ๆ ไม่ได้ห้อยลงมาจากหูด้วย”
“เก่งมากครับ ถ้าจะต้องเป็นอะไรสักอย่าง ดูจากรูปทรงและความวาวที่สะท้อนแสงออกมาน่าจะเป็นโลหะขัดเงามากกว่า”
จู่ ๆ สาวน้อยช่างสงสัยก็ลุกขึ้นมาเอี้ยวตัว ทำท่าสะบัดคอพร้อมส่งสายตามาทางผมสองสามที จนเห็นแล้วอดหลุดขำออกมาไม่ได้
“นั่นทำอะไรอะ พอเถอะ แค่ดูก็ปวดคอแล้ว”
“หนูก็กำลังซ้อมอยู่ไงคะ แต่ยังเดาไม่ออกว่าสาวในภาพกำลังหันมาหา หรือกำลังจะหันกลับไป จะได้แสดงถูก”
จินตนาการบรรเจิดของเธอทำให้ผมต้องยิ้มตาม ก่อนจะนึกอะไรขึ้นมาได้
“งานเวอร์เมียร์มีเสน่ห์ที่จับเอาช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นในชั่วขณะและบันทึกมันเอาไว้ คล้ายกับการกดชัตเตอร์กล้องถ่ายภาพเหมือนกันนะครับ” ผมเริ่มพลิกหน้าหนังสืออีกครั้ง
ผลงานของเวอร์เมียร์
“ภาพส่วนใหญ่ของเขามักจะเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ที่เรียบ ๆ ไม่หวือหวา เรียกได้ว่าเป็นชีวิตของผู้คนในเมืองเล็ก ๆ ที่สงบสุข แต่ดูแล้วให้ความรู้สึกที่ตราตรึงใจ”
“ดูเรียบง่าย น่าอยู่จังนะคะ”
“แต่นั่นไม่ใช่ชีวิตจริงของเวอร์เมียร์และผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองเดลฟท์หรอกครับ”
“อ้าว ทำไมอะคะ” ดวงตาของเธอกระพริบถี่ขึ้นด้วยความสงสัย
“เรื่องร้าย ๆ เริ่มมาเยือนเดลฟท์ ตั้งแต่ปี 1654 ทั้งโรคระบาด สงคราม และเศรษฐกิจตกต่ำ ซ้ำร้ายคลังเก็บกระสุนดินปืน 30 ตันเกิดระเบิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ คร่าชีวิตผู้คนนับร้อย และบาดเจ็บอีกนับพัน เหตุการณ์ระเบิดครั้งใหญ่นี้เป็นที่รู้จักในชื่อว่า Delft Thunderclap ซึ่งมีศิลปินที่วาดภาพเมืองเดลฟท์หลังจากเหตุการณ์เอาไว้...นี่ไงครับ”
Egbert van der Poel: A View of Delft after the Explosion of 1654
ผมเปิดภาพเมืองที่เหลือเพียงซากให้เธอดู บรรยากาศนั้นเต็มไปด้วยความเศร้าหมองและการสูญเสีย ก่อนจะพลิกหนังสือกลับมายังหน้าที่คั่นไว้
“และนี่คือภาพวิวเมืองเดลฟท์ของเวอร์เมียร์ที่วาดในปี 1660”
View of Delft by Johannes Vermeer, 1660–1661
“เอ๊ะ นี่คนละเรื่องเลยนะคะ หรือว่าเมืองจะกลับมาสวยเหมือนเดิมได้ภายในเวลาหกปี” สายตาของเธอดูครุ่นคิด
“นั่นอาจจะเป็นความปรารถนาของเวอร์เมียร์มากกว่านะครับ การสร้างโลกอีกใบหนึ่งขึ้นมา โลกในอุดมคติที่ตัวเขาสามารถหนีเข้าไปอยู่ในนั้น ทิวทัศน์ที่สวยงาม ผู้คนที่มีความสุขกับชีวิตที่เรียบง่ายและสงบ ในขณะที่ชีวิตจริงของเขานั้นตรงกันข้าม
หลังจากที่กองทัพฝรั่งเศสเข้ามาบุกดัชท์ในปี 1672 เศรษฐกิจในเมืองที่เขาอยู่ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ก็แทบจะล่มสลาย สุดท้ายความเครียดและผิดหวังก็ทำให้เขาจากโลกนี้ไปในวัยเพียง 43 ปี ทิ้งภรรยาม่ายไว้กับหนี้สินกองโตและลูกทั้ง 11 คน สมบัติที่พอมีเหลือคือรูปวาดซึ่งมีเพียง 19 ภาพ สองในนั้นถูกนำไปขายเพื่อใช้หนี้”
สาวน้อยอ้าปากค้าง ก่อนจะพูดออกมาเบา ๆ
“น่าสงสารจังค่ะ เห็นภาพของเขาแล้วดูไม่ออกเลยนะคะว่าเบื้องหลังจะเศร้าขนาดนี้ บางทีการวาดภาพชีวิตแบบอุดมคติ อาจเป็นทางออกที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจให้กับตัวเอง รวมไปถึงผู้คนที่มองดูภาพเหล่านี้ก็ได้นะคะ”
เบื้องหน้าของเราคือภาพบรรยากาศยามเช้าของเมืองเดลฟท์จากฝีแปรงของเวอร์เมียร์ แสงอาทิตย์ส่องประกายลงมาเหนือผืนน้ำทาบทับอาคารบ้านเรือนและโบสถ์ริมฝั่ง ผู้คนที่เดินผ่านมาทักทายพูดคุยกันตามประสา
หากพวกเขาเงยหน้าขึ้นมองจะพบว่าเมฆฝนสีเทาครึ้มที่เคยปกคลุมเมืองนั้นกำลังเคลื่อนตัวผ่านไป เหลือไว้เพียงท้องฟ้าสดใสและแสงแดดอันอบอุ่นในเช้าวันธรรมดาที่สงบและสวยงาม
🎵 "All around me are familiar faces
Worn out places, worn out faces
Bright and early for their daily races
Going nowhere, going nowhere
Their tears are filling up their glasses
No expression, no expression
Hide my head, I want to drown my sorrow
No tomorrow, no tomorrow
And I find it kinda funny, I find it kinda sad
The dreams in which I'm dying are the best I've ever had
I find it hard to tell you, I find it hard to take
When people run in circles it's a very very
Mad world, mad world" 🎶
🎵 ฟังเพลง “Mad World” โดย Gary Jules' and Michael Andrews (2001) ได้ที่นี่ 👇
หมายเหตุ : เนื้อหาในบทความนี้เป็นข้อมูลจริงผสมส่วนที่แต่งขึ้นเพื่ออรรถรสในการนำเสนอ
แล้วพบกันใหม่ในชมรมศิลปะนอกเวลาครั้งหน้าครับ
Reference:
Andrew Graham-Dixon, The Madness of Vermeer, BBC Four
Photo:
Wikimedia Commons

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา