20 ก.ย. 2020 เวลา 10:27 • ปรัชญา
คนโง่ที่เป็นอาจารย์
การจะเป็นอาจารย์สอนคนอื่นได้เรามักคิดว่าบุคคลนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี โดยมีพื้นฐานจากประสบการณ์ที่ได้เผชิญหรือจากการค้นคว้าเก็บเกี่ยวในแง่มุมต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงต่อให้ไม่ใช่คนฉลาดก็สามารถเป็นอาจารย์สั่งสอนคนอื่นได้
มีหลายครั้งที่คนขึ้นชื่อว่าฉลาดไม่สามารถอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจถึงเรื่องราวที่สอนได้ ต่อให้ยกตัวอย่างหรือใช้วิธีไหนก็ยังทำให้คนที่ไม่เข้าใจไม่ได้เข้าใจอยู่ดี แบบนี้เรียกว่าเป็นคนฉลาดได้อีกหรือ
ในขณะที่การให้คนโง่เป็นฝ่ายอาจารย์สั่งสอน แม้เนื้อหาจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงแต่ความเข้าใจในสิ่งที่คนโง่สอนกลับเข้าถึงและเข้าใจง่ายกว่าเป็นไหน ๆ
ทั้งนี้ในมุมของสังคมเองคงมีหลายคนที่เคยเจอคนโง่อยากเป็นผู้สอนอยู่ไม่น้อย โดยอาจารย์คนโง่มักให้ความรู้ปากเปล่าอ้างเหตุผลร้อยแปดพันเก้าเพื่อให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตาม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคนส่วนใหญ่ต่างเห็นตามตลอดว่าไร้สาระสิ้นดี ถ้าคิดจะสอนแบบไม่มีข้อมูลอย่างนี้
นอกจากมุมทางสังคมแล้วทางด้านวิชาการหากให้คนโง่และคนฉลาดที่เป็นอาจารย์ทั้งคู่มาปะทะคารมกัน อัตราส่วนที่คนฉลาดจะชนะในการแข่งขันครั้งนี้ก็ช่างมีโอกาสน้อยเหลือเกินที่จะพลิกโผผลลัพธ์ความปราชัยไปได้ เพราะต่อให้มีหลักฐานมาหักล้างขนาดไหนอาจารย์คนโง่ย่อมไม่ยอมรับทุกเหตุผลอยู่แล้ว
ดังนั้นในทางทฤษฎีความฉลาดไม่ได้มีผลอย่างใดในการที่จะเป็นอาจารย์ และในด้านความสามารถของคนโง่ดูจะมีศักยภาพในการทำหน้าที่ได้กว่าคนฉลาดมากกว่าที่คิด เพราะแบบนั้นการที่คนเราเลือกจะเรียนรู้จากคนโง่ที่เป็นอาจารย์บ้างก็ไม่เสียหายตรงไหน ซึ่งถ้าเรียนรู้ตั้งใจฟังดี ๆ ประโยชน์ที่ได้รับจักมีค่ามหาศาลไม่แพ้กัน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา