20 ก.ย. 2020 เวลา 15:12 • การเมือง
แบน SCB แล้วได้อะไร?
วันนี้กระแสการแบนธนาคารไทยพาณิชย์ที่มาจากกลุ่มม็อบนักศึกษา และเยาวชนกลุ่มที่มีนักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นแกนนำนั้นค่อนข้างรุนแรง นักศึกษาหลายๆมหาวิทยาลัย และคนวัยทำงานตอนต้นกำลังเริ่มพูดถึงการเลิกใช้งานบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์กันแล้ว
บางคนก็ถึงขั้นเสนอว่าควรจะพากันไปถอนเงินกันออกมาให้หมดๆธนาคารแล้วย้ายค่ายไปใช้งานธนาคารแห่งอื่นแทน เพื่อเป็นการแสดงออก และต่อต้านธนาคารไทยพาณืชย์ กรณีที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้มีอำนาจภายในสังคม
ทว่า ประเด็นนี้ผมมีข้อพิจารณาที่อยากจะชวนกันมาขบคิดอยู่ประการหนึ่ง คือ จากที่ได้พูดคุยกับกลุ่มคนที่เคยทำงานร่วมกับทางธนาคารหลายๆแห่งมา ผมมีมุมมองว่าเรื่องธนาคารไทยพาณิชย์นี้คงจะตัด หรือจุดกระแสขึ้นมาแบนในระยะยาวกันยากสักหน่อย
ไม่ใช่เพราะธนาคารไทยพาณิชย์นั้นทุนหนาอย่างเดียว แต่เพราะธนาคารไทยพาณิชย์นั้นมีระบบที่ค่อนข้างดี ทั้งในด้าน interface การใช้งาน มีระบบการทำงานที่สะดวก โอนก็โอนง่าย แถมมีระบบฟังก์ชั่นที่ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าแอพของธนาคารอื่นๆหลายธนาคารด้วย และยังมีบริการวิเคราะห์การใช้เงินในแต่ละเดือนให้อีกด้วย
ละไหนเดือนหน้าจะมีบริการ Robinhood เอาไว้ใข้สั่งอาหาร ที่โฆษณากันไว้ว่าจะไม่มีการเก็บค่าลงทะเบียน ค่าธรรมเนียม ไปจนถึงค่า GP (Gross profit) ใดๆอีก เรียกได้ว่าแอพของธนาคารไทยพาณิชย์นั้นเตรียมพร้อมเต็มที่ที่จะก้าวขึ้นไปสู่การเป็น Super App แล้วผูกขาดกิจกรรมหลายๆอย่างในชีวิตประจำวันคนหลายๆคนไปแล้ว
การที่จะมาปฏิเสธไทยพาณิชย์คงจะเป็นการยากสักหน่อย แล้วถามว่าถ้าเลิกใช้ไทยพาณิชย์ ท่านๆจะไปใช้ธนาคารใดกัน? จะไปกสิกร กรุงเทพ กรุงไทย หรือว่าออมสิน? ซึ่งธนาคารเหล่านั้นก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลทั้งนั้น ธนาคารกรุงเทพก็มีรายชื่อขึ้นอยู่ในโต๊ะจีนพรรคพลังประชารัฐ
ส่วนธนาคารกรุงไทยก็มีภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จะหันไปหาธนาคารออมสิน หรือธนาคาร ธอส ก็ดันติดโผอยู่ในกลุ่มเครือข่ายของมูลนิธิป่ารอยต่อ ส่วนธนาคารทหารไทยก็มีกองทัพเป็นผู้ถือหุ้น จะหันไปกสิกรไทยก็ความเชื่อมโยงกับกลุ่มชนชั้นนำ
ตอนนี้ถ้าจะแบนกันเรื่องธนาคารจริงๆ คงแทบไม่เหลือธนาคารให้ใช้กันแล้วล่ะครับ (ฝั่งเยาวชนเขาอ้างว่าถ้าจะใช้ให้ไปใช้ธนาคารกรุงศรีฯ เพราะถูกญี่ปุ่นเทคโอเวอร์ไปแล้ว หรือไม่ก็ธนาคารยูโอบี แต่เอาจริงๆธนาคารยูโอบีนี้ก็มีรายชื่อเป็นสปอนเซอร์ให้กับช่องเนชั่นอยู่ดี)
พูดง่ายๆก็คือมันเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำได้ยากมาก ถ้าจะแบน หรือบอยคอตธนาคารกันจริงๆ เป็นวิธีที่ดูแล้วไม่ยืดยาวเอาเลย ในทางระยะยาวแทบเป็นไปได้ยาก คนทำตามกันได้ลำบาก วิธีนี้คงไม่น่าจะเวิร์คง่ายๆ แถมแบนไปก็ใช่ว่าจะกระทบกับตัวบริษัทโดยตรง
เพราะว่าคนไทยจำนวนมาก หรือคนส่วนมากภายในประเทศไม่ได้มีเงินมากมายขนาดที่ว่าถอนเงินออกมาหมดปุ๊บธนาคารจะเดือดร้อน คนที่มีเงินในบัญชีเกิน 1 ล้านบาทมีอยู่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศรวมกัน ต่อให้คนไทยสักหนึ่งล้านคนถอนเงินกันหมดจากบัญชีไทยพาณิชย์ ก็ไม่น่าจะสร้างความเดือดร้อนอย่างมีนัยสำคัญอะไรให้แก่ตัวธนาคารในภาพรวมอยู่ดีครับ
ยิ่งถ้าจะหันไปหาธนาคารอื่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงไปเลยครับ เป็นไปได้ยาก ถ้าจะมานั่งเช็ค นั่งตรวจว่าธนาคารไหนมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล หรือ สายสัมพันธ์กับชนชั้นนำอะไรพวกนี้ คงไม่มีธนาคารไหนผ่านเกณฑ์ของม็อบนักศึกษาที่ตั้งขึ้นเอาไว้ได้หรอก อย่าลืมว่าธนาคารก็ดำเนินการกันแบบธุรกิจ มันแทบหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่องค์กรด้านธุรกิจเขาจะไปผูกมิตรกับกลุ่มชนชั้นนำ และกลุ่มผู้มีอำนาจภายในประเทศ
เปลี่ยนวิธี หรือเปลี่ยนเป้าหมายในการเคลื่อนไหว กดดันน่าจะง่ายกว่า จะไปแบน ไปบอยคอตบริษัทน้ำดื่ม บริษัทของกิน อาหารอะไรก็ว่าไป แบบนั้นง่ายกว่า เพราะอาหาร ของกิน เครื่องดื่ม อะไรพวกนี้มันมีทางเลือกที่หลากหลาย และไม่ได้จำกัดแบบกลุ่มธุรกิจภาคธนาคาร ผลิตภัณฑ์ทางการเงินภายในประเทศ ที่มีผู้เล่นคค่อนข้างน้อยราย (อย่างสมมติถ้าท่านเกลียดธุรกิจน้ำ....อะไรอย่างนี้ ท่านยังพอไปหาน้ำยี่ห้ออื่นๆมาแทนได้ แต่ธนาคารนี้ยังไงก็ยากน่ะ)
โฆษณา