22 ก.ย. 2020 เวลา 01:18 • ประวัติศาสตร์
ว่าด้วยเรื่องของการ "ปักหมุด" ในแง่ของวิทยาศาสตร์สังคม และ ในแง่ของไสยศาสตร์,โหราศาสตร์
ถ้าจะให้พูดถึงเรื่องการปักหมุด มันก็มีทั้งในแง่ของสังคมศาสตร์และในแง่ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์กับโหราศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งคู่ครับ
ที่มาของการปักหมุดเชิงสัญลักษณ์ทางสังคมมีมาอย่างไร ผมจึงขอย้อนความเล่าไปถึงในช่วงของการทำรัฐประหารครั้งสำคัญของรัสเซียและหนังสือเล่มหนึ่ง
หนังสือเล่มนั้นคือ “เทคนิคคุปเดต้า” (Technique du Coup d’ Etat) เป็นงานเขียนของ คูร์สิโอ มาลาปาร์เต นักประพันธ์ นักแต่งบทละคร และนักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาเลียน พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในภาษาฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1931 (พ.ศ.2474)
นอกจาก “เทคนิคคุปเดต้า” จะเป็นเครื่องมือที่ทำให้มาลาปาร์เตมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลกแล้ว ยังทำให้เขาได้รับชะตากรรมอันเลวร้าย จนถูกจอมเผด็จการมุสโซลินีจับขังคุกอยู่หลายเดือน และถูกเนรเทศปล่อยเกาะอีกหลายปี เพราะถือว่า“เทคนิคคุปเดต้า” เป็นคู่มือของการทำรัฐประหาร ทั้งมุสโซลินีและฮิตเลอร์ต่างเกลียดชังหนังสือเล่มนี้มาก
แต่ทว่าผู้มีอำนาจอีกหลายประเทศกลับเห็นว่าเป็นคู่มือในการป้องกันพวกนิยมทำรัฐประหารมิให้แย่งชิงอำนาจด้วยการใช้กำลัง
ในหนังสือ “เทคนิคคุปเดต้า” มาลาปาร์เตได้เผยว่าถึงเรื่องราวของ เลออง ทร็อตสกี้ นักการเมืองหัวรุนแรงของรัสเซีย ซึ่งเป็นคู่หูของ เลนิน เป็นผู้ริเริ่มนำยุทธวิธีทำรัฐประหารแนวใหม่นี้ มาปรับใช้เป็นรายแรกของโลก ทำให้พรรคบอลเชวิกโค่นล้มรัฐบาลนายเกอเรนสกี้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ได้อย่างง่ายดายโดยไม่มีใครคาดคิด
เลนินจะเลือกใช้วิธียุยงประชาชนให้กระด้างกระเดื่องต่อการปกครองของรัฐบาลเกอเรนสกี้ และทำให้ประเทศรัสเซียตกอยู่ใต้อิทธิพลของมวลชนกรรมาชีพ
จากนั้นจะให้สัญญาณแก่ประชาชนทั้งประเทศลุกฮือขึ้นยึดอำนาจ แล้วตนเองจะไปปรากฏตัวต่อที่ประชุมสภาโซเวียต บังคับหัวหน้าพรรคเมนเชวิกที่กุมเสียงข้างมากในสภาให้ล้มรัฐบาลเกอเรนสกี้ แล้วจึงสถาปนาระบอบเผด็จการแห่งชนกรรมาชีพขึ้น
แต่ทว่าเลออง ทร็อตสกี้กลับเห็นว่า เลนินคิดแต่ยุทธศาสตร์ของการปฏิวัติ ไม่ได้คิดถึงยุทธวิธีของการยึดอำนาจ
ทร็อตสกี้เห็นว่าแผนการของเลนินเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนและกว้างเกินไป ต้องใช้คนเป็นจำนวนมาก ดูเป็นการทำสงครามมากกว่าการทำรัฐประหาร แต่ยุทธวิธีของทร็อตสกี้ต้องการคนเพียง 1,000 คน ทุ่มกำลังลงเฉพาะเป้าหมายสำคัญ ตีให้ตรงและให้แรง ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ไม่ต้องรอสถานการณ์หรือดูฤกษ์ยามใดๆ ทำเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อพร้อมที่จะทำ
แม้ว่าเลนินจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีนี้ก็ตามของยุทธวิธีทำรัฐประหารของทร็อตสกี้ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่มีใครเคยใช้มาก่อน และไม่มีใครคาดคิด
ทร็อตสกี้ และ เลนิน
ที่ผ่านมาการทำรัฐประหารก่อนหน้านั้นมุ่งแต่จะยึดที่ทำการรัฐบาล บุกจับกุมตัวคณะรัฐมนตรี แต่ทร็อตสกี้ไม่สนใจในเรื่องเหล่านั้นเลย เขามุ่งแต่จะยึดที่ทำการด้านเทคนิคต่างๆ เช่น ที่ทำการโทรเลข สถานีวิทยุ โรงไฟฟ้า ระบบคมนาคม รวมทั้งปล่อยให้ข่าวลือโจมตีด้วยตัวมันเอง จนทำให้ประชาชนให้เชื่อว่าการยึดอำนาจนั้นได้ดำเนินการสำเร็จ
ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลที่กลับโฟกัสไปกับการทุ่มกำลังตำรวจและทหารยึดที่มั่นอารักขาตามสถานที่ทำการหลักของฝ่ายบริหารหลายแห่ง
ทร็อตสกี้ได้วางแผนรอจังวะ ทุ่มกำลังให้หน่วยจู่โจมบุกเข้ายึดวังฤดูหนาวจนสำเร็จ และคณะรัฐมนตรีทั้งหมดตกเป็นเชลย
มีข้อสังเกตุให้เห็นว่าการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ของไทยได้ใช้ยุทธวิธีของทร็อตสกี้
และหลังจากนั้นเพียงสองปีฝ่ายยึดอำนาจก็ได้ใช้วิธีนี้อีกครั้ง แต่เป็นการทำรัฐประหารเพื่อนำประชาธิปไตยกลับคืนมาจากคณะราษฎรแทน
ภาพเก่าเหตุการณ์ปฏิวัติสยาม 2475
ในช่วง พ.ศ. 2473 นั้นนี่เองที่หนังสือ “เทคนิคคุปเดต้า” หรือ "คู่มือรัฐประหาร" ได้พิมพ์ออกมาครั้งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศส และต่อมาหลายฝ่ายในประเทศไทยได้เรียนรู้อย่างรวดเร็ว นำมาใช้เพื่อโค่นล้มกันเองหลายต่อหลายครั้ง
หนึ่งในผู้ที่กล้าเผยต่อสาธารณะชนว่าตนเองได้ใช้ตำรานี้เป็นคู่มือทำรัฐประหารมาตลอด บุคคลท่านนั้นก็คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะผู้ทำการรัฐประหารและผู้ที่เคยเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐประหารมาหลายแล้วหลายต่อหลายครั้ง
จนภายหลัง จ.พันธุมจินดา ต้องนำตำราชิ้นนี้มาแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ “เทคนิครัฐประหาร” จนเป็นหนังสือขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง
และประเด็นนี้เกี่ยวเนื่องอะไรกับหลักหมุดล่ะ?
ตามหลักทฤษฎีหลายอย่างในหนังสือนั้นเกี่ยวเนื่องกันเป็นกลยุทธการต่อสู้ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็น 1.การวางแผนกุลยุทธ 2.การสร้างการก่อตัวทางสังคม 3.การออกปฎิบัติการสร้างวาทะกรรมและสัญลักษณ์
ข้อที่ 3 นี่แหละครับที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างวาทะกรรมและสัญลักษณ์ คือที่มาของ
"การปักหมุด"
การปักหมุด คือ สิ่งที่เปรียบได้ดั่งการปฏิวัติสยามเพื่อให้คนรุ่นต่อๆไปภายหลังได้จดจำเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย
สิ่งที่คณะราษฎรทำทิ้งไว้ไม่เพียงแต่การปักหมุดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งทั้งหมดนี้ได้ดำเนินการตามทฤษฎีในหนังสือ “เทคนิคคุปเดต้า” หรือ "คู่มือรัฐประหาร"
สัญลักษณ์ที่ทิ้งไว้เพื่อส่งต่อเรื่องราวให้คนรุ่นหลังกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ใช้ยึดถือกันต่อเรื่อยมาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหรือการปฎิรูปแก้ไข ซึ่งผมจะสื่อให้เห็นว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์หรือระบบประชาธิปไตย หลายประเทศต่างนำทฤษฎีนี้มาใช้เป็นกลยุทธเพื่อยึดอำนาจโดยชอบธรรมทั้งสิ้น
ภาพจาก ข่าวสด
และการปักหมุดในแง่ของไสยศาสตร์,โหราศาสตร์ล่ะ ?
แน่นอนครับ ความเชื่อของคนไทยคงหนีไม่พ้นเรื่องพวกนี้ การปักหมุดครั้งนั้นมีการประกอบพิธีบางอย่างจริงและลงหลักหมุดไว้บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า
ตามเอกสารอ้างอิงจากพิธีฝังหมุดที่พระลานพระบรมรูปทรงม้าได้บรรยายเอาไว้ว่า
“...เวลาเช้า เจ้าหน้าที่จะได้เตรียมการจัดตั้งปรำและฉัตรเบญจา อาสนสงฆ์ไว้พร้อมสรรพเวลาบ่าย ๑๔.๓๐ นาฬิกา พระสงฆ์วัดเบญจมบพิตรมีพระธรรมโกศาจารย์เป็นประธาน รวม ๙ รูป พร้อมกัน ณ. อาสนสงฆ์ที่เตรียมไว้
เมื่อนายกรัฐมนตรีมายังโรงพิธี เจ้าพนักงานสังฆการีอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล แล้วเจริญพระปริตต์ตามสมควร เสร็จแล้วพรมน้ำมนตร์และเจิมหมุดที่หลุม ครั้นแล้วนายกรัฐมนตรี เริ่มจับหมุดฝังเป็นปฐมฤกษ์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาจบแล้ว นายกรัฐมนตรีประเคนเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา แล้วเป็นเสร็จพิธี..”
“หมุดคณะราษฎร” ชื่อทางการคือ “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” เป็นหมุดทองเหลืองสร้างฝังอยู่กับพื้นถนนบนลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร มีข้อความว่า
"ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"
พีธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479 โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือ หัวหน้าคณะราษฎร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ฝังหมุด เพื่อเป็นที่ระลึกและสัญลักษณ์ในการเปลี่ยนแปลงของคณะผู้ก่อการปฎิวัติ
โดยการปักหมุดบริเวณถนนลานพระบรมรูปทรงม้าในอาณาบริเวณของเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต คือ นัยยะบางอย่างของความเชื่อที่เกี่ยวกับการครอบเมืองซึ่งสามารถอิงความเชื่อนี้ได้จากประวัติศาสตร์ของสยามกับเจ้าเมืองล้านนา
วังของเจ้าเมืองเชียงใหม่
ครั้งนั้นสยามหรือรัฐบาลกรุงเทพฯสามารถเข้าปกครองอาณาจักรล้านนาได้สำเร็จและผนวกล้านนาให้มาอยู่ภายใต้อิทธิพลกรุงเทพฯ
ขณะนั้นเวียงแก้วหรือวังของเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ถูกปล่อยรกร้าง เจ้าผู้ครองนครได้ย้ายที่ประทับออกจากเวียงแก้วไปหลายพระองค์ นอกจากสยามจะรื้อคุ้มเจ้าหลวงหรือหอคำของอาณาจักรล้านนาหลายแห่งแล้ว
เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.2468
สยามได้ทำการนำพื้นที่เวียงแก้วมาสร้างเป็นเรือนจำประจำมณฑล​พายัพ หรือเรียกว่า "คอกหลวง"
จนถูกคัดค้านจากคนในพื้นที่ โดยคนท้องถิ่นมีความเชื่อและมองกันว่าเป็นการก่ออัปมงคลแก่เมืองเชียงใหม่ และในส่วนของอีกหลายเมืองทางเหนือแม้ว่าจะไม่มีการสร้างคุกทับสถานที่สำคัญ
แต่ทางลำพูนมีการสร้างคุกอยู่ตรงข้ามกับพระบรมธาตุหริภุญชัย และทำการรื้อ “วัดแสนข้าวห่อ" แล้วสร้างคุกเพื่อขังนักโทษแทน โดยมีเรือนจำกลางจังหวัดลำพูนอยู่ตรงข้ามวัดพระธาตุหริภุญชัยแต่ภายหลังจึงมีการรื้อเรือนจำดังกล่าวออกไป
จะเห็นได้ว่าสถานที่เดิมซึ่งเคยเป็นพื้นที่เขตพระราชฐานของเจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านนาหลายแห่งกลับมีสิ่งก่อสร้างเพื่อสะกดไว้โดยสิ่งอัปมงคล เป็นการต่อสู้อีกทางหนึ่งโดยใช้ความเชื่อทางไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ซึ่งมีกันมาแต่โบราณกาล
การครอบเมืองโดยสิ่งอัปมงคล หรือ การปักหมุดสัญลักษณ์บางอย่างลงในสถานที่ที่สำคัญของประเทศ คือความเชื่อหนึ่ง ที่คนไทยได้ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโหราศาสตร์และไสยศาสตร์
และแม้ว่าการเมืองจะระอุเพียงใด คงปฎิเสธไม่ได้ว่า การต่อสู้ในแง่ของวิทยาศาสตร์สังคมและความเชื่อทางไสยศาสตร์กับโหราศาสตร์ ยังคงมีมาให้เห็นอยู่เนืองๆจนถึงปัจจุบัน
สุดท้ายนี้ ผมขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนและประเทศชาติ เกิดความสามัคคี สามารถหาทางออกร่วมกันได้อย่างสันติสุข ครับ...
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
อ้างอิง:
- เทคนิครัฐประหาร โดย จินดา จินตนเสรี (จ.พันธุมจินดา)
- ประชาธิปไตย-เผด็จการของเมืองไทย ดีเลวพอกันขึ้นกับ"ตัวบุคคัล" โดย โรม บุญนาค
โฆษณา