22 ก.ย. 2020 เวลา 08:00 • กีฬา
17 ปี 40 คน : 'ปาแลร์โม่' สโมสรในอิตาลี ที่ตั้งโค้ชแบบวนลูปวนไปวนมา | MAIN STAND
จะมีทีมไหนที่ปลดโค้ชคนเดิมออกจากตำแหน่ง 4 ครั้ง แถมยังด่าแบบสาดเสียเทเสีย แต่กลับยังยื่นสัญญากลับมาให้ทีมทีมใหม่อีก 4 หน และเปลี่ยนโค้ช 11 คนใน 2 ฤดูกาลอย่าง ปาแลร์โม่ อีกไหมบนโลกนี้ ?
ในขณะที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน และ อาร์แซน เวนเกอร์ ทำทีม ๆ เดียวได้ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ แต่ที่ ปาแลร์โม่ กลับเปลี่ยนโค้ชถึง 40 ครั้งภายในเวลาแค่ 17 ปีเท่านั้น
เราคิดว่าไม่น่าจะมีการปลดและตั้งโค้ชที่ระห่ำกว่านี้อีกแล้ว และนี่คือเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังกับเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาจึงเปลี่ยนโค้ชเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้าได้ขนาดนี้ ?
ติดตามกับ Main Stand ได้ที่นี่
ทุก ๆ อย่าง เริ่มจากคน ๆ เดียว
สำหรับวงการฟุตบอลอิตาลีมีเรื่องที่ชวนคาดไม่ถึงมากมายเหลือเกิน และหนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของสโมสร ปาแลร์โม่ นับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมาที่ทีมได้ขึ้นมาสู่ลีกสูงสุดของประเทศโดยการบริหารของประธานผู้มาใหม่ เมาริซิโอ ซามปารินี่ ชายผู้เขียนเรื่องราวให้กับสโมสรของตนเองได้ซับซ้อนและหักมุมยิ่งกว่าผู้กำกับหนังฮอลลีวู้ดคนไหน ๆ
ซามปารินี่ จัดว่าเป็นนักธุรกิจในระดับเศรษฐี มีธุรกิจในมือมากมายโดยเฉพาะการบริหารห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่าง Emmezeta ก่อนที่เขาจะเริ่มสนใจธุรกิจทำทีมฟุตบอลในช่วงปี 1987 โดยเป็นการซื้อทีมล้มละลายที่ชื่อว่า เวเนเซีย และปลุกชีพให้ เวเนเซีย ที่เล่นในระดับดิวิชั่น 4 ของประเทศ ก้าวขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดอย่าง เซเรีย อา ได้ในเวลาแค่ไม่กี่ปี
เมื่อสร้างมูลค่าทีมได้จากการเลื่อนชั้น ซามปารินี่ ก็ขาย เวเนเซีย ให้กับกลุ่มทุนใหม่เพื่อเอากำไรในปี 2002 ซึ่งถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองของฟุตบอลอิตาลี แต่ความมันในอารมณ์กับการทำทีมฟุตบอลยังฝังใจ เขายังคงชื่นชอบการถูกสรรเสริญจากแฟนฟุตบอลเหมือนกับตอนที่ทำ เวเนเซีย เขาเลยรวบรวมทุนอีกครั้งเพื่อซื้อทีมเล็ก ๆในลีกรองอย่าง ปาแลร์โม่ ที่มีตระกูล เซนซี่ (เจ้าของของ โรม่า ในเวลานั้น) เป็นเจ้าของ จุดประสงค์ของ ซามปารินี่ ก็เพื่อต้องการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับทีม และนั่นเองคือจุดที่เรื่องราวทั้งหมดเริ่มถูกเขียนขึ้นอย่างออกรส
หากจะเริ่มให้ถูกต้องเราควรเริ่มที่ ซามปารินี่ บริหารทีมแบบไหน เป็น CEO ประเภทใด ... และคำตอบคือ "เขาเป็นคนแก่ขี้เอาแต่ใจ" คำนี้ง่ายที่สุดที่จะอธิบายถึงการทำงานในแบบ ซามปารินี่ เขาอยากได้อะไรต้องได้ ... ใครขัดคอเมื่อไหร่รับรองว่ารู้เรื่องภายในเวลาไม่กี่วันแน่นอน
ซามปารินี่ เข้ามาสู่ทีมในปี 2002 โดยตั้งเป้าหมายว่าวันหนึ่งจะได้แชมป์สคูเด็ตโต้ให้ได้ และจุดแข็งของเขาคือการพยายามขยายเครือข่ายหาผู้สนับสนุนเข้ามาช่วยให้ทีมมีเงินซื้อตัวนักเตะเข้ามาเสริมทัพ และแน่นอนว่าการอยู่ในวงการมานานตั้งแต่ปี 1987 เส้นสายคอนเน็คชั่นของ ซามปารินี่ จัดว่ากว้างไกล เขามีทีมงานที่เชื่อใจได้และพร้อมรับอารมณ์ของเขา รวมถึงมีความสนิทสนมกับเหล่าเอเย่นต์ที่พร้อมจะนำของดีมามอบให้เขาอีกด้วย
แม้การมีคอนเนคชั่นที่ดีจะทำให้ทีมมีเงินทุนไว้คอยดึงตัวนักเตะมาร่วมทัพ แถมยังมีเอเย่นต์มือดีที่ชื่อว่า จอห์น วิโอล่า ขนาบข้าง ณ ตอนนั้น ปาแลร์โม่ สามารถใช้ระบบซื้อมาขายไป ทำกำไรให้ทีม และยังหาตัวใหม่มาทดแทนได้ตลอด และทีมชุดแรกที่เขย่าลีกรองก็เริ่มขึ้นโดยเริ่มจากการดึงตัว ฟรานเชสโก้ กุยโดลิน เข้ามาทำทีมในปี 2004 และตามด้วยนักเตะชุดใหญ่ชุดสำคัญที่ทำให้ ปาแลร์โม่ ถูกรู้จักในวงกว้าง
ดีแค่ไหนก็ไม่ได้ใจเธอ
กุยโดลิน พร้อมลูกทีมอย่าง ลูก้า โทนี่, ยูเจนิโอ คอรินี่, ฟาบิโอ กรอสโซ่ และ 2 พี่น้องฟิลิปปินี่ คือทีมงานชุดพาทีมเลื่อนชั้นสู่ เซเรีย อา ในปี 2004 และถูกจดจำในฐานะจอมล้มยักษ์แห่ง เซเรีย อา ณ เวลานั้น ก่อนใช้เวลาเพียงปีเดียวสามารถจบอันดับ 5 ไปเล่นฟุตบอล ยูโรปา ลีก ได้อีกด้วย
ความจริงทีมควรจะไปในทิศทางที่ดีหากเขาปล่อยให้ กุยโดลิน และทีมงานซื้อขายดำเงินงานตัวเองต่อไปตามทิศทางการการสร้างทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง ทว่าในการบริหารงานแบบ "ข้าเป็นใหญ่" คำสั่งของเขาถือเป็นคำเด็ดขาด การประชุมบอร์ดบริหารมีขึ้นเพื่อพยักหน้าตามที่เขาสั่งเท่านั้น
นั่นคือเหตุผลที่ว่า ปาแลร์โม่ จึงเป็นทีมที่ไม่มีความนิ่งเลย กล่าวคือจะบอกว่าเป็นทีมกลางตารางก็ไม่ใช่ หัวตารางก็ไม่เชิง หรือจะบอกว่าเป็นทีมหนีตายก็ไม่ถูกต้องทั้งหมด พวกเขามีฤดูกาลที่แปลกแตกต่างกันออกไปแบบจับทางไม่ถูก เหตุผลง่าย ๆ ที่เป็นเช่นนั้นคือโค้ชของพวกเขาไม่เคยซ้ำหน้ากันเกินครึ่งปีเลยนับตั้งแต่ ซามปารินี่ เข้ามาซื้อทีม
แม้แต่ กุยโดลิน ที่ทำทีมได้ดีที่สุดและมาไกลที่สุดก็ยังโดน ซามปารินี่ ปลดออก แถมไม่ได้แค่ครั้งเดียว แต่ถึง 4 ครั้ง ที่กุยโดลิน ผิดใจกับเขาและ ซามปารินี่ ก็ปลดเขาออกทันที โดยในช่วงปี 2006-07 กุยโดลิน โดนเด้งออกในเดือนเมษายน ทว่าหลังจากนั้นเดือนเดียว ซามปารินี่ ก็ดึงตัวเขากลับมาคุมทีมใหม่ แต่หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือน(มิถุนายน) เขาก็โดนไล่ออกจากตำแหน่ง ... เข้า ๆ ออก ๆ เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น
"การอยู่ในตำแหน่งกุนซือ ปาแลร์โม่ ได้รวมถึง 126 เกม ภายใต้การมีเจ้านายอย่าง ซามปารินีถือเป็นงานที่ยิ่งกว่าประสบความสำเร็จ มั่นใจได้เลยว่าประสบการณ์ทำงานของเขาจะต้องไม่เหมือนใครแน่ การรับมือกับ ซามปารินี่ นั้นหนักหน่วงและไม่แปลกเลยที่จะมีเพียงแค่ กุยโดลิน เท่านั้นที่ทนได้" นี่คือสิ่งที่ Il Giornale di Sicilia บรรยายถึงความยากลำบากในการทำงานของกุนซือของ ปาแลร์โม่ ในวันที่ เมาริซิโอ ซามปารินี่ เป็นประธานสโมสร
ชายชราอารมณ์ร้อนพร้อมจะด่าทุกคนที่ขวางหน้า และตัดสินใจได้ราวกับสายฟ้าแลบ ถ้าเขาไม่ชอบคือไล่ออกเลย ณ ตอนนั้น แต่ถ้าเขาอารมณ์ดีขึ้นเมื่อไหร่เขาก็พร้อมจะกลับมาง้อคนที่เขาเคยด่าออกสื่อ
"ฟรานเชสโก้ กุยโดลิน คือคนที่เก่งที่สุดที่ผมเคยจ้าง แต่ยังมีคนเก่ง ๆ อีกหลายคนที่เคยทำงานกับผมทั้ง ลูชาโน่ สปัลเล็ตติ, อัลแบร์โต้ ซัคเคโรนี่, เซซาเร่ ปรันเดลี่ และ จามเปาโล เวนตูร่า เป็นต้น" ซามเปรินี่ กล่าว
"มันมีหลายอย่างเกิดขึ้น ยกตัวอย่างนะ โค้ชอย่าง เวนตูร่า เนี่ยเก่งอยู่นะ แต่เขาเป็นโค้ชทีมใหญ่ไม่ได้หรอก เขาเป็นพวกชอบเก็บตัว นิสัยไม่ค่อยเปิดเผยเท่าไหร่ และนั่นคือเหตุผลที่ทำไมผมถึงไล่เขาออก" นี่คือหนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่ยืนยันได้ว่า ซามปารินี่ มีนโยบายการทำทีมที่ร้อนแรงขนาดไหน
นอกจาก กุยโดลิน แล้วยังมีโค้ชอีกหลายคนที่เคยคุมทีม ปาแลร์โม่ 2 ครั้งขึ้นไปได้แต่ ซิลิโอ บัลดินี่, สเตฟาโน่ โคลันทูโอโน่, เดลิโอ รอสซี่, จาน ปิเอโร กาสเปรินี่, ดาวิเด้ บายาร์ดินี่ และ จูเซปเป้ ซานนิโน่ โดยระยะการทำงานของพวกเขาเหล่านี้ไม่มีใครเคยมีอายุงานเกิน 6 เดือนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ... ไม่ว่าจะผลงานดีหรือแย่ ขอแค่คุณอยู่ไม่เป็น คุณก็พร้อมจะโดนเด้งแทบทุกนาที หรือถ้าไม่โดนเด้งก็ต้องลุ้นว่าเขาจะปฎิบัติกับคุณอย่างไร
ริโน่ ฟอสชี่ อดีตผู้อำนวยการฟุตบอลของ ปาแลร์โม่ เคยเล่าว่าครั้งหนึ่งเขาพูดในสิ่งที่ไม่เข้าหู ซามปารินี่ ผลคือเขาโดนตบหน้า และหลังจากนั้นไม่กี่วันให้หลังเขาก็โดนไล่ออก
"ซามปารินี่ เป็นคนที่ต้องการมีส่วนร่วมในทุกการตัดสินใจของสโมสร เรามีประวัติการเลือกใช้โค้ชที่เลวร้ายมากเลยนะ หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ จูเซ็ปเป้ ปาปาโดปูโล่ ก่อนหน้าที่เขาจะเข้ามา ลุยจิ เดลเนรี่ คุมทีมแพ้ เซียน่า ในเกมวันอาทิตย์ จากนั้นนักข่าวก็บอกว่า จิจี้ เดลเนรี่ ได้ถูกไล่ออกไปแล้ว โดยที่ผมยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น" อดีตผู้อำนวยการฟุตบอลของ ปาแลร์โม่กล่าว
"เช้าวันรุ่งขึ้นผมไปที่บ้านของ ซามปารินี่ และพบว่ามี ปาปาโดปูโล่ อยู่ก่อนแล้ว ผมเริ่มบอก ซามปารินี่ ว่าการเลือกเขาคือการตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่เขาก็ตบหน้าผมและไล่ผมออกในวันต่อมา"
"ผมตกงานได้ไม่นาน ซามปารินี่ ก็โทรมาหาผมหลัง ปาปาโดปูโล่ พาทีมแพ้ 2 เกมติด 'นี่แกคิดว่าเขาไม่ไหวจริง ๆ เหรอ ? งั้นแกรีบกลับมาทำงานเลย' ผมบอกว่าเขาไม่ไหวจริง ๆ จากนั้น ซามปารินี่ ก็ฟังผมและแต่งตั้งกุยโดลิน คนที่เขาเพิ่งปลดจากตำแหน่งมาเป็นโค้ชอีกครั้ง"
เขายอมรับว่าการทำงานกับ ซามปารินี่ ยากมาก เพราะตาเฒ่าอารมณ์ร้อนนั้นอยากจัดการทุกอย่างเอง และไม่เคยให้อิสระที่แท้จริงกับใครเลย ที่เป็นสาเหตุทำให้ ปาแลร์โม่ ใช้โค้ชมากกว่า 40 คน นับตั้งแต่ปี 2002 จนถึง ปี 2017
นอกจากนี้ ด้วยระบบการปลดโค้ชของอิตาลี ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ซามปารินี่ ใช้โค้ชแบบวนลูป กล่าวคือสำหรับทีมในอิตาลีส่วนใหญ่ แม้จะประกาศไล่โค้ชออกจากตำแหน่ง แต่เป็นการปลดออกจากตำแหน่งเฮดโค้ชเท่านั้น
กุนซือเหล่านั้นยังคงรับเงินเดือนอยู่กับสโมสร เพียงแต่ไม่ได้มีหน้าที่ทำอะไร ทำให้เมื่อไล่คนเก่าออก ก็สามารถดึงคนที่แขวนเอาไว้มาแทนที่ เพราะอย่างไรก็รับเงินเดือนกับทีมอยู่แล้ว ในขณะที่ถ้าหากพวกเขาต้องการย้ายไปคุมทีมอื่น ก็เพียงแค่ยกเลิกสัญญาด้วยความยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งเหล่านี้เป็นการหลีกเลี่ยงการต้องจ่ายเงินชดเชยค่าฉีกสัญญาจำนวนมหาศาล
และนี่ก็เป็นคำตอบที่ว่า ทำไมกุนซือของ ปาแลร์โม่ จึงเป็นหน้าเดิม ๆ อยู่บ่อย ๆ ที่เข้ามาคุมทีม 2-3 รอบ ภายในเวลาไม่กี่ปีนั่นเอง
ทุกอย่างล้วนมีที่มา
สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบคาดเดาไม่ได้ แล้วแต่อารมณ์คนเดียวขนาดนี้ มีการสำรวจมาว่ามันเกิดขึ้นเพราะระบบเจ้าของสโมสรในฟุตบอลอิตาลี ซึ่งแตกต่างจากลีกอื่น ๆ ที่มีการลงความเห็นจากกลุ่มผู้ถือหุ้น มีซีอีโอมืออาชีพเข้ามาบริหารโดยเฉพาะ ขณะที่ประธานมีหน้าที่ตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ลงมาเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในสโมสร
มาร์ค ดอดจ์ นักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย ไบรท์ตัน ที่เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมฟุตบอลในประเทศ อิตาลี ให้ทรรศเกี่ยวกับเรื่องของ ซามปารินี่ ว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย เพราะมันคือความล้มเหลวของระบบเจ้าของทีมในลีกอิตาลี
"สโมสรจะถูกควบคุมโดยชายคนเดียวที่มีความเชื่อมโยงกับการเมือง และเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวย และเขาคนนั้นเป็นคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดห้ามโต้เถียง เสียงของแฟนฟุตบอลไม่ได้มีความหมายอะไร" มาร์ค ดอดจ์ กล่าวในบทความของเว็บไซต์ vice.com
นอกจาก ซามปารินี่ แล้ว มาร์ค ดอดจ์ ยังชี้ตัวอย่างอีกหลายรายทั้ง ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ เจ้าของสโมสร เอซี มิลาน ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่ต่างกัน และตอนจบของ มิลาน ในยุคของเขาก็ย่ำแย่จนต้องขายทีมทิ้งให้กลุ่มทุนจากจีนอีกด้วย ... เรียกว่าระบบนี้ถ้าได้เจ้าของที่ดี มีความรักต่อทีมและมีวุฒิภาวะในการบริหารก็ถือว่าเป็นการถูกหวย โชคดีไป แต่ถ้าโชคร้าย สโมสรก็ต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของคน ๆ นั้นให้ได้ ดังที่เกิดขึ้นกับ ปาแลร์โม่ ในช่วงทศวรรษหลัง
อย่างไรก็ดี แม้จะโดนวิจารณ์อย่างหนัก แต่ซามปารินี่ กลับมองว่าตัวเขาไม่ได้เป็นฝ่ายผิด หรือสมควรโดนโจมตีอะไรขนาดนั้น เขาบอกเสมอว่าในการเปลี่ยนโค้ชแต่ละครั้ง ก็มีเหตุผลที่มาจากเรื่องของผลงานทั้งสิ้น เขาแค่ไม่อยากรอให้ความผิดพลาดดำเนินไปมากกว่านี้ ในบางครั้งจึงมีการปลดกุนซือหลังจากคุมทีมไปไม่กี่เกม
กรณีนี้มีตัวอย่างจากการปลด วอลเตอร์ โนเวลลิโน่ ที่เข้ามาคุมทีมในเดือนมีนาคม และโดนปลดออกในเดือนเมษายนปี 2016 นั่นเอง
“หลายคนบอกว่าผมบ้า แต่มันไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย บางทีผมก็รู้สึกว่าผมเป็นเหยื่อของสื่อ" เขาว่ากับ Radio 24
"สภาพของ ปาแลร์โม่ ดูไม่ได้เลย เราแพ้แบบหมดรูป 2 เกมหลังสุดเราเสียไป 6 ลูก คุณคิดว่ามันง่ายเหรอในการปฎิบัติต่อ โนเวลลิโน่ แบบนั้น เราจะตกชั้นแน่หากว่าเราไม่มีความคิดที่จะอยู่รอด"
โนเวลลิโน่ คือโค้ชคนที่ 8 ของ ปาแลร์โม่ ในฤดูกาล 2015-16 และการพยายามดิ้นของเขาทำให้ทีมรอดตกชั้นด้วยการคว้าอันดับ 16 ของฤดูกาล
แต่เช่นเดียวกันที่ความดื้อดึงและใจร้อนของเขาส่งผลเสีย เพราะอีก 1 ปีต่อมา ปาแลร์โม่ ใช้เฮดโค้ชถึง 5 คนในฤดูกาล 2016-17 … ซึ่งสุดท้ายพวกเขาตกชั้นด้วยการเป็นรองบ๊วยของ เซเรีย อา
ผลกระทบที่ตามมา
การปลดโค้ชเข้า ๆ ออก ๆ จนทำให้ระบบทีมที่เคยดีในช่วงก่อนหน้านี้หายไปหมด ปาแลร์โม่ มาถึงขาลงแบบจริงจังในช่วงปี 2016 เป็นต้นมา ฤดูกาล 2016-17 พวกเขาตกชั้นลงสู่ เซเรีย บี ซึ่งในปีนั้น ซามปารินี่ ประกาศปลดตัวเองจากการเป็นประธานและแต่งตั้ง พอล บาคาญินี่ เข้ามาเป็นประธานคนใหม่ เพื่อที่เจ้าตัวจะหากลุ่มทุนใหม่เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรแทนตัวเอง
มาถึงตรงนี้ยิ่งทำก็ยิ่งเละเสียแล้ว เพราะวงการฟุตบอลอิตาลีซบเซาและมีปัญหาทางด้านการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะทีมที่ไม่ได้เป็นทีมที่เป็นแม่เหล็กนั้นไม่มีทางหลีกหนีปัญหานี้พ้น ปาแลร์โม่ เองก็เช่นกัน เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อ ซามปารินี่ ยังต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฟอกเงิน
วิธีการฟอกเงินของ ซามปารินี่ คือการขายแบรนด์เกี่ยวกับ ปาแลร์โม่ให้กับบริษัทที่เขาจ้างขึ้นมาเพื่อตบแต่งเลขบัญชี ก่อนจะซื้อกลับมาในราคาถูก ๆ เพื่อปิดบังตัวเลขการขาดทุนที่แท้จริง เจตนาก็เพื่อจะซ่อนหนี้ทั้งหมดให้ทีมที่เข้ามาเทคโอเวอร์ใหม่นั่นเอง ซึ่งก็ไม่เคยได้มีใครหลงกลนี้ หนักข้อที่สุดคือการโดนตัดสินว่า ซามปารินี่ ผิดจริง จนเสียสิทธิ์การเป็นเจ้าของทีมไปโดยปริยาย
แต่มันยังไม่จบเท่านั้นเพราะ ปาแลร์โม่ ยังโดนสั่งให้ต้องไปแข่งขันในเซเรียดี (ดิวิชั่น 4 ของประเทศ) ในปี 2019 จากปัญหาการเงินอีกด้วย โดยการลงต่ำสุดครั้งนี้ได้รับการชุบชีวิตโดยนายกเทศมนตรีของเมืองอย่าง เลลูกา ออร์แลนโด้ รวมถึงกลุ่มเศรษฐีใน ซิซิเลีย ที่ต้องการทำทีมประจำเมืองให้กลับมาอยู่ในลีกสูงสุดอีกครั้ง
Photo : as.com
ทว่าสถานการณ์ตอนนี้ยากเย็นถึงขีดสุด เนื่องจากนับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 สโมสรฟุตบอลไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต่างก็ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งแม้จะคว้าแชมป์เซเรียดีในฤดูกาล 2019-20 ได้เลื่อนชั้นสู่เซเรียซี ในฤดูกาล 2020-21 ทุกวันนี้ ปาแลร์โม่ ก็ยังต้องดิ้นรนในลีกล่างของประเทศต่อไป ...
นั่นคือเรื่องราวของคน ๆ เดียวที่สร้างทุกอย่าง และทำลายทุกอย่างภายใน 17 ปีอย่างแท้จริง
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา