22 ก.ย. 2020 เวลา 14:16 • ปรัชญา
”หมอลำขอข้าว”
หมอลำ เป็นศิลปวัฒนธรรมการแสดงของชาวอีสาน ที่อยู่คู่ชาวอีสานมาช้านาน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันได้มีการปรับปรุงวงให้ยิ่งใหญ่อลังการเป็นเวทีคอนเสิร์ตระดับประเทศ
สมัยก่อนการร้องหมอลำ ถือเป็นการแสดงศิลปะความบันเทิงของชาวอีสาน มีการรวมกลุ่มกันตั้งวงเป็นคณะหมอลำ
โดยในสมัยก่อน ประเพณีชาวอีสานเวลาจัดงานบุญนิยมจ้างหมอลำ เพื่อไปเป็นมหรสพสมโภชเสพงันในงานเพื่อให้ความบรรเทิง
ฤดูกาลรับงานแสดงของหมอลำก็จะเริ่มตั้งแต่หลังช่วงออกพรรษาไปจนถึงช่วงต้นฤดูฝน
เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนคณะหมอลำ ก็จะพากันหยุดพักวงเพื่อทำนา ในช่วงนี้ละเมื่อเสร็จจากหน้านาก็เป็นอันว่างงาน บรรดาหมอลำก็จะรวมกลุ่มกันเล็กๆ 4-5 คน เดินสายไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อทำการแสดงหมอลำ
โดยหมอลำขอข้าวสมัยก่อน จะนิยมแสดงตอนกลางคืนตามลานวัด กางผ้าฉากกับพื้น พอถึงเวลาแสดงก็จะมีตัวพระเอก นางเอกออกมาแสดง “ลำเรื่องต่อกลอน” มีตัวตลกออกมาสร้างสีสัน เป็นที่ถูกอกถูกใจของคนดู
“ดึกแล้วน้อพี่น้อง น้ำหมอกฮั่วมันหนาวจัด ลมสะบัดเข้ามาโชย ต่อยตีใบกล้วย น้ำหมอกฉวยลงพื้น ออกมายืนจนกายสั่น ผู้ฟังลำกะสะบั้นคัวหาผ้าห่มคลุม ตุ้มเอาแหน่ละลูกเต้า จักหน่อยสิเป็นหวัด นิทานเฮากำลังจัดลัดใส่กลอนซำพางแจ้ง การแสดงมีไปหน้าบ่ให้ท่านเสียเวลาลุงป้าผู้ถ่าเบิ่ง....”
โดยในช่วงที่ทำการแสดงไม่ได้มีการเก็บค่าเข้าชม แต่พอรุ่งเช้าทีมงานหมอลำจะเดินไปตามบ้านเรือนเพื่อขอสินน้ำใจจากการแสดงในค่ำคืนที่ผ่านมานั่นคือการขอข้าว ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าต้องให้มากให้น้อย แล้วแต่น้ำใจของคนดูที่เป็นเจ้าของบ้าน
“หมอลำขอข้าวแหน่ครับ”
เสียงตะโกนร้องเรียกหน้าบ้าน พร้อมกับการหยิบยื่นข้าวเปลือกข้าวสาร แล้วแต่ความเต็มใจของผู้เป็นเจ้าบ้าน
ข้าวที่ได้จากการขอมา ทางทีมงานหมอลำก็จะนำไปขายเพื่อแบ่งเป็นค่าตัวให้กับผู้แสดง หรือเก็บไว้กินก็ขึ้นอยู่กับความสมัครของหมอลำ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันบ่งบอกถึงวัฒนธรรม น้ำใจของคนอีสานสมัยก่อน ว่าสามารถขอกันกินได้ และบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์พูนสุขของวีถีชีวิตของคนอีสาน
แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ศิลปะวัฒนธรรมการแสดงของ “หมอลำขอข้าว “เริ่มจางหาย
ด้วยยุคของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง “เงิน” มีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิต และค่อยๆซึมซับกลืนกินขนบธรรมเนียมประเพณีค่อยๆจางหายไปทีละนิด...ตามยุคสมัย
อีสานศิลป์ : เรียบเรียง
โฆษณา