24 ก.ย. 2020 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
กรณีศึกษา การปรับตัว ของ นันยาง
ถ้าพูดถึงแบรนด์รองเท้านักเรียน
“นันยาง” คงเป็นชื่อแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง
แต่หลายปีที่ผ่านมา ตลาดรองเท้านักเรียนที่เติบโตช้า
กำลังสร้างความท้าทายให้กับนันยาง
แล้วนันยาง ปรับตัว เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เรื่องราวของนันยางเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460
เมื่อเด็กชายชาวจีนที่ชื่อว่า ซู ถิง ฟาง หรือ คุณวิชัย ซอโสตถิกุล
อพยพจากจีน พร้อมกับคุณพ่อ เข้ามายังประเทศไทย
ในช่วงแรกคุณวิชัยเข้ามาทำงานในโรงงานเหล็ก และโรงไม้
ก่อนที่ครอบครัว จะเริ่มมาทำธุรกิจซื้อมาขายไปเป็นของตัวเอง
ธุรกิจของครอบครัวซอโสตถิกุล ดำเนินไปด้วยความยากลำบาก
เนื่องจากช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจของไทยซบเซาอย่างหนัก
Cr. นันยาง
หลังสงครามโลกจบลง
ธุรกิจของครอบครัวคุณวิชัย ก็เริ่มมั่นคงและก้าวหน้า
จนสามารถติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้
โดยเริ่มจากการติดต่อกับนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ เพื่อนำเข้ารองเท้าผ้าใบแบรนด์ “หนำเอี๊ย” เข้ามาขายใน ประเทศไทย
ธุรกิจขายรองเท้าของคุณวิชัย เริ่มจากการขาดทุนในช่วงแรก
แต่ภายหลังก็เริ่มได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
ในช่วงนั้น คุณวิชัยก็เริ่มมีความคิดว่า
เมืองไทยมีตลาดและวัตถุดิบสำคัญอย่างยางพารา
ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตพื้นรองเท้าผ้าใบ
คุณวิชัยจึงเจรจากับผู้ผลิตในสิงคโปร์
เพื่อขอเอาชื่อแบรนด์ และแบบของรองเท้าผ้าใบหนำเอี๊ย มาผลิตในประเทศไทย
1
และได้เปลี่ยนชื่อรองเท้า หนำเอี๊ย ในภาษาจีนแต้จิ๋ว
เป็น “หนันหยาง” ซึ่งเป็นภาษาจีนกลางที่แปลว่า ทะเลใต้
ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนมาเรียกชื่อว่า “นันยาง” เพื่อให้ติดปากคนไทย
และเริ่มผลิตรองเท้านันยางขึ้นในปี พ.ศ. 2496 หรือเมื่อ 67 ปีที่แล้ว
นันยางเริ่มมีชื่อเสียง จากการผลิตรองเท้าแบรนด์ “ช้างดาว”
และเริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดรองเท้านักเรียน ในปี พ.ศ. 2515
Cr. นันยาง
แม้ปัจจุบัน นันยางจะครองส่วนแบ่งการตลาด ของตลาดรองเท้านักเรียน มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ที่ 43%
แต่ตลาดรองเท้านักเรียน เป็นตลาดที่เติบโตได้ช้า
ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ารวมเพียงแค่ 5,000 ล้านบาท
และอยู่ในระดับนี้มานานหลายปีแล้ว
สาเหตุของเรื่องนี้ มาจากหลายเรื่องด้วยกัน
ทั้งอัตราการเกิดของประชากรไทยที่น้อยลง
และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ที่ทำให้ผู้ปกครอง อาจไม่ซื้อรองเท้านักเรียนคู่ใหม่ให้ลูกบ่อยครั้ง
ประกอบกับคู่แข่งในตลาดรองเท้านักเรียนก็มีจำนวนมากขึ้น
Cr. นันยาง
ผลประกอบการของนันยาง
รายได้และกำไรของ บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด
ปี 2561 รายได้ 1,107 ล้านบาท กำไร 27 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 1,244 ล้านบาท กำไร 33 ล้านบาท
เมื่อตลาดรองเท้านักเรียนเติบโตช้า
สิ่งที่นันยางทำก็คือ พยายามมองหาช่องทางรายได้ใหม่ๆ
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การนำเอา “ขยะ” มาทำรองเท้า
1
ถ้าลองมาดูปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทย
จะเห็นว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ปี 2552 มีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นของประเทศไทย 24 ล้านตัน
ปี 2562 มีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นของประเทศไทย 29 ล้านตัน
ที่สำคัญคือ ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีการปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก
นันยางจึงออกโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า รองเท้า “KHYA” (ขยะ)
ซึ่งรองเท้า KHYA นี้ จะนำขยะที่เก็บได้จากทะเล
มาผ่านกระบวนการผลิต เพื่อให้กลายเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่
Cr. Chiang Mai News
โดยรองเท้า KHYA 1 คู่ ใช้ขยะทะเลประมาณ 5 กิโลกรัม
ดังนั้น ถ้าผลิต 200 คู่ ก็เท่ากับว่า จะช่วยกำจัดขยะในทะเลไปได้ถึง 1 ตัน
และในช่วงการระบาดของ COVID-19
นันยางก็มีการปรับตัวที่น่าสนใจอีกครั้ง
ด้วยการผลิตรองเท้านักเรียนแบบใหม่ที่มีเชือกแบบยืดหยุ่น ทำให้ไม่ต้องผูกเชือกรองเท้า
ซึ่งจะช่วยลดการสัมผัสเชื้อโรคจากเชือกรองเท้า
เรื่องนี้ คงเป็นกรณีศึกษาที่ดี ในการปรับตัวเพื่อสร้างอะไรใหม่ๆ
และไม่ว่ากลยุทธ์เหล่านี้ของนันยาง จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อีกหรือไม่
แต่อย่างน้อย นันยาง ก็คงสนุกกับการทำอะไรแบบนี้..
1
โฆษณา