13 ต.ค. 2020 เวลา 14:16 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
BLUE ORGIN ส่งผลงานคนไทยสู่อวกาศสำเร็จ จรวด New Shepard นำภารกิจ MESSE บรรจุ “ความฝันกับจักรวาล” บทเพลงของ Bodyslam เข้ารหัส DNA สู่ห้วงอวกาศ
1
วันนี้ (13 ตุลาคม) เมื่อเวลา 21.35 น. ตามเวลาในประเทศไทย บริษัท Blue Origin ได้ทำการปล่อยจรวด New Shepard จากฐานปล่อยจรวดในรัฐเท็กซัส เป็นเครั้งแรกในรอบ 10 เดือน หนึ่งในสัมภาระที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้คือภารกิจ MESSE (Molecular Encoded Storage for Space Exploration) หรือ “การเก็บข้อมูลเข้ารหัสในระดับโมเลกุลเพื่อการสำรวจอวกาศ” ซึ่งเป็นการใช้ DNA ในการเก็บข้อมูลดิจิทัล โดย DNA สามารถบรรจุข้อมูลได้มากกว่าฮาร์ดดิสก์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอย่างเทียบกันไม่ติด
จรวด New Shepard ถูกปล่อยขึ้นจากฐาน - ที่มา Blue Origin
ข้อมูลที่ทำการจัดเก็บเพื่อส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในครั้งนี้คือเพลงความฝันกับจักรวาลของวง Body Slam ที่ถูกถอดเป็นตัวโน้ตอย่างง่ายและแปลงเป็นคู่เบสบน DNA จัดเก็บไว้ในหลอดทดลอง 42 หลอดที่ติดตั้งในกล่องลูกบาศก์ payload ขนาด 1U หรือ 10x10x10 เซนติเมตรและเชื่อมต่อสัญญาณเข้ากับคอมพิวเตอร์บนยานเพื่อบันทึกภาพวินาทีประวัติศาสตร์นี้เอาไว้
หลอดทดลอง PCR Tube ในกล่อง payload - ที่มา spaceth.co
จุดมุ่งหมายของโครงการนี้คือการวิจัยการทำ Gibson Assembly หรือกระบวนการประกอบตัวของ DNA ในสภาวะก่อนและหลังขึ้นสู่อวกาศ โดยจะนำ DNA ที่ถูกส่งขึ้นไปกับจรวด New Shepard มาศึกษาว่ารังสี สภาวะไร้นำหนัก และแรงสั่นสะเทือนมหาศาลจากการปล่อยจรวดและตกกลับลงมายังโลก ส่งผลกระทบอะไรต่อ DNA และข้อมูลที่บรรจุอยู่ภายในนั้นหรือไม่
นอกจากนั้นยังมีการทดลองต่อต้านการก่อการร้ายในอวกาศด้วยวิธีการทางชีววิทยา โดยนำ DNA ที่บรรจุ "ข้อมูล" ปนเปื้อนไปกับวัตถุที่พบเห็นได้ทั่วไปในการสำรวจอวกาศ ตั้งแต่วัสดุสำหรับการทำการพิมพ์สามมิติ ผ้า แผ่น Mylar หรือผ้าห่มอวกาศ และที่สำคัญก็คือ ทองคำเปลว ที่เป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวาทกรรม ไม่เชื่ออย่าลบหลู่
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ spaceth.co, Freak Lab, Mu Space Corp และ MIT Media Lab
สำหรับการปล่อยจรวดในภารกิจ NS-13 ของ Blue Origin ในวันนี้ เป็นภารกิจไร้ลูกเรือ และเป็นการขึ้นสู่อวกาศใต้วงโคจรในระดับความสูง 100 กิโลเมตร โดยบรรทุกสัมภาระ 12 ชิ้น และจะทำการทดสอบเทคโนโลยีการลงจอดสำหรับโครงการอาร์เทมิสของนาซ่า ที่มีแผนจะส่งนักบินอวกาศ 2 คนลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ในปี 2024 เทคโนโลยีดังกล่าวอาจทำให้ภารกิจในอนาคตสามารถกำหนดสถานที่ลงจอดที่เป็นไปไม่ได้ในโครงการอะพอลโล เช่นบริเวณที่พื้นผิวไม่เสมอกัน ใกล้หลุมอุกกาบาต
ภารกิจในวันนี้สำเร็วลุล่วงไปด้วยดี หลังจากเลื่อนมาแล้วสองครั้งตั้งแต่เดือนกันยายน จรวดขับดันสามารถลงจอดได้อย่างนิ่มนวล และแคปซูลก็ลงจอดด้วยร่มชูชีพสำเร็จเพียงไม่กี่นาทีหลังจากนั้น
(ซ้าย) ภาพจรวดขับดันลงจอดอย่างนิ่มนวล / (ขวา) แคปซูลลงจอดด้วยร่มชูชีพ - ที่มา Blue Origin
โปรดกดไลค์ กดแชร์ และกดติดตาม
เพื่อเป็นกำลังใจให้ Space Explorer
สร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ มามอบให้คุณเป็นประจำ
อ้างอิง
MESSE - Molecular Encoded Storage for Space Exploration
Blue Origin will launch its next New Shepard suborbital test flight today.
โฆษณา