26 ก.ย. 2020 เวลา 12:57 • ไลฟ์สไตล์
การตักบาตรทำบุญ อายุขัย ช่วงวัยและความคิด
มันมาเกี่ยวเนื่องอะไรกับความหมายบนไพ่ป๊อก?!!
เมื่อผมเบื่อหน่ายและหนีมาจากชีวิตในเมือง.. .ep.7
แค่อ่านหัวเรื่องก็งงแล้วใช่มั้ยครับ? ผมเองก็ยังงงตัวเองว่าจะเขียนหัวเรื่องเชิญชวนยังไงดีให้คนอยากอ่าน นั่งกินข้าวไปด้วย คิดไปด้วย คิดไม่ออก ก็เอามันตรงๆแบบนี้แหละ บทความส่วนใหญ่ของผมมันจะออกมาจากความคิดชั่วแล่น ดั่งฟ้าแล่บก็มิปาน คิดอะไรได้ ก็เขียนไปอย่างที่คิด I write as I think.
จริงๆแล้วมันก็ไม่ได้เกี่ยวเนื่องอะไรกันโดยตรงหรอกครับ หากแต่นึกคิดอะไรได้อย่างหนึ่งขึ้นมาในขณะที่เหลือบแลไปเห็นจีวรพระเปล่งออร่า เหลืองวิบวับเดินมาแต่ไกล
"เอ.. .นี่กูตักบาตรครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่กัน แล้วไปทำบุญที่วัดล่ะ นึกไม่ออกแฮะ จำได้เพียงว่าถวายสังฆทานครั้งสุดท้ายก็ที่วัดบางศรีเมืองนั่นแหละ เพราะไปรับเหมาทำศาลาธรรมสังเวชเอาไว้ ไม่ถวายกับเจ้าอาวาสวัดนี้ จะให้กูเอาไปถวายวัดไหน?"
ทำไมคนเราต้องตักบาตร ทำบุญและถวายสังฆทาน ต่อให้ไม่ใช่ชาวพุทธ ใครมันก็ตอบได้ "ก็อยากได้บุญน่ะสิวะ มึงไม่น่าถามอะไรโง่ๆเลย"
ที่บ้านนี้ตักบาตรทุกวันครับ อย่างที่ผมเอ่ยถึงไปในep.ก่อนๆ ผมเห็นเรื่องนี้จนเป็นเรื่องปกติ รุ่นพี่ผมเค้าตื่นมาประมาณตีสี่ครึ่งทุกเช้าโดยที่ไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก ไก่ก็ไม่ได้ขัน เพราะที่นี่ไม่ได้เลี้ยงไก่ เหตุที่ไม่ได้เลี้ยงไก่หรือเรียกว่าเลี้ยงไม่ได้ดีกว่า มาจาก "ไอ้โน่" หมาสามัญประจำบ้าน เป็นหมาขี้อิจฉาและซุกซน ผมเคยเอาไก่ไข่มาสองคู่ กะว่าจะเลี้ยงเอาไว้เพื่อเก็บไข่กิน ต่อเล้าเล็กๆไว้ข้างๆโรงจอดรถ วันเดียวเท่านั้นครับ คงไม่ต้องบรรยาย
หนูมันเยอะ ก็อุตส่าห์เมตตาไม่อยากจะใช้ยาเบือหนู ไปเลือกดูลูกแมวตัวผู้ทรงสวยๆในวัดที่พระมารับบาตรบ้านนี้ทุกวันเนี่ยแหละ กะว่าจะเอามาช่วยไล่และกันหนู วันเดียวอีกเช่นกันครับ ดีที่ว่าผมกระโจนไปกู้ชีพไว้ได้ก่อน
ขอโทษครับ ผมนี่ชอบออกนอกเรื่องอยู่เรื่อย กับข้าวที่แกใช้ใส่บาตรประจำเลยคือไข่ต้ม ต้มกันพร้อมหุงข้าวนั่นแหละ บางทีต้มจับฉ่าย แกงส้มผักรวม หรือไม่ก็ต้มยำไก่บ้าน (หลังจากที่ทำกับข้าวเสร็จในรอบเช้า ก็จะตักแบ่ง ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วเอาเข้าตู้เย็นไว้ เช้ามืดอีกวันก็อุ่นด้วยเตาแก๊ส ใส่ถุง แล้วก็ใส่บาตร)
เดิมทีแม่แกเป็นคนใส่บาตรเองนั่นล่ะครับ แต่มีอยู่วันหนึ่ง แกเกิดหน้ามืดจะวูบขึ้นมา เซถลาไปด้านหน้าจะชนกับพระ หลังจากวันนั้นแกก็กลัวจะบาปเผื่อว่าตัวไปชนเข้ากับพระคุณเจ้าอีก หมดความมั่นใจไปเลย
สุดท้ายมันก็เป็นรุ่นพี่ผมนี่แหละ ที่รับผิดชอบตรงนี้ไป
ส่วนเรื่องไปทำบุญที่วัดทุกวันพระ แม่แกไม่เคยขาดครับ ก่อนหน้าจะล้มป่วย เจ็บออดๆแอดๆ แกก็จะขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปทำบุญ กรวดน้ำ รับพร รวมทั้งไปถือศีลแปดนุ่งขาวห่มขาว สวดมนต์อยู่ที่วัด ก่อนจะลาศีลแปดในเวลาหลังจากพระท่านทำวัตรเย็นเสร็จ คือก็สวดมนต์ - ทำวัตรไปพร้อมกับพระเลยเป็นหมู่เป็นคณะ คนที่นี่หรือรวมถึงอาจจะที่อื่นเรียกชนกลุ่มน้อยนี้ว่าพวก "ชีปะขาว" เอาเป็นว่าวันพระนั้นรู้กันกับพ่อว่า "วันนี้แกออกไปซื้อขยะคนเดียวนะพ่อมึง ฉันต้องไปอยู่ศีล"
พอนับแต่แกล้มหมอนนอนเสื่อลง ทรงๆทรุดๆ แกทำได้แต่เพียงให้ผมหรือรุ่นพี่ขี่รถไปส่งที่วัด แล้วตอนขากลับก็อาศัยติดรถคนแถวบ้านมา
ส่วนเรื่องทำสังฆทานนี่ เฉพาะในโอกาสพิเศษครับ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านก็คงเป็นเหมือนกันหมด เพราะคงไม่มีใครมีเวลาและทุนทรัพย์เพียงพอจะทำได้ทุกวันหรอก
ผมขอออกความคิดเห็นส่วนตัวหน่อย ในฐานะที่เคยบวชเรียนมาได้หนึ่งพรรษา แต่เป็นหนึ่งพรรษาที่รู้แจ้งเห็นจริงแทบทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อย่าปรามาสว่าแค่พรรษาเดียว นักธรรมตรีเท่านั้น จะไปรู้อะไรมากมาย และผมก็กล้าพูดเต็มปากเต็มคำว่าผมเคยทั้งขึ้นเทศน์ในวันพระและงานศพ เดินคาถาพันก่อนจะมีการเทศน์มหาชาติ รวมถึงได้พระภิกขุปาฏิโมกข์ เพียงในพรรษาเดียว แต่หากเป็นเพราะว่าใจนั้นยังไม่ฝักใฝ่ ที่จะก้าวเดินเจริญไปในทางพระ ปฏิบัติเพียงเพื่อทำตามขนบประเพณีที่ดีงามของกุลบุตรที่มีหน้าที่ต้องสนองคุณบิดามารดาอีกประการหนึ่ง คือบวชเรียนเท่านั้น
สังฆทานที่ดีผมขอแนะนำว่า หากคุณตั้งใจจะถวายแล้ว ควรถวายทั้งสังฆทานสด อันได้แก่ ข้าวปลาอาหารคาวหวาน น้ำดื่ม ดอกไม้สักหนึ่งกำ จุดประสงค์เพื่อให้พระคุณเจ้าท่านได้ไปถวายต่อกับพระพุทธรูปในเวลาทำวัตรเย็นหรือตอนไหนก็ได้ และสังฆทานแห้งในคราวเดียวกันเสียเลย
สังฆทานแห้งนี้ ผมแนะนำว่าให้คุณไปเลือกซื้อเองทีละอย่างดีกว่า ถ้าไปซื้อที่เป็นถังสำเร็จเลยตามตลาด นอกจากมีเพียงสองสามอย่างที่พระคุณเจ้าจะใช้ได้ บางอย่างก็ไม่มีคุณภาพ หรืออาจหมดอายุแล้วก็มี
หรือจะไปเดินเลือกซื้อตามซูเปอร์สโตร์ หรือบนห้างสรรพสินค้าก็ได้ ถ้าสู้ราคาไหว แต่สำหรับผมมีข้อแนะนำถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุจริงๆ ได้แก่
1.ยาสระผม
อย่าคิดว่าพระโกนหัว หัวโล้นจะใช้ยาสระผมไปทำไม? สำหรับศาสนาพุทธ มหานิกายส่วนใหญ่ ปลงผมเดือนละครั้ง ในวันก่อนวันพระขึ้น 14 หรือ 15 ค่ำ ที่เราเรียกกันว่า "วันโกน" ผมมีพระแก่พรรษากว่ารูปหนึ่งประสบปัญหาดังนี้ครับ คือใช้สบู่สระหัวไม่ได้ หนังหัวลอกออกมาเป็นแพเลย พอใช้ยาสระผม ไม่ต้องเสียตังค์ให้หมอครับ หายเลย ดังนั้นยาสระผมจำเป็นครับ
2.สบู่
3.ยาสีฟัน
4.แปรงสีฟัน
5.ผงซักฟอก
สำหรับใช้ซัก อังสะ สบง จีวร และบริขารที่เป็นผ้า
6.น้ำยาล้างจาน
สำหรับใช้ล้างทำความสะอาดถ้วยชามรามไห รวมถึงบาตรก็ด้วย
7.สก็อตไบรท์
8.จำพวกยาต่างๆ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาลดไข้ต่างๆ ยาธาตุน้ำขาว ยาใส่แผลตัวยาโพวิโดน ไอโอดีน น้ำเกลือล้างแผล สำลี พลาสเตอร์ยา ที่เหลือยาอะไรอีกก็แล้วแต่คุณจะคิดจะนึกเอา
9.กาแฟ หรือ ไมโล - โอวัลติน นมกล่องสักแพ็คก็ได้
10.ใบมีดโกนสำหรับปลงผม
อันนี้จำเป็นมากนะครับ พระที่จำพรรษานานๆ หรือบวชไปได้สักระยะ ท่านจะมีด้ามมีดโกนเหล็กเป็นของตัวเองทุกรูป สำหรับไว้ปลงผมเอง คราผมบวชก็ด้วยครับ แต่ว่าครั้งแรกนั้น บอกเลยว่าวันรุ่งขึ้นลงศาลาทำบุญวันพระ เห็นหน้าแล้วอายญาติโยมมาก แดงเถือกทั้งหัวครับ แนะนำยี่ห้อ ขนนก (feather) ดีที่สุด
11.ถังสำหรับใส่ของทั้งหมด
12.ธูปและเทียน สำหรับพระคุณเจ้าใช้จุดบูชาพระพุทธรูปในกุฏิ หรือเอาไปรวมไว้ในโบสถ์
คุณไปลองคำนวณเอาดูนะครับว่า ถ้าคุณซื้อในสิ่งเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์อย่างดีที่สุดทุกอย่าง เปรียบเทียบกับที่เค้าขายๆกันอยู่
อย่างไหนคุณซื้อแล้วรู้สึกสบายใจกว่ากัน
ทีนี้มาว่ากันถึงเรื่องปัจจัยใส่ซอง ที่เคยเป็นที่ถกเถียงกันออกสื่อต่างๆ ในเรื่องความเหมาะสม
จริงอยู่ครับ พระภิกษุรับจตุปัจจัยอันได้แก่ เงิน ทอง บาตร จีวร มากเกินความจำเป็น ถือว่าต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ เป็นการล่วงละเมิดสิกขาบทประเภท ลหุกาบัติ อันเป็นโทษสถานเบา วิธีปลงอาบัตินั้น ให้ภิกษุรูปนั้นสละเสียซึ่งสิ่งของที่มีอยู่ จึงจะสามารถปลงอาบัติได้ มีทั้งหมด 30 ข้อ จะให้แตกรายละเอียดเป็นข้อๆนั้น ยาวมากครับ บางข้อสุภาพสตรีบางท่านก็ไม่เข้าใจ ขนาดว่าพระที่บวชมานานบางรูป ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ อย่างเช่น เก็บจีวรที่เกินความจำเป็นไว้เกิน 10 วัน อะไรอย่างเนี้ย เอาเป็นว่า สามารถปลงอาบัติให้ตกได้ก็แล้วกันครับ
ทีนี้มีนักข่าวบางท่าน ชี้นำว่าการถวายจตุปัจจัยนั้นเป็นเรื่องบาปมากกกกก บาปทั้งตัวพระภิกษุและญาติโยมผู้ถวาย
ผมจะอธิบายสั้นๆ ให้เห็นภาพครับ.. .
พระภิกษุรูปหนึ่ง เกิดอาพาธกะทันหัน ศิษย์วัดก็ไม่มี อยากไปหาหมอ แต่โรงพยาบาลนั้นก็อยู่ไกลเสียเหลือเกิน มีคลินิคแห่งหนึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลนัก ตอนนี้จะให้เดินไปคลินิคก็ไม่ไหว พระด้วยกันก็ออกไปกิจนิมนต์ข้างนอกกันหมด ตอนนี้ไม่ไหวแล้ว โทรศัพท์ก็ไม่ได้เติมตังค์ ทำไงดี ห่มจีวร สะพายย่ามเสร็จแล้ว รวบถุงกับข้าวที่โยมใส่บาตรมาในตอนเช้าที่มีทั้งหมดไว้ในมือ ยักแย่ยักยันเดินออกมาหน้าวัด รออยู่สักพักใหญ่ รถรับจ้างไปไหนกันหมดนะ จะไม่ไหวอยู่แล้ว.. .บังเอิ๊น! มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างหลุดผ่านมา จึงโบกเรียก บอกว่าโยมเอ๊ย อาตมาปวดท้องจะแย่แล้ว พาอาตมาไปส่งที่คลินิคหน้าปากทางถนนใหญ่หน่อย เมื่อไปถึงแล้วท่านลงจากรถ ท่านก็ยื่นถุงกับข้าวทั้งหมดที่ถือมาให้กับคนขับ เอ้าโยมนี่เป็นค่าจ้าง!!?!
ในความเป็นจริง อ่านเรื่องสมมตินี้แล้วคุณรู้สึกอย่างไร ฉะนั้นคุณคงได้คำตอบบ้างแล้วนะครับ กับเรื่องการถวายปัจจัยต่อพระภิกษุ
แต่เอ.. .แล้วไอ้คนเขียนตัวดีนี่ลากกูลงมาถึงตรงนี้ได้ยังไงนะ ไหนมึงจะพากูแถไปตรงเรื่องไพ่ป๊อกนี่
ผมลากทุกท่านมาตรงนี้ เพื่อจะถามว่าส่วนใหญ่ในช่วงชีวิตของท่าน เริ่มทำบุญกันจริงจังแบบพ่อแม่ปู่ย่าตาทวดไม่ลากถูลู่ถูกังไปวัดเนี่ย คือเมื่อไหร่? แล้วตอนไหนที่เริ่มใส่บาตรแบบจริงจัง ไม่นับเฉพาะวันเกิดตัวเอง หรือวันเกิดของลูก? ปีนึงคุณใส่บาตร และไปทำบุญที่วัดกี่ครั้ง? คุณเริ่มคิดถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษกันอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่?
ให้บังเอิญนะครับว่ามันช่างสอดคล้องกับอะไรบางอย่างที่เรียกกันว่า "ไพ่ป๊อก" คือเค้าเรียกกันอย่างนี้มาตั้งแต่ผมเริ่มจำความได้แล้ว ก็คนไทยเค้าเรียกกันอ้ะ จะให้เรียกว่าไพ่พลาสติกเหรอก็งง แต่ถ้าเรียกว่าไพ่ป๊อกเนี่ย ทุกคนจะร้องอ๋อ!! ทันที
ส่วนมันจะเกี่ยวข้องกันอย่างไร แหมอีตานี่มันขึ้นต้นด้วยไม้ไผ่ พอลงท้ายมันจะกลายเป็นบ้องกัญชาหรือเปล่านะ? ใจจริงอยากสานต่อให้จบ แต่ผมมีความจำเป็นเร่งด่วน เพราะโดนขานชื่อเรียกรอบที่สามแล้ว อันเนื่องด้วยว่าต้องไปรอรับหลานรุ่นพี่ที่สถานีรถไฟ ต้องทิ้งค้างไว้แต่เพียงเท่านี้ ถ้าชอบบทความนี้ ช่วยเป็นกำลังใจ กดไลค์ กดแชร์ กดติดตามด้วยนะครับ😊ขอบพระคุณครับ😁
โฆษณา