28 ก.ย. 2020 เวลา 11:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Weird Fight "แฟชั่นไหน แม่ว่าแน่"
นกไดโนสคูล
แฟน ๆ ไดโนสคูล ที่อยู่กันมานาน เชื่อว่าต้องเคยอ่านเรื่องแปลกแต่จริงที่นกเคยนำมาเสนอ ซึ่งครั้งนั้นได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากชาวบีดี (ฺBlockdit) (ปรบมือรัว..ว)
อาทิ เรื่อง "จิงโจ้ Swamp wallaby" เพศเมียสามารถตั้งท้องได้พร้อมกันทั้ง 2 มดลูก เป็นลูกจากไข่ 1 กับสเปิร์มอีก 1 ที่ดูเหมือนจะเป็นแฝด แต่ก็ไม่ใช่!!!
เรื่อง "2 ค่าย 2 ขั้วแห่งการกำจัดขยะพลาสติก" โดยผู้ท้าชิงฝ่ายน้ำเงิน “แบคทีเรียดัดแปลงพันธุกรรม” จากโลกเทคโนโลยียุคใหม่ ประชันกับแชมป์แห่งมหาสมุทร ฝ่ายแดง “กุ้งล็อบสเตอร์” ในการย่อยขยะไมโครพลาสติก
ในวันนี้ นกจะนำความบันเทิงในวิทยาศาสตร์ มาเสนออีกครั้งในรูปแบบ "Weird Fight" (เวทีนี้ มีประชัน) ใครจะเชียร์ฝ่ายไหน เตรียมทำป้ายไฟได้เลยค่ะ
โดยธีมของเราเวทีนี้ คือ Weird Fight "แฟชั่นไหน แม่ว่าแน่"
ธรรมชาติสรรค์สร้างสิ่งมีชีวิตให้มีความสวยงามสะดุดตาต่างกันไป ด้วยเหตุผลของการอยู่รอด การดึงดูดใจเพศตรงข้ามเพื่อการขยายพันธุ์
ณ บัดนี้ ขอเชิญทุกท่านพบกับฝ่ายแดง "ปลาปากแดงแห่งปาลาปากอส" มาพร้อมคติ ถึงจะหน้าบึ้ง แต่ไม่ลืมทาปาก สีแดงฟาด ๆ แบบ Dior Rouge #999
Photo courtesy of T2inSF [flickr.com]
แล้วใครจะมาเป็นคู่ท้าชิง .. ไม่ต้องรอนาน..ฝ่ายน้ำเงิน เขาคือเจ้าของฉายา "แพนด้าน้อยต่อยหนัก" นั่นเอง
Photo courtesy of Photo Monde [flickr.com]
ฝ่ายน้ำเงิน เจ้าของฉายา "แพนด้าน้อยต่อยหนัก" ตัวต่อไร้ปีก มาในมาดนางพญาผู้ทรงพลัง เฉกเช่น เมอริล สตรีพ Meryl Streep จาก The Devil wears Prada เดินพรมแดง แต่ละฝ่ายจะมีทีเด็ดยังไง ... แกร๊งง ง งง  (ไม่ต้องรอประกาศจบ เริ่มกันเลย)
ยกที่ 1 "ตำนานความเก๋า"
ฝ่ายแดง : ปลาปากแดงแห่ง Galapagos หรือ The Red-lipped Batfish เป็นชื่อฉายาที่ได้มาภายหลัง เพราะความโดดเด่นอวบอิ่มของริมฝีปาก
Photo courtesy of Coyote Peterson [flickr.com]
หากจะเรียกกันจริง ๆ เหมือนเรียกชื่อนามสกุลที่พ่อแม่ตั้งให้ ปลาชนิดนี้ได้รับการตั้งชื่อจากท่านชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ว่า Ogcocephalus darwini
หากเอ่ยชื่อชาร์ลส์ ดาร์วิน หลายท่านน่าจะคุ้นเคยดี ท่านคือบิดาแห่งศาสตร์ทางพันธุกรรม รู้หรือไม่ว่าท่านเคยเรียนคณะแพทย์มาก่อนเพราะตามใจบิดา และเคยแอบหนีเรียนวิชาผ่าตัด เพราะกลัวเลือด! สุดท้ายก็เดินตาม passion ของตัวเอง เอาดีจากความเป็นคนช่างสังเกต จนเป็น "ที่สุดแห่งนักสำรวจธรรมชาติ" (ยิ่งกว่า National Geographic ในปัจจุบันเสียอีก เมื่อเทียบกับความยากลำบากในการเดินทาง การต่อสู้กับความเชื่อและเสียงคัดค้านตามตรรกะของคนส่วนใหญ่เมื่อสองร้อยปีที่แล้ว)
Photo courtesy of commons.wikimedia.org
ท่านเคยกล่าวไว้กระทั่งก่อนเสียชีวิตสองวันว่า "หากข้าพเจ้าต้องหยุดการสังเกต ข้าพเจ้าก็จะตาย” (ท่านมีอายุในช่วงปี ค.ศ. 1809-1882)
ฝ่ายน้ำเงิน : เจ้าของฉายา "แพนด้าน้อยต่อยหนัก"
เป็นของตัวต่อขนยาวที่ค้นพบเมื่อ ปี ค.ศ. 1938 (ก็เมื่อแปดสิบกว่าปีนี้เอง) โดยพบในทุ่งป่าหญ้าหนามแหลมในชิลี มีชื่อเสียงเรียงนามเป็นทางการว่า Euspinolia militaris
Photo courtesy of Tarantulario [flickr.com]
กรรมการตัดสิน ยกที่ 1 : ตำนานความเก๋า
ถ้านับความเก่าแก่บันทึกไว้ว่ามนุษย์ค้นพบ ฝ่ายแดง "ปากแดงแรงฤทธิ์" ชนะขาดลอย เพราะเจอมาก่อนตั้งห้าสิบกว่าปีเจ้าค่ะ!!
สรุป ยกที่ 1 แดง : น้ำเงิน 1 : 0
ยกที่ 2 "ชื่อนี้..สับขาหลอก"
ฝ่ายแดง : ปลาปากแดง Red-lipped batfish (Ogcocephalus darwini) มีญาติสนิทที่อยู่ในจีนัส Genus เดียวกัน เหมือนพี่น้องคลานตามกันมาร่วมนามสกุล "Ogcocephalus" แต่คนละคน (คนละสปีชีส์) คือ Ogcocephalus porrectus ที่แค่ดูภาพด้วยสายตาคนทั่วไปอย่างเรา ๆ อาจทำให้คุณเข้าใจผิดว่าเป็นพันธุ์เดียวกันได้เลย
ปลาปากแดง Red-lipped batfish (Ogcocephalus darwini)
Photo courtesy of CISSÉO [flickr.com]
ญาติของปลาปากแดง ชื่อ Ogcocephalus porrectus ที่คล้ายกันจนทำให้สับสน
Photo courtesy of caut [flickr.com]
จะว่าไปแล้ว เรื่องของขนาดตัวนั้น ปลาปากแดง  Red-lipped batfish เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดจากปลายหัวถึงสุดหางได้ถึง 40 เซนติเมตร ใหญ่กว่า Bat ของแท้ อย่างค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (Pteropus vampyrus)  หรือค้างคาวแม่ไก่/ค้างคาวผลไม้ เสียอีก (เว้นเสียแต่ว่าค้างคาวแม่ไก่จะกางปีกออก ได้ยาวถึง 3 ฟุตนั่นแล)
Photo by Peter Neumann on Unsplash
และท่านรู้หรือไม่ จากหลักฐานจากซากค้างคาวโบราณ  Vulcanops jennyworthyae คาดว่ามีอายุอยู่บนโลกเมื่อเกือบยี่สิบล้านปีที่แล้ว ตัวโตกว่าค้างคาวปัจจุบันถึงสามเท่า... สัตว์ยุคดึกดำบรรพ์รูปร่างช่างใหญ่โตก่อนจะวิวัฒน์ให้กระจุ๋มกระจิ๋มและมีกลไกในร่างกายที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ
ค้างคาวโบราณ Vulcanops jennyworthyae คือ หมายเลข 3 (บนสุดขวาค่ะ)
Photo courtesy of commons.wikimedia.org
มาดูที่ฝ่ายน้ำเงินกันบ้าง
ฝ่ายน้ำเงิน : "แพนด้าน้อยต่อยหนัก"  ถึงผู้คนจะเรียกว่า Panda ant แต่จริง ๆ กลับไม่ใช่มดอย่างที่คิด แท้จริงแล้วเป็น "ตัวต่อ" สายพันธุ์หนึ่ง ที่เพศผู้จะมีปีก แต่เพศเมียไร้ปีกบินไม่ได้ ขนาดสัดส่วนเฉลี่ยน่ารักน่าชังเพียง 8 มิลลิเมตรเท่านั้น (ตัวต่อทั่วไปขนาดใหญ่กว่านี้สองเท่าค่ะ)
Photo courtesy of DrSarahJensen [flickr.com]
กรรมการตัดสิน ยกที่ 2 : ชื่อนี้..สับขาหลอก
ดูจากชื่อแล้ว เจ้าแพนด้าน้อยของเรา ชวนให้สับสน คิดว่าเป็น "มด" ทั้งที่เป็นตัวต่อ แต่เจ้าปลาค้างคาว ก็มีหน้าตาคล้ายญาติสนิท ที่ทำให้นักสำรวจงงงวยสับสนได้ไม่ใช่น้อย กรรมการจึงตัดสินให้เสมอกันในยกนี้ เอาไปฝ่ายละ 1 แต้ม!!!
สรุป ยกที่ 2 แดง : น้ำเงิน 2 : 1
และมาถึงยกสุดท้าย ยกที่ 3 ที่จะตัดสินว่าระหว่าง ฝ่ายแดง "ปลาปากแดงแห่งปาลาปากอส" จะชนะฝ่ายน้ำเงินตัวต่อ "แพนด้าน้อยต่อยหนัก" ไปอย่างขาดลอย 3 : 1 หรือ ตัวต่อ "แพนด้าน้อย" จะทำแต้มขึ้นมาเสมอ เป็น 2 : 2 ได้สำเร็จใน Weird Fight ไดโนสคูล ในธีม "ทะลวงเปลือกแฟชั่นนิสต้า" ในวันนี้ มาชมกันเลยค่ะ ... แกร๊ง ๆ ๆ
ยกที่ 3 "อาวุธเด็ดประจำตัว"
ฝ่ายแดง : ปลาปากแดงแห่งปาลาปากอส ได้รับฉายาว่า Batfish เพราะลักษณะโครงสร้างส่วนหัวลู่แหลม ครีบคู่หน้ามีวิวัฒนาการให้ขนาดใหญ่ แผ่ออก คล้ายใบพายที่เป็นจักรขับเคลื่อนให้ปลาปากแดงของเราเคลื่อนตัวไปแบบกระดึ๊บ ๆ ไปตามพื้นทะเลได้ ส่วนครีบหลังก็อยู่แปลงให้กลายเป็น "แท่งเรดาร์ก้านไสว" อยู่กลางหว่างตา เพื่อหลอกล่อให้บรรดาเหยื่อเข้ามาใกล้ ๆ แล้วหม่ำซะเลย
Photo courtesy of Ana Carrapiso [flickr.com]
ฝ่ายน้ำเงิน : เจ้าของฉายา "แพนด้าน้อยต่อยหนัก" แม้จะตัวจ้อย แต่ก็เท่ห์จนเป็นที่รู้จัก ก็เพราะแฟชั่นขาวดำแบบแพนด้าที่ช่างลงตัวเหมาะเหม็งเล็งระบายส่วนหัวและเส้นขนแหลม ๆ แบบชาวพั้งค์เป็นสีขาวโพลนเมทัลลิค เว้นเฉพาะส่วนดวงตาดำขลับ ที่สร้างความลึกลับและน่าพิศวงให้ผู้พบเห็น ส่วนลำตัวก็ไม่ทิ้งว่าง แต้มด่างดำสนิทบนพื้นขาวกระจายทั่วไป เป็นการข่มขวัญป้องปรามคู่ต่อสู้ให้ยอมศิโรราบโดยง่าย ซึ่งเรียกเทคนิคนี้ว่า aposematic
Photo courtesy of Eulampio Duarte [flickr.com]
ตัวอย่างสัตว์อื่นที่ใช้วิธี aposematic ในการข่มขวัญศัตรู
Photo courtesy of Patrick Coin [flickr.com]
Photo courtesy of commons.wikimedia.org
กรณีที่ panda ant เจอกับคู่ปรับมือฉมัง หรือในสถานการณ์วิกฤต มันจะไม่ยอมแพ้พ่ายต่อโชคชะตาง่าย ๆ สมกับที่ได้ชื่อสปีชีส์ว่า militaris (military หมายถึงความบู๊ การทหาร) นั่น คือ มันจะปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงระดับอัลตร้าโซนิค ที่เรียกว่าเทคนิค stridulation แบบเดียวกับที่จักจั่นทำเสียง เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามทนไม่ได้จนต้องล่าถอยไป
ฟังตัวอย่างเสียงความถี่สูงอัลตร้าโซนิค หรือเทคนิค stridulation ของแมลง
Photo courtesy of Hugo Darras [flickr.com]
นอกจากความน่ากลัวในพิษฉบับ "ตัวต่อ" ที่ว่ากันว่าร้ายกว่าผึ้งและแตนแล้ว "เจ้าแพนด้าน้อยต่อยหนัก" ของเรา ยังร้ายพอตัวในการเอาสายพันธุ์ตัวเองให้รอด ด้วยการทำตัวเป็นปรสิตแบบ ectoparasites ซึ่งไม่ใช่แบบตัวพยาธิที่ติดเชื้อเข้าไปในร่างกายคน-สัตว์เพื่อดูดเลือดและสารอาหารต่าง ๆ เท่านั้น
แต่กรรมวิธีของ "แม่ต่อแพนด้า" มีความโหดที่แท้ทรู คือ จะใช้อวัยวะส่วนที่เรียกว่า "ovipositor" รูปทรงแท่งก้านยาวคล้ายไม้เซลฟี่ "ฉีด" ไข่ตัวเองลงในตัวอ่อนที่กำลังโตเต็มวัยของแม่แมลงพันธุ์อื่น (ย้ำ..พันธุ์อื่นค่ะ!!!) เพื่อให้ลูกตัวเองได้ทั้งอาหารและที่กำบังภัย... ล้ำเหลือร้ายใช่ไหมล่ะคะท่านผู้ชม...ม...
Photo courtesy of Diego Alberto Reyes Arellano [flickr.com]
ส่วนก้านยาว ๆ เป็นตัวอย่าง "ovipositor"ที่มีในแมลงอื่นด้วยค่ะ
Photo courtesy of rattlesnake orchid [flickr.com]
Photo courtesy of Rana Pipiens [flickr.com]
กรรมการตัดสิน ยกที่ 3 : อาวุธเด็ดประจำตัว
แม้ปลาปากแดงจะมีการวิวัฒนาการของอวัยวะเป็นติ่งยาวที่หน้าผากหลอกล่อเหยื่อให้มาเข้าปากง่าย ๆ แต่กรรมการขอลงมติเป็นเอกฉันท์ยกให้ฝ่ายน้ำเงิน "แพนด้าน้อยต่อยหนัก" เป็นผู้ชนะ เพราะยอมซูฮกในฝีมือพัฒนาการของสีสันขาวดำ "แพนด้าสไตล์" เพื่อข่มขวัญศัตรู ตามด้วยระบบเสียงไล่แขกที่ไม่ได้รับเชิญแบบสุดกังวาน ยังไม่พอ..แถมด้วยเทคนิคการ "ฝากไข่" แบบพิเศษให้ลูกตัวเองรอดอีก ครบองค์ระดับ "คูณสาม" จัดเต็มแบบนี้ ก็ชนะไปเห็น ๆ ค่ะ
สรุป ยกที่ 3 แดง : น้ำเงิน เสมอกันที่ 2 : 2
ประกาศผล Weird Fight "แฟชั่นไหน แม่ว่าแน่"
ฝ่ายน้ำเงินตัวต่อ "แพนด้าน้อยต่อยหนัก" ทำคะแนนตีตื้นในยกสาม จนจบที่เสมอกับฝ่ายแดง "ปลาปากแดงแห่งปาลาปากอส" ไปได้ด้วยคะแนน 2 : 2 ด้วยความโดดเด่นในทักษะการเอาตัวรอดที่น่าพิศวง!
หวังว่า Weird Fight ในวันนี้ จะสร้างความสนุกในวิทยาศาสตร์แก่ท่านผู้อ่านได้นะคะ ท่านที่ชื่นชอบเรื่องราวแบบนี้ หรืออยากให้นกจัด Weird Fight “เวทีนี้ มีประชัน” ในสาระแบบวิทยาศาสตร์ ธีมไหน คู่ไหนอีก คอมเม้นต์แนะนำติชมกันได้ค่ะ
นกไดโนสคูล
อ้างอิง
โฆษณา