1 ต.ค. 2020 เวลา 10:08 • ประวัติศาสตร์
ทฤษฎีเซลล์ ทฤษฎีที่เรียบง่าย
แต่เปลียนประวัติศาสตร์ไปอย่างสิ้นเชิง
1.
ในโลกของวิชาชีววิทยาและวิชาแพทย์
ถ้าให้จัดลำดับของทฤษฎีที่ถือได้ว่า ปฏิวัติความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตมากที่สุด
ทฤษฎีหนึ่งที่จะถูกคัดเลือกให้ขึ้นมาอยู่อันดับต้นๆเสมอ คือ ทฤษฎีที่มีชื่อเรียกว่า “ทฤษฎีเซลล์”
ซึ่งใจความหลักของทฤษฏีนี้บอกไว้คร่าว ๆ ว่า
เซลล์เป็นหน่วยย่อยพื้นฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิต
เซลล์เกิดมาจากอีกเซลล์หนึ่ง
มีแค่นี้เองครับ
ซึ่งผมเชื่อว่าสำหรับนักเรียนที่เคยเรียนวิชาชีววิทยาจำนวนมากอาจจะสงสัยว่า ทฤษฎีนี้มันน่าสนใจอะไรนักหนา มันแทบจะเป็นสามัญสำนึก ที่ใคร ๆ ก็รู้
ทำไมทฤษฎีเซลล์จึงถือว่าเป็นเสาหลักสำคัญต้นแรกที่ทำหน้าที่แบกวิชาชีววิทยาและการแพทย์ทั้งหมดเอาไว้ ?
วันนี้ผมจะมาตอบคำถามนี้ให้ฟังครับ
ผมจะอธิบายให้ฟังว่า ทฤษฎีเซลล์มันสำคัญอย่างไร
2.
เรื่องราวที่กำลังจะเล่าให้ฟังนี้เริ่มต้นขึ้นประมาณปีค.ศ.1800
ผมจะพาเดินทางไปเยือนสองเมืองใหญ่ของยุโรป
เริ่มต้นที่กรุงลอนดอนในปี ค.ศ. 1805 แล้วตามด้วยกรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมนีในปีค.ศ. 1830
และเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวได้มากยิ่งขึ้นเราคงต้องมาปรับมุมมองหรือวิธีคิดของเราให้เข้ากับคนในสมัยนั้นกันก่อนนะครับ
วิธีหนึ่งที่น่าจะทำได้ง่ายที่สุดคือการออกไปพูดคุยกับชาวบ้านตามร้านกาแฟ หรือตามท้องถนนว่าเขามีความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตกันอย่างไรบ้าง
1
ถ้าเราเดินไปถามคนทั่วไปยุคนั้นว่า สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในธรรมชาติรอบตัวเราประกอบขึ้นมาจากอะไร?
คำตอบที่เราน่าจะได้รับกลับมามากที่สุดคงเป็นทำนองว่า
สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติประกอบขึ้นมาจากดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งเป็นคำตอบที่เหมือนจะชัดเจนในตัวเอง เพราะใครๆก็เห็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างนะครับ
1
ถ้าเราจะปลูกต้นไม้สักต้น เราต้องใช้ดิน น้ำ อากาศและแสงแดด (ดินน้ำลมไฟ)
ถ้าเขยิบขึ้นมาอีกขั้นคือมาพิจารณาในสัตว์ เรารู้ว่าสัตว์จะเติบโตได้ต้องกินอาหาร ซึ่งอาจเป็นการกินพืช (ซึ่งมาจากดินน้ำลมไฟ) หรือกินสัตว์ที่กินพืชอีกต่อหนึ่ง
เรายังเห็นว่าสัตว์ทุกชนิดตอนมีชีวิตอยู่ต้องหายใจ (ลม) สัตว์หลายชนิดรวมถึงมนุษย์เมื่อมีชีวิตอยู่ร่างกายจะอุ่น (ไฟ) แต่พอเสียชีวิตจะหยุดหายใจ ร่างกายจะเย็นลง
ดังนั้นลมและไฟก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิตอยู่
คำตอบเช่นนี้จะว่าถูกก็ถูกครับ แต่ปัญหาของคำตอบเช่นนี้คือ เป็นคำตอบที่กว้างและหยาบเกินกว่าจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติในเชิงลึกได้
ถ้าเราอยากจะเข้าใจธรรมชาติให้มากกว่านี้ เราคงต้องตั้งคำถามที่เจาะลึกลงไปอีก เช่น ถ้าสิ่งมีชีวิตสร้างมาจากดินน้ำลมไฟเหมือนๆ กันแล้ว อะไรทำให้สิ่งมีชีวิตมีรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกัน?
คำถามที่ลึกเช่นนี้ เราคงถามคนตามท้องถนนไม่ได้ เราต้องไปถามนักวิชาการตามมหาวิทยาลัยน่าจะเหมาะกว่า
คำตอบที่เราจะได้กลับมาจะว่า เพราะเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตชนิดแต่ละชนิดแตกต่างกันไป เช่น
เนื้อเยื่อของใบมะม่วงไม่เหมือนเนื้อเยื่อของใบกุหลาบ
เนื้อเยื่อของมนุษย์ไม่เหมือนเนื้อเยื่อของอุรังอุตัง
ยิ่งไปกว่านั้น ในสิ่งมีชีวิตเดียวกันเนื้อเยื่อก็ยังแตกต่างกันไปอีก เช่น
เนื้อเยื่อของใบไม้ต่างไปจากเนื้อเยื่อของเปลือกไม้
เนื้อเยื่อของตับไม่เหมือนเนื้อเยื่อของหัวใจ
เมื่ออวัยวะแต่ละอวัยสร้างขึ้นมาจากเนื้อเยื่อที่ต่างกัน ดังนั้นถ้าคุณอยากเข้าใจว่าแต่ละอวัยวะทำงานอย่างไร คุณก็ต้องศึกษาอวัยะนั้นๆ เพราะแต่ละเนื้อเยื่อก็มีคุณสมบัติ มีลักษณะที่แตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง
ในช่วงเวลาประมาณค.ศ. 1800 นั้นความรู้ทางวิชากายวิภาคจึงค่อนข้างสับสนและสะเปะสะปะมาก
ร่างกายของคนและสัตว์เต็มไปด้วยเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ที่แตกต่างกันมากมาย แต่ไม่มีใครรู้ว่าเนื้อเยื่อแต่ละชนิด เช่น ผิวหนัง กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเลือด สร้างมาจากอะไร
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หน่วยย่อยที่สุดของเนื้อเยื่อแต่ละชนิดคงจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น หน่วยย่อยของกระดูก คงจะต่างไปจากหน่วยย่อยสุดของหัวใจ และต่างไปจากหน่วยย่อยที่สุดของตับ
ประเด็นของเรื่องคืออย่างนี้ครับ ในยุคนั้นใครศึกษาอะไรก็จะรู้แต่เรื่องของตัวเอง คนศึกษาตับก็รู้เรื่องเนื่อเยื่อของตับ คนศึกษาใบไม้ก็รู้เรื่องของใบไม้ แต่ละสาขาไม่มีอะไรคาบเกี่ยวที่จะเรียนรู้ระหว่างกันได้เลย
แต่เรื่องราวกำลังจะเปลี่ยนไป
การปฎิวัติความคิดครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นและเสาหลักต้นแรกของวิชาชีววิทยากำลังจะถูกปักฐานลง
3.
เริ่มต้นที่กรุงลอนดอนใน ปี ค.ศ. 1805 (สมัยรัชกาลที่ 1)
โรเบิร์ต บราวน์ (Robert Brown) นักพฤกษศาสตร์ชาวสก็อตแลนด์เพิ่งกลับมาจากการเดินทางไกลไปศึกษาธรรมชาติที่ออสเตรเลีย
ในช่วงเวลาสั้นๆ แค่ 3 ปีครึ่ง เขาสามารถเก็บพันธุ์พืชที่ชาวยุโรปไม่เคยรู้จักเพื่อนำมาศึกษาได้มากกว่า 3,000 ชนิด
เขาใช้เวลาหลายปีต่อมาศึกษา จัดระเบียบ ศึกษาและเขียนรายงานเกี่ยวกับสิ่งที่พบจากพืชเหล่านี้ออกมามากมาย
ในยุคของบราวน์นั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปในวงการแล้วว่าถ้าเรานำเนื้อเยื่อของพืชมาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เราจะเห็นว่าหน่วยย่อยของมันจะมีลักษณะเป็นช่องว่างเล็ก ๆ อยู่เต็มไปหมด ซึ่งโรเบริต์ ฮุค เรียกช่องว่างเหล่านี้ว่า “เซลล์"
แต่ด้วยข้อจำกัดของกำลังขยายกล้องจุลทรรศน์ยุคนั้น จึงยังไม่มีใครรู้ว่าเซลล์สำคัญอย่างไร ทำอะไร หรือภายในมีอะไร?
แต่สิ่งหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเคยเห็นคือ ตรงกลางภายในเซลล์มันเหมือนมีจุดดำเล็กๆ ที่มองเห็นได้ยากอยู่จุดหนึ่ง
แต่เพราะขนาดที่เล็กมาก (จากกล้องกำลังขยายต่ำ) ทำให้แทบไม่มีใครสนใจหรือคิดว่าจุดที่เล็กนั้นจะมีความสำคัญ
แต่โรเบิรต์ บราวน์กำลังจะเป็นคนแรกที่เห็นความสำคัญของจุดดำ ๆ นั้น
หนึ่งในพืชที่บราวน์ให้ความสนใจศึกษาคือต้นกล้วยไม้
และด้วยความที่กล้วยไม้เป็นพืชที่มีเซลล์ที่ค่อนข้างใหญ่ทำให้บราวน์ศึกษา จุดดำ ๆ นั้นได้ง่ายขึ้น
วันหนึ่งขณะที่บราวน์กำลังศึกษาการผสมพันธุ์ของพืชผ่านกล้องจุลทรรศน์
เขาเห็นบางส่วนของเกสรวิ่งเข้าไปในเซลล์และเข้าไปยังจุดดำๆนั้น
บราวน์จึงเกิดเอะใจขึ้นมาว่า หรือจุดกลม ๆ ดำ ๆ ที่เห็นนี้ จะเกี่ยวข้องกับการผสมพันธุ์
แต่บราวน์ไม่มีความสามารถที่จะตอบคำถามนั้นได้ เขาเกิดมาในยุคที่เทคโนโลยียังไม่พร้อมที่จะศึกษาจุดกลม ๆ ดำ ๆ นั้น อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่า จุดกลม ๆ ดำ ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้สนใจ น่าจะเป็นสิ่งสำคัญอะไรสักอย่าง นปี ค.ศ. 1831 เขาจึงตั้งชื่อให้กับจุดดำๆนั้นว่า “นิวเคลียส” (Nucleus) ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลว่า ตรงกลางหรือศูนย์กลาง คำว่า nucleus นี้มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า nut ที่แปลว่า ถั่ว (เพราะอยู่ตรงกลางของผลไม้)
ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับ แค่เห็นจุดเล็กๆ แล้วตั้งชื่อก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์แล้ว
ถ้าจะว่ากันตามจริงแล้วสิ่งที่โรเบิร์ต บราวน์ศึกษาและค้นพบนั้นมีมากมายการตั้งชื่อให้จุดดำๆไม่น่าจะเป็นการค้นพบที่สำคัญที่ทำให้เขากลายเป็นที่จดจำ
1
แต่จะว่าไปแล้วนั่นแหละครับคือความเจ๋งของโรเบิร์ต บราวน์ เพราะคนที่เห็นจุดดำนี้มาก่อนคงมีมากมายแต่ไม่มีใครมองออกว่าจุดดำนี้อาจมีความสำคัญ จุดดำนี้จึงถูกละเลยมาโดยตลอด
ไม่มีแม้แต่ชื่อที่จะใช้เรียกจุดดำนี้
แต่เหมือนที่เชอร์ล็อค โฮลมส์ เคยพูดกับ ดร.วัตสันว่า “You see but you do not observe” การมองใครที่มีตาก็มองได้ (กรณีนี้ใครที่มีกล้องจุลทรรศน์ก็เห็นได้)
แต่การจะเห็นว่าสิ่งนั้นสำคัญ ไม่ใช่ใครที่ไหนก็ทำได้
และที่น่าสนใจคือ เมื่อจุดดำ ๆ ที่ไม่มีใครสนใจนี้ เกิดมีชื่อเรียกขึ้นมา มันกลับมีผลกระทบต่อวงการวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
คำอธิบายเป็นอย่างนี้ครับ
ก่อนหน้าที่บราวน์จะตั้งชื่อจุดนี้ว่านิวเคลียส จุดดำๆที่เล็กจนแทบไม่เห็นนี้ ถูกมองข้ามมาตลอด เพราะถูกมองว่ามันไม่สำคัญอะไร
แต่เมื่อบราวน์เชื่อว่ามันน่าจะสำคัญ แล้วตั้งชื่อให้มันว่านิวเคลียส จากนั้นมาใครก็ตามที่มองเข้าไปในกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูเซลล์ แล้วบังเอิญได้เห็นจุดดำๆ นี้ ก็จะนึกในใจว่า
อ้อ...นั่นไง นิวเคลียสที่โรเบิร์ต บราวน์พูดถึง
นิวเคลียสที่บราวน์บอกว่าน่าจะเป็นศูนย์กลางของการสืบพันธุ์ในกล้วยไม้
หรือเราอาจพูดได้ว่าบราวน์เปลี่ยนกรอบความคิดของคนทั้งวงการ เพราะจากนั้นมานิยามของเซลล์ก็เปลี่ยนจาก
“ห้องว่าง” กลายมาเป็น “ห้องที่มีนิวเคลียสเล็กๆอยู่ตรงกลาง”
เมื่อกรอบความคิดเปลี่ยน คนก็จะมองเข้าไปในเซลล์มากขึ้น แล้วอดที่จะตั้งคำถามต่อไม่ได้ว่า นอกจากนิวเคลียสแล้ว ภายในเซลล์มีอะไรอื่นอีกไหม และถ้าภายในเซลล์มีอะไรอยู่ แล้วเซลล์ทำหน้าที่อะไร?
4.
7 ปีต่อมา ....
นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อแมธเธียส ยาขอบ ชไลเดน (Matthias Jakob Schleiden) เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลความคิดจากบราวน์ แม้ว่าเขาจะไม่รู้ว่านิวเคลียสคืออะไรหรือ ทำหน้าที่อะไร
แต่เขาก็เชื่อว่านิวเคลียสน่าจะมีความสำคัญบางอย่าง
จนในที่สุด หลังจากที่ได้ศึกษาเนื้อเยื่อของพืชจำนวนมากมาหลายปี เขาก็เป็นคนแรกที่กล้าสรุปว่า
“ส่วนประกอบต่างๆ ของพืชทุกชนิดประกอบไปด้วยเซลล์”
ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรมาก แต่ในตอนนั้น ความคิดนี้ต่างไปจากที่เชื่อกันเดิมในระดับที่ใช้คำว่า “ปฏิวัติทางความคิด” ได้เลย
การบอกว่าพืชทุกชนิดประกอบด้วยเซลล์มันปฏิวัติยังไงใช่ไหมครับ?
การค้นพบหลายอย่างในอดีตถ้ามองย้อนกลับไปจากคนที่ “รู้แล้ว” เช่นคุณและผม เราจะรู้สึกว่าการค้นพบเหล่านั้นมันธรรมดามาก
แต่ในยุคของชไลนเดน ซึ่งเชื่อว่าเนื้อเยื่อต่างๆมีความแตกต่างกัน สิ่งที่เขาประกาศทำให้คนต้องถามซ้ำว่า... จริงเหรอ? เป็นไปได้อย่างไร?
ลองจินตนาการดูนะครับ พืชในโลกมีความหลากหลายมาก ทั้งต้นเล็ก ต้นใหญ่ ไม้ยืนต้น ไม้ล้มลุก แต่ละส่วนของพืชก็หน้าตาแตกต่างกันไปไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ใบไม้ รากไม้ หรือเปลือกไม้ การที่บอกว่าส่วนประกอบทั้งหมดของพืชทุกชนิด สร้างมาจากหน่วยพื้นฐานเดียวกันที่เรียกว่าเซลล์ มันค้านสายตาและสามัญสำนึกค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ถึงไคลแม็กซ์ของเรื่องครับ ขอผมเล่าต่ออีกนิด
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ชไลเดนกำลังศึกษาเนื้อเยื่อและเซลล์ของพืชอยู่นั้น นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันอีกคนชื่อ ธีโอดอร์ ชวานน์ (Theodor Schwann) กำลังศึกษาเนื้อเยื่อต่างๆของสัตว์ผ่านกล้องจุลทรรศน์
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ซึ่งศึกษาพืชยอมรับกันทั่วไปแล้วว่าพืชประกอบไปด้วยเซลล์ แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเนื้อเยื่อของสัตว์ (ซึ่งศึกษายากกว่าเนื้อเยื่อของพืช) ยังงงๆ กันอยู่ว่าเนื้อเยื่อของสัตว์ทั้งหลายทำมาจากอะไร?
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าเนื้อเยื่อแต่ละอวัยวะของสัตว์แต่ละชนิดนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
จนกระทั่งวันหนึ่งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1837
หลังจากทานอาหารเที่ยงเสร็จ ชวานน์และชไลเดนก็ไปนั่งดื่มกาแฟกัน อย่างที่เคยทำเป็นประจำ แล้วประเด็นหนึ่งก็ถูกพูดถึงขึ้นมา
ชไลเดนเล่าให้ฟังว่าเขากำลังศึกษาเกี่ยวกับเซลล์ของต้นทิวลิปอยู่ จากนั้นเขาก็บรรยายให้ฟังว่าเขาเห็นอะไรบ้าง จังหวะนั้นเองชวานน์ก็เอะใจว่า สิ่งต่างๆ ที่ชไลเดนบรรยายนั้นฟังดูแล้วคล้ายกับสิ่งที่เขาพบเมื่อศึกษาเนื้อเยื่อของกบมาก โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่านิวเคลียส
ชวานน์จึงขอไปที่ห้องทำงานของชไลเดนเพื่อดูให้เห็นกับตาว่า เซลล์พืชคล้ายกับที่เขาเห็นในเนื้อเยื่อสัตว์แค่ไหน
ทันทีที่เขาได้เห็นสิ่งที่ชวานน์ชี้ให้ดู เขาแทบจะรู้ในทันทีเลยว่า เนื้อเยื่อกบก็มีสิ่งที่เรียกว่าเซลล์เช่นเดียวกับพืช
 
ชวานน์ใช้เวลาอีกหลายเดือนในการศึกษาเนื้อเยื่อของสัตว์อีกหลายชนิด ตั้งแต่สัตว์สะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก สัตว์ปีก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จนมั่นใจว่าสัตว์ทั้งหลายต่างก็มีเซลล์ด้วยกันทั้งสิ้น
หนึ่งปีถัดมาคือ ในปี ค.ศ. 1839 ชวานน์ก็ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่าสัตว์ทุกชนิดประกอบไปด้วยเซลล์ และเซลล์เป็นหน่วยย่อยพื้นฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิต “ทุกชนิด”
แนวคิดนี้ในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ทฤษฎีเซลล์”
(การค้นพบว่าเซลล์หนึ่งเกิดมาจากอีกเซลล์ ถูกค้นพบในภายหลัง วันหลังจะเล่าให้ฟังครับ)
และทฤษฎีเซลล์นี้ ปัจจุบันถือว่า เป็นเสาเข็มหลัก เสาแรกที่ปฏิวัติวิชาชีววิทยาไปอย่างถาวร
พอจะนึกภาพออกไหมครับว่าทฤษฎีเซลล์เปลี่ยนวิธีคิดในวงการวิทยาศาสตร์อย่างไร?
คืออย่างนี้ครับ อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าว่า ในอดีตเมื่อคนมองไปในธรรมชาติ สิ่งที่เห็นคือความแตกต่างหลากหลายของสิ่งมีชีวิต พืชที่ต่างกันไปทั้งดอก ใบ ลำต้น และขนาด สัตว์ที่ต่างกันทั้งขนาด รูปร่าง และพฤติกรรม นักวิทยาศาสตร์จึงคาดเดาว่าหน่วยย่อยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายควรจะแตกต่างกัน
แต่ทฤษฎีเซลล์เปลี่ยนแปลงความเชื่อนั้นไปอย่างสิ้นเชิง ทฤษฏีเซลล์บอกว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ แม้ว่าจะดูต่างกันมากแค่ไหน แต่หน่วยย่อยพื้นฐานที่สุดแล้วก็คือ เซลล์ด้วยกันหมดทั้งสิ้นหรือ
พูดง่ายๆ ว่าทฤษฎีเซลล์ทำให้สิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วไม่ว่าจะเป็นมด แบคทีเรีย ปลาวาฬ ผักกาดขาว เห็ด มนุษย์หรือแม้แต่สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปนานแล้วอย่างไดโนเสาร์ มีจุดร่วมที่เหมือนกันนั่นคือเซลล์
ทฤษฏีเซลล์บอกเราว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เราเห็นนั้นคือกลุ่มก้อนของเซลล์มาอยู่ทำงานร่วมกัน ช้างคือเซลล์ ผักชีคือเซลล์ เก้าอี้ไม้ที่เรานั่งทับก็คือเซลล์ กลับบ้านเปิดตู้เย็นมาเราก็เจอแต่เซลล์เต็มตู้เย็น ไม่ว่าจะเป็น (น้ำส้มคั้น นมวัว ถั่วเหลือง ไข่ไก่ เนื้อปลา หมูสับ หัวใจคน
ดังนั้น ถ้าเราศึกษาและเข้าใจการทำงานของเซลล์ เราก็จะเข้าใจการทำงานของเนื้อเยื่อชนิดต่างๆทุกชนิด มากขึ้น
ถ้าเราเข้าใจการทำงานของเนื้อเยื่อชนิดต่างๆมากขึ้น เราก็จะเข้าใจการทำงานของสิ่งมีชีวิตต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม
หรือเราอาจจะพูดง่ายๆได้ว่า “ถ้าเราเข้าใจเซลล์ เราก็จะเข้าใจการทำงานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่เคยเกิดขึ้นและมีชีวิตอยู่บนโลกไม่ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตในอดีตหลายล้านปีที่แล้ว หรือสิ่งมีชีวิตในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นมา”
นับจากนั้นมาทิศทางของการศึกษาค้นคว้าจึงมุ่งไปที่เซลล์ เพื่อที่จะเข้าใจว่า อะไรอยู่ภายในเซลล์ เซลล์ทำงานอย่างไร จนนำไปสู่การค้นพบสารพันธุกรรมในเวลาต่อมา
และทั้งหมดนี้ คือคำอธิบายว่าทำไม ทฤษฎีเซลล์ จึงเป็นทฤษฎีที่เรียบง่าย แต่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และประวัติศาสตร์โลกไปอย่างสิ้นเชิง
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
ถ้าชอบอ่านเกี่ยวกับประวัติวิทยาศาสตร์เช่นนี้
แนะนำอ่านหนังสือที่ผมเขียนหลายเล่ม เช่น สงครามที่ไม่มีวันชนะ, เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ, 500 ล้านปีของความรัก ฯลฯ
สามารถซื้อออนไลน์ได้ที่
หรือถ้าอยากจะรอซื้อในงานหนังสือ เราไปเจอกันได้ที่บูท H03 ในงานวันที่ 30 กันยา - 11 ตุลา นี้ อิมแพค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2
ถ้าต้องการให้แจ้งเตือนทางไลน์
เมื่อมีคอนเทนต์ใหม่ๆลง คลิก
📷 Line: @chatchapolbook
โฆษณา