29 ก.ย. 2020 เวลา 13:57 • กีฬา
บทเรียนสู่ ‘วูล์ฟส์’ : เมื่อ ฮอร์เก้ เมนเดส เป่าหูเจ้าของ บาเลนเซีย จนทีมพินาศ | MAIN STAND
“ไม่ยิ่งใหญ่อย่างใคร แต่ก็ไม่เป็นหนี้และมีเกียรติยศ" นี่อาจจะเป็นวลีที่เหมาะกับทีมอย่าง บาเลนเซีย เมื่อสัก 10-20 ปีก่อน เพราะนี่คือหนึ่งในทีมเล็กที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาจนสามารถต่อกรกับ บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด ได้อย่างมันหยดและจบด้วยการคว้าแชมป์ลีกอีกด้วย
 
จากเกียรติประวัติอันเรืองรอง สร้างสุดยอดนักเตะลูกหม้อขึ้นมามากมาย เหตุใดทุกวันนี้ บาเลนเซีย จึงตกต่ำถึงขีดสุดถึงขั้นที่ประกาศชัดเจนว่า "พวกเขาพร้อมขายนักเตะทุกคนในทีม"
และเรื่องนี้มีคนหนึ่งที่มีเอี่ยวแบบเต็มๆ... ติดตามเรื่องราวการล่มสลายของวังค้างคาวที่เคยยิ่งใหญ่ได้ที่นี่
ฟ้าผ่าสัญญาณเตือน
บาเลนเซีย ชุดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือชุดต้นปี 2001-2002 ที่คุมทัพโดย ราฟา เบนิเตซ หลังจากนั้นทีมของพวกเขาเริ่มสร้างขุมกำลังจากนักเตะท้องถิ่น รวมถึงการหาเอาดาวเด่นจากทีมเล็กมาปั้นต่อให้เป็นนักเตะระดับโลก ดาบิด ซิลบา, ฮัวฆิน ซานเชซ, บิเซนเต้ โรดริเกซ, ดาบิด บีญ่า, พาโบล เอร์นันเดซ และ ฆวน มาต้า หรือแม้กระทั่ง อิสโก้ คือหนึ่งในนักเตะประเภทนั้น
ฐานของทีมแน่นมากในเวลานั้น นักเตะค่าจ้างไม่แพงแต่ผลงานดี ขายต่อก็ได้เงินก้อนใหญ่ แถมผลงานในสนามก็เข้าที่เข้าทาง พวกเขาคว้าแชมป์ลาลีกาได้ 1 สมัยในปี 2003-2004 และแชมป์ยูฟ่า คัพ (ยูโรป้า ลีก ในปัจจุบัน) อีกหนึ่งสมัยในซีซั่นเดียวกัน
3
และเมื่อนั้นพวกเขาก็รู้ว่าทีมควรจะไปได้ไกลกว่านี้ ด้วยการพร้อมลงทุนให้มากกว่าเดิม วาเลนเซียจึงตัดสินใจสร้างสนามให้ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับแฟนบอล โดยกำหนดไว้ว่าจะใช้ชื่อสนาม "นู เมสตาย่า" และเรื่องนี้คือจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2007
ณ เวลานั้นสโมสรมีแผนจะสร้าง นู เมสตาย่า ให้แล้วเสร็จในเวลา 2 ปี เพื่อให้ทันใช้ในฤดูกาล 2009-10 ซึ่งเป็นปีที่สโมสรมีอายุครบ 90 ปี ทว่าปัญหาใหญ่กว่านั้นคือช่วงเวลาดังกล่าวดันไปคาบเกี่ยวกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่หลายชาติในยุโรปโดนเล่นงาน ที่ชัดเจนสุดๆคือ กรีซ ที่เศรษฐกิจหยุดการเติบโตกันเลยทีเดียว และที่สเปนเองก็โดนไม่แพ้กัน
ในตอนนั้น อัตราการว่างงานของประชากรในประเทศสูงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น เมกกะโปรเจ็คท์ต่างๆ ของรัฐบาลยังประสบความล่าช้าเนื่องจากขาดงบประมาณ และขนาดโปรเจ็คต์ของภาครัฐยังเจ๊งไม่เป็นท่า ภาคเอกชนอย่างสโมสรฟุตบอลจะไปเหลืออะไร?
ด้วยงบประมาณการก่อสร้างสูงถึงราว 300 ล้านยูโร (ราว 11,000 ล้านบาท) นั่นทำให้ บาเลนเซีย ต้องกู้หนี้ยืมสินมาโปะดอกเบี้ยวุ่นวายกันไปหมด จนทุกวันนี้ นู เมสตาย่า ที่โวไว้ว่าจะเป็นสนามที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสเปนรองจาก คัมป์ นู และ ซานติอาโก้ เบอร์นาเบว ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จง่าย แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบ 15 ปีเเล้ว
2
ขณะที่เรื่องราวในสนามก็เข้มข้นและโคลงเคลงไม่ต่างจากปัญหาการเงิน เมื่อในปี 2007 กิเก้ ซานเชซ ฟลอเรส กุนซือของบาเลนเซีย ได้ทะเลาะกับประธานเทคนิคอย่าง อเมดีโอ คาร์บอนี่ ซึ่งเป็นอดีตนักเตะเก่าชุดรุ่งเรืองของทีม ก่อนจะจบลงด้วยการย้ายออกของ คาร์บอนี่ ... ไม่มีใครรู้ว่านี่คือการตัดสินใจของใคร แต่ปัญหายังคงดำเนินต่อไป จากนั้นอีกไม่กี่เดือนผู้ชนะสงครามภายในอย่าง ฟลอเรส ก็ทำผลงานแย่จนโดนไล่ออกจากทีมตามกันไป
จากนั้น บาเลนเซีย ก็กลายเป็นหนึ่งในสโมสรที่ไร้เสถียรภาพในการกำหนดทิศทางของสโมสร แถม โปรเจ็คระยะยาวที่เคยวางไว้ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขาดความต่อเนื่อง และการเลือกสรรโค้ชที่เหมาะกับนโยบายที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
บางปีพวกเขาใช้เงินเพื่อทวงความยิ่งใหญ่ บางปีก็เลือกที่จะเซฟเงินเอาไว้เน้นการเอาตัวรอด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย ดังนั้นตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ บาเลนเซีย จึงมีโค้ชแวะเวียนมาคุมทีมเกือบ 20 คน และหลายคนเป็นการไล่ออกแบบเสียค่ายกเลิกสัญญา ทั้ง โรนัลด์ คูมัน, เอร์เนสโต้ บัลเบเด้ หรือ อูไน เอเมอรี่ ต่างอยู่ไม่ครบสัญญาทั้งสิ้น
เมื่อทุกอย่างหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียวก็ส่งผลให้ตัวเลขในบัญชีจากสีเขียวก็ค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเเดง และท้ายที่สุดมันก็มากเกินกว่าที่พวกเขาจะต่อต้านและต้องประกาศยอมแพ้กับศึกแห่งตัวเลขครั้งนี้
ดาบิด ซิลบา และ ดาบิด บีญ่า คือสตาร์ชุดแรกโดนขายออกไปเพื่อนำเงินก้อนมาเคลียร์หนี้สินในส่วนต่างๆ หลังจากนั้นก็ทยอยขายนักเตะอีกชุดในอีกไม่กี่ปีต่อมา นำโดย โรแบร์โต้ โซลดาโด้, ฮัวฆิน ซานเชซ, อิสโก้ และ ฆวน มาต้า ที่ต่างกระเด็นไปอีกระลอกในฤดูกาล 2011-12 ด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือเอาเงินไปใช้หนี้ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยที่กำลังเริ่มบานตะไทตามเวลาที่ผิดสัญญาและล่าช้า
อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องเงินนั้นไม่ได้แก้กันง่ายๆ เมื่ออยู่ไปมีแต่หนี้ที่บานขึ้นและกำไรที่น้อยลง มานูเอล ยอเรนเต้ ประธานสโมสรก็ประกาศขายทีมให้กับ ปีเตอร์ ลิม เศรษฐีชาวสิงคโปร์ ให้เข้ามาถือหุ้น 70% ของสโมสร และมีสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจด้านการบริหารในปี 2014
และนี่ไม่ใช่การเข้ามาของท่านประธานลิมคนเดียว แต่มันคือการเข้ามายกเครื่องใหม่ทั้งหมด โดยมีเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะต้องสร้างสโมสรให้ยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อครั้งอดีตให้ได้
ประธาน นอร์มินี
ปีเตอร์ ลิม มาซื้อ บาเลนเซีย เพราะอะไร? ... คำถามนี้เกิดขึ้นกับแฟนๆของทีม ลอส เช พวกเขาสงสัยแต่ก็ต้องคว้าข้อเสนอและยินดีไว้ก่อน เมื่อมีคนที่พร้อมจะพัฒนาทีมก้าวเข้ามารับหน้าที่สำคัญ
แต่ปัญหาเดียวคือ ปีเตอร์ ลิม มาพร้อมกับการชักจูงของ ฮอร์เก้ เมนเดส ซูเปอร์เอเย่นต์ชาวโปรตุกีส ที่นำเสนอโปรเจ็คและพาเขามาซื้อ บาเลนเซีย จนมันลุล่วงในท้ายที่สุด
เมื่อ ลิม เป็นเจ้าของ บาเลนเซีย เมนเดส ก็ปล่อยของทันที เมนเดส จัดการทำบิ๊กดีลให้กับทีมมากมายในซัมเมอร์นั้น มากแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้ง เจา คันเซโล, ซากาเรีย บัคคาลี, ดานิโล่ และ เอ็นโซ เปเรซ จากนั้นก็มีการโยกย้ายนักเตะโดยคำสั่งของ เมนเดส อีกหลายต่อหลายคนทั้งขาออกและขาเข้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเตะในการดูเเลของ เมนเดส ทั้งนั้น
เพราะแม้ว่าตำแหน่งหน้าที่การงานของเจ้าของชาวสิงคโปร์นั้นจะใหญ่โต แต่สุดท้ายการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของเขาก็เกิดจากการกระซิบข้างหูของ เมนเดส เนื่องจาก เอเยนต์ชาวโปรตุเกส ถือไพ่เหนือกว่าด้วยดีกรีที่มี รวมถึงความสนิทสนมกับเจ้าของใหม่ที่มากกว่า
นอกจากการซื้อนักเตะเเล้ว การแต่งตั้งโค้ช เมนเดส ก็ยังคงชนะเลิศเช่นเคย โค้ชคนแรกที่ถูกแต่งตั้งในยุคปีเตอร์ ลิม ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล นูโน่ เอสปิริโต้ ซานโต้ กุนซือคนปัจจุบันของ วูล์ฟส์ ที่เป็นลูกค้าบริษัทนายหน้าของ เมนเดส นั่นเอง
"เมนเดส มีอำนาจในการบริหารสุดๆ เหมือนเดิมเหมือนซีซั่นที่ผ่านมา แต่แฟนยังสามารถมองข้ามมันไปได้ตราบใดที่ผลงานยังดี” ปาโก้ โปลิท นักข่าวสายบาเลนเซีย กล่าวกับเว็บไซต์ sport360 ในปี 2015
1
“ส่วน ซัลโบ และ รูเฟเต้ นั้นเป็นเหมือนร่มที่คอยคุ้มกันให้กับ นูโน่ และ เมนเดส เช่นเดียวกับ ปีเตอร์ ลิม จากคำวิจารณ์”
“พวกเขาทุกคนคิดว่าสามารถทำเรื่องพวกนี้ได้โดยการปกปิดมันไว้ใต้พรม แต่อีกไม่นานพายุจะถล่ม และ เมนเดส กับ นูโน่ จะได้รับบทเรียนนี้ด้วยตัวเอง"
1
ความคับข้องหมองใจเรื่องนี้ทำให้ อมาดิโอ ซัลโบ ผู้อำนวยการกีฬาของสโมสร รวมถึงกลุ่มขั้วอำนาจเดิมอย่าง ฟรานซิสโก้ รูเฟเต้ และ โรแบร์โต อยาล่า ที่เคยเป็นนักเตะเก่าของทีม พร้อมใจกันให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่าง AS ว่า อิทธิพลของ เมนเดส กระจายไปทั่วสโมสร จนเกิดสงครามภายในและการสร้างก๊กสร้างเหล่าขึ้นมา
เนื่องจากการตัดสินใจของ เมนเดส ถือว่าข้ามหัวกลุ่มบอร์ดบริหารทุกคน และสุดท้ายเมื่ออยู่ไปไม่มีความหมาย กลุ่มนักเตะเก่า บาเลนเซีย รวมถึง ซัลโบ ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างพร้อมเพียง ในปี 2015
เมื่อหมดเสี้ยนหนามไป เมนเดส ก็ดึงนักเตะอีกมากมายตามใจสั่ง นักเตะที่เป็นขวัญใจแฟนบอลอย่าง นิโคลัส โอตาเมนดี้, อัลบาโร่ เนเกรโด้ และ ปาโก้ อัลกาเซร์ โดนมองข้ามและขายทิ้งเพื่อนำเงินไปเปลี่ยนเป็นนักเตะใหม่ โดยเฉพาะในรายของ อัลกาเซร์ ที่เป็นเด็กปั้นของทีมนั้นโดนขายไปในราคาที่ถูกมากกว่าที่พวกเขาคิด
นอกจากนี้พวกเขายังมีนักเตะใหม่ที่แพงไปแต่ใช้งานไม่ได้เข้ามาอีกเพียบทั้ง เอเซเกล การาย, เอเลียควิม มองกาล่า และ อายเมอริก อับเดนนัวร์ นักเตะเหล่านี้ราคาเกิน 20 ล้านยูโรทั้งสิ้น และไม่ได้ผลงานที่โดดเด่นเลยตั้งแต่ก่อนย้ายจนกระทั่งวันที่เป็นนักเตะของ บาเลนเซีย และโดยปล่อยทิ้งไป
เรื่องนี้ทำให้กลุ่มขั้วอำนาจเก่าฉุนมาก แม้แต่คนที่ไม่เคยเลือกฝั่งอย่าง มาริโอ เคมเปส อดีตดาวยิงชาวอาร์เจนติน่า ที่เป็นตำนานดาวยิงของสโมสรและเป็นทูตประจำทีม ยังออกมาด่าแบบไม่กลัวเสียตำแหน่งว่า "ที่นี่มีเงินเป็นพระราชาแล้ว ไม่มีอะไรสำคัญอีกต่อไป"
ด้าน ปีเตอร์ ลิม ยังคงเป็นทองไม่รู้ร้อน คิดจะทำอะไรก็ทำไปตามประสา เช่นการตั้ง แกรี่ เนวิลล์ ที่เป็นนักวิจารณ์ทางโทรทัศน์เข้ามาคุมทีม การปลดโค้ชที่ดีที่สุดในรอบหลายปีอย่าง มาร์เซลินโญ่ ออกแบบงงๆ ซึ่งแน่นอนว่าประธานสโมสรและเจ้าของที่ดีมีวิสัยทัศน์จะไม่ทำเรื่องเช่นนี้แน่ๆ
ถ้าทำดีใครจะว่า?
แน่นอน... ถ้าทำแล้วดีคงไม่มีใครว่าอะไรได้ การล้างขั้วอำนาจเก่าเป็นเรื่องปกติของทุกองค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในการบริหาร มันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่สิ่งที่ควรทำคือเมื่อล้างบางแล้วมันต้องดีกว่าเดิมเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและเล็งเห็นความสำคัญของอนาคต
1
แต่ที่แน่ๆผลตอบแทนของ บาเลนเซีย นั้นเละเทะเกินคาด นักเตะที่ซื้อเข้ามาแสนแพง ก็ขายแบบได้กำไรไม่เกิน 3-4 คน ดีลที่ใหญ่หน่อยได้แก่ โรดริโก้ ที่ขายให้ ลีดส์ และ อังเดร โกเมส ที่ขายให้กับ บาร์เซโลน่า เท่านั้น ที่เหลืออกแนวเจ๊งเละเทขายแบบขาดทุนเสียส่วนใหญ่
เหนือสิ่งอื่นใดคือผลงานในสนามของ บาเลนเซีย ไม่เคยดีขึ้นอีกเลยไม่ว่าจะเปลี่ยนกุนซืออีกกี่คน แม้จะมีบ้างที่สามารถคว้าโควต้าฟุตบอลสโมสรยุโรป แต่ไม่น้อยที่พวกเขาต้องลงเอยด้วยการจบในตำแหน่งกลางตาราง แถมสองฤดูกาลล่าสุดค่อนข้างสาหัส เมื่อออกสตาร์ทด้วยการวนเวียนอยู่ในครึ่งล่างของตาราง และเกือบไปแตะพื้นที่สีแดงอยู่หลายครั้ง
เรื่องใหญ่ยังไม่จบแค่นั้นเมื่อความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกเนื่องจากวิกฤติโรคระบาดของโควิด-19 ภัยของการระบาดยิ่งทำให้ทีมขาดทุนและขาดเงินสดไปกันยกใหญ่ และหลังจบซีซั่น 2019-20 สโมสรได้ประกาศจุดยืนทันทีว่า
"นอกจาก โฆเซ่ กาย่า แล้วสโมสรพร้อมขายทุกคนออกจากสโมสรหากมีทีมใดติดต่อเข้ามาในราคาที่เหมาะสม"
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้มีนักเตะออกจากทีมถึง 10 คน แม้แต่กัปตันที่อยู่มานานอย่าง ดานี่ ปาเรโฆ่ ก็โดนปล่อยออกจากทีมแบบฟรีๆ เนื่องจากมีค่าเหนื่อยที่สูง เรียกได้ว่าตอนนี้ บาเลนเซีย ลดระดับตัวเองลงมาอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องมูลค่านักเตะในทีม และมาตรฐานของทีมที่เคยเกาะหัวตารางมาโดยตลอด
ทุกวันนี้แฟนๆของ บาเลนเซีย ยังตะโกนสาปส่งปีเตอร์ ลิม ที่จากที่ควรจะทำทีมให้ยิ่งใหญ่ แต่กลับทำให้ตกต่ำกว่าเดิม ส่วนตัวแปรสำคัญอย่าง จอร์จ เมนเดส นั้นแม้จะโดนแฟนๆกดดันบ้าง แต่เขาก็ลอยตัวตามสบายเพราะเขาไม่ได้มีตำแหน่งที่เป็นลายลักษณ์อักษรในทีมอยู่แล้ว
ส่วนทุกวันนี้ เมนเดส ก็ยังทำธุรกิจแบบเดิม แต่เปลี่ยนลีกเปลี่ยนทีม ด้วยการไปเป็นซี้กับกลุ่มผู้บริหารชาวจีนของ วูล์ฟแฮมป์ตัน ... และคุณคงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมทัพหมาป่าจึงมีนักเตะชาวโปรตุกีสเกิน 10 คนในเวลานี้ ถ้าพลิกดูประวัติสักหน่อยจะพบว่าแข้งโปรตุกีสเหล่านี้เป็นลูกค้าของ เมนเดส ทั้งนั้น เรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกไม่รู้กี่ตัวเลยก็ว่าได้
แม้เส้นทางชีวิตของ เมนเดส จะยังรุ่งโรจน์และไม่น่าจะจมลงได้ง่ายๆ แต่คำสาปสั่งจากฝั่ง บาเลนเซีย ยังคงเป็นสิ่งกวนใจเขาไม่เปลี่ยนแปลง อันโตนิโอ เซเซ่ อดีตผอ.สโมสรพยายามสู้เพื่อสิทธิ์ของตัวเองที่โดนให้ออกจากตำแหน่งเต็มที่ ด้วนการฟ้องคณะกรรมการบริหารของสโมสรชุดปัจจุบันในข้อหาทุจริตฟอกเงิน และใช้ตำแหน่งจากเสียงข้างมากในทางที่ผิด โดยเป้าใหญ่ที่ เซเซ่ จะเล่นงานคือ ปีเตอร์ ลิม และ เมนเดส นั่นแหละ
แม้ตอนนี้จะยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ แต่เรารู้ตัวผู้แพ้เเล้วนั่นก็คือสโมสรฟุตบอล บาเลนเซีย นั่นเอง พวกเขามีหนี้ติดลบจากการเปิดเผยล่าสุดต้นปี 2020 เกือบๆ 200 ล้านยูโร และถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ "สโมสรที่ใกล้ล่มสลาย" ไปเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว .... นี่คือสิ่งทีเกิดขึ้นทั้งหมดจากการเปิดแผลของวิกฤติเศรษฐกิจ และฉีกแผลเก่าให้กว้างขึ้นอีกโดยการบริหารที่ขาดวิสัยทัศน์
ไม่มีใครรู้ว่า บาเลนเซีย จะกลับมาเมื่อไหร่ บางทีพวกเขาอาจจะต้องกลับสู่สามัญเหมือนที่เคยทำในช่วงปี 2000 นั่นคือการใช้เงินให้น้อยที่สุด และเลือกนักเตะจากระบบอคาเดมี่เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นเอง
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งที่มา:
โฆษณา