30 ก.ย. 2020 เวลา 14:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สังคมไทย เหลื่อมล้ำ เพิ่มขึ้น หรือ ลดลง
“รวยกระจุก จนกระจาย” ยังคงเป็นวลีเด็ด ที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน อย่างไรก็ตามวลีดังกล่าวกลับขัดแย้งกับรายงานของธนาคารโลก (World Bank) ปี 2018 ที่นำเสนอว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนคนจนและปัญหาความเหลื่อมล้ำลดลง
ธนาคารโลกได้นิยามคนจน หมายถึง คนที่มีรายได้น้อยกว่า 5.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ วัน หรือประมาณ 175 บาทต่อวัน
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2543 ในช่วงเวลานั้นประเทศไทย ประสบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง มีคนจนมากกว่า 25 ล้านคน
ผ่านไปเกือบ 20 ปี จำนวนคนจนมีแนวโน้มลดลง
ปี 2561 ประเทศไทยมีคนจนประมาณ 6 ล้าน 7 แสนคน หรือ ประมาณ 10% ของประชากรในประเทศ
จำนวนคนจนในประเทศไทย
ในการวัดความเหลื่อมล้ำ นักเศรษฐศาสตร์วัดโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini Coefficient) Gini มีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 โดยถ้า Gini มีค่าใกล้ 1 แสดงว่า มีความเหลื่อมล้ำมาก
จากการศึกษาของธนาคารโลก ได้ใช้ Gini ในการวัดรายได้และรายจ่ายของประชาชน Gini ด้านรายจ่ายมีค่า 0.36 และ ด้านรายได้มีค่า 0.45 นอกจากนั้นค่า Gini ทั้งรายได้และรายจ่ายของไทย มีแนวโน้มลดลง
ข้อมูลของธนาคารโลก แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีจำนวนคนจนและความเหลื่อมล้ำลดลง แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจากจำนวนคนจนและค่า Gini โดยใช้เกณฑ์ของธนาคารโลก ไม่สามารถสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยได้ถูกต้องนัก
สัดส่วนความยากจน และ ดัชนี GINI ของไทย
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลของ World Inequality Report ปี 2018 โดยแบ่งประชากรวัยทำงาน จำนวน 52 ล้านคน ออกเป็น 3 กลุ่ม จะพบว่า
กลุ่มที่ 1 กลุ่มคนมีรายได้น้อย หรือกลุ่มคนจน มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 4,941 บาท กลุ่มนี้มีสัดส่วนมากถึง 50%
กลุ่มที่ 2 กลุ่มรายได้ปานกลาง มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 15,707 บาท กลุ่มนี้มีสัดส่วน 40%
กลุ่มที่ 3 กลุ่มคนรวย มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 99,072 บาท กลุ่มนี้มีสัดส่วนเพียง 10% สำหรับกลุ่มคนรวยถ้าเจาะลึกเฉพาะคนที่รวยที่สุด Top 1 % ของประเทศ กลุ่มนี้มีรายได้สูงถึงเดือนละ 337,426 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว
เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับตัวเลขอัตราการขยายตัวของ GDP พบว่า ถ้า GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น 100 บาท กลุ่มคนรวย (TOP 10%) ได้ส่วนแบ่ง 36 บาท กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางได้ส่วนแบ่ง 38 บาท และ กลุ่มคนจนได้ส่วนแบ่งเพียง 26 บาทเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ยิ่งเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำกลับมากขึ้น
ผลการศึกษางานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ผาสุก พงษไพจิตร และ ผศ. ดร. ดวงมณี เลาวกุล พบว่า ค่า Gini ด้านทรัพย์สินของไทย มีค่าสูงถึง 0.6 และ ด้านการถือครองที่ดิน มีค่าสูงถึง 0.89 โดยโฉนดที่ดิน 25% ตกเป็นของกลุ่มคนรวย TOP 1% แสดงว่า ปัญหาการเหลื่อมล้ำของประเทศไทยยังมีอยู่มาก และไม่ได้ลดลงตามรายงานของธนาคารโลก
คำถามที่ชวนสงสัย คือ ในเมื่อรัฐบาลเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าและเพราะเหตุใด ความเหลื่อมล้ำแทนที่จะลดลง แต่กลับมากขึ้น
การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า หมายความว่า คนที่มีรายได้สูงต้องจ่ายภาษีมากกว่า คนที่มีรายได้น้อย แต่สาเหตุที่การเก็บภาษีก้าวหน้าไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจาก การให้สิทธิค่าลดหย่อนแก่ผู้เสียภาษี อย่างเช่น การนำเงินบริจาค การลงทุนซื้อ LTF และ RMF สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ แสดงให้เห็นว่า สิทธิลดหย่อนภาษี เอื้อประโยชน์แก่คนรวย จึงทำให้ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้น
1
ในการวัดความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้วัดด้านเศรษฐกิจเพียงมิติเดียว ต้องวัดมิติอื่นด้วย เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ดัชนีอีกตัวหนึ่งที่นิยมวัดความเหลื่อมล้ำ คือ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ HDI (Human Development Index)
ดัชนี HDI วัดการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของประชาชน HDI จัดทำโดย สหประชาชาติ โดยอาศัยแนวคิดการแก้ปัญหาความยากจนของ อมาตยา เซน (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี ค.ศ.1998
อมาตยา เซน (Amartya Sen) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปี ค.ศ.1998
ปัจจุบัน ค่า HDI ของไทยมีค่า 0.75 อยู่อันดับที่ 83 ของโลก และ อันดับ 4 ของอาเซียน โดยเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ค่า HDI มีแนวโน้มมากขึ้น แสดงว่า ประชาชนได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าว เป็นตัวเลขเชิงปริมาณเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพของการศึกษาและการรักษาพยาบาลที่ประชาชนได้รับ
อุปสรรคอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ รัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากคนรวยได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษียังคงมีอยู่ ส่งผลให้จำนวนเงินงบประมาณที่ได้จากการเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้เพื่อการศึกษา การรักษาพยาบาล ตลอดจนสิ่งสาธารณูปโภค ยังมีไม่เพียงพอและไม่สามารถกระจายให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง และถึงแม้ว่ารัฐบาลออกนโยบายช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อย่าง บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ตาม แต่ปัญหา "รวยกระจุก จนกระจาย" ยังฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย
อ้างอิง
โฆษณา