1 ต.ค. 2020 เวลา 09:36 • นิยาย เรื่องสั้น
“ครูบ้านนอก”
...ด้วยจิตสำนึกและอุดมการณ์ในความเป็นครู ทำให้ยอมกล้าเสี่ยงที่จะกลับมาทำหน้าที่ของครู แม้จะต้องแลกด้วยชีวิตก็ตาม...
ในงานเลี้ยงส่งนักศึกษาในวิทยาลัยครูแห่งหนึ่ง ทุกคนกำลังสนุกสนานกับการสังสรรค์จากการอำลาสถาบันจากวงดนตรีสมัยใหม่ ในขณะที่ “ปิยะ” เดินเลี่ยงออกมายืนชมนิทรรศการวิถีชีวิตของชาวอีสานอย่างสนใจ นับเป็นแรงบันดาลใจให้เขาตัดสินใจสอบบรรจุเพื่อรับราชการครูที่ภาคอีสาน
โดยการบรรจุครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านหนองฮีใหญ่ พร้อมกับครู “ดวงดาว” หญิงสาวร่างบอบบาง และครู “พิสิฐษ์ “ ครูหนุ่มมาดสำอาง โดยมีครู “คำเม้า” เป็นครูใหญ่
ภาพ :36 Photo-Tuto Facebook.com
โรงเรียนบ้านหนองฮีใหญ่ มีอาคารเรียนชั่วคราวชั้นเดียวพื้นติดดิน นักเรียนต้องมาเรียนรวมกันโดยไม่มีการแบ่งห้องเป็นสัดเป็นส่วน สภาพนักเรียนสวมเสื้อผ้าขาด หน้าตามอมแมม
“ครูปิยะ” คือตัวแทนหนุ่มสาวที่มีความมุ่งมั่นในอุดมการณ์เพื่อพัฒนาการศึกษาและสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้า มีการนำความรู้ภูมิปัญญาของการเล่านิทานในท้องถิ่นเรื่อง “บักเคนผีบ้า” มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในการท่องจำ
ในขณะเดียวกันครูใหญ่คำเม้าครูรุ่นเก่าก็ทำหน้าที่สอนหนังสือโดยใช้หลักปรัชญาในการเรียนการสอน
ส่วนครูพิสิฐษ์ ครูหนุ่มเจ้าสำราญ ที่เคยใช้ชีวิตในสังคมในเมืองต้องจำใจมาสอบบรรจุครูที่นี่
ต่อมาครูพิสิฐษ์ มีคำสั่งให้ย้ายไปสอนในเมือง เพราะมีเรื่องชกต่อยกับเจ้าหน้าที่ ที่มาตรวจราชการที่โรงเรียนลวนลามครูดวงดาว
ครูปิยะ ได้เก็บความสงสัยไว้ในใจเกี่ยวกับรถบรรทุกขนไม้ที่วิ่งผ่านเข้ามาในหมู่บ้าน เพราะครั้งหนึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ท่อนซุงขนาดใหญ่ หล่นจากรถบรรทุกตกลงมาในสนามโรงเรียน
ครูปิยะ จึงพบว่าทั้งหมดเป็นไม้เถื่อน จึงแอบเข้าไปถ่ายรูปในปางไม้ของนาย “มังกร” ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เพื่อไปส่งข่าวให้หนังสือพิมพ์ จึงเป็นเหตุให้ครูปิยะต้องหนีภัยออกมาจากหมู่บ้านหนองฮีใหญ่ มาอาศัยอยู่กับหลวงตาในเมือง
แต่ด้วยอุดมการณ์และจิตสำนึกของความเป็นครู ครูปิยะจึงกลับมาสอนที่โรงเรียนบ้านหนองฮีใหญ่อีกครั้ง ท่ามกลางกลางการต้อนรับของครูและนักเรียน
www.sanook.com
แต่เพียงแค่ครูปิยะ ขี่จักรยานเข้าสู่เขตรั้วโรงเรียนเท่านั้น มือปืนได้ยิงกระสุนเข้าใส่ร่างของครูปิยะ จนทำให้จักรยานของครูปิยะล้มลงและครูปิยะก็สิ้นใจ ท่ามกลางสายตาของครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองฮีใหญ่...
“อาชีพครู ไม่ใช่ใครก็เป็นได้ แต่คนที่เป็นครูต้องเป็นด้วยจิตวิญญาณแห่งความเมตตาและความเสียสละที่มีให้ต่อลูกศิษย์”
คำหมาน คนไค : เรียบเรียง
ขอบคุณข้อมูลจาก:www.th.m.wikipedia.org
โฆษณา