1 ต.ค. 2020 เวลา 11:45 • ข่าว
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: ทรัมป์ผู้ก้าวร้าว ปะทะ ไบเดนสายกลาง 5 ข้อสรุปจากศึกดีเบตครั้งแรก
กลยุทธ์การดีเบตของทรัมป์ในครั้งนี้เน้นที่การโจมตีไบเดนมากกว่าการชูผลงานของตัวเอง เขาเลือกที่จะโจมตีไบเดนในแทบจะทุกด้านตั้งแต่เรื่องอายุ การศึกษา ครอบครัว ผลงานในฐานะสมาชิกวุฒิสภา
ทรัมป์ยังพยายามพูดแทรกไบเดนตลอดเวลา เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ไบเดนแก้ตัวในประเด็นที่เขาโจมตี ภาพที่ออกมาบนเวทีคือความสับสนอลหม่าน ทุกคนแย่งกันพูด ไม่มีใครฟังใคร และไม่มีใครมีโอกาสพูดจนจบประโยค จนผู้ชมทางบ้านไม่มีโอกาสได้ฟังข้อมูลเชิงนโยบายจริงๆ
การรักษาภาพลักษณ์นักการเมืองที่อยู่ตรงกลางเป็นสิ่งที่ไบเดนให้ความสำคัญมาก เพราะเขาเชื่อว่ากุญแจที่นำไปสู่ชัยชนะเลือกตั้งของเขาคือการกวาดเสียงคนที่อยู่ตรงกลางๆ
อย่างไรก็ตาม การวางภาพตัวเองของไบเดนไว้แบบนี้อาจต้องแลกมาด้วยการที่ฐานเสียงในพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะกลุ่มซ้ายจัด อาจผิดหวังในตัวของไบเดน จนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
การดีเบตครั้งแรกระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อค่ำคืนวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งการพบกันบนเวทีดีเบตแบบตัวต่อตัวระหว่างผู้สมัครชิงประธานาธิบดีจากสองพรรคในครั้งนี้ สื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นดีเบตที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์
เหตุใดสื่อมวลชนจึงกล่าวเช่นนั้น และสิ่งที่ผู้สมัครทั้งสองคนแสดงออกมาบนเวทีบ่งบอกอะไรถึงกลยุทธ์การหาเสียงของทั้งสองพรรค บทความนี้จะสรุปประเด็นน่าสนใจจาก 90 นาทีที่ทั้งสองคนได้ประชันวิสัยทัศน์ให้ผู้อ่านได้ทราบ
ทรัมป์มาพร้อมความก้าวร้าวดุดัน
กลยุทธ์ของการดีเบตของทรัมป์ในครั้งนี้เน้นที่การโจมตีไบเดนมากกว่าการชูผลงานของตัวเอง ทรัมป์เลือกที่จะโจมตีไบเดนในแทบจะทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องอายุ การศึกษา ครอบครัว ผลงานในฐานะสมาชิกวุฒิสภา และพยายามกล่าวหาว่า ไบเดนจะนำนโยบายสังคมนิยมของนักการเมืองซ้ายจัดในพรรคอย่าง อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตซ มาบังคับใช้ หากเขาชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี นอกจากนี้ทรัมป์ยังพยายามพูดแทรกไบเดนตลอดเวลา เพื่อไม่เปิดโอกาสให้ไบเดนได้แก้ตัวในประเด็นที่เขาโจมตี
ทรัมป์ใช้กลยุทธ์นี้ตั้งแต่ต้นจนจบ จนไบเดนถึงกลับน็อตหลุดตวาดกลับไปบ้างว่า “ช่วยหุบปากหน่อยได้ไหม” ผู้ดำเนินรายการอย่าง คริส วอลเลซ ก็ต้องออกปากเตือนทรัมป์อยู่หลายรอบว่าขอให้ช่วยรักษากติกาที่ว่าทรัมป์ไม่มีสิทธิ์พูดแทรกเวลาที่ไบเดนตอบคำถามที่ถามโดยตรงจากวอลเลซ
ผลจากการที่ทรัมป์เลือกใช้กลยุทธ์นี้ ทำให้ภาพที่ออกมาบนเวทีคือความสับสนอลหม่าน ทุกคนแย่งกันพูด ไม่มีใครฟังใคร และไม่มีใครมีโอกาสพูดจนจบประโยคจนผู้ฟังทางบ้านไม่มีโอกาสได้ฟังข้อมูลเชิงนโยบายจริงๆ ว่าผู้สมัครทั้งสองคนจะพาประเทศไปในทิศทางใด สื่อมวลชนกระแสหลักผิดหวังต่อภาพที่ออกมาอย่างมาก ทุกคนมองว่า 90 นาทีที่มีการมาถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศนั้นสูญเปล่า และทำให้กระบวนการที่มีคุณค่าต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างการดีเบตนั้นเสื่อมคุณค่าลงไปอย่างสิ้นเชิง
แต่ความก้าวร้าวอาจจะทำร้ายทรัมป์
กลยุทธ์ที่ทรัมป์ใช้ได้ผลในการที่ทำให้เขากลายเป็นผู้ควบคุมเกมบนเวที และทำให้ไบเดนไม่สามารถแก้ตัวจากข้อกล่าวหาของทรัมป์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่อย่างไรก็ดี การเลือกใช้กลยุทธ์แบบนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็น ‘บูลลี่’ ที่ติดตัวทรัมป์มาแต่ไหนแต่ไรยิ่งปรากฏเด่นชัดขึ้นบนจอโทรทัศน์ ซึ่งภาพลักษณ์นี้ยิ่งแตกต่างชัดเจน เมื่อภาพบนจอของเขาปรากฏเคียงคู่กับไบเดนที่ดูสุขุมกว่าและพยายามจะเป็นสุภาพบุรุษด้วยการไม่พูดแทรกในเวลาตอบคำถามของทรัมป์ ทำให้กลายเป็นว่าคะแนนนิยมของทรัมป์อาจจะยิ่งตกต่ำลงไปอีกโดยเฉพาะในหมู่คนขาวที่มีการศึกษา
ว่ากันตามจริง ผลโพลของสื่อสำนักใหญ่ก็ระบุตรงกันว่า คนอเมริกันที่ดูดีเบตอยู่หน้าจอโทรทัศน์ส่วนมากตัดสินให้ไบเดนเป็นผู้ชนะ โดย CNN ระบุว่า ไบเดนชนะทรัมป์ 60% ต่อ 28% ในขณะที่โพลของ CBS ให้ไบเดนชนะที่ 48% ต่อ 41% และขององค์กร Data For Progress ให้ไบเดนชนะที่ 51% ต่อ 39%
ไบเดนยืนยันความเป็นนักการเมืองแบบกลางซ้าย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางหลายประเด็นที่ทรัมป์พยายามจะโจมตีไบเดน มีอยู่หนึ่งประเด็นที่ไบเดนตอบโต้อย่างแข็งกร้าวและชัดถ้อยชัดคำทุกครั้งคือ การที่ทรัมป์กล่าวหาไบเดนเป็นพวกสังคมนิยมและสนับสนุนนโยบายซ้ายสุดโต่ง อย่างเช่น การตัดงบประมาณของตำรวจ, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Medicare For All) และ Green New Deal ไบเดนกล่าวอย่างชัดเจนว่า เขาจะไม่ลดงบประมาณ แต่จะเพิ่มงบประมาณให้ตำรวจเสียด้วยซ้ำ เขาพูดมาตั้งแต่เลือกตั้งขั้นต้นแล้วว่าเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตัวเขาสนับสนุนนโยบายการสร้างประกันสุขภาพราคาถูกโดยรัฐบาลกลาง (Public Option) ต่างหาก และเขาก็มีนโยบายโลกร้อนเป็นของตัวเองที่ใช้งบประมาณไม่มากเท่า Green New Deal
จะเห็นได้ว่าการรักษาภาพลักษณ์ของการเป็นนักการเมืองที่อยู่ตรงกลางเป็นสิ่งที่ไบเดนให้ความสำคัญมาก เพราะเขาเชื่อว่ากุญแจที่นำไปสู่ชัยชนะเลือกตั้งของเขาคือ การกวาดเสียงคนที่อยู่ตรงกลางๆ หรือแม้แต่คนที่เอียงไปทางขวาแต่ทนกับอุปนิสัยของทรัมป์และความสับสนอลหม่านของรัฐบาลทรัมป์ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การวางภาพของตัวเองไว้แบบนี้ย่อมต้องแลกมาด้วยการที่ฐานเสียงในพรรค โดยเฉพาะกลุ่มซ้ายจัด อาจผิดหวังในตัวของไบเดน จนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ทรัมป์เลือกที่จะไม่ประณามกลุ่ม White Supremacist และจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง
นอกจากประเด็นเรื่องความสับสนอลหม่านที่เกิดขึ้นบนเวทีแล้ว สิ่งที่ทรัมป์พูดบนเวทีก็มีความน่าสนใจเช่นเดียวกัน โดยมี 2 ประเด็นที่เป็นที่กล่าวขวัญอย่างมาก ได้แก่ การที่ทรัมป์ไม่ยอมกล่าวประณามกลุ่มเหยียดผิวอย่าง White Supremacist และกลุ่มนิยมความรุนแรงอย่างกลุ่ม Proud Boys ทั้งๆ ที่วอลเลซขอให้เขาประณาม 2 กลุ่มนี้ออกอากาศ ในทางกลับกันทรัมป์ถึงกับบอกให้กลุ่ม Proud Boys ให้เตรียมตัวเอาไว้ให้ดี (Stand Back and Stand By) ถ้ามีการประท้วงเกิดขึ้นอีก การที่ทรัมป์เลือกกล่าวเช่นนี้ ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดยิ่งขึ้นอีกว่ากลยุทธ์ของทรัมป์ต่างจากไบเดนอย่างสิ้นเชิงคือ ทรัมป์เน้นไปที่การหาเสียงกับฐานเสียงที่ส่วนมากจะเป็นคนขาว (และบางส่วนมีแนวคิดแบบเหยียดผิว) และกระตุ้นให้ฐานเสียงออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง ในขณะที่ไบเดนพยายามจะช่วงชิงเสียงของคนที่อยู่ตรงกลางๆ
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ทรัมป์ปฏิเสธที่จะให้คำมั่นสัญญาว่าเขาจะยอมรับผลการเลือกตั้งถ้าเขาเป็นผู้แพ้ ทรัมป์กล่าวหา (อย่างไม่มีหลักฐาน) ว่าพรรคเดโมแครตกำลังพยายามจะโกงเลือกตั้ง โดยการส่งบัตรเลือกตั้งปลอมมาทางไปรษณีย์ เขากล่าวอีกว่า หากเขาจับได้ว่าพรรคเดโมแครตโกงจริง เขาก็จะฟ้องศาลเพื่อให้คะแนนเสียงที่เดโมแครตโกงไม่ถูกนับ (และนี่เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมทรัมป์ถึงพยายามจะแต่งตั้งให้ เอมี โคนีย์ บาร์เรตต์ ได้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดแทนที่ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ผู้ล่วงลับก่อนที่การเลือกตั้งจะมาถึง)
อาจจะเป็นดีเบตครั้งสุดท้ายของปีนี้?
มีเสียงเล่าลือกันอย่างหนาหูในสื่อกระแสหลักว่า นี่อาจจะเป็นดีเบตเดียวที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ถ้าทรัมป์ยังคงแสดงพฤติกรรมไม่เคารพกติกา เพราะผลลัพธ์ของดีเบตครั้งต่อๆ ไปก็คงไม่ต่างจากครั้งนี้ กล่าวคือผู้สมัครคงไม่สามารถแสดงวิสัยทัศน์ของตนให้ชาวอเมริกันได้รับทราบ ซึ่งก็แปลว่าดีเบตจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่จะมาถึง ถ้าหากจะมีดีเบตครั้งที่ 2 และ 3 เกิดขึ้นตามกำหนด คณะกรรมการคงจะต้องพิจารณาปรับรูปแบบการอภิปรายกันใหม่ ทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้คือ ผู้ดำเนินรายการอาจจะได้สิทธิ์ขาดในการเปิด-ปิดไมค์ของผู้สมัคร เพื่อลดปัญหาการพูดแทรกอย่างในค่ำคืนวันอังคารที่ผ่านมา
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
เรื่อง: ปฐมพงษ์ อึ๊งประเสริฐ
โฆษณา