1 ต.ค. 2020 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
นานแค่ไหนแล้ว? ที่เราไม่ได้ดูช่อง 9
MCOT หรือที่เราเรียกกันว่า ช่อง 9
เป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้ชื่อ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทยมาแล้ว 16 ปี
รู้ไหมว่าในตอนนี้ มูลค่าบริษัทของ MCOT ลดลงเหลือเพียง 3,000 ล้านบาท
ซึ่งมูลค่านี้ น้อยกว่ามูลค่าในวันแรกที่เริ่มซื้อขายถึง 5 เท่า
แล้ว MCOT กำลังเจอความท้าทายมากแค่ไหน ในทุกวันนี้?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ MCOT ย้อนกลับไปถึงปี พ.ศ. 2495
รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้จัดตั้ง บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด
เพื่อประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
Cr. MCOT
ต่อมาปี พ.ศ. 2520 รัฐบาลตัดสินใจยุบกิจการดังกล่าว
แล้วตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ขึ้นมาแทน
แล้วโอนย้ายพนักงานจาก บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด มาที่ อ.ส.ม.ท.
และ อ.ส.ม.ท. ก็ได้ก่อตั้ง สำนักข่าวไทย ซึ่งถือเป็นสำนักข่าวอย่างเป็นทางการ แห่งแรกของประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2547 อ.ส.ม.ท. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดยใช้ชื่อหุ้นว่า MCOT ซึ่งมีมูลค่าบริษัทในวันแรก ประมาณ 15,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน มูลค่ากิจการของ MCOT ลดลงเหลือประมาณ 3,000 ล้านบาท
หรือคิดเป็นการหายไป 5 เท่าในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา
เกิดอะไรขึ้นกับ MCOT..
ประเด็นแรก
เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า กสทช. ในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งมีหน้าที่บริหารความถี่วิทยุเพื่อกิจการโทรคมนาคม และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม
หลังจากที่ กสทช. ถูกจัดตั้งขึ้น บริษัทที่สนใจทำธุรกิจช่องทีวี ก็สามารถเข้ามาเปิดประมูลเพื่อขอรับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจช่องทีวีดิจิทัลกับ กสทช.
1
และนี่นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวงการโทรทัศน์ในประเทศไทย
เนื่องจากก่อนหน้านั้น ฟรีทีวีในประเทศไทยจะมีจำนวน 6 ช่องเท่านั้น คือ ช่อง 3, 5, 7, 9, 11 และไทยพีบีเอส
จำนวนช่องทีวีที่เพิ่มขึ้นเป็นหลายสิบช่อง ตามมาด้วยการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนี้
ทำเกิดการแย่งชิงรายได้ค่าโฆษณาที่เป็นก้อนเดิม ซึ่งรายได้โฆษณาถือเป็นแหล่งรายได้หลักของสื่อโทรทัศน์
จนต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2562 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายจำเป็นต้องคืนใบอนุญาตประกอบกิจการให้ กสทช. เนื่องจากแบกรับผลการดำเนินงานที่ขาดทุนไว้ไม่ไหว จนต้องออกจากธุรกิจนี้ไป
แต่ความท้าทายของวงการสื่อโทรทัศน์ ก็ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น
เพราะสิ่งที่น่ากลัวสำหรับช่องทีวีในตอนนี้
ไม่ได้มีแค่คู่แข่งในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลด้วยกัน
แต่คือสิ่งที่กำลังมาแย่งเวลาในการดูทีวีไป ซึ่งก็คือ “สื่อออนไลน์”
1
Cr. Freepik
รู้ไหมว่า ระยะเวลาในการรับดูทีวีของคนไทย ลดลงจากเดิมโดยเฉลี่ยถึง 2 เท่า
จากเดิมที่คนไทยดูทีวีวันละ 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงปี 2556
ปัจจุบัน ลดลงเหลือประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน เท่านั้น
ที่น่าสนใจก็คือ เวลาที่คนไทยใช้บนโลกออนไลน์ กลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ปี 2556 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 4.4 ชั่วโมงต่อวัน
ปี 2562 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10.2 ชั่วโมงต่อวัน
และถ้าลองมาดูตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาบนสื่อต่างๆ ในปี 2562 ก็จะพบว่า
แม้สื่อโทรทัศน์จะยังคงมีมูลค่าของเงินค่าโฆษณาสูงสุด แต่ก็มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน
ปี 2558 งบโฆษณาบนบนสื่อโทรทัศน์ เท่ากับ 84,392 ล้านบาท
ปี 2562 งบโฆษณาบนบนสื่อโทรทัศน์ เท่ากับ 70,298 ล้านบาท
ในขณะที่เงินโฆษณาบนสื่อออนไลน์ กลับโตระเบิด
ปี 2558 มูลค่าเงินค่าโฆษณาบนสื่อออนไลน์ เท่ากับ 8,084 ล้านบาท
ปี 2562 มูลค่าเงินค่าโฆษณาบนสื่อออนไลน์ เท่ากับ 20,163 ล้านบาท
ย้อนกลับมาที่เรื่องของ MCOT
ในปี 2562 รายได้หลักของ MCOT มาจากการบริการทางโทรทัศน์ 38% และจากการบริการทางวิทยุ 23%
1
ผลประกอบการของ MCOT
ปี 2561 รายได้ 2,562 ล้านบาท ขาดทุน 376 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 2,968 ล้านบาท ขาดทุน 457 ล้านบาท
2
โดยปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MCOT
ก็คือกระทรวงการคลัง ซึ่งถือหุ้นอยู่ประมาณ 65.8% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
ความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ทำให้ MCOT ต้องปรับปรุงแผนการดำเนินธุรกิจ
โดยพยายามสร้างรายการ ที่สามารถดึงดูดผู้ชมให้ติดตามรายการต่างๆ ของ MCOT มากยิ่งขึ้น
2
Cr. MCOT
เรื่องนี้เราก็ต้องติดตามกันต่อไป
ว่า MCOT จะสู้กับความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ได้อย่างไร
1
แต่ถ้าจะหวังให้เม็ดเงินโฆษณาบนช่องทีวี
กลับมาคึกคักเหมือนเดิมในอดีต ก็คงต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ยาก
เพราะนอกจากจะมีการแข่งขันกันของช่องทีวีที่มีมากขึ้นแล้ว
คนส่วนมากในสมัยนี้ ยังนิยมเสพคอนเทนต์จากช่องทางออนไลน์
จนบางคนถึงกับจำไม่ได้แล้วว่า เปิดทีวีดูช่อง 9 ครั้งสุดท้าย เมื่อไร..
2
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
บริษัท BEC หรือ ช่อง 3 ก็เป็นอีกหนึ่งรายที่เจอความท้าทายเช่นกัน ปัจจุบันบริษัท BEC มีมูลค่า 9,700 ล้านบาท ซึ่งรู้หรือไม่ว่าบริษัทนี้ ในช่วงหนึ่งเคยมีมูลค่าหลัก “แสนล้านบาท” เลยทีเดียว..
References
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2562, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2562, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
-การวิเคราะห์ความอยู่รอดของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล, ThaiJOwww.tci-thaijo.org › NBTC_Journal › article › download
2
โฆษณา