1 ต.ค. 2020 เวลา 23:30 • หนังสือ
เอ้า ลืมกุญแจ ลืมมือถือ หาแว่น(ที่อยู่บนหัวตัวเอง)ไม่เจอ อ่านหนังสือจบเสร็จก็ลืม เพิ่งถามชื่อเพื่อนใหม่ไป เอ้าลืม!!
ฮูกสรุปสั้นขอเสนอเทคนิค "จำแบบไม่ต้องจำ" จากคะยะซะวะ ชิอง จิตแพทย์ชื่อดัง ชาวญี่ปุ่นที่คิดค้นจากองค์ความรู้ล่าสุดทางด้านประสาทวิทยา เพื่อช่วยให้คุณจดจำสิ่งต่างๆ ได้ติดหนึบในระดับจิตใต้สำนึก โดยไม่ต้องท่องจำและใช้ความพยายามมากมาย
วีคนี้สรุปโดยคุณนักเขียน Magicdream
1. ส่งออกและทบทวนข้อมูล
- คนส่วนมากคิดว่าหลักการจำได้มากขึ้น คือ การรับข้อมูลเข้าให้ได้มากที่สุด แต่ความจริง การส่งออกข้อมูลออกไป ต่างหากที่จะทำให้เราจำได้มากขึ้น
- วิธีการส่งออกข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ คือ การส่งออกข้อมูลให้ได้ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ด้วยการพูดคุย เขียน หรือ สอน ยิ่งเราส่งข้อมูลที่ได้รับออกไปเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีเพราะ ถ้าเราปล่อยให้เวลาผ่านไปหนึ่งวันเราก็ลืมไปกว่า 74%
- การเขียน คือ การป้องกันการลืมที่ดีที่สุด
- การเปลี่ยนความรู้สึกเป็นถ้อยคำจะทำให้เราจำได้ดีมากยิ่งขึ้น การเขียนด้วยความตั้งใจว่าจะให้ผู้อื่นอ่าน เราจะมีความตั้งใจในการเขียนมากกว่าการเขียนเพื่ออ่านเอง
- การจำสิ่งที่อาศัยความหมาย เราควรเชื่อมโยงให้เป็นความจำอาศัย เหตุการณ์
- การจำโดยใช้เหตุผลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราอยากจำ จะทำให้เราจำได้ดีขึ้น
***ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจมากกว่าการจำ
- กระบวนการในการจำได้ คือ ทำความเข้าใจ -> จำ -> ทบทวน
- การทบทวนข้อมูลจะทำให้เราไม่ลืมข้อมูลนั้น
- เทคนิคการทบทวน คือทบทวน 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ หรือ "1,3,7"
การย้อนทบทวนแบบ 1, 3, 7 คือ การทบทวนในวันรุ่งขึ้นหลังจากอ่านจบ และทบทวนซ้ำอีกครั้งในวันที่ 3 และวันที่ 7
หลังจากนั้นอีก 30 วัน ค่อยมาทดสอบว่ายังจะจำข้อมูลได้อยู่หรือเปล่า เพราะการทบทวนนี้จะทำให้สมองรู้สึกว่ามันเป็นข้อมูลที่สำคัญและเปลี่ยนจากความทรงจำระยะสั้นไปเป็นความทรงจำระยะยาว
- รักษาสมดุลย์ของการรับเข้าและส่งออกเทคนิคจำด้วยสมดุลย์ของข้อมูล
- สิ่งสำคัญไม่ใช่การจำแต่เป็นการพัฒนาตัวเอง โดยการส่งออกข้อมูลที่เราได้รับให้ได้มากที่สุด
2. เทคนิคการจำแบบภูเขาไฟฟูจิ
- เข้าใจภาพรวม มองเป็นภาพใหญ่ โดยใช้เทคนิคการจำแบบภูเขาไฟฟูจิ เพื่อเข้าใจโครงสร้างและความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เรากำลังทำความเข้าใจ
- สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การดูภาพรวม เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างทั้งหมดก่อน ส่วนรายละเอียดเอาไว้ค่อยดูทีหลัง
- การฟังบรรยายหรือการลงคอร์สเรียน คือ ทางลัดของการมองภาพรวมให้เข้าใจโดยไม่ต้องอ่าน
- รูปภาพช่วยให้เราจำได้ดีมากขึ้นถึง 6 เท่า ปกติแล้วเรารับสารข้อมูลทางภาษาเพียงอย่างเดียวแต่ถ้าเกิดเราเปิดประตูทางด้านภาพเพื่อรับสารอีกทางหนึ่งจะทำให้เราจำได้ดีกว่าปกติ
3. จัดระเบียบความคิดเป็นหมวดหมู่
- การจัดระเบียบความคิดให้เป็นหมวดหมู่ตามหลักเหตุผลจะทำให้เราจำดีขึ้นกว่า 40% และยังทำให้เข้าถึงข้อมูลได้เร็วมากยิ่งขึ้น
- การรับเข้าข้อมูลเทคนิคจำด้วยคลังความรู้
ยิ่งรับเข้ามากเท่าไหร่ข้อมูลที่จำได้ก็ยิ่งน้อยลง ต่างจากคนที่คัดกรองข้อมูลอย่างพิถีพิถันจะมีคลังความรู้มากกว่า คนที่จำแค่ 10 จาก 100 อย่างและทบทวนมันเป็นเวลาสามครั้งตลอดระยะเวลาหนึ่งปีจะสามารถเพิ่มคลังความรู้ได้ดีกว่าคนที่พยายามจำ 100 อย่างในครั้งเดียว
- ใช้ to-do list ให้เป็นประโยชน์สูงสุด
- การมีกำหนดการมากมายอยู่ในหัวทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงการจด to do list สามารถลดสิ่งรบกวนเหล่านี้ได้
- วิธีใช้ to do list ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ เขียนใส่กระดาษแล้ววางไว้บนโต๊ะ เนื่องจากเราสามารถมองเห็นมันได้ง่ายกว่าการบันทึกในสมาร์ทโฟน อีกทั้งการบันทึกในสมาร์ทโฟนต้องเปิดแอพและอาจจะหลุดออกไปที่แอพอื่นได้ นั่นหมายถึง สมาธิเราก็กระเจิดกระเจิงไปด้วย
- การเขียนใส่กระดาษจึงทำให้เราเข้าถึงได้อย่างรวดเร็วใน 1 วินาทีและไม่ทำให้เสียสมาธิกับการต้องไปจับโทรศัพท์อีกด้วย
- การลบสิ่งที่ต้องทำสำคัญกว่าการเขียน
สมองของเราชอบสิ่งที่โผขึ้นมาและหายไป การทำรายการสิ่งที่ต้องทำและฆ่าทิ้งสิ่งที่ทำเสร็จแล้วทำให้เราเกิดแรงจูงใจให้ทำงานสำเร็จลุล่วงได้มากยิ่งขึ้น มันจะให้ความรู้สึกว่าทำอะไรสำเร็จและกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจที่ได้ลบบางอย่างออกไปจากรายการสิ่งที่ต้องทำ
- รายการสิ่งที่ต้องทำช่วยให้เข้าภาวะลื่นไหล (ภาวะที่มีสมาธิดิ่งลึกอยู่กับกิจกรรม จนเกิดภาวะที่เอื้อให้คุณสามารถสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมได้) เพราะเราจะรู้สึกมีความสุขสนุกและตื่นเต้นจนไม่อยากให้มันจบลงและไม่รู้สึกถึงเวลาที่ผ่านไป
*การพาตัวเองเข้าสู่ภาวะลื่นไหล คือ การเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำอย่างละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้เราไม่ต้องมานั่งคิดว่าต่อไปจะต้องทำอะไร สมาธิจึงดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอนซึ่งเอื้อให้เข้าสู่ภาวะลื่นไหลได้ง่ายขึ้น
- การเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำควรทำตอนเช้า
จากผลการวิจัย การเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำก่อนเข้านอน ส่งผลเสียต่อการนอนหลับ ก่อเกิดความกังวล การนอนหลับยากมากขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ควรคิดสิ่งที่ต้องทำในเวลากลางคืนแต่ให้มาคิดในตอนเช้าแทน
4 การพักผ่อนงีบหลับพัฒนาสมอง
- การงีบหลับไม่เกิน 30 นาที จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมอง การคิดวิเคราะห์ดีขึ้น
- กำหนดเวลาพัก จะทำให้เรารู้สึกสดชื่นมากยิ่งขึ้น
- การเปลี่ยนสถานที่ทำงานก่อเกิดความรู้สึกของการเริ่มต้นใหม่ทำให้เราไม่รู้สึกเบื่อและตื่นเต้น (Refresh) เช่น ร้านกาแฟหรือร้านอาหาร (เปลี่ยนกริยาบทออกจากโต๊ะทำงาน)
5. ยิ่งมีอารมณ์ร่วม ยิ่งจำได้ (เทคนิคการจำด้วยอารมณ์ความรู้สึก)
- Emotional Memory คือ ความทรงจำที่อยู่ทนนานมากที่สุดหากเราใช้อารมณ์ความรู้สึกมาช่วยในการจำ จะทำให้เราจำได้ดีขึ้น ลองนึกถึงเดทแรกของเธอดูสิเชื่อได้เลยว่าเธอยังจำรายละเอียดหลายๆ อย่างได้อยู่นั้นเป็นเพราะว่ามันอยู่ emotional memory นั่นเอง
6. การโพสต์สิ่งที่อยากจำบนโซเชียลมีเดีย
- เราจะได้ทบทวนและเพิ่มความจำในส่วนนั้นได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะคุณจะเห็นข้อความของตัวเอง และคนอื่นอาจจะเข้ามาคอมเม้นต์ (ซึ่งอาจจะมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อคนมาคอมเม้นต์ ทำให้เราจำได้ดีมากยิ่งขึ้น)
7. ความเครียดทำให้จำได้ดีขึ้น
- ใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ไฟลนก้น
เวลาที่เรารู้สึกจนมุมจะมีพลังงานมหาศาลที่จะทำให้เราทำเรื่องเหลือเชื่อให้เป็นไปได้เราจะสามารถจดจ่อและตัดสินใจได้ดีขึ้น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนถึงชอบทำงานใกล้เวลา deadline ถึงแม้ว่ามันจะมีประโยชน์แต่ ถ้าจัดการเวลาได้ไม่ดีหรือใช้ไม่ถูกวิธีก็ส่งผลเสียต่อเราเช่นกัน
- การกำหนดเส้นตายในการทำงาน
เวลาที่จำกัดจะทำให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นถ้าเราต้องทำเอกสารให้เสร็จภายใน 1 ชั่วโมงเราจะมีความเครียดในระดับที่พอดีต่อการทำงาน
- แต่ถ้าอยากพัฒนาให้ตัวเองจำและเรียนรู้สิ่งต่างที่ดีขึ้นก็ควรระมัดระวังไม่ให้เครียดมากเกินไปและหาเวลาผ่านพักผ่อนและผ่อนคลายเสียบ้าง
วิธีกำจัดความเครียดใน 2 นาที
- เวลาตื่นเต้นหรือเครียดเราจะหายใจเร็ว หัวใจเต้นแรงขึ้นโดยอัตโนมัติ การควบคุมลมหายใจ สูดหายใจเข้าลึกๆ จะทำให้ เราสามารถควบคุมความเครียดได้ดีขึ้น หายใจเข้าช้าๆประมาณ 20 ถึง 30 วินาทีและหายใจออกช้าๆประมาณ 40 ถึง 30 วินาทีช้ำ 3 ครั้งแค่นี้ ก็ลดความเครียดหรือความประหม่าได้แล้ว
8. ทัศนคติต่อการเรียนรู้
- การเรียนรู้เพื่อความสนุกเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า
หากเรารู้สึกสนุกกับสิ่งที่เราเรียนจะทำให้เราเข้าใจและจำได้ดียิ่งขึ้น
- การปรับทุกข์ไม่ได้ช่วยให้เราเครียดน้อยลง
ยิ่งเราระบายความเครียดให้กับคนอื่นบ่อยแค่ไหน มันเป็นเหมือนการทบทวนสถานการณ์เหมือนกับกฏ 1, 3, 7 ยิ่งเราพูดเรื่อง ที่เรากังวลมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งจำมันมากยิ่งขึ้น
*การระบายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ เล่าให้จบในครั้งเดียวและลืมมันไปเสีย
- ถ้ามีเรื่องที่อยากทำ อย่ารอจนกว่าจะมีโอกาสแล้วค่อยเตรียมตัว ควรเตรียมพร้อมตลอดเวลาเพื่อคว้าโอกาสเอาไว้ให้ได้
- การเขียนบันทึกเรื่องดีๆ เป็นเวลาติดต่อกันจะทำให้เรามีความสุขมากกว่าการเขียนเรื่องปกติธรรมดา เพราะเราจะสังเกตเห็นเรื่องดีที่เราอาจมองข้ามไป
เพิ่มเติม*
ลองเขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นย้อนหลัง การเขียนเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 วันก่อนเป็นการฝึกสมองที่ดีเยี่ยมและสามารถป้องกันโรคสมองเสื่อมได้
เทคนิคการเพิ่มเมมโมรีสมอง
1. ทำทีละอย่าง ไม่ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
สมองทำงานได้อย่างมากแค่ 2 อย่างในเวลาเดียวกัน
เวลาที่ทำหลายอย่างพร้อมกัน สมองจะเจอเกิดการสับเปลี่ยนไปมาอย่างต่อเนื่อง หรือสมองไม่ได้ประมวลผลข้อมูลทั้งหมดในเวลาเดียวกัน แต่สลับไปมาเพื่อรับข้อมูล ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานของสมอง
- การฟังเพลงไปด้วยส่งผลที่ต่อการทำงานจริงหรือไม่?
ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน
- หากเป็นประเภทที่ทำต้องใช้ความเข้าใจและความจำ: การฟังเพลงจะส่งผลเสียมากกว่า
- กิจกรรมที่ใช้การเคลื่อนไหวและการลงมือทำ อย่างเช่นการออกกำลังกายหรือกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ความเข้าใจ : การฟังเพลงจะช่วยทำให้เรารู้สึกกระตือรือร้นมากกว่า
2. มีอะไรค้างคาใจก็เขียนออกมาให้หมด
ปกติแล้วเวลาทำงานเรามักจะคิดอะไรหลายเรื่องพร้อมกัน ก่อเกิดความฟุ้งซ่าน ประสิทธิภาพการทำงานลดลง วิธีกำจัดความคิดฟุ้งซ่านได้ง่ายที่สุด คือ การเขียน
- การเขียนสิ่งที่ต้องทำหรือสิ่งที่กังวลใจออกมาจะทำให้เรามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำมากยิ่งขึ้น
3. ทำงานให้เสร็จทีละอย่าง
การที่เราทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ จะทำให้เหลือพื้นที่ในสมองในการจดจำสิ่งที่ต้องทำอยู่และโฟกัสสิ่งใหม่ได้ทันทีโดยไม่มีอะไรค้างคา
4. ทำงานเร็วขึ้นด้วยกฏ 2 นาที
กฏ 2 นาที คือ การทำงานที่ใช้เวลาไม่ถึง 2 นาทีให้เสร็จทันที แทนที่จะผลัดไปภายหลัง เพราะใช้พลังงานและเวลาน้อยกว่าการที่เราเก็บไว้ทำทีหลัง
อะไรก็ตามที่ทำเสร็จได้ภายใน 2 นาทีก็ให้ทำเดี๋ยวนั้น ส่วนงานอื่นค่อยจัดการไปตามลำดับ
5. ตัดสินใจโดยใช้กฎ 30 วินาที
การไม่ยอมตัดสินใจจนต้องย้อนกลับมาคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นพฤติกรรมที่สิ้นเปลืองทั้งเวลาและเมมโมรี่สมอง การที่เราตัดสินใจภายใน 30 วินาทีจะทำให้เราประหยัดเวลามากกว่า
ในกรณีที่ไม่สามารถตัดสินใจ ได้ภายใน 30 วินาที ให้กำหนดเวลาสำหรับการกลับมาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้งเพื่อให้สมองไม่อยู่ในภาวะพะวง ถึงเรื่องนี้อีก
คุณอาจจะกังวลว่าถ้าตัดสินใจเร็วเกินไปจะมีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า คำตอบคือไม่เลย! ไม่ว่าเราจะตัดสินใจภายใน 5 นาทีหรือ 30 นาทีผลที่เราเลือกตัดสินใจก็ มีความคล้ายคลึงมากถึง 85%
6. โต๊ะของคนทำงานเก่งมักเป็นระเบียบเรียบร้อย
คนที่มีโต๊ะทำงานที่เป็นระเบียบก็จะเป็นคนที่สามารถจัดระเบียบข้อมูลในสมองหรือนอกสมองได้ดีพอๆ กัน นั่นหมายความว่าเค้าจะประสบความสำเร็จได้มากกว่านั้นเอง
7. ปิดสมาร์ทโฟนบ้าง
การเช็คโทรศัพท์เป็นการสิ้นเปลืองสมอง แม้โทรศัพท์เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตที่สะดวกมากขึ้น แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเสียสมาธิได้ด้วยเช่นกัน มนุษย์เราสามารถรวบรวมสมาธิเพื่อจดจ่อในสิ่งนั้น โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที แต่ถ้ามีอะไรเข้ามารบกวนคุณก็จะใช้เวลาอีก 15 นาที เพื่อเริ่มที่จะจดจ่อสิ่งที่กำลังทำใหม่
วิธีที่จะตัดสิ่งรบกวนนี้คือ การปิดมือถือชั่วคราวหรือกำหนดระยะเวลากับตัวเองให้ชัดเจนว่าเราจะจดจ่อกับสิ่งที่ทำเป็นเวลา 1 ชั่วโมงโดยที่ไม่เช็คโทรศัพท์
โฆษณา