2 ต.ค. 2020 เวลา 08:03 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
“ชลากาศยาน” เครื่องบินทะเล NAX-5
สกสว.ทดสอบความแข็งแรงของเครื่องบินทะเล NAX-5 ซึ่งได้รับพระราชทานนามเรียกขานว่า “ชลากาศยาน” หวังจดทะเบียนเพื่อขอรับการรับรองความสมควรเดินอากาศ และผลิตเชิงพาณิชย์
วันที่ 1 ต.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.อติชาต พฤฒิกัลป์ รองผู้อำนวยการภารกิจการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนเยี่ยมชมการทดสอบความแข็งแรงของโครงสร้างเครื่องบินทะเล 2 ที่นั่ง เพื่อรองรับมาตรฐานความสมควรเดินอากาศ ณ บริษัทสไปลน์เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด จ.ปทุมธานี ซึ่งมี รศ. ดร.สินชัย ชินวรรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในฐานะหัวหน้าโครงการ เป็นผู้บรรยายเรื่องมาตรฐานการทดสอบ วิธีการทดสอบ และเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ
จากความสำเร็จในการจัดสร้างต้นแบบเครื่องบินทะเลขนาด 2 ที่นั่ง (พิเศษ) ลำแรกของประเทศไทย แบบปีกชั้นเดียว ลำตัวใช้วัสดุคอมโพสิตที่ผลิตในประเทศ (NAX-2) โดยทีมวิจัยจากกองทัพเรือนำโดย พล.ร.ท.สมหมาย ปราการสมุทร ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกสว. เพื่อนำไปใช้งานกับองค์กรภาครัฐ ปัจจุบัน NAX-2 ได้ผ่านการทดสอบการบินมาแล้วกว่า 200 ชั่วโมง สามารถวิ่งขึ้น-ลงในพื้นน้ำและพื้นบกได้อย่างสมบูรณ์
โดยนำมาใช้ในการบินลาดตระเวนตรวจการณ์ตามภารกิจของกองทัพเรือและใช้ในการฝึกการปฏิบัติให้กับหน่วยราชการ เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ (คพน.) มีมติในการบูรณาการผลงานวิจัยเครื่องบินทะเลสู่การใช้งานจริง เพื่อสร้างความมั่นคงทางทะเลและสนับสนุนการท่องเที่ยว จึงเกิดการสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การออกแบบ-สร้างเครื่องบินทะเล 2 ที่นั่ง และทดสอบตามมาตรฐานเพื่อการรองรับความสมควรเดินอากาศ (NAX-5) เพื่อต่อยอดงานวิจัยเดิมเพื่อให้เกิดการรับรองมาตรฐานและนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยกองทัพเรืออนุมัติหลักการให้บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด สังกัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้รับถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตเครื่องบินทะเล
รศ.ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว ผู้ประสานงานชุดโครงการอุตสาหกรรมความมั่นคงและเทคโนโลยีอวกาศ เปิดเผยว่า เครื่องบินทะเล NAX-5 ได้รับพระราชทานนามเรียกขานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “ชลากาศยาน” โดยได้รับการสร้างตามมาตรฐานและมีคุณสมบัติวิ่งขึ้น-ลงในพื้นน้ำและพื้นบกได้ จุน้ำมันเชื้อเพลิงได้สูงสุด 145 ลิตร ใช้ระบบการเติมน้ำมันตามมาตรฐาน เครื่องยนต์มีความสิ้นเปลืองเฉลี่ยอยู่ที่ 15-20 ลิตรต่อชั่วโมง ใช้น้ำมันอ็อกเทน 91/95 สามารถบินได้นาน 4 ชั่วโมง ที่ความเร็วเดินทาง 153 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วสูงสุด 260 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีพิสัยบินไกลสุด 300 นอติคอลไมล์ ที่รัศมีปฏิบัติการ 120 นอติคอลไมล์ และมีเพดานบิน 10,000 ฟุต วิ่งขึ้นสูงสุด 1,400 ปอนด์ และรับภาระทางอากาศพลศาสตร์ได้ -2 ถึง +4 เท่าของน้ำหนักเครื่องบิน
ปัจจุบันเครื่องบินทะเล NAX-5 สามารถทำการบินทดสอบภาคอากาศ ในการบินครั้งแรกได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมถึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงต่อยอดเพื่อให้มีความสมบูรณ์ในความปลอดภัยของโครงสร้าง และสามารถทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยในการบินภาคอากาศจนจบตามมาตรฐานการบิน AC 90-89B ซึ่งจะนำไปสู่การจดทะเบียนเพื่อขอรับการรับรองความสมควรเดินอากาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้
อย่างไรก็ตาม เครื่องบินทะเล NAX-5 ยังไม่ประสบผลสำเร็จสมบูรณ์ เนื่องจากโครงสร้างเครื่องบินอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาในส่วนจุดต่อของปีก และระบบ Landing Gear ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ASTM F-2245 พร้อมทั้งพัฒนาสมรรถนะการขึ้น-ลง บนผิวน้ำของเครื่องบินทะเลให้มีความปลอดภัย
รศ.ดร.สินชัย ระบุว่า มาตรฐานการบินสากลที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ทั่วโลกให้การยอมรับมีอยู่ 2 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานระบบอเมริกาเหนือ Federal Aviation Administration (FAA) และมาตรฐานระบบยุโรป European Union Aviation Safety Agency (EASA) ประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ออกกฎระเบียบให้สอดคล้องกับมาตรฐานทั้งสองแบบ การบินพลเรือนทั่วไปโดยเฉพาะในส่วนเครื่องบินแบบ Light Sport Aircraft นั้นได้กำหนดให้ใช้มาตรฐาน ASTM F-2245 : StandardSpecification for Design and Performance of a Light Sport Airplane มากำกับกระบวนการสร้างและทดสอบเครื่องบิน ทั้งในส่วนความแข็งแรงโครงสร้างเครื่องบิน ตลอดจนการทดสอบระบบเครื่องบินทั้งหมดในภาคพื้นและภาคอากาศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการบินซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการบินพลเรือนทั่วไป
“การทดสอบครั้งนี้ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ และ สกสว.จะยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องไปจนถึงการปรับระบบนิเวศวิจัยเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์”
โฆษณา