6 ต.ค. 2020 เวลา 01:48 • สุขภาพ
ผลวิจัยชี้ มลพิษฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงป่วยโควิดรุนแรงขึ้น
PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงป่วยโควิดรุนแรงขึ้น
นักวิจัยหลายสำนัก เผยผู้ได้รับผลกระทบมลพิษฝุ่น PM2.5 เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการป่วยรุนแรงยิ่งขึ้น ด้าน WHO ประกาศเรียกร้องกลุ่มประเทศอาเซียนให้เร่งยกระดับมาตรการสู้ไวรัส
สำนักข่าว Washington Post และ The Guardian รายงานวิจัยหลายชิ้นค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างฝุ่นควันกับการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากมลพิษทางอากาศและการสูบบุหรี่จะทำลายปอด เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจจากไวรัส เช่น โควิด-19 และทำให้เป็นปอดอักเสบซึ่งยิ่งซ้ำเติมอาการจากเชื้อไวรัสใหม่นี้ร้ายแรงยิ่งขึ้น
“คนป่วยที่เป็นโรคปอดเรื้อรังและมีอาการหัวใจเนื่องจากสัมผัสมลพิษทางอากาศยาวนานจะรับมืออาการติดเชื้อทางปอดได้น้อยลงและมีความเสี่ยงเสียชีวิต กรณีโควิด-19 มีแนวโน้มว่าจะเข้าข่ายนี้เช่นกัน” Sara De Matteis นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Cagliari ประเทศอิตาลีและสมาชิกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสุขภาพแห่งสมาคมทางเดินหายใจยุโรป กล่าว
“การลดมลพิษทางอากาศจะช่วยให้กลุ่มที่มีสุขภาพอ่อนแอสู้กับไวรัสโควิด-19 ได้ รวมถึงโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”
งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาไวรัสซาร์ส (SARS) โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ไวรัสตระกูลเดียวกันของโควิด-19 ที่ระบาดในจีนเมื่อปี พ.ศ.2546 พบว่าคนที่อาศัยอยู่ในย่านมีมลภาวะทางอากาศนั้นเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่อยู่ในย่านอากาศสะอาดมากกว่าสองเท่า อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สมบูรณ์เพราะอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น สถานะการเงินและสุขภาพ
สอดคล้องกับงานวิจัยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง อีกหนึ่งพี่น้องของไวรัสโควิด-19 หรือ MERS ซึ่งเริ่มต้นระบาดจากประเทศตะวันออกกลางเมื่อปี พ.ศ.2557 พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่เสี่ยงติดโรคเมอร์สและมีอาการรุนแรงกว่าผู้ไม่สูบ
มลภาวะทางอากาศมีผลต่อปอดอย่างไร?
https://th.hrnote.asia/tips/th-190118-whatshoulddoforpm25/
“ฝุ่น PM2.5 ทุก 22 ไมโครกรัม เท่ากับการสูบบุหรี่หนึ่งมวน เสี่ยงทำให้เกิดหัวใจวายเฉียบเผา มะเร็งปอด รวมถึงส่งผลต่อการพัฒนาการปอดในเด็ก” นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าว
แม้การระบาดของโควิด-19 จะชะงักวิถีชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น การเดินทางไปทำงาน เป็นผลให้มลพิษทางอากาศลดน้อยลง เช่น ในประเทศอิตาลีและจีน ทว่าในประเทศไทย ปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังหวนกลับมาหาชาวไทยอย่างสม่ำเสมอเหมือนระลอกคลื่น ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือซึ่งประสบเป็นประจำทุกปี
มลภาวะทางอากาศเกี่ยวข้องกับอาการทางเดินหายใจติดเชื้อ John Balmes อาจารย์ประจำคณะการแพทย์สิ่งแวดล้อมและการประกอบอาชีพ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เผยอนุภาคฝุ่นละอองจะเกาะกลุ่มในเซลล์ภายในปอดชื่อ “alveolar macrophages” ซึ่งจะลดประสิทธิภาพการกำจัดอนุภาค จุลินทรีย์ และแบคทีเรีย ที่เข้าทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังลดทอนการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว
นอกจากนั้นงานวิจัยปัจจุบันยังศึกษาพบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ขั้นรุนแรงมักมีอาการปอดบวม หายใจลำบาก รวมถึงพัฒนาสู่ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (ARDS) เมื่อของเหลวในปอดปิดกั้นการหายใจ จนอาจเสียชีวิต ซึ่งอาการปอดบวมมักเกิดขึ้นกับผู้สูบบุหรี่
“ถ้าพูดให้ง่ายๆ ผมจัดให้การสูบบุหรี่กับมลภาวะอากาศเป็นสาเหตุของอาการปอดติดเชื้อเหมือนกัน”
BBC ไทย รายงานว่าคนไข้สองคนแรกที่เสียชีวิตเพราะโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็นผู้สูบบุหรี่ หนึ่งในนั้นมีภาวะปอดปวมรุนแรงเมื่อมาถึงโรงพยาบาลและเสียชีวิต 11 วันให้หลัง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 อย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกประกาศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เรียกร้องให้สมาชิกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเร่งด่วน
WHO ยังได้กำชับถึงความสำคัญของการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหน่วยแพทย์ เพราะเชื้อไวรัสสามารถแพร่ผ่านอากาศได้ผ่านละอองฝอย (aerosol) ที่เกิดจากกระบวนการทางการแพทย์เช่น การพ่นยา และการใช้ท่อช่วยหายใจ นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นเพื่อจะได้หาทางรับมือได้อย่างถูกต้อง
โดย ณ วันที่ 5 ตุลาคม WHO รายงานว่าประเทศไทยมีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5 ราย รวมแล้วมีจำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 3,590 คน
โฆษณา