9 ต.ค. 2020 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
บทเรียนโควิด เจ็บจบเจ๊ง กอดคอตาย ตกงานทุบสถิติรอบ 11 ปี เงินไม่มี หนี้ไม่จ่าย
- วิกฤติโควิด ทำให้คนตกงานในไตรมาสที่ 2 มากถึง 7.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.95% ต่อกำลังแรงงานรวม สูงที่สุดในรอบ 11 ปี อีกทั้งยังมีแรงงานต้องหยุดงานชั่วคราว มากถึง 2.5 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- หลังคลายล็อกดาวน์ แม้อัตราการว่างงานจะลดลง แต่ตลาดแรงงานยังคงซบเซา จาก 4 สัญญาณความอ่อนแอ ได้แก่ 1. อัตราการว่างงานของแรงงานในระบบประกันสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น 2. กลุ่มแรงงานอายุ 15-24 ปี ยังมีปัญหาการว่างงานในระดับสูง 3. จำนวนแรงงานที่ต้องหยุดงานชั่วคราว สูงกว่าในอดีตมาก และ 4. สัดส่วนการทำงานต่ำระดับ ยังคงเพิ่มขึ้น
- ตลาดแรงงานจะใช้เวลานานในการกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เป็นไปได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในรอบนี้ อาจไม่นำไปสู่การจ้างงานเพิ่มมากนัก ทำให้แรงงานมีแนวโน้มต้องเปลี่ยนไปทำงานนอกระบบ เช่น รับจ้าง หรือทำงานอิสระมากขึ้น ส่งผลต่อระดับรายได้และความมั่นคง จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้า กระทบความสามารถในการชำระหนี้
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุในช่วงไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยอยู่จุดต่ำสุดและมีการล็อกดาวน์ในวงกว้าง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมากต้องหยุดชะงัก สถานการณ์ในตลาดแรงงานจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในทันที โดยมีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 7.5 แสนคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าถึงเกือบเท่าตัว โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ว่างงานในทุกอุตสาหกรรม ส่งผลให้อัตราการว่างงานในภาพรวมเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 2.0% ต่อกำลังแรงงานรวม จากเพียง 1.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 11 ปี
ภายหลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงได้กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยทิศทางของอัตราการว่างงานในช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งผ่านพ้นการล็อกดาวน์ไปแล้วกลับยังคงอยู่ในแนวโน้มถดถอย โดยอัตราการว่างงานยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ที่ 2.2% มีจำนวนผู้ว่างงานสูงถึง 8.3 แสนคน ส่วนอัตราการว่างงานในเดือนส.ค. ลดจากจุดสูงสุดเพียงเล็กน้อย และยังอยู่ในระดับสูง อยู่ที่ 1.9% ต่อกำลังแรงงานรวม จากจำนวนผู้ว่างงานที่ลดลงมาอยู่ที่ 7.2 แสนคน ยังถือเป็นอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับที่สูงหากเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต สะท้อนว่าตลาดแรงงานยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะปกติ
 
แม้อัตราการว่างงานในภาพรวม จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะลดลงในเดือนส.ค. แต่แรงงานในระบบประกันสังคม ยังคงว่างงานเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 3.9% ต่อแรงงานประกันสังคมมาตรา 33 ทั้งหมด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.8% และเดือน ก.ค. อยู่ที่ 3.7% สวนทางกับการว่างงานภาพรวมที่ลดลง อาจบ่งชี้ว่า ลูกจ้างในระบบที่ตกงาน มีการย้ายไปสู่การเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น เช่น อาชีพอิสระ งานรับจ้าง หรือธุรกิจส่วนตัว อาจมีรายได้ที่น้อยกว่า ได้รับสวัสดิการที่ครอบคลุมน้อยกว่า หรือไม่มีเลย รวมไปถึงโอกาสในการเข้าถึงการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่น้อยกว่าแรงงานในระบบ
- ชั่วโมงทำงานลด แรงงานอายุน้อย ไร้ทักษะ เตะฝุ่นยาว
1
อีกความน่ากังวลจากการว่างงานของแรงงานอายุน้อย 15-24 ปี อยู่ในระดับสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นมาโดยตลอด โดยวิกฤติโควิด ได้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นความเสี่ยงเพราะแรงงานอายุน้อยส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงาน และการว่างงาน ทำให้เกิดการขาดช่วงของการสร้างทักษะและสั่งสมประสบการณ์จากการทำงาน จะเสียเปรียบมากเป็นพิเศษในการแข่งขันหางานกับกลุ่มแรงงานอายุมากกว่าที่มีประสบการณ์การทำงานที่มากกว่า ซึ่งอาจยอมลดค่าจ้างของตนเองเพื่อให้ได้งานโดยเร็ว
นอกจากนี้ผู้มีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราว รวมถึงคนทำงานอิสระจำนวนมากไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ เพิ่มขึ้นสูงถึง 2.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 82.4% ไม่ได้รับค่าจ้าง อย่างไรก็ตาม หลังมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ หลายกิจการกลับมาดำเนินการตามปกติ ส่งผลให้จำนวนผู้ที่ยังมีงานทำแต่ต้องหยุดงานชั่วคราวลดลง โดยเดือน ส.ค.เหลือ 4.4 แสนคน แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1-1.5 แสนคนเท่านั้น ส่วนหนึ่งคาดว่าหลายกิจการยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ เป็นอีกความน่ากังวลหากกิจการขาดสภาพคล่องจนต้องลดคน หรือปิดกิจการ อาจทำให้คนตกงาน
 
ขณะที่สัดส่วนการทำงานต่ำระดับ ซึ่งไม่เกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ยังคงเพิ่มขึ้น มีจำนวน 4.8 ล้านคน รวมถึงจำนวนการหยุดงานชั่วคราวกลับเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 4.1 ล้านคน สะท้อนถึงกำลังในการจ้างงานของภาคเอกชนที่ถดถอยลง จึงไม่สามารถจ้างงานเต็มเวลาและล่วงเวลาได้ รวมถึงแรงงานออกจากระบบไปทำงานอิสระ มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า ทำให้รายได้มีแนวโน้มลดลง และยังไม่ฟื้นตัว
- จับตา หนี้ครัวเรือนพุ่งปรี๊ด ในยุคงานน้อย รายได้หด
ในระยะข้างหน้าคาดว่ารายได้ภาคธุรกิจยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่พึ่งพารายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ต้องรอความชัดเจนการพัฒนาวัคซีน และการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้แนวโน้มการเปิด-ปิดกิจการจะยังคงซบเซา และกระทบต่อการจ้างงาน รวมถึงหลายธุรกิจลดต้นทุนด้านบุคลากร นำเทคโนโลยีมาใช้ ทำให้ความต้องการแรงงานหลายประเภท อาจไม่กลับมาเหมือนเดิมก็เป็นไปได้ ซึ่งเมื่อเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจที่รายได้ลดลงมาก สัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือนจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก
 
ดังนั้นการประคับประคองตลาดแรงงานยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะกลายเป็นแผลเป็นระยะยาว โดยการเพิ่มทักษะและปรับทักษะของแรงงาน จะเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่ เพื่อยกระดับผลิตภาพของแรงงานไทยในระยะยาว อันจะทำให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้อย่างแข็งแรง
1
- เศรษฐกิจสาหัสหนัก ธุรกิจเจ๊ง คนตกงาน 5 ล้าน
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่หดตัวอย่างรุนแรง เกิดการทยอยเลิกจ้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจสื่อสารมวลชน ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์ ธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจบันเทิงและจัดงานอีเวนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเงิน กิจการอุดมศึกษาเอกชน เป็นต้น คาดอัตราการว่างงานอาจขึ้นแตะระดับ 10% หรือประมาณ 3.81 ล้านคน และอาจทำให้มีคนว่างงาน หรือทำงานไม่เต็มเวลา ว่างงานแฝง และทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้น มากกว่า 5 ล้านคน
ส่วนแรงงานจบใหม่ 5-6 แสนคน ซึ่งประมาณ 50-60% ไม่น่าจะมีตำแหน่งงานรองรับ ยังจำเป็นต้องปรับทักษะ ตอบสนองความต้องการของธุรกิจ โดยรัฐบาลอาจจำเป็นต้องทบทวนการเปิดเสรีตลาดแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และจำกัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้น และควรเพิ่มงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อให้ชะลอการเลิกจ้าง และจ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิดเป็นกรณีพิเศษ.
1
ผู้เขียน : ปูรณิมา
👇 อ่านบทความต้นฉบับ 👇
โฆษณา